allabout japan
allabout japan

5 เทคนิคป้องกันอาหารบูดในอากาศร้อน

5 เทคนิคป้องกันอาหารบูดในอากาศร้อน

ญี่ปุ่นนั้นเวลาร้อนก็ร้อนไม่แพ้ไทย แม่บ้านญี่ปุ่นจึงมีเทคนิคการป้องกันอาหารบูดในหน้าร้อนดีๆเยอะค่ะ ลองปรับใช้ที่เมืองไทยเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารบูดง่ายดูนะคะ

By ครัวญี่ปุ่น

ไอน้ำ ตัวการทำอาหารเสีย

ไอน้ำ ตัวการทำอาหารเสีย

ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ต้องจำไว้คือเรื่องไอน้ำในอาหาร สำคัญมากค่ะ เพราะเป็นตัวการทำให้อาหารชื้นแฉะเป็นตัวการให้อาหารบูดเสียง่าย ด้วยกล่องเบนโตะที่มีฝาปิดสนิท เมื่อเราใส่อาหารร้อนๆลงไป จึงเกิดไอน้ำขึ้น และแม้ว่าอาหารไม่ร้อน แต่พวกน้ำผัดน้ำซอสที่อยู่ในกับข้าว เมื่ออยู่ในกล่องกับอากาศร้อนๆก็ทำให้ระอุเป็นไอได้ค่ะ เรามาดูวิธีง่ายๆที่ไม่ให้เกิดไอน้ำกันนะคะ มีดังนี้ค่ะ

1. ของทอดเสียยาก

1. ของทอดเสียยาก

ของทอดเป็นอาหารที่เสียยากเพราะแห้ง มีความชื้นน้อย เมื่อเทียบกับผัดต่างๆที่มีน้ำเครื่องปรุง ดังนั้น กับข้าวที่เป็นของทอดจึงเป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ ตัวอย่างอาหารไทยก็เช่นไก่ทอด หมูปั้นก้อนทอด เนื้อแดดเดียว ปลาทอดกระเทียมพริกไทย เป็นต้น ส่วนของญี่ปุ่นก็ไก่ทอดคาราอะเกะแบบในภาพค่ะ

2. ผักลวกต้องสะเด็ดน้ำ

2. ผักลวกต้องสะเด็ดน้ำ

กับข้าวถ้ามีแต่เนื้อก็จะไม่ได้สารอาหารครบถ้วน หลายคนจึงใส่ผักด้วย แม้จะนิดหน่อยแต่ก็สำคัญค่ะ แต่ว่าผักลวกผักต้มต่างๆต้องสะเด็ดน้ำและใช้ทิชชู่ทำครัวซับให้แห้งที่สุด ตอนจัดใส่กล่องควรใช้ถ้วยกระดาษแบ่งแยกเป็นสัดส่วน ไม่ให้น้ำที่ออกจากผักไปโดนกับข้าวชนิดอื่นค่ะ (ช่วยรักษาความอร่อยได้ด้วย)

3. ผักและผลไม้ควรเด็ดขั้วทิ้ง

3. ผักและผลไม้ควรเด็ดขั้วทิ้ง

ตัวอย่างเช่นมะเขือเทศลูกเล็กๆ (มะเขือเทศสีดา) ที่นิยมใส่เบนโตะ หากเราอยากจัดเบนโตะแบบญี่ปุ่นย่อมขาดไม่ได้ค่ะ แต่อะไรที่มีขั้วเราควรเด็ดขั้วทิ้งก่อน เพราะที่ขั้วมีแบคทีเรียสะสมอยู่ แม้เราจะล้างแล้วก็ยากที่จะล้างได้หมดค่ะ

งดเว้นการเพิ่มของเหลวโดยไม่จำเป็น

งดเว้นการเพิ่มของเหลวโดยไม่จำเป็น

ในการจัดแต่งด้วยมะเขือเทศสีดา การปักไม้จิ้มหรือผ่าครึ่ง แม้จะดูดีและกินง่ายก็ไม่ควรทำค่ะเพราะน้ำของมะเขือเทศจะไหลออกมา ทำให้อาหารเสียง่ายขึ้นค่ะ

