allabout japan
allabout japan

การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น ภาค 1 : อนุบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างไร?

ใครเป็นคุณแม่อยู่ญี่ปุ่นรับรองว่ามีประโยชน์แน่นอน เพราะวันนี้เราจะพาไปรู้จักระบบของโรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นกันค่ะ หรือใครที่สนใจคุณภาพชีวิตของคนญี่ปุ่นก็สามารถอ่านสนุกๆได้นะ

By แม่บ้านเมกุโระ

สารบัญ

1 ) รู้จักประเภทของโรงเรียนระดับอนุบาล
1.1 ) ศูนย์ดูแลเด็กอ่อน 'โชกิโบะโฮอิคุเอ็น' (小規模保育園) และ 'โชกิโบะโฮอิคุโจ' (小規模保育所)
1.2 ) ศูนย์เด็กเล็ก 'โฮอิคุเอน' (保育園) และ 'โฮอิคุโชะ' (保育所)
1.3 ) โรงเรียนอนุบาล 'โยจิเอน' (幼稚園)
1.4 ) เนิสเซอรี่กึ่งโรงเรียนอนุบาล 'นินเทย์โคโดโมะเอน' (認定こども園)
1.5 ) การรับฝากแบบชั่วคราว 'อิจิอะซุการิ' (一時預かり)

2 ) รายละเอียดการสมัครเข้าโรงเรียนโยจิเอน
2.1 ) ไปเยี่ยมชมโรงเรียน
2.2 ) การปฐมนิเทศ เข้าฟังข้อมูลของโรงเรียน
2.3 ) รับใบสมัคร
2.4 ) ส่งใบสมัคร
2.5 ) สัมภาษณ์
2.6 ) จดหมายด่วนแจ้งผล

3 ) ประสบการณ์จริงจากการนำลูกสมัครเข้าโรงเรียนโยจิเอน
3.1 ) Tip ในการเลือกโรงเรียน

3 ) ประสบการณ์จริงจากการนำลูกสมัครเข้าโรงเรียนโยจิเอน

ด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนแบบโยจิเอน เพราะตนเองไม่ได้ทำงานประจำจึงมีเวลาดูแลลูก แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียนรู้การเข้าสังคม ได้เจอเพื่อน ได้มีกิจกรรมที่หลากหลายทำมากกว่าการอยู่บ้านหรือไปสวนสาธารณะเพื่อเล่น จึงหาข้อมูลของโยจิเอนที่อยู่แถวบ้านว่ามีที่ไหนน่าสนใจบ้าง คนญี่ปุ่นนิยมให้ลูกเข้าโรงเรียนใกล้บ้านเพราะรับส่งสะดวก และถ้าโรงเรียนอยู่เขตเดียวกับที่อยู่อาศัยจะได้รับการซัพพอร์ตจากทางเขต เช่นเรียนฟรี ช่วยจ่ายค่าแรกเข้าบางส่วน เป็นต้น หลังจากได้รายชื่อโยจิเอนที่น่าสนใจ ทั้งใกล้และไกลบ้านนิดหน่อย จึงปรึกษากับสามีจนสรุปได้ 3 อันดับโรงเรียนที่ตั้งใจว่าจะนำลูกสมัครเข้า

อันดับ 1 เป็นโรงเรียนคริสต์ที่ใหญ่ที่สุด รับนักเรียน 150 คน มีการแบ่งห้องเรียนชัดเจน มีสวนและพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นด้านนอกอาคารกว้างขวาง แต่เป็นโรงเรียนที่ไกลบ้านที่สุด ขี่จักรยานประมาณ 15-20 นาที
อันดับ 2 เป็นโรงเรียนที่มีขนาดกลาง ปรกติรับนักเรียน 30 คน แต่ปีนี้รับนักเรียน 15 คนเพราะแบ่งโควต้าให้กับน้องของนักเรียนที่เรียนโรงเรียนนี้อยู่แล้ว (พี่เข้าโรงเรียนนี้ น้องสามารถเข้าโรงเรียนนี้ได้อัตโนมัติ) แบ่งห้องเรียนชัดเจน มีสวนและพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นด้านนอกอาคาร ขี่จักรยานประมาณ 10 นาที
อันดับ 3 เป็นโรงเรียนคริสต์ขนาดเล็กสุด รับนักเรียน 30 คน ไม่มีการแบ่งห้องเรียน คือเด็กทั้งชั้น 30 คนจะอยู่ด้วยกัน มีสวนและพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นด้านนอกอาคารขนาดเล็ก เป็นโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด ขี่จักรยานไม่เกิน 10 นาที

