All About Japan

5 เทคนิคทำงานกับคนญี่ปุ่นอย่างสงบสุข

ชีวิตในญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น ทำงานในญี่ปุ่น
5 เทคนิคทำงานกับคนญี่ปุ่นอย่างสงบสุข

คนที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นหรือมีโอกาสทำงานกับคนญี่ปุ่นมักจะประสบปัญหาเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างอยู่บ่อยๆ บางครั้งการกระทำของเราอาจทำให้อีกฝ่ายกลับคิดมากหรือทำให้เกิดความระหองระแหงจนอาจทำให้มีปัญหาไม่สามารถทำงานด้วยกันต่อไปได้ ดังนั้น หากเราทราบถึง5อย่างที่ไม่ควรทำแล้วล่ะก็จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดได้ค่ะ

5 อย่างที่ "ไม่ควร" ทำเมื่อทำงานกับคนญี่ปุ่น

มารยาทพื้นฐานทั่วไปนั้นก็เหมือนกันเกือบทุกประเทศค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้ใหญ่ ไม่มาสาย เเต่งกายสุภาพ เเต่วันนี้เราจะมาพูดถึง 5 สิ่ง ที่คนไทยมักเผลอทำในเวลางานเพราะไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่คนญี่ปุ่นไม่ชอบเลย

1.ไม่ขี้นินทา

นอกจากคนไทยเเล้ว คนญี่ปุ่นก็ชอบเรื่องซุบซิบเหมือนกันนะจ้ะ ถึงแม้ว่าการพูดคุยและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี เเต่ถ้าหากหัวข้อการสนทนานั้นเป็นเรื่องของ"เพื่อนร่วมงานคนอื่น"นั้นก็มีความเสี่ยงอันตรายสูงเหมือนกันค่ะ เพราะถึงเเม้ว่าจะเป็นการพูดถึงเฉยๆโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่อีกฝ่ายอาจนำไปเล่าต่อในทางที่เสียหายได้ (แล้วบอกว่าได้ข่าวมาจากเรา กลายเป็นเราคนปล่อยข่าว ซวยเลยนะจ้ะ)

หรือบางข้อมูลที่อีกฝ่ายต้องการปิดเป็นความลับเเต่เรากลับไปบอกคนอื่นต่อโดยไม่คิดมาก อันนี้ก็มีโอกาสโดนโกรธสูงค่ะ (ยกตัวอย่างเช่น ไปเล่าว่า Aจังมีเเฟนเเล้ว พึ่งเลิกกับเเฟน พึ่งย้ายบ้าน ฯลฯ ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว) คนไทยอาจมองว่าเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องทั่วไป เล่าได้คุยได้ ไม่เห็นจะต้องปิดบังเลย เเต่อย่าลืมนะคะว่าคนญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวังที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้อื่นได้ทราบง่ายๆ ถ้าเขาอยากจะเล่าให้คนอื่นฟังเขาจะเป็นคนเล่าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรบกวนให้เราไปกระจายข่าวให้ค่ะ ถ้าเกิดเผลอพลาดหลุดปากเม้ามอยไปหนึ่งครั้ง เขาอาจมองว่าเราเป็นคนเก็บความลับไม่ได้ ไม่ไว้ใจเราและไม่เล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับตัวเองให้เราฟังอีกเลยนะคะ (อันนี้ก็เเล้วเเต่บุคคลจ้า)

นอกจากนี้ ด้วยความที่เราเป็นชาวต่างชาติไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหลัก การสื่อของเรานั้นอาจไม่ได้คล่องเเคล่วและเเม่นยำตรงตามที่คิดได้100% จึงมีโอกาสที่คู่สนทนาของเราจะตีความสิ่งที่เราต้องการจะสื่อไปในทางที่ผิดได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ให้คิดก่อนพูดเยอะๆ หรือไม่พูดนินทาเพื่อนร่วมงานไปเลยจะดีกว่านะคะ

