All About Japan

เมื่อคอสเพลย์เป็นความรัก คนที่คอสเพลย์สลับเพศไม่ได้แปลว่าชอบเพศเดียวกันนะ!

คอสเพลย์
เมื่อคอสเพลย์เป็นความรัก คนที่คอสเพลย์สลับเพศไม่ได้แปลว่าชอบเพศเดียวกันนะ!

หากพูดถึงการคอสเพลย์ (Cosplay) แล้วนั้น แน่นอนว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บุกเบิกยุคต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการแต่งคอสเพลย์แบบสลับเพศขึ้นมากมาย ถึงขนาดทำให้เรามักแยกไม่ออกว่าคนที่แต่งนั้นจริง ๆ แท้จริงแล้วเป็นเพศชายหรือหญิง กระทั่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีความเข้าใจผิดว่าคนคอสเพลย์มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเป็นยังไงกันนะ

คอสเพลย์ (Cosplay) คืออะไร

คอสเพลย์ (Cosplay) คืออะไร

https://pixta.jp/

คอสเพลย์ (Cosplay) คือ การแต่งตัวเพื่อเลียนแบบไปเป็นบทบาทของตัวละครนั้นที่แสดงออก ซึ่งญี่ปุ่นรู้จักวิธีการแต่งกายเพื่อแสดงออกบางอย่างตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo Period) แล้วค่ะ จากการแสดงพื้นเมือง แต่สำหรับ “การคอสเพลย์” แบบที่รู้จักกระทั่งปัจจุบันนั้นมีมายาวนานตั้งแต่ยุค 80 แต่หากจะพูดถึงยุคเฟื่องฟูแล้วละก็ แล้วได้รับความนิยมในยุคปี 90 เป็นต้นมา

โดยญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมการแต่งกายเลียนแบบมาจากอังกฤษ เป็นงานรวมตัวบุคคลที่คอสเพลย์ที่นั่น จากการแต่งกายเลียนแบบ Fiction และ Comic ของชาวอเมริกัน ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นไปชมงานแล้วนำมาปรับใช้กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยกลุ่มโอตาคุ ในปี 1960 กับการคอสเพลย์มังงะในประเทศตนเอง

https://pixta.jp/

จุดตั้งต้นของการคอสเพลย์ที่แพร่หลายมากขึ้นนั้นมาจากการแต่งตัวเลียนแบบวงร็อคโดยเริ่มมาจากเหล่าสาวกของวง X Japan ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นที่นิยมของแฟน ๆ ในช่วงนั้น เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่แต่งตัวเลียนแบบเป็นนักร้องหรือนักดนตรีตามที่ตนชอบ จนเริ่มมีการแต่งกายเลียนแบบบ้างในกลุ่มที่ชื่นชอบการ์ตูนอนิเมะ โดยเรื่องแรกที่ถูกนำมาแต่งคอสเพลย์มากที่สุดคือเรื่อง Evangelion ในปี 1990

จึงเป็นเหตุให้คอมมูคอสเพลย์ในยุคก่อนที่มีเฉลี่ยเพียง 600 คน เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,000 - 8,000 คน อย่างรวดเร็วในยุค 90 และเป็นกิจกรรมหรืองานอดิเรกยอดนิยมที่กระจายไปถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจอื่น ๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการคอสเพลย์เกี่ยวกับอนิเมะและมังงะอย่างแท้จริง

แล้วคอสเพลย์โยงมาเรื่องการสลับเพศได้ยังไง

การเลือกคาร์แรคเตอร์ที่จะคอสเพลย์นั้น ก็มีเหตุผลหลายประการ ทั้งความชอบส่วนตัวจากการ์ตูนเรื่องที่ชอบดู ความชอบในตัวนักพากย์นักร้องอนิเมะนั้น เป็นต้น แล้วแน่นอนว่า คาแรคเตอร์ที่ใช่ตัวละครที่ชอบนั้น ก็อาจจะไม่ได้ตรงกับเพศของเราเสมอไป จึงเป็นที่มาของคนที่เลือกที่จะแต่งคอสเพลย์ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง

อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นกฎของแรงดึงดูดเพศตรงข้ามก็ว่าได้เพื่อตอบสนองความต้องการลึก ๆ ในจิตใจ เช่น เราชอบตัวละครชายเพราะความเท่ของเขาแล้วได้คอสเพลย์เป็นเขาซึ่งเพศเราเป็นเพศหญิง การที่มีเขาเป็นสเปคหรือต้นแบบของความชื่นชอบทำให้เราก็จะทำทุกทางเพื่อให้ตัวเรานั้นเท่สมบูรณ์แบบเหมือนกับเขา

