สูตร “มันจู” ขนมหมั่นโถวไส้ถั่วแดงแบบญี่ปุ่น
มันจู
ขนมมันจูเป็นขนมแบบแป้งที่มีไส้เป็นถั่วแดงกวน คนไทยหลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่จริงๆแล้วนักท่องเที่ยวที่เคยมาญี่ปุ่นต้องเคยเห็นมาบ้างเพราะ ”ออนเซ็นมันจู” ซึ่งเป็นขนมของฝากชื่อดังนั้นจริงๆมีวางขายตามสถานที่ท่องเที่ยวดังอยู่ทั่วไป (โดยเฉพาะออนเซ็น)
ว่ากันว่าขนมออนเซ็นมันจูอาจมีต้นกำเนิดที่ "อิคาโฮะออนเซ็น" ที่จังหวัดกุนมะ แป้งที่ทำเป็นสีน้ำตาลก็เพื่อเลียนแบบน้ำแร่ของอิคาโฮะออนเซ็น (ที่มีสีน้ำตาลเพราะแร่เหล็ก) แต่ว่าที่จังหวัดกุนมะยังมีร้านขายมันจูอื่นๆอีกมากมาย อย่างเช่นร้านว่ากันว่าเปิดมายาวนานที่สุดนั้นอยู่ที่คุซัทสึออนเซ็นด้วยค่ะ ”ออนเซ็นมันจู” ที่ขายในออนเซ็นก็มักจะเพิ่มส่วนผสมของน้ำแร่จากออนเซ็นหรือนึ่งด้วยน้ำจากออนเซ็นเพื่อเพิ่มจุดขาย ตัวขนมมีรสหวานหอมอร่อย ตัวแป้งคล้ายหมั่นโถว จึงมีรสชาติถูกปากคนไทยหลายคนค่ะ
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนคิดค้นก็ไม่สำคัญ ปัจจุบันนี้มันจูมีหลากหลายชนิด ที่ขายตามแหล่งท่องเที่ยวมี 2 สีที่นิยม คือสีขาวและสีน้ำตาล เป็นสีที่ได้มาจากน้ำตาลทรายและน้ำตาลอ้อย นอกจากนี้ยังมีสีเขียวที่ได้จากพืชสมุนไพรญี่ปุ่น ”โยโมงิ” หรือสีชมพูสีเหลืองจากสีผสมอาหาร หน้าตาก็มีหลากหลายกว่าเมื่อก่อน ที่นำมาปั้นเป็นรูปสัตว์มุ้งมิ้งดูน่ารักก็มีค่ะ
สูตรมันจูที่แนะนำในวันนี้ เป็นแบบสีน้ำตาลต้นตำรับที่ได้สีจากน้ำตาลอ้อย และมีไส้อังโกะจากถั่วแดงกวน เป็นสูตรมาตรฐานค่ะ มาดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลย
ส่วนผสม 8 ลูก
1. แป้งสาลีอเนกประสงค์ (เช่นแป้งตราว่าว) 100 กรัม
2. ผงฟู 3 กรัม หรือสารเสริม
3. น้ำอุ่น 30 มิลลิลิตร
4. น้ำตาลอ้อย 50 กรัม (ถ้าใช้น้ำตาลทรายละเอียด 70 กรัมแทนจะได้มันจูสีขาว)
5. อังโกะ นิยมใช้ชนิดโคชิอัง (แบบเนื้อเนียนละเอียด) เพราะจะได้สัมผัสที่นุ่มลิ้นขณะรับประทาน
อังโกะหรือถั่วแดงกวน หากหาซื้อแบบสำเร็จรูปตามซุปเปอร์ญี่ปุ่นไม่ได้ หรืออยากทำเองทุกส่วน สามารถทำเองได้ตามสูตรนี้ไม่ยากเลยค่ะ
- allabout-japan.com (ภาษาไทย)
วิธีทำ
1. ละลายน้ำตาลกับน้ำอุ่น
2. ร่อนแป้งกับผงฟูลงไป
3. ผสมแป้งให้พอเนียน ไม่ต้องนวด แบ่งเป็น 8 ก้อน น้ำหนักก้อนละประมาณ 23 กรัม และเตรียมอังโกะก้อนละ 25 กรัม
4. ใช้แป้งนวล(แป้งสาลีอเนกประสงค์) มารองบนเขียงและแตะมือเพื่อไม่ให้แป้งขนมติดมือขณะห่อไส้
5. นำมาห่อใส่ไส้ โดยใช้พายช่วยกดไส้ให้ห่อได้ง่าย
6. นำไปนึ่งน้ำเดือดจัด 12-15 นาที
7. เมื่อสุกแล้วรีบยกลงและพักให้เย็นก่อนบรรจุเก็บใส่กล่อง
“มันจู” ตัวแป้งจะบางและไส้แน่นเยอะเต็มลูก มีรสหวาน นิยมทานกับน้ำชาเขียวร้อนซึ่งมีรสขมนิดๆ ช่วยลดความเลี่ยนได้ดีค่ะ