สูตรโอโคโนมิยากิ ทำเองง่ายได้ที่บ้าน
ที่มาของโอโคโนมิยากิ
โอโคโนมิยากิ มีต้นกำเนิดมานานหลายยุคสมัย เริ่มแรก ประมาณ 1,300 ปีก่อน มีขนมที่ทำจากแป้งสาลีผสมน้ำนำมาย่างเป็นแผ่นบางๆเหมือนเครปญี่ปุ่น ไม่ได้มีไส้หรือซอส เรียกว่า เซนบิน (せんびん) ซึ่งมีที่มาจากจีน
ต่อมาในยุคอะซุชิโมะโมะยามะ (1573 - 1603) ก็เกิดเป็นขนมสำหรับทานคู่กับชาญี่ปุ่น เรียกว่า ฟูโนยากิ เป็นแผ่นแป้งทาด้วยมิโสะและน้ำตาล
และในยุคเมจิ (1868 - 1912) มีขนมมอนจายากิ เป็นขนมเด็กสำหรับกินที่ร้าน ถ้าซื้อกลับบ้านจะเรียกว่า ดอนดอนยากิ เป็นแผ่นแป้งม้วนกับไม้
จนถึงยุคไทโช (1912 - 1926) ดอนดอนยากิ เป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นทั้งในเมืองโอซาก้าและเมืองฮิโรชิมาในชื่อของ ”อิสเซ็นโยโชคุ” (一銭洋食) ที่แปลว่า อาหารตะวันตกราคาหนึ่งเซน (1เซน = 0.01 เยน) กินกับซอสแบบตะวันตกที่เรียกว่าวูสเตอร์ซอส
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผู้คนต้องการอาหารที่กินอิ่มอยู่ท้อง ขนมนี้จึงกลายเป็นอาหารที่ผู้ใหญ่รับประทานด้วย ใส่ต้นหอมที่หาได้ง่าย และผักกะหล่ำให้ดูเยอะ กลายเป็นโอโคโนมิยากิ จนทุกวันนี้ค่ะ โดยชื่อเรียก โอโคโนมิยากิ เกิดขึ้นที่กรุงโตเกียวในยุคโชวะ(1926 - 1989)
โอโคโนมิยากิ และ ฮิโรชิมะยากิ
โอโคโนมิยากิ (お好み焼き) มาจากคำว่า โอโคโนมิ (お好み) แปลว่า ตามที่ชอบ และ ยากิ(焼き) แปลว่า ย่าง คือ อาหารที่มีส่วนผสมหลากหลายตามที่ชอบ โดยมีส่วนผสมหลักจากแป้งสาลีและผักกะหล่ำ ย่างด้วยเตาผัดกระทะแบน บางทีจึงเรียกว่า เท็ปปังยากิ (เท็ปปังหมายถึงกระทะเหล็กแบน) มีวิธีทำ 2 แบบ คือ
1. แบบคันไซหรือเมืองโอซาก้า เรียกว่า โอโคโนมิยากิ ที่ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วย่างเป็นแผ่นหนา ทานกับซอสญี่ปุ่น และนิยมใส่มายองเนส ซึ่งเป็นแบบที่คนไทยหลายคนรู้จักค่ะ
2. แบบเมืองฮิโรชิมะ เรียกว่า ฮิโรชิมะยากิ มีวิธีการทำเป็นชั้นๆ เริ่มจากทำแผ่นแป้ง ใส่ผักกะหล่ำหั่นฝอย หมูสามชั้น เส้นยากิโซบะ และไข่ ทานกับซอสญี่ปุ่น บ้างก็นิยมโรยต้นหอมซอย ซึ่งแบบฮิโรชิมะนี่มีความอร่อยไม่แพ้โอโคโนมิยากิ หากใครได้ลองชิมแล้วรับรองจะติดใจค่ะ
สูตรที่เราจะทำวันนี้ เป็นแบบโอซาก้าค่ะ เหตุผลที่เราเลือกสูตรนี้เพราะ มีวิธีทำที่ง่ายและคนญี่ปุ่นนิยมทำกินที่บ้าน ต่างกับแบบฮิโรชิม่าที่คนญี่ปุ่นนิยมซื้อรับประทานมากกว่าค่ะ
ส่วนผสม โอโคโนมิยากิ (สำหรับ 2 ที่)