หรือในอีกกรณี เราเป็นเพศชายแต่ชอบตัวละครหนึ่งซึ่งน่ารัก ตัวเล็ก เสียงหวานมาก ๆ เพราะทั้งตัวละครเองแล้วในความเป็นจริงเราก็ชอบสาวตัวเล็กเป็นสเปคด้วย ทำให้ผลักดันความชื่นชอบมาในรูปของการแสดงออก

ประกอบกับปัจจัยหลักที่สังคมทางญี่ปุ่นมีความหลากหลายทางรสนิยมแล้วเป็นประเทศที่ยอมรับด้านศิลปะทุกแขนง สิ่งที่ชอบทั้งเกมส์และการ์ตูนนั้น ล้วนดึงดูดลูกค้าจากกลุ่ม เพศ ผู้มีรสนิยมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การคอสเพลย์สลับเพศจึงเกิดขึ้นได้

เมื่อบุคคลนั้นหลังรักตัวละครด้วยความรักที่เอ่อล้น นำมาสรรสร้างทั้งชุด อุปกรณ์ และเมคอัพเพื่อให้ได้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวนั้นให้สมใจอยากสักครั้งในช่วงเวลานึงของชีวิต ในบางครั้งก็หลอกผู้พบเห็นหรือผ่านมาเห็นได้จังงังว่าเธอเหล่านั้นเป็นผู้ชายจริงๆ

แน่นอนว่า ผู้ชายที่เลือกคอสเพลย์เป็นตัวละครผู้หญิงก็เป็นเหตุผลเดียวกัน

จึงทำให้เราได้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามท้องถนนหรืองานอีเว้นท์ต่างๆในญี่ปุ่น ซึ่งบางคนเองก็แต่งออกมาได้ดีมาก จนมีคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นผู้หญิงจริง ๆ จากเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราอาจกล่าวสรุปได้ว่าการคอสเพลย์ข้ามเพศก็ไม่ได้หมายความว่าผู้แต่งมีรสนิยมในทางนั้นเสมอไป

(ในภาพประกอบคือคอสเพลเยอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่งที่แต่งทั้งตัวละครชายและหญิง ซึ่งรอบนี้เขาคอสเพลย์เป็น ลอยด์ ฟอเยอร์ จากอนิเมะอันโด่งดังเรื่อง Spy x Family ที่ดูดีมากเลยทีเดียว)

การแสดงออกเชิงศิลปะ เพื่อเติมเต็มการได้รับการยอมรับทางสังคม

การแสดงออกเชิงศิลปะ เพื่อเติมเต็มการได้รับการยอมรับทางสังคม

https://pixta.jp/

ในสังคมญี่ปุ่นนั้นมีการแข่งขันสูง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นงานหรืองานอดิเรกก็ตาม โดยลึก ๆ แล้วทุกคนก็ต้องการเป็นที่ยอมรับจากผู้คน ซึ่งก็ไม่ต่างจากบ้านเรา

ในอีกมุมหนึ่งของบุคคลบางกลุ่มอย่าง LGBTQ+ ในญี่ปุ่นเอง ด้วยสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ยังถือว่าไม่เปิดรับเขาในชีวิตจริงกับการแสดงออกภายนอกแต่ยอมรับหากสิ่งนั้นเป็นการแสดงออกเชิงศิลปะ การคอสเพลย์นี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้พวกเขาได้แสดงออก

หลายคนเลือกเข้ามาในวงการนี้เพื่อประกาศจุดยืนของตนเอง รวมถึงสร้างตัวตนใหม่ให้ผู้คนจดจำ คนนอกคอมมูนี้เมื่อมองมาก็จะไม่ตัดสินเขาจากภายนอกกับกลายเป็นว่าเกิดการยอมรับเสียอีก ด้วยทัศนคติที่มองว่านั่นคือศิลปะการแต่งตัวคอสเพลย์ ณ ช่วง เวลาหนึ่ง ผู้ที่สวมบทบาทอยู่นั้นก็จะรู้สึกเติมเต็มความต้องการในการยอมรับของตนเอง ทำให้เป็นที่สนใจหรือที่นิยมขึ้นมาได้ไม่รู้ตัว แล้วบางทีตัวตนใหม่ที่ว่านั้น ทำให้ชาว LGBTQ+ ไม่น้อยที่โด่งดังขึ้นมาจากการคอสเพลย์