สำหรับไม้จิ้มที่ซื้อไว้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ใช้นะคะ สามารถใช้ปักกับข้าวอย่าง ไส้กรอก ไข่เจียว ลูกชิ้น หรือไข่นกกระทาต้มได้ค่ะ

4. อาหารทุกอย่างต้องพักให้เย็นก่อน

4. อาหารทุกอย่างต้องพักให้เย็นก่อน

กับข้าวที่เราต้องการใส่เบนโตะ เมื่อปรุงเสร็จแล้ว ควรพักใส่จานไว้ คอยให้เย็นก่อนนะคะ จึงจัดใส่เบนโตะค่ะ

ข้าวสวยก็เช่นกันค่ะ ตักพักใส่จานไว้ก่อน แล้วปิดด้วยแรปเพื่อไม่ให้ข้าวแห้งแข็งค่ะ เมื่อข้าวเย็นแล้วจึงจัดใส่เบนโตะ หรือจะใส่ถุงแกงรัดยางแบบไทยๆก็ได้ค่ะ

หากตักใส่กล่องข้าวเลย เราก็มีวิธีทำให้ข้าวที่เย็นแล้วคงความอร่อยค่ะ โดยใช้ทิชชู่ทำครัวชุบน้ำปิดไว้ วิธีนี้เหมือนกับการอบไอน้ำค่ะ ทำให้ข้าวนุ่ม เมื่อข้าวเย็นแล้วก็เอาทิชชู่ทิ้งไปค่ะ

5. อาหารทุกอย่างต้องแบ่งเป็นสัดส่วน

5. อาหารทุกอย่างต้องแบ่งเป็นสัดส่วน

ข้าวสวย กับข้าว และผักเคียง ควรแบ่งเป็นสัดส่วนค่ะ ถ้าได้กล่องข้าวที่แยกสัดส่วนกันได้จะดีมาก การใส่ผักกาดแก้วหรือผักกาดเขียวแซมก็จะดูเป็นสัดส่วนแต่ผักสดมีน้ำออกมาและเมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้กับข้าวหลักเสียได้ค่ะ ในหน้าร้อนควรใช้ที่กั้นอย่างอื่นแทน อย่างแผ่นพลาสติก หรือซิลิโคนแผ่นลายผักค่ะ

นอกจากวิธีจัดเบนโตะข้างต้นแล้ว ยังมีไอเทมที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียด้วยนะคะ

บ๊วยดอง (อุเมะโบชิ)

บ๊วยดอง (อุเมะโบชิ)

อุเมะโบชิ (梅干し) บ๊วยดองญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนิยมใส่กล่องเบนโตะ โดยวางบนข้าวสวย เพราะบ๊วยดองช่วยในการยับยั้งแบคทีเรียได้ระดับนึงโดยไม่ต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้รสชาติเค็มเปรี้ยวช่วยแก้เลี่ยนแล้วยังทำให้สดชื่นอีกด้วยค่ะ ที่ไทยสามารถหาซื้อได้ตามห้างญี่ปุ่นค่ะ (ของที่ผลิตในไทยก็มีนะคะ เพราะมีการเพราะปลูกทางภาคเหนือของไทยค่ะ)

แผ่นยับยั้งแบคทีเรีย

แผ่นยับยั้งแบคทีเรีย

แผ่นยับยั้งแบคทีเรีย (โคคิน ชีท / 抗菌シート) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อาหารไม่บูดเสียง่ายค่ะ ด้วยสารที่สกัดมาจากวาซาบิ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เป็นแผ่นพลาสติกลายน่ารัก เพียงแค่ใส่ในกล่องเบนโตะ 1-2 แผ่น ใครทำอาหารกล่องเบนโตะไปกินเองที่ออฟฟิศ ไม่ควรพลาดค่ะ

