“โกเฮโมจิ” โมจิปิ้งสุดอร่อยแสนง่าย อยู่ไทยก็ทำกินเองได้
โกเฮโมจิ เริ่มรู้จักแพร่หลายในญี่ปุ่นเพราะละครโทรทัศน์ช่วงเช้า ได้ถ่ายทำที่ร้านโกเฮโมจิในจังหวัดกิฟุ ทั้งนี้โกเฮโมจิก็ไม่ได้หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งร้านขนมญี่ปุ่น เพราะโกเฮโมจิไม่มีสูตรตายตัว ตัวซอสถูกคิดค้นเป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวและสืบถอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เราจะนำเสนอสูตรเด็ดเครื่องแน่นที่รวมทุกความอร่อยไว้ในสูตรเดียวค่ะ
By ครัวญี่ปุ่นขั้นตอนที่ 2 “ปรุงซอสโกเฮโมจิ”

รสชาติซอสจะออกเค็มนำหวานตาม มีความหอมมันจากถั่ว สีของซอสขึ้นอยู่กับมิโสะ และมิโสะมีรสเค็มจัด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความอร่อย
สูตรนี้เราเลือกใช้“มิโสะชนิดผสม” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อาวาเสะมิโสะ”「合わせ味噌 (あわせみそ)」เป็นมิโสะที่หมักจากวัตถุดิบหลายอย่างรวมกัน มีถั่วเหลือง ข้าว และข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น แม้รสชาติมิโสะจะเข้มข้น แค่ไม่โดดเพราะมีเครื่องปรุงสำคัญอย่าง “สาเก” ที่ช่วยเชื่อมส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันค่ะ
2.1 คั่วบดงาและถั่ววอลนัท

เตรียมงาขาว ใช้ช้อนตวงนะคะ เกือบๆ 1 ช้อนโต๊ะ หรือจะชั่งก็ได้ ปริมาณ 5 กรัมค่ะ และถั่ววอลนัท ใช้ 4 อัน หรือประมาณ 10~12 กรัม ใครชอบเข้มข้นก็ใส่เพิ่มอีก 1~2 อันก็ได้ค่ะ
ทำไมจึงเลือกงาขาว เพราะหอมละมุนกว่างาดำ และมีสีกลมกลืนกับถั่วค่ะ เราสามารถหาซื้องาขาวคั่วสำเร็จได้ตามขายซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปนะคะ แนะนำให้ซื้อชนิดเมล็ดไม่ได้บด เพราะใช้ได้หลากหลายกว่า หากเหลือก็นำมาโรยหน้าอาหารได้ด้วยค่ะ
สำหรับถั่ววอลนัท ที่ญี่ปุ่นมีถั่ววอลนัทขายทั่วไป นิยมกินเล่น และนำมาใส่ขนม จึงมีทั้งแบบดิบหรือคั่วไม่ผสมเกลือขาย ที่ญี่ปุ่นตามร้าน 100 เยนก็มีขายนะคะ
เพิ่มเติม:หากเพื่อนๆ ไม่อยากใส่ถั่ววอลนัท สามารถใช้ถั่วลิสงแทนได้ค่ะ เพราะสูตรซอสโกเฮโมจิของจังหวัดกิฟุก็ใส่ทั้งถั่วลิสงและถั่ววอลนัท แต่ที่ญี่ปุ่นถั่วลิสงดิบหรือแบบไม่ปรุงรสหาซื้อยากกว่าไม่ก็ราคาแพง ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป มีถั่วลิสงจากจีน เป็นถั่วคลุกเกลือกรสเนย เอาไว้กินเป็นกับแกล้ม ถ้าเอามาทำซอสอาจจะเสียรสชาติไปเลยนะคะ

เมื่อได้งาขาวและถั่วที่ต้องการแล้ว ให้นำมาคั่วก่อนนะคะ แม้จะซื้อแบบคั่วมาแล้วก็ตาม ตั้งกระทะเปิดไปอ่อน ค่อยๆ คั่วให้มีกลิ่นหอม เบาและกรอบ จะได้บดหรือตำได้ง่ายค่ะ ตามรูป แบ่ง ใส่ฟอยล์ 2 ฝั่งในกระทะ จะได้คั่วพร้อมกันในกระทะเดียวเลยค่ะ

