All About Japan

รู้จักการจัดจานอาหารญี่ปุ่นทั้ง 4 ฤดู

ร้านอาหาร ชาวญี่ปุ่น วัตถุดิบ อูมามิ อาหารสุขภาพ Taste of Japan เที่ยวญี่ปุ่นช่วงสงกรานต์
รู้จักการจัดจานอาหารญี่ปุ่นทั้ง 4 ฤดู

ไม่ใช่แค่ศิลปะสวยๆ แต่มีเหตุผลด้วยว่าทำไมถึงต้องวางจานนี้ตรงนี้

หลายท่านที่เคยไปร้านอาหารญี่ปุ่นจะต้องเคยสั่ง set อาหารญี่ปุ่นเพื่อมารับประทาน และมีไม่น้อยที่จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปอาหารเก็บเป็นที่ระลึก แต่เคยสังเกตุมั้ยว่ารายละเอียดการจัดวางของอาหารนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ในครั้งนี้เราจะอยากจะแนะนำไห้รู้จักกับวิธีการจัดชุดอาหารแบบญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไร เอกลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่นในแต่ละฤดูที่น่าสังเกตนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อทราบเทคนิคดังกล่าวแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายรูปอาหารให้ตรงจุดได้อย่างแน่นอน

ชุดอาหารญี่ปุ่นหลัก อิจิจูซันไซ

ชุดอาหารญี่ปุ่นหลัก อิจิจูซันไซ

โดยทั่วไปแล้ววัฒนธรรมการจัดชุดอาหารแบบญี่ปุ่นนั้นจะยึดหลัก อิจิจูซันไซ (一汁三菜) ซึ่งแปลว่าน้ำซุป 1 อย่าง และกับข้าว 3 อย่าง หมายถึงในชุดอาหารต่อท่านหนึ่งนั้นจะต้องมีข้าว กับข้าว และเครื่องเคียงรวมกัน 3 อย่าง เช่น ข้าวเสริฟพร้อมกับน้ำซุปอย่างน้ำซุปมิโซะ ซุปสาหร่าย อีก1ถ้วย ซึ่งหากนำมาวางบนถาดอาจจัดวางได้ดังนี้

ข้าว วางบริเวณซ้ายมือสุด
น้ำซุป วางบริเวณขวามือสุด
อาหารหลัก วางบริเวณด้านบนของตำแหน่งถาดอาหาร ในส่วนนี้บางเมนูอาจนำไปใส่รวมกับข้าวด้วย เช่น ข้าวหน้าปลาไหลญี่ปุ่น
กับข้าวหรือเครื่องเคียงรองลงมา วางไว้ข้างๆอาหารหลัก
เครื่องเคียงเล็กน้อย อาทิ ผักดอง วางไว้ตรงกลางระหว่างข้าวกับน้ำซุป
และตะเกียบ วางรวบไว้เป็นแนวนอนบริเวณข้างล่างข้าว

แต่แน่นอนว่านอกจากอิจิจูซันไซแล้ว ก็ยังมีการจัดวางได้อีกหลายรูปแบบ เช่นอาหารประเภทหม้อไฟ (นาเบะ) ที่ส่วนใหญ่จะใหญ่เกินกว่าจะจัดลงในถาดเดียวได้

เอกลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่น

สำหรับวัฒนธรรมอาหารที่เด่นชัดของญี่ปุ่นอย่างหนึ่งคือ ความสดใหม่ของของวัตถุดิบ ในที่นี้คือการรักษาคุณภาพและรสชาติของอาหารให้คงความสดใหม่ ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นร้านอาหารที่มักใช้วิธีการปรุงอาหารสดๆมากมายทั่วประเทศญี่ปุ่นและร้านอาหารที่เน้นความหลากหลายของวัตถุดิบสดๆทางทำธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งใดๆอย่าง ซูชิหรือซาชิมิ เป็นต้นครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้คนญี่ปุ่นได้ให้นิยามไว้ว่าอาหารญี่ปุ่นนั้นจะต้องมี 5 รสชาติ 5 สี รับรู้จาก 5 สัมผัส และใช้ 5 วิธีในการปรุงอาหาร

อุดมไปด้วย 5 รสชาติ ได้แก่ รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม และรสเผ็ด
แฝงไปด้วย 5 สี ได้แก่ สีขาวจากข้าว สีดำ(สีม่วง)จากสาหร่าย สีเหลืองจากผักบางชนิด สีแดงจากปลาและเนื้อสัตว์ และสีเขียวจากผักทั่วไปในญี่ปุ่น
สัมผัสได้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตาที่มองเห็นสีสันของอาหาร หูที่ได้ยินเสียง (เช่น เสียงอาหารบนกระทะร้อน) จมูกที่ได้กลิ่นอาหารหอมๆ และปากที่ลิ้มรสชาติและสัมผัสของอาหาร
5 วิธีการปรุงอาหาร ได้แก่ ย่าง ต้ม ทอด นึ่ง และอาหารสด