หาซื้อได้ตามร้าน 100 เยน ร้านของฝากญี่ปุ่นอย่าง Loft และร้านที่ขายอุปกรณ์ทำอาหารญี่ปุ่นค่ะ ราคา 100-400 เยน

เจลเก็บความเย็นถนอมอาหาร

เจลเก็บความเย็นถนอมอาหาร

อีกหนึ่งวิธีก็คือ ใช้เจลเก็บความเย็นช่วยค่ะ

ที่ญี่ปุ่นมีลายน่ารักๆมากมายค่ะ อย่างของร้านSanrioก็เป็นที่นิยม ราคา 2 อัน 500 เยน (ยังไม่รวมภาษี) ตามร้าน100เยนก็มีขายนะคะ ในหน้าร้อนจะมีลายน่ารักๆให้เลือกหลากหลาย พอหมดร้อนก็จะมีแต่แบบธรรมดาสีน้ำเงินไม่มีลายเหมือนของไทยค่ะ แต่ที่ร้านSanrio มีขายตลอดปีนะคะ

วิธีใช้นะคะ แช่ฟรีซหนึ่งคืน นำมาวางบนกล่องเบนโตะที่จัดพร้อมแล้ว ห่อผ้าหรือใส่ถุงเบนโตะ ความเย็นจากด้านบนจะกระจายครอบคลุมรอบๆกล่อง ช่วยในการถนอมอาหาร ใส่เพียงอันเดียวพอค่ะ ที่สำคัญคือตำแหน่งที่ถูกต้อง ด้านบนเท่านั้นค่ะ (เพราะอากาศเย็นไหลลงต่ำ)

กล่องเบนโตะพร้อมฝาเก็บความเย็น

กล่องเบนโตะพร้อมฝาเก็บความเย็น

เป็นกล่องข้าวที่ออกใหม่ค่ะ ตัวฝาช่วยเก็บความเย็นถนอมอาหาร วิธีใช้เหมือนเจลเก็บความเย็นค่ะคือนำกล่องไปแช่ฟรีซ 1 คืน ก่อนนำมาใช้ใส่อาหารค่ะ ราคา 1500-3000 เยน อันนี้หาซื้อได้ที่ร้านของฝากหรูๆ อย่าง Loft ค่ะ

จัดกล่องเบนโตะแบบญี่ปุ่นไม่ได้ยากเลยนะคะ เพียงมีถ้วยกระดาษหรือซิลิโคนและไม้จิ้ม ก็ดูเป็นญี่ปุ่นได้แม้ใส่อาหารไทยค่ะ ยิ่งใช้เทคนิคการจัดเบนโตะหน้าร้อนตามที่บอกด้วยแล้ว รับรองว่าเก็บรักษาความอร่อยได้ถึงเที่ยงและไม่บูดแน่นอนค่ะ และหากที่ทำงานมีเตาไมโครเวฟ นำไปอุ่นก่อนรับประทานกันนะคะ ความร้อนฆ่าเชื้อโรคได้ดีที่สุดค่ะ

ครัวญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ ชื่อ มด นะคะ
เริ่มเขียนบล็อกเกี่ยวกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2008
เป็นไดอารี่ทั่วไป หลังๆเริ่มมีสูตรอาหาร ต่อมาทำเพจอาหารญี่ปุ่น คิดว่าเพียงจดสูตรไว้ดูเอง พอเริ่มมีคนติดตามมากขึ้น จึงเริ่มเพิ่มเนื้อหาต่างๆเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นนอกเหนือจากสูตรอาหาร เพื่อแบ่งปันสำหรับผู้ที่สนใจในอาหารญี่ปุ่น

❤︎❤︎ฝากติดตามครัวญี่ปุ่นกันด้วยนะคะ❤︎❤︎

ทางเพจเฟสบุ๊ค และ ยูทูปชาแนล ค่ะ