ชม “อุนโดไก” งานกีฬาสีของโรงเรียนประถมญี่ปุ่น
รู้จักกับวัฒนธรรมกีฬาสีของโรงเรียนญี่ปุ่น มีอะไรทำบ้าง เหมือนหรือต่างกับของไทยยังไง รับรองว่าใครมีโอกาสเข้าชมต้องประทับใจแน่นอนค่ะ
By ครัวญี่ปุ่นวันนี้เราจะพามาชมงานกีฬาโรงเรียนประถมศึกษาของญี่ปุ่นค่ะ เป็นงานที่ผู้ปกครองและญาติพี่น้องผองเพื่อนเข้าชมได้ มีการแข่งกีฬายอดนิยมอย่าง วิ่งผลัดและชักเย่อเหมือนกับของไทย และกีฬาโยนลูกบอลใส่ตะกร้าที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น มีการร้องเพลงเชียร์ที่ดูแข็งแรงสร้างขวัญและกำลังใจให้นักกีฬาเป็นอย่างดี รับรองว่าหากใครมีโอกาสเข้าชมต้องประทับใจแน่นอนค่ะ
กีฬาสีชั้นประถมมีเพียง 2 สี ”สีแดง” และ ”สีขาว”
งานกีฬาสี หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อุนโดไก” (運動会) ซึ่งแปลตรงตัวว่า การรวมตัวกันออกกำลังกาย โรงเรียนรัฐบาลของญี่ปุ่นจะมีการแบ่งโรงเรียนระหว่าง โรงเรียนประถม (รวม ป.1-ป.6) โรงเรียนมัธยมต้น และโรงเรียนมัธยมปลาย เพราะฉะนั้นงานกีฬาโรงเรียนครั้งนี้จึงมีแต่เด็กๆอย่างที่เห็นค่ะ เพราะเป็นโรงเรียนประถมล้วนค่ะ
เด็กๆจะใส่ชุดพละที่ใช้ไปโรงเรียนตามปกติค่ะ ถุงเท้าและรองเท้าสีใดก็ได้ไม่บังคับ ตัวเสื้อสีขาว กางเกงสีเดียวกันเช่น สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียวหรือสีอื่นตามที่โรงเรียนนั้นๆกำหนด รวมถึงหมวกพละสีแดง-ขาว ซึ่งหมวกพละนี้สามารถกลับด้านใส่ได้ทั้งด้านสีแดงและด้านสีขาว เป็นหมวกที่ใช้เหมือนกันทุกโรงเรียนทั่วประเทศ สามารถซื้อได้ตามร้านเครื่องแบบนักเรียน ห้างสรรพสินค้าและโฮมเซนเตอร์ (คล้ายโฮมโปรของไทย)
การใส่เครื่องแบบพละนี้จึงเป็นการกำหนดสีของงานกีฬาสีไปในตัว ไม่ว่าจะโรงเรียนใดก็มีเพียง “สีแดง” และ “สีขาว” สำหรับโรงเรียนประถมเท่านั้นนะคะ นอกจากการแต่งกายต้องเตรียมเป้พร้อมเบนโตะและผ้าขนหนูสำหรับซับเหงื่อด้วยค่ะ
การแบ่งสีของโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายจะใช้ผ้าแถบคาดหัวมีหลายสีต่างกันออกไปแล้วแต่โรงเรียนค่ะ ส่วนโรงเรียนอนุบาลเป็นหมวกสีประจำห้อง ห้องละสี อนุบาล1ถึงอนุบาล3 มีชั้นละ 3 ห้อง ชื่อห้องเรียนจะเป็นชื่อดอกไม้อย่างเช่นฮิมาวาริ (ดอกทานตะวัน) หมวกสีเหลือง หรือซากุระหมวกสีชมพูค่ะ
โปรแกรมงานกีฬาสี
