รู้รอบเรื่องซูโม่
ถ้าพูดถึงกีฬาญี่ปุ่นละก็ ภาพของนักซูโม่ลอยมาแน่นอน เพราะด้วยรูปร่างอันสูงใหญ่ นุ่งผ้าน้อยชิ้นพร้อมทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้หลายคนจดจำกีฬาญี่ปุ่นชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี มาค้นหาความน่าสนใจและเสน่ห์ของกีฬาซูโม่กับป้าเมโกะแล้วจะรู้ว่าซูโม่เป็นมากกว่ากีฬาของชาติญี่ปุ่นเสียอีก~
By ป้าเมโกะประวัติซูโม่
ซูโม่มีประวัติยาวนานกว่า 1,500 ปี ถือเป็นกีฬาที่ฝังรากลึกเข้าไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่เดิมซูโม่ไม่ได้เป็นกีฬาเอาไว้ชมกันอย่างเดียว แต่ยังเอาไว้แสดงประกอบพิธีกรรมหน้าเทพเจ้าตามความเชื่อของชินโต เพื่อแสดงความเคารพเทพเจ้าและเพื่อขอพรให้พืชผลออกดีในฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย จนถึงสมัยเอโดะ ในสมัยนั้นได้เริ่มมีการจัดการแข่งซูโม่ขึ้นเพื่อหาเงินบริจาคสร้างศาลเจ้าหรือวัด คนธรรมดาก็เลยมีโอกาสได้ชมซูโม่ และนักกีฬาซูโม่มืออาชีพก็ได้ถือกำเนิดขึ้น จนพัฒนามาเป็นกีฬาซูโม่ที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้
กว่าจะได้เป็นนักซูโม่
การจะได้เป็นนักซูโม่นั้นไม่ง่าย เพราะต้องผ่านการฝึกฝนหลายขั้นตอน เพราะการเป็นนักซูโม่ได้นั้นถือว่ามีเกียรติและซูโม่ยังถูกยกย่องให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการดำรงชีวิตตามแบบแผนญี่ปุ่นดั้งเดิม ดังนั้นนักซูโม่จึงต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะการฝึกซ้อม การกิน และวิธีการดำรงชีวิต
ก่อนจะมาเป็นซูโม่มืออาชีพต้องสมัครเข้าโรงเรียนฝึกหรือที่เรียกว่า ‘เฮยะ’ เสียก่อนเพราะซูโม่ต้องมีสังกัดอยู่ ถ้าเปรียบแบบบ้านเราคือต้องเป็นศิษย์ในค่ายมวย แต่ละค่ายอาจมีกฎเกณฑ์รับสมัครต่างกัน แต่ส่วนมากจะรับสมัครอายุไม่เกิน 23-25 ปี ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165-167 เซนติเมตร น้ำหนัก 65-67 กิโลกรัมขึ้นไป (ค่อยไปขุนน้ำหนักทีหลังได้) และเป็นเพศชายเท่านั้น นอกจากการฝึกทักษะการปล้ำมวยแล้วพวกเขายังต้องเข้าห้องเรียนวิชาการเป็นเวลา 6 เดือน เช่นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ซูโม่ การเขียนพู่กัน หรือสังคมศาสตร์ก็ต้องเรียนเหมือนกัน
โดยตารางชีวิตของซูโม่ฝึกหัดนั้นเข้มงวดไม่เบา เพราะถูกกำหนดไว้หมดแล้วโดยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน 6 โมงเช้า / 6 โมงครึ่งฝึกซ้อม / 11 โมงเช้าอาบน้ำ / เที่ยงทานอาหารกลางวัน / บ่ายสองนอนหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย / 4 โมงเย็น ทำความสะอาดและฝึกซ้อม / 6 โมงเย็น ทานอาหารเย็น /สามทุ่มครึ่ง เข้านอน (เฮยะจะปิดประตู ปิดไฟหมด เป็นการบังคับให้นอน) เป็นต้น
กว่าจะประสบความสำเร็จเป็นแถวหน้าในวงการนั้นไม่ง่าย ใช้ทั้งเวลาและความอดทนไม่น้อย ลำดับขั้นของซูโม่มีทั้งหมด 6 ขั้น จะได้เลื่อนขั้นหรือถูกลดขั้นไปลำดับไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลงานว่าแพ้หรือชนะมากเท่าไร โดยขั้นต่ำสุด คือ Jonokuchi ซึ่งถือว่าเป็นขั้นแรกสุดและลำบากสุดก็ว่าได้ เพราะไหนจะต้องฝึกซ้อมแล้วยังต้องช่วยงานในเฮยะ เช่นทำความสะอาด หุงอาหาร และปรนนิบัติรุ่นพี่ (ป้าว่าอารมณ์เป็นรุ่นน้องต้องโดนรับน้องนิดนึง) ไล่ไปจนถึงขั้นสูงที่เรียกว่า Makuuchi โดยตำแหน่งแชมเปี้ยนที่เรียกว่า Yokozuna เป็นตำแหน่งสูงสุดที่นักซูโม่ทุกคนใฝ่ฝัน~
