7 ของกินที่ต้องลองหากไปเที่ยวคิวชู
สำหรับครั้งนี้อยากจะแนะนำถึงของกินที่เป็นสินค้าเฉพาะถิ่นที่มีชื่อเสียงในเกาะคิวชู ซึ่งเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างมาก เพราะย่านนี้อดีตเป็นเขตที่เปิดการติดต่อค้าขายกับต่างชาติเป็นที่แรกๆในญี่ปุ่น ทำให้มีความหลากหลายทางวัฒธรรมมาจนถึงของกิน หากมีโอกาสจึงอยากให้ลองชิมหรือลองสัมผัสสินค้าเฉพาะถิ่นดังต่อไปนี้สักครั้งหนึ่ง แล้วคุณจะติดใจ
ขนมฮิโยโกะ/ขนมลูกเจี๊ยบ (ひよ子) - Fukuoka
ขนมฮิโยโกะหรือมันจูแป้งนุ่มที่มีหน้าตาเป็นลูกเจี๊ยบสุดเก๋นี้แท้จริงแล้วเป็นขนมชื่อดังจังหวัดฟุกุโอกะที่กำเนิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเฮอัน แต่ก่อนเป็นขนมที่ผลิตเพื่อให้พนักงานในโรงงานถ่านหินรับประทาน โดยแนวคิดการทำขนมรูปร่างนี้เกิดจากความฝันที่อยากให้เป็นขนมที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ชื่นชอบ ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วประเทศช่วงกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี1964จำหน่ายที่โตเกียว
สำหรับขนมฮิโยโกะรูปแบบไส้ข้างในของฟุกุโอกะโดยเฉพาะนั้นจะแบ่งออกเป็น 4 แบบ จัดจำหน่ายตามฤดูกาลของญี่ปุ่น ได้แก่ ไส้ซากุระในฤดูใบไม้ผลิ ไส้ชาเขียวในฤดูร้อน ไส้เกาลัดคุมาโมโตะในฤดูใบไม้ร่วง และไส้สตรอเบอร์รี่ในฤดูหนาว โดยเฉพาะไส้ซากุระนั้นจะได้รับความนิยมทั้งชาวญี่ปุ่นเองและชาวต่างชาติที่เข้าไปเยี่ยมชมฟุกุโอกะ สามารถหาซื้อได้ที่โรงงานHiyokoที่ผลิตขนมชนิดนี้และร้านจำหน่ายของฝากของจังหวัดฟุกุโอกะ
ขนมเค้กซากะนิชิกิ (さが錦) - Saga
ซากะนิชิกิหากแปลความหมายตรงตัวคือ ผ้าทอซากะ แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้คือขนมเค้กที่มีลักษณะทั้งวิธีการทำขนมที่ละเอียดรวมถึงลักษณะตัดขวางของขนมที่เหมือนผ้าที่ถูกทอ โดยซากะชิกิทำจากขนมเค้ก2ชนิดรวมกัน คือ เค้กบามคูเฮน (ขนมเค้กเยอรมันที่มีลายเนื้อเค้กเหมือนเนื้อไม้ตัดขวาง มีรูตรงกลาง) ใช้เป็นเนื้อเค้กภายนอก และมีเค้กอุคิชิมะ (เค้กญี่ปุ่นอบไอน้ำ มีเนื้อเค้กนุ่ม) เป็นเนื้อเค้กภายใน ภายในขนมใส่ถั่วอะซุกิและเกาลัดญี่ปุ่น เมื่อกัดเข้าไปในเนื้อขนมจะได้สัมผัสที่นุ่มลึกภายในแต่มีถั่วและเกาลัดให้เคี้ยวกรุบๆอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นขนมที่ผสมกลิ่นไอขนมทางตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัว สามารถหาซื้อขนมเค้กซากะนิชิกิได้ที่ร้านจำหน่ายของฝากของจังหวัดซากะและร้านขนมทั่วไปในจังหวัดซากะ
นางาซากิคัสเตลลา (長崎カステラ) - Nagasaki