งานกีฬาสีส่วนใหญ่จัดในวันเสาร์ค่ะ บางโรงเรียนมีในวันอาทิตย์ และหยุดชดเชยให้ในวันจันทร์ค่ะ งานเริ่มเวลา 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง ซึ่งเด็กๆจะเดินไปโรงเรียนกันเองและรวมตัวกันที่ห้องเรียนเวลา 8 โมงครึ่ง ส่วนประตูโรงเรียนเปิดตอน 8 โมง (ผู้ปกครองสามารถเข้ามาปูเสื่อจองที่ได้ในเวลานี้ค่ะ) ในช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมงเป็นเวลาพักกลางวันค่ะ เด็กๆจะมีเก้าอี้นั่งในส่วนครึ่งหน้าสนามค่ะ ซึ่งมีกระเป๋าเป้แขวนไว้ด้านหลัง ในกระเป๋าเป้มีกระติกน้ำและผ้าเช็ดตัว ส่วนเบนโตะนั้นจะเก็บไว้ในห้องเรียนค่ะ
พิธีเปิดงานกีฬาสีเริ่มด้วยการกล่าวทักทายของอาจารย์ใหญ่ ต่อด้วยกายบริหารวอร์มอัพของเหล่านักเรียน ตามด้วยการแสดงร้องเพลงเชียร์ การแข่งกีฬา 2-3 รายการ แล้วขั้นด้วยการแสดงต่างๆ ชั้นประถมเล็กจะเต้นเข้าจังหวะ ส่วนชั้นประถมโตจะโชว์การต่อตัวและเต้นเวฟ ซึ่งการแข่งขันและการแสดงทั้งหมดนักเรียนมีส่วนร่วมกันทุกคนแม้จะเป็นนักเรียนพิเศษที่นั่งรถเข็นค่ะ
ประเภทการแสดง
ก่อนเริ่มการแข่งขันมีการแสดงร้องเพลงเชียร์ โบกธง เต้นนำเชียร์และตีกลอง ซึ่งมีเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น ทำนองดูแข็งขันน่าเกรงขามค่ะ
โซรันบุชิ
“โซรันบุชิ” (ソーラン節) เป็นการแสดงที่มีท่าเต้นเป็นเอกลักษณ์ แต่งกายด้วยเสื้อคลุมตัวยาวแบบญี่ปุ่นเรียกว่า ฮัปปิ (はっぴ) มีการกำหนดให้แสดงในงานกีฬาสีโรงเรียนครั้งแรกเมื่อปีโชวะ 60 (พ.ศ.2528) แต่เริ่มเป็นที่แพร่หลายทั่วญี่ปุ่นจากละครดังเรื่อง Kinpachi-sensei (3年b組金八先生) เมื่อพ.ศ.2542 ที่มีการแสดงโซรันบุชิของเหล่านักเรียน ตอนนี้โรงเรียนทั่วประเทศจึงทำกันหมดค่ะ
การเต้นเวฟและการต่อตัวก็เป็นอีกเอกลักษณ์ของงานกีฬาสีค่ะ แต่การต่อตังของที่นี่แค่ 3 ชั้น ไม่หวาดเสียวไม่อันตรายเกินตัวค่ะ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในโชว์เดียวกันมีการแปรแถวอย่างสวยงาม เพลงที่ใช้เป็นเพลงเจป็อป อย่างในปีนี้เพลงที่มีท่าเต้นโดนเด่นเป็นที่นิยมเลือกมาใช้ในงานกีฬาของหลายๆโรงเรียนคือเพลง U.S.A. ของ da pump ค่ะ นอกจากนี้ยังมีการเต้นเข้าจังหวะของประถมเล็ก โดยใช้เพลงประกอบหนังการ์ตูนยอดนิยมในขณะนั้นค่ะ
ประเภทการแข่งขัน
“ทะมะอิเระ” (玉入れ) แข่งโยนลูกบอลลงตะกร้า เป็นกีฬาที่เด็กๆชอบกันมากที่สุดและมีเล่นตั้งแต่ชั้นอนุบาล สำหรับประถม เป็นการแข่งขันของชั้นประถมเล็กอย่างชั้น ป.1 ระหว่างการแข่งขันมีการเปิดเพลงสลับกับการโยนลูกบอล ขณะที่เพลงขึ้นทุกคนต้องหันหน้าออกจากวงและเต้นเข้าจังหวะ เมื่อเพลงหยุดจึงสามารถหยิบลูกบอลบนพื้นโยนใส่ตะกร้าได้ค่ะ
