“โกเฮโมจิ” โมจิปิ้งสุดอร่อยแสนง่าย อยู่ไทยก็ทำกินเองได้
โกเฮโมจิ เริ่มรู้จักแพร่หลายในญี่ปุ่นเพราะละครโทรทัศน์ช่วงเช้า ได้ถ่ายทำที่ร้านโกเฮโมจิในจังหวัดกิฟุ ทั้งนี้โกเฮโมจิก็ไม่ได้หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งร้านขนมญี่ปุ่น เพราะโกเฮโมจิไม่มีสูตรตายตัว ตัวซอสถูกคิดค้นเป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวและสืบถอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เราจะนำเสนอสูตรเด็ดเครื่องแน่นที่รวมทุกความอร่อยไว้ในสูตรเดียวค่ะ
By ครัวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า”โกเฮโมจิ”เป็นเครื่องเส้นไหว้และผู้คิดค้นมีชื่อว่า”โกเฮ”
“โกเฮโมจิ” (五平餅) มีประวัติอันยาวนาน สันนิษฐานว่าคนญี่ปุ่นเริ่มรับประทานโกโฮโมจิกันในช่วงกลางของยุคเอโดะ หรือประมาณ 270 ปีก่อนค่ะ เป็นยุคสมัยที่ข้าวมีค่ามาก จึงใช้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า ในแต่ละปี หลังช่วงเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง ชาวบ้านแถบเทือกเขาจะนำข้าวมาทำโกเฮโมจิเพื่อบูชาเทพเจ้าภูเขา ในทางกลับกัน ยังมีสันนิษฐานที่ว่า “โกเฮโมจิ” เป็นอาหารพกพาสำหรับคนที่ขึ้นไปทำงานบนภูเขา รับประทานคู่กับสาเก ทำให้อิ่มท้องและช่วยให้ร่างกายอุ่นด้วยอีกค่ะ
ทำความรู้จักถึงที่มาและประวัติกันคร่าวๆ ก่อนเริ่มปรุง
มาดูที่มาของชื่อ "โกเฮโมจิ" กันนะคะ อ้างอิงจากข้อสันนิษฐานข้างต้นได้ 2 ทฤษฎีคือ ข้อแรกโกเฮโมจิมีรูปร่างคล้าย "โกเฮ" 「御幣(ごへい)」กระดาษที่ประกบกับไม้หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า และอีกข้อคือ ผู้ที่คิดค้นวิธีทำโกเฮโมจิครั้งแรกชื่อว่า "โกเฮ"「五平さん」โดยสมัยนั้น คนที่ขึ้นเขาไปทำงาน จะนำข้าวปั้น “โอนิกิริ” ไปเป็นอาหารพกพา ซึ่งโกเฮซังได้นำข้าวปั้นมาบดให้คล้ายโมจิ ห่อกับไม้ที่ถืออยู่ในมือ ทาโชยุหรือมิโสะแล้วย่างค่ะ
โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของ ”โกเฮโมจิ” ในปัจจุบันค่ะ เรียกได้ว่า ”โกเฮโมจิ” นั้นอาหารพื้นเมืองภูมิภาคชูบุ (Chubu) ที่หากใครได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วควรลองชิมให้ได้สักครั้งนะคะ
1. โกเฮโมจิประจำจังหวัดนากาโน่ (Nagano)
“โกเฮโมจิ” เป็นอาหารพื้นบ้านในภูมิภาคชูบุ ที่อยู่ตอนกลางของเกาะฮอนชู เกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น จังหวัดที่มีโกเฮโมจิมากสุด 3 จังหวัด คือ จังหวัดกิฟุ (Gifu・岐阜県) จังหวัดไอจิ (Aichi・愛知県) และจังหวัดนากาโน่ (Nagano・長野県)
เริ่มที่โกเฮโมจิของจังหวัดนากาโน่ ตัวซอสส่วนใหญ่จะใส่มิโสะขาว บางพื้นที่ก็ใส่ถั่ววอลนัท และงาด้วยค่ะ รสหวานเค็ม มีในพื้นที่ทางใต้ของจังหวัดนากาโน่ อย่างหมู่บ้านคิโสะ (木曽村) เมืองอินะ (伊那市) และเมืองอิดะ (飯田市) หากคุณอยากจะชิมโกเฮโมจิของจังหวัดนากาโน่ ก็ต้องมาทางใต้เท่านั้นนะคะ