บอกเลยว่าถ้าผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงและชนะติดต่อกันจนได้เลื่อนขั้นมาถึงตำแหน่ง Yokozuna ก็สบายแล้วเพราะรายได้นี่ไม่ธรรมดา โดยจะได้ค่าเบี้ยเลี้ยง (แม้ไม่ใช่ฤดูกาลแข่งขั้น) เดือนละ 2.8 ล้านเยนต่อเดือน (ย้ำว่าต่อเดือน) ถือว่าเยอะมาก เพราะแม้แต่อาชีพหมอญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ทำงานโรงพยาบาลทั่วไป 3-4 ปีก็ยังแทบไม่ถึงล้านเยนต่อเดือน และเงินนี้ยังไม่รวมค่าสปอนเซอร์ ค่าออกทีวี (กรณีดังเป็นเซเลบริตี้) ฯลฯ ป้าไม่แปลกใจเลยว่านักซูโม่ดังๆของญี่ปุ่นมีแฟน/ภรรยาสวยๆระดับดาราหรือนางแบบแถวหน้าก็ไม่น้อย
กติกาการเล่นซูโม่
กติกาการเล่นจริงๆแล้วแสนง่ายดาย ฝ่ายไหนจับอีกฝ่ายออกจากเชือกวงกลมหรือที่เรียกว่าโดเฮียว (ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.55 เมตร) ได้ก็ถือว่าชนะ ไม่มีอะไรซับซ้อน ตัดสินแพ้ชนะได้ง่ายๆเลยในไม่กี่นาที แต่แตกต่างกับมวยหรือกีฬายกน้ำหนักที่ว่าจะไม่มีการแบ่งประเภทของนักแข่งตามน้ำหนักใดๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมซูโม่ยิ่งตัวใหญ่ยิ่งดี เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอคู่ต่อสู้ตัวใหญ่แค่ไหน (ส่วนใหญ่ที่ป้าเห็นก็จะน้ำหนักประมาณ 140 กว่ากิโล)
ใครที่เคยดูการแข่งซูโม่คงเคยเห็นว่านักกีฬาซูมีการทำพิธีกรรมและท่าทางต่างๆก่อนเริ่มเล่น โดยนักซูโม่จะโปรยเกลือลงบนสังเวียนเพื่อความบริสุทธิ์ และจะยกขากระทืบเท้าทั้งสองข้างนั้นเพื่อเป็นการไล่ภูติผีปีศาจ เวทีซูโม่และกีฬาซูโม่นั้นถือเป็นของศักดิ์สิทธิตามความเชื่อศาสนาชินโด ตามประเพณีแล้วผู้หญิงห้ามก้าวเข้าไปโดยเด็ดขาด ปี 2018 ที่ญี่ปุ่นออกข่าวกันครึกโครมเนื่องจากนายกเทศมนตรีเกิดหมดสติขณะพูดเปิดงานบนเวทีแข่งซูโม่แล้ว พยาบาลซึ่งเป็นผู้หญิงจึงรีบรุกไปช่วยแต่กลับมีประกาศออกไมค์ว่าให้นางพยาบาลออกไปจากสนามแข่งโดยด่วน เหตุการณ์นี้เรียกเสียงวิพากวิจารณ์กันใหญ่เพราะศตวรรษที่ 21 แล้ว และเกิดเหตุฉุกเฉินขนาดนี้ยังจะยึดประเพณีนี้อีกหรือ...
อาหารซูโม่
กว่าจะขุนน้ำหนักเด็กหนุ่มผอมแห้งให้อ้วนท้วนได้ขนาดนั้น เรื่องกินถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องมีวินัยไม่น้อย โดยทุกวันต้องกินให้ได้ประมาณ 20,000 แคลอรี (คนปกติกินประมาณ 2,500 แคลอรี มากกว่าเกือบ 10 เท่าเลยทีเดียว) ที่น่าสนใจคือวิธีการกินเพราะซูโม่ที่เห็นตัวใหญ่ๆนั้นเขาไม่กินอาหารเช้ากันนะ เมื่อตื่นเช้ามาก็จะฝึกซ้อมอย่างหนักให้หิวจนสามารถกินได้เยอะๆในมื้อกลางวัน
อาหารหลักของซูโม่คือ ‘Chanko-Nabe’ หรือหม้อไฟที่หลักๆแล้วประกอบด้วยเนื้อ ปลา ผัก เต้าหู้ เน้นโปรตีนเป็นสำคัญ เสริมด้วยข้าวสวยที่จะทานกันเป็นสิบชามหรือบางครั้งก็จะตบท้ายด้วยการเทเส้นอุด้งลงในน้ำซุปที่เหลืออีก และปิดท้ายด้วยเบียร์ เอาให้อิ่มหนำสำราญ ส่วนอาหารเย็นก็ยืนพื้นด้วยเมนูนี้เช่นกัน เมื่อท้องตึงแล้วก็ได้เวลานอนและต้องนอนตอนอิ่มเท่านั้นเพื่อจะได้ลดการเผาผลาญพลังงาน ดังนั้นจากตารางชีวิตประจำวันจะสังเกตได้ว่าซูโม่จะนอนหลังกินอาหารเที่ยงอิ่มๆเกือบสี่ชั่วโมงเลยทีเดียว (เอาเป็นว่าใครจะไดเอทกรุณาทำตรงกันข้ามกับการกินนี้~)