อาทิ อาซากุระ เคท (Asakura Kate) นักคอสเพลย์ข้ามเพศชื่อดังที่เริ่มต้นมาในฐานะนักร้องและคอสเพลเยอร์ของฮัทสึเนะ มิคุ และต่อมาได้กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชาว LGBT เป็นต้น

อาซากุระ เคท (Asakura Kate) คอสเพลเยอร์ และนักต่อสู้เพื่อ LGBTQ+

อย่างตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับการยอมรับในเพศวิถี และความรู้สึกจริงๆของตัวบุคคล ที่ต้องการเป็นเพศๆที่ไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิดของตัวเอง ในญี่ปุ่นและเป็นตัวอย่างที่ดีคือเรื่องราวของ อาซากุระ เคท(麻倉ケイト)คอสเพลเยอร์ (Cosplayer) ชายชาวญี่ปุ่น เธอคือหลงรักในตัวของฮัทสึเนะ มิคุ (Hatsune Miku) คาแรคเตอร์หญิงของการ์ตูน "โวคาลอยด์" (Vocaloid) ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีในวงการของผู้ชื่นชอบคอสเพลย์ และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

เคทได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ตนรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนๆมาตั้งแต่เด็กเพราะทุกคนมองว่าเขาแปลกจากคนอื่นๆ จึงทำให้ตัวเขาเองออกค้นหาสิ่งที่ชอบและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง จึงได้ลองอะไรมามากมายจนมาหยุดที่การคอสเพลย์เพื่อปลดปล่อยสิ่งที่เขาเป็นมาตลอด” ถึงแม้ร่างกายจะเป็นชาย แต่เขาก็รู้สึกได้ถึงความเป็นหญิงจากภายในจิตใจและไม่ยอมแพ้ที่จะค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเขา

จนในที่สุดก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ กลายเป็นไอดอลคอสเพลย์ชื่อดัง สามารถเป็นตัวแทนไปออกตามอีเวนท์ (Event) และงานสื่อระดับประเทศ แถมยังเป็นที่รักและชื่นชอบโดยแฟน ๆ อีกด้วย โดยผู้ชมเองก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจหรือมีอคติกับการแต่งตัวสลับเพศหรือรสนิยมความชอบของเขาแต่อย่างใด

※ ปัจจุบัน อาซากุระ เคท ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนากาซากิ อันนะ (Nagasaki Anna) นอกจากเธอจะเป็นนักร้อง ไอดอล คอสเพลเยอร์แล้ว ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBT ในญี่ปุ่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในโลกของการคอสเพลย์นั้นแม้ว่าจะไม่ได้คอสตรงตามเพศสภาพของตนด้วยสาเหตุใด ๆ การคอสเพลย์ก็คือการแสดงความรักและความชอบที่มีต่อตัวละครตัวนั้นหรือบุคคลนั้นจากใจจริง และยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้มีความกล้าแสดงออกรวมถึงแสดงความสามารถทั้งการตัดเย็บและประดิษฐ์พร็อพประกอบการชุด การร้องเพลง และการแสดงออก จึงเป็นกิจกรรมที่ดีในการแสดงศักยภาพของคน

ไม่ง่ายเลยที่คน ๆ หนึ่งจะคัดสรรและพิถีพิถันในอุปกรณ์ เสื้อผ้า ประดิษฐ์สิ่งของ สวมใส่และแสดงออกมาเพียงช่วงเวลานึง อาจจะครึ่งวัน หรือเต็มวันให้สมบทบาท แล้วถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก วันเวลาที่ใช้เตรียมสิ่งเหล่านั้นนานกว่าการสวมบทบาทหลายเท่า! หากไม่ใช่เพราะความรักและหลงไหลในตัวละครนั้น ๆ คงต้องมีท้อใจแล้วทิ้งความตั้งใจกลางทางอย่างแน่นอน

จึงกล่าวได้ว่า【การคอสเพลย์จึงไม่ใช่เพียงแค่การแต่งตัวเลียนแบบชั่วคราว แต่เป็นการใส่หัวใจรักตัวละครลงไปด้วย】

ในยุคปี 20 เทรนด์การแต่งตัวคอสเพลย์ และคอสเพลย์สลับเพศเป็นอย่างไรนะ

ปัจจุบันเทรนด์การแต่งตัวคอสเพลย์ผันแปรไปตามอนิมะและมังงะที่ออกมาใหม่ หรืออาจเป็นเรื่องอมตะที่ไม่มีวันตายแต่ผลิตแต่ตอนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ตัวละครใน Lovelive!(ラブライブ!)ใครคอสเพลย์รับรองว่าต้องฝึกแสดงออกที่มากกว่าการคอสเพลย์แต่เป็นการ Cover สายญี่ปุ่น ที่ทั้งทำท่าร้องและเต้นไปด้วย