ขนมเค้กญี่ปุ่นที่รับอิทธิพลจากมิชชันนารีชาวโปรตุเกสครั้งที่จังหวัดนางาซากิเป็นเมืองท่าในการค้าช่วงสมัยเอโดะ เป็นขนมเค้กเนื้อละมุนมีรูตรงกลางแบบเค้กบามคูเฮนแต่ลักษณะเนื้อเค้กแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แบบดั่งเดิมจะเป็นน้ำเชื่อมน้ำตาลเผาเคลือบบนเนื้อเค้ก มีรสชาติหวานควรรับประทานกับชาหรือกาแฟ แต่ปัจจุบันรสชาติมีหลากหลายมากขึ้นอาทิช็อกโกแลต ชาเขียว เป็นต้น
หากต้องการเค้กคัสเตลลารสชาติที่ไม่เหมือนใครและมีขายเฉพาะที่จังหวัดนางาซากินั้น รสชาติที่อยากแนะนำคือ คัสเตลลารสพีช (桃カステラ) เป็นเค้กที่หน้าตาน่ารักมากๆเพราะแต่งรูปทรงและสีสันเป็นลูกพีชอมสีชมพู ซึ่งจะเปิดขายแค่เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น สามารถหาซื้อนางาซากิคัสเตลลาได้ที่ร้านจำหน่ายของฝากและร้านขนมทั่วไปในนางาซากิ
ราเมงคุมะโมโตะ (熊本ラーメン) - Kumamoto
มาถึงจังหวัดที่มีมาสคอตตุ๊กตาหมีสีดำคุมะโมโตะแล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวงคือราเมงคุมะโมโตะ ซึ่งเป็นราเมงที่ต้มจากซุปกระดูกหมูแท้ๆ ที่เคี่ยวเป็นเวลานานกับเนื้ออกไก่เต็มคำ เส้นราเมงนุ่มๆ และเครื่องเคียงราเมงอื่นๆ เสริฟใส่กระเทียม กลิ่นน้ำซุปหอมคลุ้งทั่วร้านราเมงรสชาติอร่อยกลมกล่อม สามารถแวะมารับประทานได้ที่ร้านราเมงในเมืองคุมะโมโตะทั่วไป (หากรับประทานจากเมืองอื่นๆ สูตอและรสชาติอาจจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง)
ขนมยะเซะอุมะ (やせうま) - Oita
อีกหนึ่งขนมพื้นเมืองญี่ปุ่นหน้าตาแปลกๆ ที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ขนมยะเซะอุมะเป็นขนมพื้นเมืองจากจังหวัดโออิตะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคโบราณสมัยเฮอัน มีตำนานเล่าว่าขนมชนิดนี้เกิดจากผู้สูงศักดิ์จากวังในโตเกียวที่มาอยู่ที่โออิตะ เป็นผู้เคร่งศาสนาที่มีนามแฝงเรียกกันว่ายะเซะอาศัยอยู่กับผู้ดูแล วันหนึ่งเธอหิว ผู้ดูแลเลยนำแป้งสาลีขนาดใหญ่ที่นวดไว้นั้นนำมาต้มแล้วปรุงรสด้วยผงคินาโกะ(ผงแป้งถั่วเหลืองผสมน้ำตาลสีเหลืองของญี่ปุ่น) นำให้เจ้านายรับประทาน หลังจากนั้นที่ท่านรับประทานก็เอ่ยปากชมว่าอร่อย (อุมะ) ตั้งแต่นั้นมาขนมชนิดนี้จึงได้ชื่อว่ายะเซะอุมะ
รสชาติของขนมยะเซะอุมะจะออกหวานเล็กน้อย สามารถหารับประทานได้ทั้งแบบสดดั้งเดิมที่ปรุงรสผงคินาโกะ ได้ตามร้านอาหารพื้นเมืองของโออิตะและแบบบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก สามารถหาซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายของฝากของจังหวัดโออิตะ
มันจูไส้ชีส (チーズ饅頭) - Miyazaki