งาขาวจะคั่วเสร็จเร็วกว่า ให้นำมาตำหรือบดก่อนนะคะ ใช้ครกญี่ปุ่นจะบดได้เร็วและง่ายกว่าเพราะมีร่องเล็กๆรอบด้านในครกค่ะ

ใช้สากกดๆแล้ววนๆ ไม่กี่รอบก็ละเอียดค่ะ

ระหว่างนี้ถั่ววอลนัทก็หอมได้ที่พอดี ยกลงจากเตาใส่ในครก ตำไปกับงาได้เลยค่ะ พยายามบดให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้นะคะ

ถั่วและงาละเอียดดีแล้วก็ใช้ช้อนเกลี่ยๆ มารวมกัน พักไว้ค่ะ
2.2 ตั้งกระทะปรุงรส

เตรียมกระทะแบนใบใหญ่พอให้ใส่โมจิได้นะคะ ตั้งเตาไว้ ยังไม่ต้องเปิดไฟเพราะมิโสะจะไหม้ง่ายค่ะ ใส่งาและถั่วลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย มิโสะและโชยุค่ะ

ใช้พายคนส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันค่ะ

ใส่สาเกและมิรินผสมให้เข้ากัน ตั้งไฟอ่อนไปเรื่อยๆ เพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยจนหมดค่ะ

พอซอสเดือดและข้นขึ้นก็พร้อมนำไปปิ้งกับโมจิค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 “ปิ้งโกเฮโมจิ”

ทาซอสบนโมจิเสียบไม้ โดยใช้ช้อนตักซอสราด ราดด้านเดียวก็ใส่เยอะๆ ถ้าราดสองด้านก็แค่พอเคลือบไม่ต้องหนามากนะคะ ตามสูตรอัตราส่วนซอสจะพอดีกับโมจิค่ะ

ส่วนโมจิอันเล็ก ก็ใส่คลุกกับซอสในกระทะ ถ้าใครอยากจะกินเลย ให้เปิดเตาผัดซอสกับโมจิในกระทะ ก็ตักกินได้เลยนะคะ

ต่อไปก็นำโมจิมาเรียงบนถาด นำไปอบด้วยเตาปิ้งขนมปัง 5 นาที หรือปิ้งเตาแก๊สเตาไฟฟ้าให้มีสีไหม้เล็กน้อยค่ะ

ปิ้งโกเฮโมจิจนซอสแห้งติดกับโมจิ ใครทาซอสน้อยไปก็ทาแล้วปิ้งซ้ำได้นะคะ ยิ่งทาซอสปิ้งซ้ำหลายรอบยิ่งอร่อย แต่ถ้าเยอะเกินไป ระวังจะเค็มเกินนะคะ

พอโกเฮโมจิมีสีไหม้ตามที่ต้องการก็พร้อมเสิร์ฟค่ะ

โมจิเหนียวแน่น รสเข้มข้นเค็มหวานมัน กินกับตัวโมจิแล้วกลมกล่อมลงตัวมากค่ะ
“โกเฮโมจิ” กินเล่นก็ได้ กินแทนข้าวก็อร่อย

โกโฮโมจิอันเล็ก ปิ้งเสร็จแล้วเสียบไม้น่ารักๆ ให้เด็กๆกินเป็นของว่าง กินแทนขนมก็ยังได้ อร่อยและยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยค่ะ

ส่วนโกเฮโมจิไม้ใหญ่ แค่ไม้สองไม้ก็อิ่ม กินแทนข้าวได้เลยค่ะ

สำหรับผู้ใหญ่ กินคู่กับสาเกญี่ปุ่นก็เข้ากันมากค่ะ รสชาติเข้ากันยิ่งกว่ากินคู่กับน้ำชาเขียวอีกนะคะ
“โกเฮโมจิ”อาหารสำหรับครอบครัว