ตัวละครในดาบพิฆาตอสูร (鬼滅の刃) อย่าง คามาโดะ ทันจิโร่ และ เนะซึโกะ ตัวละครใน Re:ZERO อย่าง เรมและแรม ซึ่งใส่ชุดเมดน่ารักมาก ๆ ต่างกันที่การแสดงออกและสีผม ตัวละครในมหาเวทย์ผนึกมาร ซีโร่ (Jujutsu Kaisen) อย่าง โกะโจ ซาโตรุ คู่หูโนบุระและคุกิซากิ โนบาระ และโทเกะ อินุมากิ เป็นต้น

สุดท้ายตัวละครจาก Spy x Family(スパイファミリー)อย่าง ยอร์ ฟอเจอร์ และ อาเนียร์ ฟอเจอร์ เป็นต้น สายคอสเพลย์แนวนี้ต้องอาศัยการแสดงออกบุคลิกตัวละครที่บางทีแล้วเป็นท่าทางแบบ 2D หรือท่าทางแค่ในอนิเมะ ไม่เหมือนชีวิตจริง เช่นการผายมือ ทำแก้มป่อง แอคชั่นตอนแปลงร่าง มีบทพูดประจำตัวด้วย รวมถึงคัดสรรชุดที่ชัดเจนตรงปก

หากเป็นตัวละครในเกม อาทิ ตัวละครใน Identity V อย่าง Survivors Doctor- Emily Dyer, Gardener - Emma Woods, The Mind's Eye - Helena Adams และ Hunter Geisha - Michiko และ ตัวละครเกม Genshin impact ได้แก่ AYAKA, SHENHE และ KAZUHA และ ตัวละครใน League of Legends and K/DA เป็นต้น ซึ่งถ้าคอสเพลย์เป็นสายเกมเนี่ยเป็นสายประดิษฐ์พร็อพต้องพร้อมนะคะ การแสดงคาแรคเตอร์ชัดเจนไม่หลุด

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้นไม่ว่า Straight หรือ LGBTQ+ ก็ต่างชื่นชอบทั้งนั้น บางตัวละครที่ค่อนข้าง Unisex ในการคอสเพลย์ อาทิ SHENHE และ เนะซึโกะ เรามักจะพบคอสเพลย์สลับเพศเกิดขึ้น

ส่วนสถานที่นัดพบล้วนมารวมตัวกันในงานคอสเพลย์ Japan Expo หรือการถ่ายภาพสตูดิโอชุด เลือกสถานที่ถ่ายภาพไพรเวท ค่ะ ในยุค Covid - 19 แบบนี้ก็มักจะคอสเพลย์กันเองที่บ้าน แต่ว่าบันทึกตนเองทำชาเลนจ์ หรือ Live สด ผ่าน Instagram, Twitter, Tiktok และ Twitch ค่ะ

อ่านบทความเต็ม: rogersenpai.com (อังกฤษ)

บทส่งท้าย

สรุปว่าการแต่งคอสเพลย์ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตนนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไร ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกอยู่ดีไม่ต่างกับการคอสเพลย์ปกติ และแน่นอนว่าผู้แต่งก็อาจจะมีรสนิยมทางเพศในทางเดียวกับที่ตัวเองแต่งหรือไม่มีก็ได้ เพราะว่าหลัก ๆ แล้ว คอสเพลย์ก็คือกิจกรรมนันทนาการที่ไม่แบ่งแยกเพศและชนชั้นทางสังคม

แต่อย่างไรก็ตาม เราหวังว่ากิจกรรมและนักคอสเพลย์สลับเพศ ทั้งคนที่เป็นและไม่เป็นชาว LGBTQ+ จะมีส่วนช่วยให้คนทั้่วไปมองชาว LGBTQ+ ในแง่ดีขึ้น เพราะเขาแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

บทความที่เกี่ยวข้อง
・วัฒนธรรม Subculture ญี่ปุ่นที่คนไทยต้องตะลึง!
・เรียนคำศัพท์ญี่ปุ่นจากที่เที่ยว (ภาคโอตะ)
・3 Youtuber นักรีวิวคอนแทคและนักแต่งหน้า Cosplay

know-before-you-go