2. โกเฮโมจิประจำจังหวัดไอจิ (Aichi)
ต่อกันที่จังหวัดไอจิ โกเฮโมจิที่นี่สามารถหารับประทานได้แถบพื้นที่มิคาวะ (三河) เช่น เมืองโทโยตะ (豊田市) ที่นึ่มีร้านโกเฮโมจิขึ้นชื่อมากมายในหลายย่านของเมืองค่ะ โดยซอสส่วนใหญ่ทำจากมิโสะแดง ทั้งยังมีขิง งา ถั่วลิสง และถั่ววอลนัทผสมต่างกันเป็นสูตรเฉพาะในแต่ละร้าน ขนาดรูปทรงก็จะไม่เหมือนกันนะคะ อย่างในย่านชิโมะยะมะ (下山) ของเมืองโทโยตะจะมีโกโฮโมจิขนาดใหญ่สุด รูปทรงโอวะระจิ (รูปทรงแบนยาวคล้ายรองเท้าแตะสานในสมัยก่อนของญี่ปุ่น) ดังภาพด้านบนค่ะ
3. โกเฮโมจิประจำจังหวัดกิฟุ (Gifu)
และที่สุดท้ายของจังหวัดกิฟุ ซึ่งโกเฮโมจิของจังหวัดกิฟุนั้นมีทั้งซอสโชยุ ซอสมิโสะ และแบบผสม โดยเน้นส่วนผสมของถั่ววอลนัท ถั่วลิสง และงาขาวค่ะ หาซื้อง่ายตามโซนขายอาหารชั้นใต้ดินห้างญี่ปุ่น ซึ่งเรียกกันเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เดปาจิกะ” (Depachika・デパ地下)
ทั้งยังมีร้านดังอยู่มากมายตามสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อด้วยนะคะ อย่างเมืองทากายาม่า (高山市) หมู่บ้านชิราคาวะ (白川村) และย่านเมืองเก่าอิวะมุระ (いわむら城下町) ที่มีร้านจากละครดังช่วงเช้าทางช่อง NHK ของญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อนค่ะ
“โกเฮโมจิ” ในแต่ละพื้นที่มีรูปร่างและรสชาติต่างกัน
ว่ากันว่ารูปร่าง ซอส และไม้เสียบของ "โกเฮโมจิ" นี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เสน่ห์ของโกเฮโมจิอยู่ที่ส่วนผสมที่เก็บเกี่ยวได้ในพื้นที่นั้นๆ ตั้งแต่ข้าว หรือแม้กระทั่งไม้เสียบที่ใช้ไม้ธรรมชาติท้องถิ่น ขณะปิ้งจะมีกลิ่นหอม หากได้ไปเที่ยว อยากให้ลองชิมหลายๆ ร้านนะคะ ตัวซอสของแต่ละร้านจะเป็นสูตรที่สืบทอดกันมาแล้วแต่ตระกูล ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสค่ะ
เมื่อทำความรู้จักโกเฮโมจิกันแล้ว ก็ได้เวลาลงมือทำค่ะ สูตรซอสเราจะใส่ส่วนผสมแทบทุกอย่างที่เด่นๆ จากทุกจังหวัด ส่วนข้าวนั้นคัดสรรพันธุ์ที่เหมาะสม และปั้นเป็นทรงวะระจิ ซึ่งเป็นรูปทรงพื้นฐานที่รู้จักแพร่หลายมากสุดค่ะ
ก่อนอื่นเรามาเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการทำกันนะคะ
อุปกรณ์
1. ตะเกียบไม้ไผ่แบบฉีก หรือ ไม้ไอศกรีม
2. ครก
3. สาก
4. ไม้พายทนความร้อน
5. ช้อนตวง
6. พิมพ์ข้าวปั้น
7. ฟอยล์ห่ออาหาร
8. กระทะเทฟล่อน หรือ แผ่นฟอยล์สำหรับใช้กับกระทะ
9. กระทะ
10. แรปห่ออาหาร
วัตถุดิบและส่วนผสม
หากเตรียมวัตถุดิบตามนี้จะได้โกเฮโมจิประมาณ 6-8 ไม้ค่ะ มีดังต่อไปนี้
1. ข้าวญี่ปุ่น 1 ถ้วย
2. ถั่ววอลนัทคั่ว 10 กรัม
3. งาขาวคั่วบด 1 ช้อนโต๊ะ
