allabout japan
allabout japan

สูตร มิโสะดามะ ซุปมิโสะก้อนเติมน้ำร้อนพร้อมทาน

สูตร มิโสะดามะ ซุปมิโสะก้อนเติมน้ำร้อนพร้อมทาน

ใครรักอาหารญี่ปุ่นต้องรู้จักไว้ มิโสะดามะคือซุปมิโสะก้อนแบบพกพา แค่เติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทาน

By ครัวญี่ปุ่น

มิโสะดามะ

มิโสะดามะคือซุปมิโสะก้อนสำเร็จรูป มีทรงกลมที่ดูคล้ายช็อกโกแลต เป็นอาหารพร้อมทานของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ยุคซามูไร วัตถุดิบหลักก็คือมิโสะ (ที่ใช้ทำซุปนั่นเอง) ปริมาณสำหรับ 1 ที่พอดี นำมาปั้นเป็นก้อนๆ แค่เติมน้ำร้อนก็จะได้ซุปมิโสะพร้อมรับประทาน ไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็อิ่มอร่อยกับซุปมิโสะอุ่นๆได้ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ดีต่อสุขภาพค่ะ มีหลักฐานว่าอาหารชนิดนี้นั้นเก่าแก่และทำกินกันมาแต่โบราณ เช่นในยุคเซ็งโงกุที่ประเทศญี่ปุ่นปกครองโดยขุนพลมากมายและมีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนาน มิโสะดามะนั้นเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงานแก่เหล่านักรบ ในอดีตจะนำมิโสะที่ปั้นเป็นก้อนไปเผาหรือตากแห้ง ห่อด้วยใบไผ่แห้งหรือผ้าฝ้าย ผูกไว้ที่เอวนักรบญี่ปุ่น ถือเป็นเสบียงสำคัญอย่างหนึ่งของนักรบยุคโบราณค่ะ

ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นหลายรูปแบบ ใส่ส่วนผสมอื่นๆนอกจากมิโสะมากกมาย เช่นกุ้งแห้ง สาหร่ายแห้ง และอื่นๆ แค่เทน้ำร้อนแล้วก็จะได้ซุปมิโสะที่สวยงามและมีคุณค่าทางอาหารหลากหลาย ไม่ได้มีแต่มิโสะอย่างเดียวด้วยค่ะ ซึ่งเนื่องจากเป็นอาหารที่ค่อนข้างสวยและถ่ายรูปขึ้น จะทำเป็นของฝากของขวัญก็ได้ค่ะ มาลองทำซุปเปอร์ฟู้ดของประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ

8 ข้อดีของการทำมิโสะดามะ

8 ข้อดีของการทำมิโสะดามะ

1. เพียงเติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทาน

2. มีวิธีการทำที่ง่าย แค่ผสมทุกอย่างแล้วปั้นก้อน

3. เป็นอาหารที่ปรุงเอง จึงสะอาดปลอดภัย

4. ไม่จำกัดในเรื่องของวัตถุดิบ ดัดแปลงสูตรได้หลากหลาย

5. ทำครั้งละมากๆ ใส่ตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ และเก็บได้นานถึง 1 เดือนในช่องฟรีซ

6. พกพาสะดวก จะปิคนิคหรือใส่กล่องไปกินที่ทำงานก็ได้

7. มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยมิโสะที่เป็นซุปเปอร์ฟู้ดของญี่ปุ่น

8. สำหรับคนที่ทำอาหารญี่ปุ่นอยู่ประจำ จะมีส่วนผสมและเครื่องปรุงที่มีติดบ้านอยู่แล้ว ประหยัดทั้งงบและเวลาค่ะ

วิธีรับประทาน

วิธีรับประทาน

แกะออกจากแรป ใส่ถ้วย ใส่ผักและโปรตีนตามชอบ ได้ทั้งอาหารแห้งและอาหารปรุงแล้ว เติมน้ำร้อนแล้วคนให้เข้ากันก็พร้อมรับประทานค่ะ