หลังจากได้ทัวร์ชมโรงเรียนทั้ง 3 โรงเรียน ก็มาตัดตัวเลือกให้เหลือ 2 โรงเรียน เพราะจากเหตุผลข้างต้นข้อ 2.5 คือวันสัมภาษณ์ทุกโรงเรียนจะเป็นวันเดียวกัน ถึงแม้จะโชคดีได้เวลาไม่ตรงกันทั้ง 3 โรงเรียน แต่การพาลูกวนสัมภาษณ์ทุกโรงเรียนก็จะเป็นภาระต่อลูก ทำให้ลูกเหนื่อยเกินไป บวกกับโรงเรียนที่ 2 น่าจะเข้ายากเพราะรับเด็กน้อย เลยตัดโรงเรียนที่ 2 ไป

หลังจากทำทุกขั้นตอนจนถึงการส่งใบสมัครทั้งสองโรงเรียน โรงเรียนที่ 1 ได้เวลาสัมภาษณ์ 9:00 โมง ส่วนโรงเรียนที่ 3 ได้เวลาสัมภาษณ์ 10:00 โมง ซึ่งเราก็กังวลกันมากเพราะคิดว่าเวลากระชั้นชิดเกินไป เกรงว่าจะเดินทางจากโรงเรียนที่ 1 ไปยังโรงเรียนที่ 3 ไม่ทัน แต่หลังจากขอคำปรึกษาจากคุณแม่ชาวต่างชาติที่ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้คำตอบว่าการสัมภาษณ์มักจะไม่เกิน 20 นาที เลยคิดว่าทัน ก็น่าจะลองดูทั้งสองโรงเรียน

โรงเรียนที่ 1 เป็นการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม หนึ่งกลุ่มจะมี 5 ครอบครัว ใช้เวลาทั้งหมด 20 นาที เราต้องนั่งรอเขาเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ทีละครอบครัว ระหว่างรอลูกก็งอแง เล่นซน วิ่งไปทั่วไม่อยู่กับที่เพราะเบื่อ หลังจากรอสักพักในที่สุดก็ถูกเรียกชื่อเข้าห้องสัมภาษณ์ ครูจะเริ่มจากการถามคำถามผู้ปกครอง ว่าจุดเด่นจุดด้อยของลูกมีอะไรบ้าง มีคำถามเป็นข้อ ๆ แบบสั้น ๆ ก็ผลัดกันตอบกับสามี (ส่วนตัวตอบเป็นภาษาอังกฤษ และมีสามีคอยช่วยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นให้อีกที) หลังจากนั้นครูก็ถามชื่อและอายุกับลูก แต่ลูกก็ไม่ให้ความร่วมมือเพราะอาจจะยังเช้าและเบื่อ ลูกงัวเงียงอแงไม่ยอมตอบ (แม่และพ่อหน้าเสียมากค่ะ เตี้ยมกับลูกมาเป็นเดือน ถึงเวลาไม่ตอบเสียอย่างนั้น) หลังจากหน้าเหวอสัมภาษณ์เสร็จแล้วก็มีครูเชิญย้ายไปนั่งรออีกห้อง หลังจากนั้นมีการแยกเด็กทั้ง 5 คนไปห้องที่มีของเล่น โดยให้ผู้ปกครองนั่งรออยู่ที่ห้องเดิม เพื่อดูนิสัยการเล่นของเด็กว่าเข้ากับเพื่อน ๆ คนอื่นได้หรือไม่ หลังจากรอประมาณ 5 นาที ครูก็จะนำเด็กมาส่งคืนพ่อแม่ ดูลูกจะชอบและไม่อยากออกเพราะมีของเล่นเยอะ และเป็นการจบการสัมภาษณ์โรงเรียนที่ 1

