allabout japan
allabout japan

รอบรู้เรื่องโชยุ พร้อมวิธีการเลือกซื้อ

“โชยุ” มีต้นตำรับมาจากจีนเช่นเดียวกับซีอิ๊วของไทย ในญี่ปุ่นนั้นเริ่มใช้ถั่วเหลืองในการหมักซอสตั้งแต่ยุคนะระ (奈良時代 ค.ศ. 710 – 794) กลายเป็นโชยุที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันโชยุไม่ได้ใช้ปรุงอาหารญี่ปุ่นเท่านั้นนะคะ เราได้รวบรวมทุกเรื่องเด่นของโชยุ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง แล้วถ้าเราจะซื้อโชยุสักขวด ควรซื้อแบบไหนดี

By ครัวญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นทานโชยุกับอะไรบ้าง

คนญี่ปุ่นทานโชยุกับอะไรบ้าง

คนไทยคุ้นเคยกับโชยุในการกินซูชิหรือปลาดิบ แต่ที่ญี่ปุ่น โชยุเป็นมากกว่านั่นค่ะ ไม่ว่าจะใช้ปรุงอาหารหรือจิ้มสดก็อร่อย อย่าง โมจิ ที่คนไทยคงมองว่าเป็นขนมหวาน กินกับถั่วแดงบ้าง ทำเป็นขนมสอดไส้บ้าง ที่จริงแล้วเพียงแค่เหยาะโชยุก็พร้อมทานแล้วค่ะ

โชยุที่เป็นเครื่องจิ้ม

โชยุที่เป็นเครื่องจิ้ม

โชยุใช้เป็นซอสจิ้มหรือราดอาหารได้หลากหลาย ไม่ต้องผ่านความร้อนก็กินได้เลย (แม้บางยี่ห้อจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ก็ตาม) อาหารที่เด่นๆก็มี ซูชิ ปลาดิบ ปลาย่าง เต้าหู้ ข้าวคลุกไข่ดิบ เกี๊ยวซ่า และขนมจีบ ชนิดของโชยุที่ใช้ คือ โคยคุจิ

สำหรับโชยุทามาริ และ โชยุซาชิมิที่กินกับปลาดิบอร่อยนั้นไม่นิยมมากนัก เพราะมีราคาแพง และเวลาซื้อปลาดิบหรือซูชิมักมีโชยุแถมให้อยู่แล้วค่ะ

โชยุที่เป็นเครื่องปรุง

โชยุที่เป็นเครื่องปรุง

ชนิดโชยุที่ใช้ คือ โคยคุจิ และ อุซุคุจิ ปรุงอาหารได้ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน อาหารฝรั่ง รวมไปถึงของหวานด้วยค่ะ ตัวอย่างอาหารเช่น เทอริยากิ ซุปโมจิ หม้อไฟ ข้าวปั้นย่าง ข้าวอบ ไข่ดองโชยุ ราเมง หมูตุ๋นชาชู ข้าวผัด ผัดเต้าหู้เสฉวน สลัดผัก มันเชื่อม โมจิเสียบไม้ สปาเกตตี้ ฯลฯ

โชยุที่เป็นน้ำสลัด

โชยุที่เป็นน้ำสลัด

โชยุเข้ากับอาหารหลายประเภทจริงๆค่ะ อย่างน้ำสลัดญี่ปุ่นสูตรโชยุ (วะฟูเดรสซิ่ง 和風ドレッシング) จะเอามากินกับสลัดผัก สลัดเนื้ออบ สลัดเต้าหู้ อะไรก็อร่อยได้หมดค่ะ

โชยุกับของกินที่ชาวต่างชาตินิยม

โชยุกับของกินที่ชาวต่างชาตินิยม

ข้าวเกรียบญี่ปุ่น (เซมเบ้ 煎餅) แป้งทอดที่มีลักษณะเป็นแผ่น) และ อาราเร่ (あられ) แป้งทอดที่เป็นชิ้นเล็กๆพอดีคำ เป็นขนมที่มีรสชาติเค็ม หอมอร่อย มีอูมามิ และมีสีน้ำตาลออกแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งหมดนี้มาจากโชยุค่ะ แนะนำให้ลองชิมเซมเบ้ที่ปิ้งสดๆใหม่ๆ ที่ขายตามแหล่งท่องเที่ยวนะคะ จะได้รสชาติที่เข้มข้นหอมอร่อยมาก เพราะใช้โชยุทามาริค่ะ