ชุดอาหาร4ฤดู

การจัดชุดอาหารญี่ปุ่นในแต่ละฤดูนั้นแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงทั้งสีสันของอาหาร อุปกรณ์และภาชณะใส่อาหารตามฤดู รวมถึงรูปแบบของอาหารที่นำมาเสริฟ แบ่งตาม4ฤดูกาลของญี่ปุ่นได้ดังนี้

ฤดูใบไม้ผลิ

ฤดูใบไม้ผลิ

https://pixta.jp

ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงอากาศที่อบอุ่นสำหรับคนญี่ปุ่นและมีสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่สวยงาม พืชผลมักผลิบาน ชุดอาหารที่จัดจะยึดโทนสีชมพูหรือสีเขียวในการตกแต่ง เช่นผักดองต่างๆหลายชนิด และมักใช้ดอกไม้ใบไม้สดในการตกแต่งอาหาร มักเลือกใช้ถ้วยเล็กๆ เยอะๆ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ปลาชุกชุม ทำให้เมนูที่เสริฟนั้นมักพร้อมไปด้วยปลาและเครื่องเคียงมากมาย ถ้วยที่เลือกใช้ใส่อาหารอาจเป็นลวดลายซากุระ

เมนูแนะนำ : เมนูหอยอาซาริ ปลา ผักดอง

ฤดูร้อน

ฤดูร้อน

https://pixta.jp

ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม มีอากาศร้อนชื้นและฝนตกในช่วงสั้นๆ นิยมเสริฟอาหารในถ้วยแก้วใสๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความเย็นสบาย ซึ่งจะใช้ทั้งกับของคาวและของหวานเย็นๆ ใช้ถ้วยชามทรงปากกว้างและตื้นเพื้อให้อาหารสัมผัสกับอากาศ โทนของอาหารและการตกแต่งช่วงฤดูร้อนจะมีสีสดใส เช่นเป็นสีแดง (จากเนื้อสัตว์) สีเขียว สีม่วง สีฟ้าแบบท้องฟ้า และบางทีก็เลือกอาหารที่ช่วยคลายร้อน เช่นบะหมี่เย็น

อาหารแนะนำ : ข้าวหน้าปลาไหลย่าง ซาชิมิกุ้งสด บะหมี่เย็นโซเม็ง

ฤดูใบไม้ร่วง

ฤดูใบไม้ร่วง

https://pixta.jp

ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน อากาศค่อนข้างสบายและเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต อาหารมักจะเกี่ยวกับปลาและผักหลายชนิด อาหารมักตกแต่งด้วยใบไม้ที่เปลี่ยนสีและเน้นการใช้ชามเป็นหลัก โดยมักใช้ภาชนะที่เป็นไม้หรือเซรามิคสีค่อนข้างทึบ โทนสีการตกแต่งอาหารในฤดูใบไม้ร่วงนั้นมักจะเป็นสีแดง เหลือง และส้ม เพื่อแสดงถึงใบไม้เปลี่ยนสี

อาหารแนะนำ : ซูชิปลาต่างๆ ซาชิมิปลาสด ปลาย่าง

ฤดูหนาว

ฤดูหนาว

ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็นถึงขั้นติดลบ ด้วยเหตุนี้ถ้วยชามที่เลือกนำมาใส่นั้นจะเป็นทรงลึกเพื่อกักเก็บความร้อนให้คงอยู่ รวมถึงจะใช้หม้อหลากหลายรูปแบบเพราะเมนูหลักมักจะเป็นเมนูหม้อไฟและซุปร้อนประกอบเป็นหลักในชุดอาหาร โทนสีการตกแต่งอาหารในฤดูหนาวนั้นจะเป็นสีขาว
อาหารแนะนำ : เมนูปูและปลาหมึกยักษ์ต่างๆ หม้อไฟ

สำหรับในโอกาสพิเศษอาจเจอการตกแต่งชุดอาหารญี่ปุ่นด้วยสีแดงและสีทองเนื่องจากเป็นสีมงคล ส่วนชุดอาหารสำหรับงานอวมงคลของญี่ปุ่นจะเป็นโทนสีดำสนิท หวังว่าผู้อ่านหลายๆท่านจะนำเทคนิคการสังเกตชุดอาหารดั้งเดิมของญี่ปุ่นนี้ นำไปสังเกตความตั้งใจต่อรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของร้านอาหารหรือภัตตาคารญี่ปุ่นเหมือนที่เขาใส่ใจต่อการบริการด้วยใจแบบญี่ปุ่นนะ

know-before-you-go