ลักษณะของมิโสะ และการเลือกใช้

ลักษณะของมิโสะ และการเลือกใช้

“มิโสะ” ทำจากถั่วเหลืองหมักกับหัวเชื้อที่เรียกว่า โคจิ (koji/麹)ผสมเกลือ มีแร่ธาตุและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลักษณะนิ่ม รสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีรสเค็ม เค็มมาก เค็มน้อย ขึ้นอยู่กับเกลือและระยะเวลาในการหมัก นอกจากนี้ยังหมักกับข้าว ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ได้ ฉะนั้นจึงแบ่งลักษณะของมิโสะได้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้

(1.) จากรสชาติ คือ เค็มน้อย เค็มกลาง และ เค็มมาก
(2.) จากสี คือ สีออกขาว สีกลางๆ สีออกแดง และ
(3.) จากวัตถุดิบที่ใช้หมัก

ทั้งหมดนี้ทำให้ในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นนั้นมีมิโสะแตกต่างกันไป หลายจังหวัดก็มีมิโสะที่มีชื่อเสียงของที่นั้นๆค่ะ

ร้านที่ขายเฉพาะมิโสะที่ญี่ปุ่นบางร้านจะมีให้เลือกชิม เราสามารถซื้อรสที่ชอบได้ ส่วนตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆก็จะมีครบแทบทุกประเภท ซึ่งมิโสะหลายยี่ห้อผสมสารกันบูดและสารเสริม แนะนำชนิดปลอดสารค่ะ ซึ่งมีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นคำว่า mutenka (มุเทนคะ) เขียนว่า 無添加 ที่บรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน มักจะมีราคาแพงกว่า แต่ดีต่อร่างกายค่ะ ถ้าหาได้ก็อยากแนะนำสิ่งนี้

สำหรับที่ไทย มิโสะที่ใช้ตามร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นมิโสะขาว หลายคนอาจคุ้นเคยรสชาตินี้ จะเลือกใช้แต่มิโสะขาวก็ได้นะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้สำหรับสูตรมิโสะดามะนี้ ใช้มิโสะ 3 ชนิด ผสมกันค่ะ

ส่วนผสมที่ใช้ตกแต่งและเพิ่มรสชาติ

ส่วนผสมที่ใช้ตกแต่งและเพิ่มรสชาติ

ส่วนผสมที่นิยมใช้มักเป็นเป็นอาหารแห้งที่เป็นเครื่องปรุงในซุปต่างๆอยู่แล้วค่ะ ชนิดที่เติมน้ำร้อนก็รับประทานได้เลย ราคาประมาณ 100-300 เยน หาซื้อได้ที่ร้านร้อยเยน และซุปเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นทั่วไปค่ะ แต่อย่างที่บอกไปว่า ไม่มีสูตรตายตัว เพราะฉะนั้นจะลองใส่ของแห้งชนิดอื่นที่ตัวเองชอบก็ได้นะคะ

หากใช้อาหารสดที่นำมาปรุงสุก ยากต่อการปั้นก้อน ด้วยปริมาณที่เยอะและลักษณะที่นิ่มค่ะ ทั้งยังเก็บได้แค่ 1-2 วันเองค่ะ

ถ้าวัตถุดิบพร้อมแล้วมาเริ่มทำกันเลยค่ะ

สูตร มิโสะดามะ

สูตร มิโสะดามะ

ก่อนอื่นต้องปรุงมิโสะผสมดะชิค่ะ ใช้มิโสะชนิดใดก็ได้ 2-3 ชนิดผสมกัน จะทำให้ซุปมีรสชาติกลมกล่อม อร่อยมีอูมามิยิ่งขึ้นค่ะ หรือชนิดเดียวก็ได้นะคะ ถ้าใช้ชนิดที่ผสมดะชิแล้ว ข้ามไปทำขั้นตอน ”มิโสะมารุ”ได้เลยค่ะ

ส่วนผสม สำหรับ 1 ที่

ส่วนผสม สำหรับ 1 ที่

1. มิโสะ 12 กรัม (2 ช้อนชา)
2. ผงซุปญี่ปุ่น 1 กรัม (1/3 ช้อนชา)