ขนมดังโงะและโมจิ

ขนมดังโงะและโมจิ

ขนมมิตาราชิดังโงะ (みたらし団子) และโกเฮโมจิ (五平餅) ซึ่งในตัวซอสมีส่วนผสมของโชยุ คนไทยหลายคนอาจรู้จักเพียงมิตาราชิ ดังโงะ เพราะสามารถหาซื้อได้ที่ไทย สำหรับใครที่มีแพลนมาญี่ปุ่นแนะนำให้ชิมโกเฮโมจิค่ะ มีรสชาติหวานเค็มคล้ายกันแต่มีส่วนผสมของมิโสะด้วย ทำมาจากข้าว นำมาตำให้คงเห็นเป็นเม็ดข้าวอยู่ แล้วย่างทางด้วยซอส หาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งค่ะ

ผักดอง หรือ ทสึเคะโมโนะ (漬物) ด้วยความหลากหลายของชนิดผักและรสชาติที่ไม่ได้เค็มจากเกลือล้วนๆ ไม่เปรี้ยวโดดเหมือนผักกาดดองของไทย สามารถกินเปล่าๆได้ ทำให้หลายคนติดใจ หนึ่งในรสที่อร่อยคือผักดองโซยุ ที่น้ำมีสีเข้มและมีกลิ่นหอมอร่อยของโชยุค่ะ

ผักดองเป็นของกินอีกอย่างที่มีขายตามสถานที่ท่องเที่ยว และผักดองญี่ปุ่นมักมีวิธีปรุงที่ต่างจากของไทย น่าจะเหมาะกับการเป็นของฝากค่ะ

โชยุไม่ได้คู่กับวาซาบิเสมอไป

โชยุไม่ได้คู่กับวาซาบิเสมอไป

ข้าวหน้าปลาดิบ (刺身) และซูชิ (寿司) ส่วนใหญ่กินกับวาซาบิ-โชยุ แต่ก็มีปลาบางชนิดที่เข้ากับซอสมากกว่าและบางชนิดที่ไม่ได้กินกับวาซาบิเช่น ปลาซิระสุ (しらす) ที่มาคู่กับขิงสดฝนละเอียด (おろし生姜) ช่วยกลบความคาว ทำให้กินง่ายขึ้นค่ะ แต่ด้วยรสเผ็ดและออกขมนิดๆ บอกเลยว่าไม่ถูกปากนักท่องเที่ยวไทยมากนักค่ะ แต่ใครอยากลองชิมขิงฝน-โชยุ ยังมีอาหารอีกชนิดที่กินเข้ากันได้อร่อยมาก นั่นคือ เต้าหู้ญี่ปุ่น (豆腐) ค่ะ

อาหารที่กินคู่กับโชยุและพริก

อาหารที่กินคู่กับโชยุและพริก

นัตโตะ (納豆) อาหารสุขภาพที่ทำมาจากถั่วเหลือง ย่อมเข้ากับโชยุที่ผลิตจากถั่วเหลือง และมักเพิ่มรสเผ็ดด้วยพริกคาราชิ (からし) ที่มาคู่กัน คนเหนือของไทยอาจกินนัตโตะได้ง่ายเพราะมีถั่วเน่าเป็นอาหารพื้นเมืองภาคเหนือที่มีกลิ่นแรงเหมือนกัน

หากใครอยากลองชิมแต่ไม่ชอบกลิ่น ก็มีนัตโตะชนิดใหม่ไร้กลิ่นนะคะ นอกจากนัตโตะที่กินคู่กับพริกคาราชิและโชยุแล้ว ยังมีอาหารจีนแบบญี่ปุ่นอย่างเช่น ขนมจีบ (ชูมัย シュウマイ) และ บะหมี่เย็น (ฮิยาชิชูกะ 冷やし中華) ค่ะ

เครื่องครัวร้านร้อยเยน สำหรับคนใช้โชยุเป็นประจำ

เครื่องครัวร้านร้อยเยน สำหรับคนใช้โชยุเป็นประจำ

“สเปรย์โชยุ” ออกแบบมาเพื่อใช้แทนวิธีการเหยาะ ใช้ง่าย ไม่ต้องกลัวพลั้งมือทำโชยุหกเหมือนการเทโดยตรงจากขวด อีกทั้งวิธีเหยาะ โชยุจะไม่กระจายทั่วอาหาร ทำให้อาหารจานนั้นเค็มบ้างจืดบ้าง ถ้าเป็นสเปรย์ละก็ไม่มีปัญหาแบบนี้แน่นอน