ขนมปังมันจูนั้นเป็นอีกหนึ่งขนมของญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ แต่กลายมาเป็นขนมสัญชาติญี่ปุ่นโดยแท้ มันจูแต่เดิมเป็นขนมที่มาจากจีน มีขายทั่วไปในญี่ปุ่น แต่จุดเด่นอยู่ตรงรสชาติไส้ของมันจูที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัดและภูมิภาคของญี่ปุ่น (แต่ไส้ยอดนิยมคือถั่วแดง)
สำหรับจังหวัดมิยาซากิมันจูที่ถูกผลิตขึ้นในจังหวัดมิยาซากิจะไม่ใช่ไส้ถั่วแดง แต่กลับเป็นไส้ชีส โดยเริ่มมีขายครั้งแรกในช่วงปี 1980 และเริ่มจำหน่ายอย่างแพร่หลายในช่วงปี 1986 ซึ่งตัวแป้งขนมปังมันจูจะมีสีน้ำตาลสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน ส่วนไส้ชีสนั้นจะขึ้นอยู่กับราคาและแหล่งที่ซื้อ จะมีตั้งแต่ชีสค่อนข้างแข็ง ไปจนกระทั่งชีสเยิ้มๆ รวมทั้งในรูปแบบครีมชีสก็มีเช่นกัน
หากจะหาซื้อมันจูไส้ชีสอร่อยๆ จากจังหวัดมิยาซากิแนะนำให้ซื้อจากแบรนด์ขนมมันจูไส้ชีสที่มีชื่อเสียงมายาวนานของจังหวัดอาทิ Fushigado, Warabe-cheese, Minami Tokonoya Imamon เป็นต้น และเนื่องจากเป็นของขึ้นชื่อ ทำให้สามารถหาซื้อมันจูไส้ชีสได้ที่ร้านจำหน่ายของฝากจังหวัดมิยาซากิทั่วไป หรือแม้แต่ร้านของฝากตามสถานีรถไฟ
นอกจากชีสแล้วก็ยังมีมันจูที่สอดไส้ด้วยของที่ผลิตในท้องถิ่นอีกมากมาย อย่างเช่นมะม่วงซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของมิยาซากิอีกอย่างหนึ่ง
ขนมเกะตันฮะ (げたんは) - Kagoshima
ขนมเกะตันฮะนี้เป็นขนมเฉพาะถิ่นจากจังหวัดคาโงะชิมะที่ชื่ออาจไม่คุ้นหูนัก เป็นขนมอบสีน้ำตาลเข้มทรงสี่เหลี่ยมคางหมูที่ทำจากแป้งนุ่มๆและไข่แดงชุบน้ำเชื่อมน้ำตาลทรายแดงตัดวางซ้อนบรรจุในกล่องใส รสชาติค่อนข้างหวาน เหมาะกับการรับประทานคู่กับนมหรือกาแฟ เมื่อลองกัดที่ตัวขนมจะสัมผัสได้ถึงความช่ำหวานของน้ำตาลทรายและความละมุนของแป้งขนมพร้อมกลิ่นหอมน้ำตาลทรายแดง
นี่เป็นขนมพื้นเมืองที่มีความผูกพันอย่างยาวนานกับชาวญี่ปุ่นในจังหวัดคาโงะชิมะตั้งแต่สมัยเอโดะหรือช่วงศตวรรษที่ 16 หากต้องการเข้าถึงกลิ่นไอขนมญี่ปุ่นพื้นเมืองโดยแท้จริงจากขนมเกะตันฮะนี้ สามารถซื้อได้ที่ตามร้านของฝากของจังหวัดคาโงะชิมะ และร้านค้าพื้นเมืองของจังหวะคาโงะชิมะ
สำหรับ7ของกินจากย่านชิวชูที่ได้แนะนำไป คาดว่าจะถูกใจผู้อ่านอยู่ไม่น้อย ซึ่งรอบนี้คัดของกินที่เป็นขนมร่วมสมัยมานำเสนอเป็นพิเศษเพราะเป็นเสน่ห์หลักของย่านคิวชูให้ผู้อ่านทราบแล้วตามปักหมุดหาซื้อกลับไปเป็นของฝากถึงคนที่รัก และสำหรับสายแบกเป้เที่ยวก็สามารถนำไปเป็นแรงบันดาลใจจดในรายการลายแทงของดี(ของกิน)ที่ต้องไปถึงที่สักครั้ง ลองแล้วรสชาติเป็นอย่างไรคอมเมนท์แบ่งปันได้นะ