เราขับรถมายังโรงเรียนที่ 3 ดูเรียบง่ายและเป็นกันเองกว่ามาก เราไปถึงก่อนเวลานัด 10 นาที แต่ทางคุณครูก็ให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ได้เลยเพราะคิวว่าง ที่นี่เป็นการสัมภาษณ์ทีละครอบครัว เข้าไปในห้องปุ๊บลูกเห็นของเล่นรถไฟที่วางไว้บนโต้ะใกล้กับเก้าอี้สำหรับผู้ปกครองก็ตรงเข้าไปเล่นปั๊บ คนสัมภาษณ์ที่นี่ไม่ใช่ครูประจำชั้นแบบโรงเรียนที่ 1 แต่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและหัวหน้าคุณครู คำถามคล้ายกับโรงเรียนแรก แต่เนื่องจากมีเวลามากกว่าเลยได้พูดคุยเรื่องสัพเพเหระที่เกี่ยวกับลูกด้วย เช่นลักษณะนิสัยของลูก ชีวิตประจำวันของลูกเป็นอย่างไร มีการถามคำถามกับลูก ลูกก็ไม่ให้ความร่วมมือเช่นเคยเพราะมัวแต่เล่นของเล่น จนสุดท้ายเปิดโอกาสให้เราได้ถามคำถามที่เราสงสัยด้วย เป็นการเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์โยจิเอน ปิดท้ายปลอบใจลูกโดยพาไปกินแฮปปี้มีล

เมื่อกลับบ้านมาช่วงบ่ายก็มาสรุปกับสามี เราลงความเห็นพ้องกันว่าโรงเรียนที่ 3 นั้นเหมาะสมกับลูกเราที่สุด เนื่องจากลูกเป็นเด็กที่ซนมาก ชอบลองนู่นลองนี่จนแม่และพ่อหัวร้อนบ่อย ๆ โรงเรียนที่ 1 เป็นโรงเรียนที่รับเด็กจำนวนมาก จึงทำให้ทางโรงเรียนต้องดูแลเด็กทุกคนให้อยู่ภายใต้ "ระบบ" ซึ่งลูกชายก็ดูจะไม่ชอบตั้งแต่ตอนที่เราไปเยี่ยมชมโรงเรียนกัน ลูกดูไม่มีความสุขเมื่อต้องทำอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลในวัยเขา (ซึ่งกับเราก็เช่นกัน) เช่นการสวดมนต์ก่อนและหลังทำกิจกรรม การถูกบังคับให้ต้องนั่งนิ่ง ๆ ซึ่งดูเป็นการฝืนธรรมชาติสำหรับเด็กวัยนี้ (อันที่จริงลูกใครทำได้เราก็ยินดีด้วย แต่ลูกเราไม่ได้ไง 555) รวมถึงรีวิวโรงเรียนใน Google Map (°▽°) เม้าท์มอยเบา ๆ ว่าโรงเรียนที่ 1 นี้คุณแม่มาบ่นว่ากว่าจะได้คุยกับครูประจำชั้นเรื่องลูกค่อนข้างยาก ต้องนัดวันแถมกว่าจะได้คุยก็ผ่านไปเป็นสัปดาห์แล้ว (ปัญหาอาจจะผ่านหรือคลี่คลายไปแล้ว เหมือนเป็นหวัดจนหายแล้วเพิ่งได้พบหมอ) อ่านรีวิวจากหลาย ๆ คนก็โดนไปอีกกรุบ หรือเราจะเท?