นอกจากนี้ยังใช้แทนพูกันสำหรับทำข้าวปั้นย่าง สามารถฉีดบนข้าวปั้นขณะย่างได้เลย เป็นการประหยัดโชยุ เพราะถ้าเราใช้พูกัน ต้องเทโชยุใส่จานก่อน อาจใช้ไม่หมด แถมต้องล้างอุปกรณ์อีก ขวดสเปรย์นี่แหละค่ะ เป็นอุปกรณ์สุดคุ้มที่น่ามีไว้ติดห้องครัว และนอกจากใส่โชยุ จะเอาไปใส่เครื่องปรุงอย่างอื่นก็ได้นะคะ เช่นใส่สาเกไว้ฉีดดับคาวปลาก็มีคนทำค่ะ

“ขวดแบ่งโชยุ” (ทาเระบิน たれビン) สำหรับใส่เบนโตะค่ะวิธีใช้ก็ง่ายนะคะ
1. เตรียมถ้วยเล็กๆ เทโชยุใส่ไว้ตามปริมาณที่ต้องการ
2. เปิดฝาขวด บีบไล่อากาศออกและจุ่มปลายขวดลงไปในถ้วย โชยุก็จะถูกดูดเข้ามาค่ะ

ร้านร้อยเยนมีรูปขวดและรูปปลาแบบเรียบๆ แต่แบบมุ้งมิ้ง รูปทรงสัตว์ ลายการ์ตูนก็๋ทีค่ะ ราคาก็จะแพงกว่า หาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ร้านเครื่องครัวตามห้าง ร้านLoft และ Tokyu Hands ค่ะ และอย่างที่ทราบกันคนไทยนิยมซื้อกลับไทยเอาไปใส่น้ำปลา ใส่ข้าวกล่องไปกินที่ออฟฟิศดูดีทีเดียวค่ะ

โชยุในครัวของฉัน

โชยุในครัวของฉัน

สำหรับบ้านที่ทำอาหารญี่ปุ่นแทบทุกวัน ซื้อโชยุขวดลิตรเลยค่ะ ราคาถูกสุดไม่ถึง 200 เยน (60 บาท) รับรองว่าใช้หมดก่อน 3 เดือนแน่นอน และก็ซื้อโชยุขวดสูญญากาศขวดเล็กไว้สักขวด ไว้ทานกับอาหารประเภทจิ้มๆ นะคะ

สำหรับบ้านที่ไม่ค่อยเข้าครัวปรุงอาหาร แนะนำโชยุสูญญากาศขวดขนาด 200 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นขนาดเล็กสุด เกิน 3 เดือนใช้ไม่หมดก็เก็บใส่ตู้เย็นไว้ได้ค่ะ ราคาประมาณ 250 - 300 เยน (70-90 บาท)

ส่วนบ้านไหนที่ชอบโชยุสดใหม่ ไม่ว่าจะจิ้มหรือปรุง แนะนำของยี่ห้อ Yamasa ค่ะ ขวดสูญญากาศใหญ่สุด 600 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 300 - 350 เยน (90-100บาท)

สรุป

สรุป

โชยุมีมากมายหลายรสตามความต้องการของผู้บริโภค ไม่ต้องซื้อหลายรสก็ได้นะคะ แค่โคยคุจิอย่างเดียวก็พอค่ะ สำหรับใครที่อยากชิมโชยุรสอื่นๆ ลองแวะร้านซูชิสายพาน “ฮามะซูชิ” (はま寿司) นะคะ ซูชิจานละ 100 เยน มีน้ำจิ้มให้เลือกทานถึง 5 รส จากทั้งหมด 7 รสชาติ ต่างกันในแต่ละสาขาระหว่างแถบคันไซและคันโตค่ะ

ครัวญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ ชื่อ มด นะคะ
เริ่มเขียนบล็อกเกี่ยวกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2008
เป็นไดอารี่ทั่วไป หลังๆเริ่มมีสูตรอาหาร ต่อมาทำเพจอาหารญี่ปุ่น คิดว่าเพียงจดสูตรไว้ดูเอง พอเริ่มมีคนติดตามมากขึ้น จึงเริ่มเพิ่มเนื้อหาต่างๆเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นนอกเหนือจากสูตรอาหาร เพื่อแบ่งปันสำหรับผู้ที่สนใจในอาหารญี่ปุ่น

❤︎❤︎ฝากติดตามครัวญี่ปุ่นกันด้วยนะคะ❤︎❤︎

ทางเพจเฟสบุ๊ค และ ยูทูปชาแนล ค่ะ