“รีเลย์” (リレー) หรือวิ่งผลัด มีการแข่งขัน 2 ครั้งในช่วงเช้าและบ่ายค่ะ ในหนึ่งทีมมีการคละระดับชั้น อย่างทีมในช่วงเช้าจะเป็นการแข่งขันของทีม ป.1 ป.3 และ ป.5 ส่วนช่วงบ่ายเป็นทีม ป.2 ป.4 และ ป.6 ในไม้แรกเป็นประถมเล็ก และไม้สุดท้ายเป็นประถมโต การแข่งขันจึงทวีความตื่นเต้นขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม้สุดท้ายจะวิ่งเร็วมาก ผู้ปกครองได้ชมและลุ้นอย่างสนุกสนานค่ะ
วิ่งแข่งระยะทาง 50 เมตร 80 เมตร และ 100 เมตร ตามระดับชั้นประถมเล็กถึงโตค่ะ
“ซึนะฮิคิ” つなひき การแข่งดึงเชือกหรือชักเย่อนั่นเอง มีการแข่งขันในช่วงในตอนเช้าและตอนบ่าย แค่ 2 ชั้นปีการศึกษาค่ะ อย่างเช่น ช่วงเช้า ป.6 ช่วงบ่าย ป.4 ค่ะ
“คิบะเซน” (きばせん/騎馬戦)ขี่ม้าส่งเมืองแบบญี่ปุ่น โดยผู้เล่นด้านล่าง4คนจะช่วยพยุงผู้เล่นด้านบนที่ทรงตัวยืน ให้ไปแย่งหมวกสีจากฝั่งตรงข้าม ใครที่ถูกแย่งหมวกไปแล้ว ต้องลงและไปนั่งพักดูที่ข้างสนาม ผู้ที่ยังคงอยู่บนม้าสามารถแย่งหมวกกี่ใบก็ได้จนกว่าอีกทีมจะหมดผู้เล่นค่ะ
“โอดามะโคโรกาชิ” (大玉ころがし) การแข่งเลี้ยงลูกบอลขนาดใหญ่ไปตามทางที่กำหนดไว้ ทีมไหนเลี้ยงลูกบอลจากจุดสตาร์ทไปกลับเสร็จก่อนเป็นผู้ชนะค่ะ
“โอดามะโอะคุริ” (大玉送り) แข่งเลี้ยงลูกบอลขนาดใหญ่ เป็นการแข่งขันสุดท้ายของงานค่ะ นักเรียนทุกชั้นปีของทีมสีแดงและสีขาวทุกคนจะมายืนเรียงกันเป็นแถว (อย่างในรูปเป็นทีมสีขาว) ตรงกลางสนามจะมีแท่นวางลูกบอลและกรวยวางไว้ เมื่อเสียงปืนเริ่มการแข่งขันดังขึ้น ผู้นำทีมช่วยกันกลิ้งและยกลูกบอลจากแท่นมาที่แถวให้ทุกคนเลี้ยงส่งกันไปจนสุดแถว แล้วกลิ้งวนผ่านกรวยกลางสนามกลับมาที่ปลายแถวให้ทุกคนช่วยกันเลี้ยงส่งกลับไปวางที่แท่นดังเดิม ทีมที่วางลูกบอลลงแท่นก่อนเป็นผู้ชนะค่ะ
เมื่อจบการแข่งขันในแต่ละเกมส์จะมีการขึ้นคะแนนที่บวกเพิ่มไปตลอดงานอย่างเด่นชัด
ครูจะเป็นผู้ประกาศคะแนนให้นักเรียนเป็นผู้จดก่อนบวกขึ้นป้ายค่ะ
ทีมที่ชนะจะได้ธงชัย ส่วนทีมแพ้ได้ถ้วยรางวัลค่ะ สำหรับนักเรียนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ทีมแดงหรือขาว ล้วนได้รางวัลเป็นเครื่องเขียนเหมือนกันทุกคนค่ะ และเมื่อคุณครูกล่าวปิดงาน นักเรียนทุกคนจะขึ้นไปรวมตัวที่ห้องเรียนก่อนพากันเดินกลับบ้านกันเองค่ะ
หน้าต่อไปเป็นเรื่องการเตรียมตัว สำหรับคนที่อยากลองไปชมซักครั้งค่ะ