สูตรโอยาโกะด้ง ใส่ไข่เยิ้มๆแบบญี่ปุ่นแท้ๆ
สูตรที่จะนำเสนอนี้นะคะ รับรองความอร่อย อร่อยเหมือนได้มากินถึงญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นที่กินบอกว่า รสชาติแบบร้านอาหารเลยค่ะ ปัจจุบันโอยาโกะด้งไม่ได้มีแค่ไก่และไข่เท่านั้นนะคะ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกับต้นกำเนิดที่มาและความหมายของชื่อโอยาโกะด้งค่ะ
By ครัวญี่ปุ่นที่มาของโอยาโกะด้ง
โอยาโกะด้ง มีต้นกำเนิดจากร้านอาหารที่มีแต่ไก่แห่งหนึ่งในโตเกียว ชื่อร้านว่า ทามาฮิเดะ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่เปิดมานานตั้งแต่ปี ค.ศ.1760
โดยแรกเริ่มเมื่อ ค.ศ.1887 เป็นเมนูหม้อไฟ ที่มีเนื้อไก่และใส่ไข่ตีลงไป เรียกว่าโอยาโกะนิ (นิ แปลว่า ต้มมาจากคำว่า นิรุ 煮る) ต่อมาในปี ค.ศ.1891 ภรรยาของเจ้าของร้านรุ่นที่ 5 ได้ดัดแปลงเป็นแบบราดข้าวหรือ (ดงบุริ) โดยตั้งชื่อเมนูว่าโอยะโกะด้ง เพื่อให้ทานง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทำให้อาหารจานนี้เป็นที่นิยมมากในแถบนั้น และขยายวงกว้างจนเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบันนี้
สำหรับใครที่มาเที่ยวญี่ปุ่น อยากลองลิ้มชิมรสสูตรของร้านต้นตำรับ ร้านตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ Ningyocho (ใกล้ๆสถานีรถไฟโตเกียว)ค่ะ ที่ร้านคนต่อแถวยาวมาก ต้องเผื่อเวลารอประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ สำหรับเมนูโอยาโกะด้งมีเฉพาะเวลา 11:30-13:30 เท่านั้นนะคะ
ที่อยู่: 1 Chome-17-10 Nihonbashiningyōchō, Chūō-ku, Tōkyō-to 103-0013
เวลาทำการ: อังคาร-อาทิตย์ 11:30-13:30 รอบเที่ยง / 17:30-22:00 รอบเย็น
วันหยุดปกติ: วันจันทร์ และวันอื่นไม่กำหนดตายตัว
- www.tamahide.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น)
สูตร
อยู่ไทยก็กินโอยะโกะด้งรสชาติแบบญี่ปุ่นแท้ๆได้นะคะ เพียงทำตามสูตรนี้เลยค่ะ
ส่วนผสม 4 ที่
1. เนื้อสะโพกไก่ 200 กรัม
(สาเก,โชยุ อย่างละ 1 ช้อนชา สำหรับหมัก)
2. หอมใหญ่ 1 หัว
3. ไข่ไก่ 4 ฟอง (ตอกใส่ถ้วยละ 2 ฟอง ตีแค่พอไข่แดงแตก)
4. ดะชิ หรือ หัวซุปญี่ปุ่น 3/4 ถ้วย (ไม่มี ใช้น้ำเปล่าได้)
5. โชยุ 3 ช้อนโต๊ะ
6. สาเก 2 ช้อนโต๊ะ
7. มิริน 2 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
* ข้าวสวยร้อนๆ 4 ชาม