สำหรับคนในพื้นที่ “โกเฮโมจิ”ถือเป็นเมนูประจำบ้าน เป็นอาหารเชื่อมสัมพันธ์ในครอบครัว ทำกินฉลองในโอกาสสำคัญ หรือเป็นเมนูต้อนรับแขก อย่างบ้านญี่ปุ่นโบราณก็จะมีเตา “อิโรริ” (囲炉裏) กลางบ้าน เราสามารถปิ้ง”โกเฮโมจิ” พร้อมกับอุ่นสาเกร้อนๆ นั่งรวมวงสังสรรค์กันอย่างอบอุ่น
นี่เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบภูมิภาคนั้นค่ะ ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากแล้ว เราจึงรู้จัก“โกเฮโมจิ”ที่เป็นของฝากตามสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าค่ะ และทางจังหวัดนากาโน่ ก็ได้ตั้ง วันที่ 17 เมษายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงโกเฮโมจิ (五平餅記念日) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นค่ะ
ร้าน”โกเฮโมจิ”ที่ญี่ปุ่น
ใครที่มีแพลนมาเที่ยวจังหวัดกิฟุ และอยากจะลองชิมโกเฮโมจินะคะ เรามีร้านดังมาแนะนำอยู่ 3 ร้านค่ะ ที่แรกคือร้านบนทางด่วน ที่จุดแวะพักมิโนะคาโมะ (美濃加茂SA) โกเฮโมจิซอสถั่ววอลนัทรสหวานเค็มกำลังดี ราคาไม้ละ 300 เยน หรือประมาณ 75 บาท ค่ะ
อีกที่นะคะ ร้านมิฮาระ (みはら) ฉากในละครดังช่วงเช้าที่ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ย่านเมืองเก่าอิวะมุระ มีโกเฮโมจิซอสงาและซอสมิโสะใส่ต้นหอม ราคาไม้ละ 250 เยน หรือ ประมาณ 65 บาท หากนั่งกินในร้านจะมีชาเขียวและเครื่องเคียงหนึ่งอย่างให้ด้วยค่ะ ร้านเปิดเวลา 10:00~18:00 น. และ หยุดทุกวันอังคารค่ะ
สุดท้ายที่ ร้านดังโงะโร่ (だんごろう) ร้านขนมญี่ปุ่น ที่มีโกเฮโมจิขายด้วย ตั้งอยู่ที่ย่านยานะกาเสะ 「柳ヶ瀬商店街(Yanagaseshōtengai) 」 แหล่งช้อปปิ้งใกล้สถานีรถไฟJRกิฟุ จากสถานีรถไฟเดินไปร้านดังโกะโร่ ประมาณ 15 นาที ค่ะ โกเฮโมจิที่นี้ตัวโมจิผสมข้าวเหนียวด้วย เนื้อหนุบหนับกว่าที่อื่น รูปทรงกลมเหมือนดังโงะ 3 ลูกเสียบไม้ ไม้ละ 180 เยน (ประมาณ 45 บาท)
บทส่งท้าย

https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:五平餅.jpg
“โกเฮโมจิ” อาหารประจำท้องถิ่นที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เชื่อว่าใครหลายคนที่มาเที่ยวแล้วเคยชิม จะต้องติดใจในรสชาติแน่นอนค่ะ ส่วนตัวผู้เขียนเคยกินรสมิโสะ ร้านรถเข็น ปิ้งด้วยเตาถ่าน รสชาติเข้มข้น หอมกรุ่น ถูกใจมากค่ะ พอไปเที่ยวในหลายๆที่ในญี่ปุ่นก็หาซื้อไม่ได้ เลยต้องทำกินเองค่ะ
วิธีทำแสนง่าย ส่วนผสมเป็นเครื่องปรุงญี่ปุ่นที่มีติดบ้านอยู่แล้ว ซอสดัดแปลงได้ตามชอบ จะทำกินกี่ครั้งก็อร่อยค่ะ อยากให้เพื่อนๆ ลองทำกินดูนะคะ
อ่านบทความเก่าของครัวญี่ปุ่นได้ที่นี่