4. น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี 2 ช้อนโต๊ะ (หากชอบหวานเพิ่มอีก 1/2 โต๊ะ ได้นะคะ)
5. โชยุ 1 + 1/2 ช้อนโต๊ะ
6. มิโสะแบบผสม 1 ช้อนโต๊ะ
7. มิริน 2 ช้อนโต๊ะ
8. สาเกปรุงอาหาร 1 ช้อนโต๊ะ
เราจะแบ่งวิธีทำเป็น 3 ขั้นตอนนะคะ
1. ทำโมจิ
2. ปรุงซอส
3. ทาซอสแล้วย่าง
มาดูวิธีทำกันเลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 ทำโมจิ
ข้าวญี่ปุ่น เลือกพันธุ์ที่หุงสุกแล้วเหนียวนุ่มมาก อย่าง “ยูเมะปิริกะ” “โคชิฮิคาริ” ไม่ก็”ฮิโตะเมะโบเระ” ค่ะ ซึ่งเป็นข้าวที่คนญี่ปุ่นทั่วไปรับประทาน ราคาระดับกลางๆ ไม่ถึงกับแพงค่ะ อย่างในรูป ถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 1,600 ~ 1,900 เยน (400 ~ 480 บาท)
1.1 หุงข้าวญี่ปุ่น ปริมาณ 1 ถ้วยตวง
หม้อนี้เราใช้ข้าวโคชิฮิคาริค่ะ เป็นข้าวสารขัด สามารถหุงได้เลยโดยไม่ต้องล้าง หากเพื่อนๆ มีข้าวหอมมะลิใหม่ติดบ้าน ก็สามารถใช้แทนกันได้ค่ะ เพราะข้าวใหม่จะมียางข้าวเยอะ เหนียวนุ่มปั้นง่าย
กดเพื่อดู วิธีหุงข้าวญี่ปุ่น
1.2 บดข้าวให้เป็นโมจิ
เมื่อสัญญาณเตือนข้าวหุงสุกแล้วดังขึ้น ให้รีบเปิดฝาหม้อข้าวและใช้ทัพพีคลุกบด ข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ จะนิ่มมากค่ะ ใช้แค่ทัพพีก็บดได้ง่าย โดยตักข้าวตลบกลับไปกลับมาพร้อมกับกดให้เมล็ดแหลกจนได้ข้าวที่เหนียวสามารถปั้นได้ค่ะ
ลักษณะของตัวโมจิจะเหนียว ยังคงเห็นเป็นเมล็ดข้าวที่แหลกติดกันแน่น ตามรูปค่ะ
1.3 ปั้นโมจิ
ฉีกแรปห่ออาหารวางบนเขียง ถาด หรือจานรอง ตักข้าววางบนแรป วางไม้เสียบลงตรงกลาง กดไม้ลงให้เกือบมิดข้าว ให้ปลายเกินขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้ปั้นข้าวเป็นทรงได้โดยไม่หลุดจากไม้ค่ะ และก็พับห่อหลวมๆ ใช้มือกดปั้นให้เป็นวงรี มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร
ตอนปั้นโมจินี้ ให้เด็กช่วยปั้นได้นะคะ ข้าวห่อด้วยแรปไม่เปื้อนมือ แต่เด็กเล็กอาจจะปั้นยาก ให้ปั้นด้วยมือเปล่าค่ะ ใช้มือชุบน้ำเล็กน้อยกันข้าวติดมือ ปั้นเป็นรูปที่ชอบ เด็กๆจะสนุกกันมากเลยค่ะ หรือจะอัดใส่พิมพ์ข้าวปั้นก็ได้นะคะ
ข้าว 1 ถ้วย สามารถปั้นเสียบไม้ได้ 4 ไม้ หรือ ปั้นชิ้นเล็กได้ 8 อัน ซึ่งครั้งนี้เราแบ่งทำได้อย่างละครึ่งๆค่ะ
1.4 ย่างโมจิ
โมจิที่ปั้นเสร็จ ยังทาซอสไม่ได้นะคะ ต้องนำไปปิ้งก่อนเพื่อให้ตัวโมจิคงรูปทรงนั้นๆ ค่ะ โดนนำไปจี่ในกระทะ ไฟอ่อนค่อนไปทางปานกลาง ด้านละ 3-4 นาที ให้มีสีเหลืองเล็กน้อยค่ะ
ถ้าปิ้งด้วยเตาอบ หรือเตาปิ้งขนมปัง ควรพันไม้เสียบด้วยฟอยล์ห่ออาหารเพื่อกันไม่ให้ไม้ไหม้ค่ะ
พอปิ้งตัวโมจิเปล่าๆเสร็จ พักไว้ให้เย็นก่อนนะคะ ตอนทาซอสแล้วปิ้ง ข้าวจะไม่แตกค่ะ ระหว่างนี้ เรามาปรุงตัวซอสกันนะคะ อ่านวิธีทำต่อได้ในหน้าถัดไปค่ะ