* นิยมเพิ่มผักโรยหน้าเพิ่มสีสันและกลิ่น เช่น มิทสึบะ (ใบคล้ายผักชีแต่กลิ่นจะอ่อนกว่า) ไควาเระ (ต้นอ่อนหัวไชเท้า) หรือสาหร่ายแห้งตัดเป็นเส้นฝอย (ไม่นิยมโรยหน้าด้วยต้นหอม)
วิธีทำ
1. หั่นไก่ชิ้นพอดีคำ หมักด้วยสาเกและโชยุ พักไว้ ระหว่างนั้นเรามาหั่นผักและปรุงน้ำซุปกันค่ะ
2. หอมใหญ่ ปอกเปลือกแล้วหั่นหนาหน่อยนะคะ อย่าหั่นบางเพราะต้มแล้วจะดูเละไม่น่ารับประทาน
3. ปรุงน้ำซุปกันค่ะ ตั้งกระทะ ไฟปานกลาง ใส่น้ำซุปญี่ปุ่น พอเดือดปรุงรสด้วยโชยุ สาเก มิริน น้ำตาล ทีละอย่างตามลำดับ
4. ใส่ไก่ที่หมักไว้ ต้มพอสุก
5. ใส่หอมใหญ่ ต้มจนสุก
6. ใส่ไข่ที่ตีไว้ 2 ฟอง รอให้สุก แล้วเปิดไฟแรง
7. ใส่ไข่อีก 2 ฟองที่เหลือ ขั้นตอนนี้ต้องรวดเร็วนะคะ และเตรียมฝากระทะไว้ปิดทันที
8. ปิดฝาแล้ว นับ 1 ถึง 5 ปิดเตายกลงเลยค่ะ ไม่ต้องเปิดฝากระทะ ปล่อยให้ระอุเพื่อให้ไข่สุก 5 นาที
9. สุกพร้อมเสิร์ฟกับข้าวสวยร้อนๆแล้วค่ะ
วิธีตักเสิร์ฟ
เตรียมผักโรยหน้า อย่างมิทสึบะ เราจะใช้เฉพาะใบค่ะ
ตักเสิร์ฟโดย
1. ตักข้าวสวยร้อนๆใส่ชาม
2. ราดด้วยไก่ตุ๋น
3. โรยหน้าด้วยมิทสึบะ หรือ ไควาเระ ไม่ก็ สาหร่ายฝอย (ผักโรยหน้าไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้นะคะ เพราะสูตรต้นตำรับที่ร้านที่แนะนำไปนั้น จริงๆไม่มีผักโรยหน้าค่ะ)
ผักมิทสึบะที่เหลือจากโรยหน้า เอามาใส่ซุปได้
หั่นผักขนาดพอดีคำใส่ถ้วยไว้ ตักซุปเต้าเจี้ยวร้อนๆใส่ลงไป จะใช้ซุปสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้นะคะ เพียงเท่านี้เราก็มีอีกหนึ่งเมนูมาทานคู่กับโอยาโกะด้ง ได้ความอร่อยเต็มๆแบบญี่ปุ่นค่ะ
โอยาโกะด้ง(親子丼) หมายความว่า ข้าว/ไก่/ไข่ เท่านั้นหรือ
- โอยา(親) แปลว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ไก่
- โกะ(子) แปลว่า ลูก หมายถึง ไข่
- ด้ง(丼) หรืออ่านเต็มว่า ดงบุริ แปลว่า ข้าวราดหน้า
เมื่อรวมกันแล้วหมายความว่า ข้าวราดไก่และไข่ หรือ ข้าวหน้าไก่ใส่ไข่ นั่นเอง เป็นชื่อเมนูที่มีความหมายตรงชัดเจน ตามส่วนผสมจริงๆค่ะ
โอยะโกะด้ง ไม่ได้มีแค่นี้นะคะ ยังมีชื่ออื่นอีก ขึ้นอยู่กับส่วนผสม เช่น
(1) เส้นอุด้งราดไก่และไข่ เรียกว่า โอยาโกะอุด้ง(親子うどん)
(2) บางร้านใช้เนื้อเป็ดแทน เรียกว่า คาโมะ โนะ โอยาโกะด้ง(鴨の親子丼)
(คาโมะ แปลว่า เป็ด)
(3) ทางด้านอาหารทะเลก็มีนะคะ ข้าวหน้าปลาแซลมอนดิบและไข่ปลาแซลมอน เรียกว่า ซะเกโอยาโกะด้ง(鮭親子丼) หรือ ไคเซ็น โอยาโกะด้ง(海鮮親子丼) ค่ะ
(ซะเก แปลว่า ปลาแซลมอน / ไคเซ็น แปลว่า อาหารทะเล)