1. แป้งสาลีอเนกประสงค์
= 100 กรัม (เกือบๆ 1 ถ้วยตวง)
2. น้ำซุปญี่ปุ่น (น้ำละลายผงดะชิ)
= 200 มิลลิลิตร
3. หมูสามชั้นแล่แผ่นบาง
= 200 กรัม
4. ผักกะหล่ำปลี (หั่นสีเหลี่ยมเล็กๆ)
= 200 กรัม (ประมาณ 3 กอบมือ)
5. ต้นหอมซอย
= 50 กรัม (4 - 5 ต้น)
6. เศษแป้งเทมปุระทอด (เตนคะสึ 天かす) ใช้กากหมูแทนได้
= 2 ช้อนโต๊ะ
7. ขิงดอง (เบนิ โชวกะ 紅生姜) หั่นเป็นเส้น
= 1 ช้อนโต๊ะพูนๆ
8. ไข่ไก่
= 2 ฟอง
9. น้ำมัน
= 1 ช้อนชา
10. ซอสญี่ปุ่น ชูโน (中濃ソース)
= ตามชอบ
11. มายองเนส
= ตามชอบ
12. สาหร่ายแห้งป่น (อาโอโนริ 青のり) ใช้สาหร่ายแผ่นตัดเป็นเส้นฝอยแทนได้
= พอประมาณ
13. ปลาโอแห้งฝอย (คัทสึโอะบุชิ かつお節)
= พอประมาณ
※ นอกจากผักแล้วสามารถใส่ส่วนผสมอื่นๆได้ตามชอบ เช่น ชีส ไส้กรอก แฮม กุ้ง หอยนางรม แต่ส่วนผสมที่อร่อยสุดเท่าที่เคยกินมาเองคือ ”เอ็นเนื้อตุ๋น” ค่ะ
วิธีทำ
1. หั่นผักเตรียมไว้
2. ตวงแป้งพักไว้
3. ร่อนแป้งผสมกับน้ำซุปญี่ปุ่น
4. ใส่ผักกะหล่ำ, ต้นหอม, แป้งเทมปุระทอด, ขิงดอง และไข่ ผสมให้เข้ากันอย่างรวดเร็ว
5. เปิดกระทะไฟฟ้า 200 องศาเซลเซียส (สำหรับเตาแก๊สใช้ไฟปานกลาง) ทาน้ำมันให้ทั่ว เทแป้งครึ่งนึงลงย่าง กระจายให้เป็นแผ่นกว้างประมาณ 17 เซนติเมตร และหนาไม่เกิน 2 เซนติเมตร ย่างให้เหลืองสุกประมาณ 3 นาที
6. เรียงหมูสามชั้นให้ทั่วแผ่น
7. กลับด้านแล้วปิดฝาอบประมาณ 5 นาที เพื่อให้ผักสุกนุ่มฉ่ำน่ารับประทาน
8. กลับด้านให้หมูอยู่ด้านบน ย่างต่อ 3 นาที
9. ทาซอสให้ทั่วและบีบมายองเนสลงไป ใครมีฝีมือก็วาดลวดลายตามชอบเลยค่ะ
10. โรยสาหร่ายป่นและปลาโอแห้ง
วิธีรับประทานนะคะ ตัดแบ่ง 4 ชิ้น เหมือนพิซซ่า แล้วตักใส่จานตัวเอง ทานด้วยตะเกียบค่ะ สำหรับบางร้านที่สามารถตักทานโดยตรงจากกระทะได้เลยนั้น ให้แบ่งชิ้นของตัวเองไว้ด้านหน้าตัวเองก่อนจึงรับประทานค่ะ
ช้อนสำหรับรับประทานโอโคโนมิยากิ เรียกว่า เฮระ (ヘラ) มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ คล้ายตะหลิวแบนๆขนาดเล็ก ทำด้วยสแตนเลสและมีด้ามจับเป็นไม้ สำหรับตักโอโคโนมิยากิจากกระทะ และยังใช้รับประทานประเภทกระทะร้อนอย่างอื่นด้วย เช่น มอนจายากิ (もんじゃ焼き) ซึ่งมีลักษณะข้น ต้องรับประทานขณะร้อนๆค่ะ
ไม่ต้องไปญี่ปุ่นก็สามารถกินโอโคโนมิยากิรสชาติอร่อยได้ เพื่อนๆลองทำกันดูนะคะ จะหาซื้อเฮระมาใช้ที่บ้านก็ได้ ตามร้านร้อยเยนพวกไดโซมีขายแน่นอน ได้อารมณ์แบบญี่ปุ่นขึ้นไปอีกค่ะ