ชงกับน้ำร้อน 180 มิลลิลิตร : 1 ที่

ส่วนผสม สำหรับ 10 ที่

ส่วนผสม สำหรับ 10 ที่

1. มิโสะ 130 กรัม
2. ผงซุปญี่ปุ่น 6 กรัม

ชงกับน้ำร้อน 180~200 มิลลิลิตร : 1 ที่

วิธีทำ

วิธีทำ

ผสมมิโสะกับผงซุปให้เข้ากัน ใช้แรปห่อแล้วปั้นเป็นก้อนกลม

มิโสะผสมดะชินี้ เก็บใส่ตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์ และ ช่องฟรีซ 2-3 เดือน มิโสะแช่ช่องฟรีซได้ไม่แข็งค่ะ ตู้เย็นตามบ้านเรือน ช่องฟรีซอุณหภูมิ -5℃~-15℃ ซึ่งไม่ต่ำกว่า -20℃ ที่มิโสะจะเป็นก้อนแข็งได้ค่ะ

ขั้นตอนการทำ มิโสะมารุ

ขั้นตอนการทำ มิโสะมารุ

“มิโสะมารุ”คือ “มิโสะดามะ”ที่ปั้นเป็นก้อนกลมกิ๊กมีการตกแต่งเก๋ไก๋ เป็นเทรนด์การทำอาหารยุคใหม่ค่ะ เพราะนอกจากจะสวยแล้วยังมีประโยชน์ สะดวก และทำกินในบ้านได้จริงไม่ได้เหนื่อยเกินกว่าเหตุด้วย

“มิโสะมารุ” มีทั้งแบบธรรมดาที่ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันและปั้นก้อน และแบบเดคอเรชั่น (decoration) ที่ใช้ส่วนผสมบางส่วนมาตกแต่งรอบนอกให้สวยงาม เป็นเทรนด์ฮอตฮิตของแม่บ้านสายอินสตาแกรม และเพิ่มความหลากหลายให้ซุปมิโซะที่ได้ ซึ่งไม่จำกัดรูปแบบ ผู้ปรุงสามารถดีไซน์ได้ตามชอบค่ะ

สูตร (1) สาหร่ายแห้ง กับ ต้นหอมแห้ง

สูตร (1) สาหร่ายแห้ง กับ ต้นหอมแห้ง

ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายวากาเมะแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. ต้นหอมแห้ง 1 ช้อนชา

สูตร (2) โทโรโรคอมบุ กับ เต้าหู้แห้ง

สูตร (2) โทโรโรคอมบุ กับ เต้าหู้แห้ง

ส่วนผสม
1. มิโสะ (ไม่ผสมดะชิ) 2 ช้อนชา
2. เต้าหู้ทอดอบแห้ง 4-5 ชิ้น
3. งาขาวคั่ว 1 ช้อนชา
4. โทโรโรคอมบุ 5 กรัม

* โทโรโรคอมบุมีส่วนผสมจากสาหร่ายที่ใช้ทำดะชิอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้มิโสะผสมดะชิค่ะ

สูตร (3) กุ้งแห้ง กับ อาเกะดามะ(เศษเทมปุระ)

สูตร (3) กุ้งแห้ง กับ อาเกะดามะ(เศษเทมปุระ)

ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. กุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. อาเกะดามะ 1 ช้อนโต๊ะ
4. อาโอโนริ(ผงสาหร่าย) 1/2 ช้อนโต๊ะ

สูตร (4) งาคั่ว กับ หัวไชเท้าแห้ง

สูตร (4) งาคั่ว กับ หัวไชเท้าแห้ง

ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายโนริแผ่น(ขนาดห่อข้าวปั้น) ฉีกพอดีคำ 1/2 แผ่น
3. หัวไชเท้าแห้ง หั่นเล็กๆ 5 กรัม
4. งาคั่ว 1/2 ช้อนโต๊ะ