ส่วนโรงเรียนที่ 3 นั้นชิลมากจ้ะแม่ ที่สุดแห่งความชิล วันเยี่ยมชมโรงเรียนเห็นคุณแม่มาส่งลูกสายครูก็ดูชิล เด็ก ๆ ดูเอนจอยสามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไรในตอนนั้น บางคนเล่นติดสก๊อตเทปกับกล่องกระดาษ บางคนเล่นตัวต่อ บางคนใส่ชุดว่ายน้ำอยู่ข้างนอกสวนพร้อมกับครูที่กำลังเอาน่ำใส่อ่างสีต่าง ๆ ให้เด็กได้เล่น ดูเอ็นจอยสนุกสนานมาก วันเยี่ยมชมโรงเรียนของที่นี่จะให้เราได้เดินและเลือกกิจกรรมที่อยากทำด้วยตนเอง โดยจะมีครูคอยประกบพื้นที่ละ 1 คน ลูกชายเล่นตัวต่อครูก็ช่วย ลูกต่อเสร็จครูก็หยิบอันใหม่ให้ ลูกชายวิ่งไปเล่นนู่นดูนี่ก็ไม่มีครูว่าอะไร ทุกคนดูอย่างห่าง ๆ โดยไม่ตัดสินหรือชี้แนะอะไรที่เกินควร โรงเรียนที่ 3 อาจจะดูอึดอัด อาจจะดูแน่น ๆ เพราะพื้นที่น้อย แต่วิธีการดูแลเด็กและการเอาใจใส่ของครูทำให้เรามองข้ามเรื่องพื้นที่ได้โดยไม่ยาก นโยบายของโรงเรียนนี้คือ 'เด็กทุกคนคือสีที่แตกต่างกัน' ดังนั้นค่อนข้างมั่นใจว่าครูที่นี่จะไม่ตัดสินเด็กโดยใช้มาตรฐานกลางแน่นอน มารู้ทีหลังจากคุณแม่ท่านอื่นว่าโรงเรียนนี้มีชื่อเสียงค่อยข้างดี คือบอกกันปากต่อปากแนะนำให้ไปเรียน ทั้งบ้านตรงข้ามและคุณแม่จากเขตอื่นก็ได้ยินกิตติศัพท์ที่ดีจากโรงเรียนนี้

เย็นวันนั้นใกล้จะ 6 โมงเย็นแล้ว เราก็ลุ้นกันตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ว่าโรงเรียนที่ 3 จะโทรมามั้ยนะ? ลูกเราจะได้เข้ามั้ยนะเพราะใจเราไปแล้ว สุดท้าย 6 โมงนิด ๆ ทางโรงเรียนก็โทรมาว่าเราได้ ก็โล่งใจกันทั้งครอบครัวฉลองกันอีกรอบ เช้าวันต่อมาก็มีจดหมายจากทั้งสองโรงเรียนส่งมาว่าเราได้ทั้งสองโรงเรียน เราตัดสินใจกันแล้วจึงได้เก็บเอกสารของโรงเรียนที่ 3 ไว้

Tip ในการเลือกโรงเรียน

นอกจากการเลือกโรงเรียนที่เข้ากับลูกได้ โรงเรียนนั้นควรจะเข้ากับผู้ปกครองได้ด้วย ยังมีปัจจัยอื่นที่ใช้ในการเลือกโรงเรียนมีดังต่อไปนี้ค่ะ
• สังคม ระดับสังคมของผู้ปกครองก็สำคัญค่ะ เพราะมักจะมีการพาเด็กไปเล่นที่สวนด้วยกันหลังเลิกเรียน ผู้ปกครองก็มักจะคุยกันแล้วปล่อยให้ลูกเล่นด้วยกันไป เราก็ไม่ถนัดเข้าสังคมแบบผู้ดีเท่าไหร่ อยู่ด้วยกันแบบบ้าน ๆ อย่างโรงเรียนที่ 3 สบายใจกว่าค่ะ โรงเรียนที่ 1 คุณแม่ทุกคนเป้ะมากกก ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม เป้ะตลอด แม่บ้านถ้าจะต้องแต่งหน้าจัดเต็มทุกวันไม่ไหวค่ะ ขอบาย ปาดลิปมันแล้วออกไปส่งลูกสบายใจกว่า (//∇//)
• ยูนิฟอร์ม โรงเรียนที่ 1 มียูนิฟอร์มในขณะที่โรงเรียนที่ 3 ไม่มี นั่นหมายถึงภาระและค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้นมาด้วย
• PTA (Parents Teachers Association) คือสมาคมผู้ปกครอง เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของเด็กและโรงเรียนโดยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น จัดกีฬาสี จัดนิทรรศกาล ช่วยเหลือชุมชนโดยการเปิดร้านขายของนำเงินมาอุดหนุนชุมชน จัดอาสาลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ เป็นต้น แต่ละโรงเรียนมีความถี่ในการจัดไม่เหมือนกัน เช่น โรงเรียนที่ 1 มีการจัด 1 เดือน 2 ครั้ง โรงเรียนที่ 3 มีการจัด 4 เดือน 1 ครั้ง แม่บ้านต่างด้าวที่ขี้เกียจอย่างเรายิ่งจัดน้อยยิ่งดีค่ะ 555

แม่บ้านเมกุโระ

แม่บ้านกราฟฟิกไทยส่งออกไปญี่ปุ่น