ใครอยากลิ้มลองว่าอาหารซูโม่เป็นอย่างไรให้ไปที่ย่าน Ryogoku ที่โตเกียวได้เลย ซึ่งย่านนี้ถือเป็นย่านซูโม่จึงมีร้านอาหารที่ขาย Chanko-Nabe เยอะมาก หลายร้านเขาก็ปรับให้คนธรรมดาอย่างเราๆทานได้ ปริมาณไม่ได้มโหฬารอย่างนักซูโม่เขา นอกจากนี้มาทานอาหารในย่านนี้อาจได้เห็นซูโม่ตัวเป็นๆเดินผ่านไปมาหรือนั่งอยู่ในร้านอาหารข้างๆเราก็เป็นได้นะ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับซูโม่
หลายคนคงสะดุดตากับทรงผมของนักซูโม่กันใช่ไหมเอ่ย ป้าเองก็คนนึง นึกสงสัยว่าทำไมต้องทำผมทรงนี้หรือคนญี่ปุ่นเขาว่าหล่อสไตล์ดั้งเดิมกัน?? (ความหล่อที่ป้าเข้าไม่ถึง) ป้าเลยลองหาข้อมูลดู ทรงผมนี้มีชื่อว่าทรง ‘ชนมาเกะ’ ซึ่งเป็นทรงเดียวกันกับซามูไร แต่นักซูโม่นั้นต่างกับซามูไรตรงที่จะไม่มีการโกนผมตรงกลางออกแต่จะไว้ผมยาวแล้วมัดผมรวมตรงกลางเป็นดังโงะ ทรงนี้เอาไว้ให้ซูโม่เด็กๆทำหรือเอาไว้ให้ซูโม่ไม่ว่าจะระดับไหนทำในวันหยุด ส่วนซูโม่ที่ชั้นสูงขึ้นหรือเวลาออกงานจะทำทรง ‘ไดกินนัน’ ซึ่งเป็นการมัดจุกเช่นกันแต่จะมีลักษณะบานออกจนเหมือนใบแปะก๊วยซึ่งนี่เองก็เป็นที่มาของชื่อทรงผมนี้ ทรงผมทั้งสองแบบเป็นทรงผมที่มาตั้งแต่ก่อนสมัยเมจิและยังสืบทอดกันถึงปัจจุบัน ซูโม่น้องใหม่ไม่ได้จะทำทรงชนมาเกะนี้ได้ทันที แต่จะอนุญาตให้ทำได้เมื่อฝึกซูโม่ครบ 1 ปีแล้ว โดยที่เฮยะจะมีช่างทำผมคอยดูแล ทาน้ำมันและมัดจัดแจงให้สวย เมื่อปลดเกษียณซูโม่ก็จะตัดจุกดังโงะนี้ออกหรือไป
วิธีไปดูซูโม่
ใครสนใจอยากเห็นซูโม่ตัวเป็นๆ อยากรู้ว่าแข่งกันอย่างไร ง่ายที่สุดแนะนำให้ไปที่ Kokugikan ที่สถานี Ryokoku ในโตเกียว นอกจากที่นี่จะเป็นสนามแข่งแล้วยังมีพิพิธภัณฑ์ซูโม่ที่เข้าฟรีอีกด้วย ส่วนการแข่งขันซูโม่จะมี 6 ครั้งใน 1 ปี โดยแมตใหญ่ที่จะจัดที่โตเกียวจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง คือเดือนมกราคม พฤษภาคมและกันยายน ใครอยากมาชมแนะนำให้จองล่วงหน้าทางเว็บไซต์ก่อน รายละเอียดการแข่งและการซื้อตั๋วดูได้จากเว็บไซต์ทางการ http://www.sumo.or.jp/En/ และ http://sumo.pia.jp/en/
สรุป
ซูโม่ถือได้ว่าเป็นกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นจริงๆเพราะมีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีประวัติศาสตร์ชาติแฝงไว้มากมาย เรื่องราวชีวิตนักซูโม่ไม่ได้ง่ายเลยต้องอาศัยวินัยการฝึกซ้อม (และการกิน) ไม่น้อย ปัจจุบันน่าเสียดายนิดนึงเพราะป้าว่าคนญี่ปุ่นเองเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยฮิตเป็นนักซูโม่กันเท่าไร อาจเพราะต้องฝึกหนัก ชีวิตผูกติดกับระเบียบเยอะ ตอนนี้เลยเห็นนักซูโม่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนมองโกลซะเยอะ พวกนักซูโม่ลำดับขั้นสูงๆในปัจจุบันก็คนต่างชาติทั้งนั้น หากใครสนใจอย่าลืมแวะมาดูซูโม่ที่ญี่ปุ่นนะ
รัก
ป้าเมโกะ