สูตร (5) ผักรวม กับ กุ้งแห้ง

สูตร (5) ผักรวม กับ กุ้งแห้ง

ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. ผักแห้งรวมมิตร 1 ช้อนโต๊ะ
3. กุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ (ตามรูป กุ้งซากุระ)

สูตร (6) เต้าหู้แห้ง กับ สาหร่าย

สูตร (6) เต้าหู้แห้ง กับ สาหร่าย

ส่วนผสม
1. มิโสะผสมดะชิ 2 ช้อนชา
2. สาหร่ายวากาเมะแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
3. ผงสาหร่ายแห้ง (อาโอโนริ) 1/2 ช้อนโต๊ะ
4. เต้าหู้ทอดอบแห้ง 4-5 ชิ้น

วิธีปั้นมิโสะมารุ

วิธีปั้นมิโสะมารุ

1. ตักแบ่งมิโสะสำหรับ 1 ที่

2. ผสมอาหารแห้งโดยเหลือส่วนผสมอย่างหนึ่งไว้คลุกรอบนอก

3. ใช้แรปรอง เพื่อไม่ให้ติดมือ (หากบรรจุกล่อง ข้ามไปขั้นตอนที่ 5 ได้เลยค่ะ)

4. ห่อให้แน่นเป็นทรงกลม

5. วางแป้งฟู (fu/麩) ตกแต่งให้สวยงาม บรรจุกล่องขนาดพอดีชิ้น หรือห่อด้วยแรปเพื่อไม่ให้โดนอากาศค่ะ

หมายเหตุ

- หากทำสูตรเดียวก็ผสมเครื่องก่อนทีเดียว แล้วค่อยแบ่งปั้นทีละก้อนนะคะ
- อัตราส่วนของอาหารแห้งปรับเปลี่ยนได้ตามชอบ ไม่มีสูตรตายตัวค่ะ

วิธีเก็บถนอม

วิธีเก็บถนอม

เมื่อห่อด้วยแรปแล้วพันเทปกาวให้แน่นแล้ว บรรจุใส่กล่อง เขียนวันเดือนปีที่ผลิต

- แช่ช่องเย็นได้ 1 สัปดาห์
- แช่ช่องฟรีซได้ 1 เดือน

หากทำจำนวนมาก จะใช้สีของเทปกาว แบ่งแยกแต่ละสูตรของมิโสะดามะก็ได้นะคะ

มิโสะทรัฟเฟิล

มิโสะทรัฟเฟิล

สามารถใช้กระดาษห่อสวยๆแบบลูกอม เป็นแพคเกจน่ารักๆ ใส่เบนโตะไปกินที่ทำงาน ทำไปฝากเพื่อนก็ได้นะคะ

”มิโสะดามะ” ปั้นให้กลมแล้วตกแต่งแบบช็อกโกแลตทรัฟเฟิล สามารถปรับสูตรได้หลากหลาย และยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงามน่ารัก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สนุกไปกับการปรุงส่วนผสมได้ จัดใส่กล่องสวยงามเป็นของฝากของขวัญก็ดูดี หรือทำเป็นเมนูบุฟเฟต์ จัดเบรคงานประชุมสัมมนาก็น่าสนใจไม่น้อย มารังสรรค์”มิโสะดามะ”ในรูปแบบของคุณกันนะคะ

ครัวญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ ชื่อ มด นะคะ
เริ่มเขียนบล็อกเกี่ยวกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2008
เป็นไดอารี่ทั่วไป หลังๆเริ่มมีสูตรอาหาร ต่อมาทำเพจอาหารญี่ปุ่น คิดว่าเพียงจดสูตรไว้ดูเอง พอเริ่มมีคนติดตามมากขึ้น จึงเริ่มเพิ่มเนื้อหาต่างๆเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นนอกเหนือจากสูตรอาหาร เพื่อแบ่งปันสำหรับผู้ที่สนใจในอาหารญี่ปุ่น

❤︎❤︎ฝากติดตามครัวญี่ปุ่นกันด้วยนะคะ❤︎❤︎

ทางเพจเฟสบุ๊ค และ ยูทูปชาแนล ค่ะ