2.ไม่อวดรู้มากเกินไป

เชื่อว่าคนไทยหลายๆคนนั้นอยากเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและเเนวคิดต่างๆของคนไทยให้กับเพื่อนร่วมงานญี่ปุ่นทราบ อันนี้สามารถทำได้ค่ะ เเต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่พอดี โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ท่ามกลางคนญีปุ่นควรจะยึดวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่"คนหมู่มาก"ตกลงว่าจะทำร่วมกันเพื่อให้ทำงานกันได้อย่างราบรื่น เราไม่ควรนำนิสัยการทำงานที่ไทยมาใช้เพียงเพราะว่าเราเป็นคนไทย เช่น เข้างานตอนสิบโมงเป้ะ (ถ้าทำงานสไตล์ญี่ปุ่นคือต้องมาก่อนล่วงหน้าห้าหรือสิบนาที) หรือกินขนมในเวลาทำงาน (บางบริษัทซีเรียสเรื่องนี้มากค่ะ ให้ทานเฉพาะได้เวลาพักเท่านั้น)

เพราะอย่างตัวผู้เขียนเองก็เคยเจอเพื่อนร่วมงานต่างชาติที่ยึดความคิดของตัวเองเป็นหลักโดยไม่ฟังใครเลย บอกให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นปรับตัวเข้าหาเธอเพราะว่าประเทศของเธอนั้นทำอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นก็ต้องทำตามที่เธอต้องการ แต่เธออาจลืมไปว่าบริษัทที่เธอทำงานอยู่นั้นเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่นจ๋ามาก จนสุดท้ายเพื่อนต่างชาติคนนั้นก็โดนเชิญออกจากงานไปค่ะ

นอกจากนี้ การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งและต้องการออกความเห็นเพิ่มเติม ผู้เขียนขอแนะนำให้ดูบรรยากาศโดยรวมก่อนที่จะพูดออกไปนะคะ เพราะวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละบริษัทนั้นไม่เหมือนกัน การออกความเห็นในบริษัทญี่ปุ่นนั้นอาจไม่ได้"อิสระ"เหมือนกับที่ไทย และถึงเเม้ว่าจะออกความเห็นไปก็ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าจะเก็บเอาไปทำจริง โดยเฉพาะเด็กใหม่ที่พึ่งเข้าทำงานที่บริษัทหรือย้ายงานมาหมาดๆต้องระวังเป็นพิเศษ พยายามหงิมๆเงียบๆไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ ออกหน้ามากเกินไปอาจโดนมองว่าอวดรู้และโดนหมันใส้ได้ ทางที่ดีควรรอให้หัวหน้าหรือรุ่นพี่เป็นคนถามเราก่อนว่า มีไอเดียหรือความเห็นอะไรเพิ่มเติมไหม (ปล. อันนี้ก็เเล้วเเต่บริษัทนะคะ บางที่ก็ยอมให้ปล่อยของได้เเบบไม่กั๊กเลย ถ้าชอบแบบนี้ก็ต้องเลือกที่ทำงานนิดนึงค่ะ)

3. ไม่ยิ้มพร่ำเพรื่อ

ถึงแม้ว่าประเทศไทยและคนไทยจะขึ้นชื่อเรื่องมีรอยยิ้มที่สวยและเป็นมิตร แต่การยิ้มบ่อย ยิ้มโดยไม่ถูกกาละเทศะก็อาจทำให้เกิดปัญหาในการทำงานกับคนญี่ปุ่นได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่หัวหน้าตำหนิหรือกำลังดุเรา หากเรายิ้มให้เขาอาจคิดว่าเราไม่สำนึก ไม่เข้าใจ หรือในกรณีที่เราอยากขอโทษเพื่อนร่วมงาน หากเราขอโทษไปพร้อมกับหัวเราะเเหะๆหรือยิ้ม อีกฝ่ายจะคิดว่าเราไม่ได้จริงใจ และไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆได้ค่ะ

อย่างตัวผู้เขียนเองช่วงที่มาทำงานที่ญี่ปุ่นปีแรกๆ ก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาคนญี่ปุ่นเข้าใจความหมายของ"รอยยิ้ม"ที่ผู้เขียนมอบให้แบบผิดบ่อยๆค่ะ เวลาเผลอสบตาใครก็จะยิ้มให้ทุกที(แบบไม่คำนึงถึงสภาวะรอบข้างที่ทุกคนกำลังซีเรียส) จนโดนดุเลยค่ะ จนเข้าใจได้ว่าหากเป็นนคนไทยด้วยกันนั้นก็อาจเข้าใจว่ายิ้มของคนไทยด้วยกันเองนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นยิ้มเขิน ยิ้มทักทาย ยิ้มเเห้ง ยิ้มเป็นมารยาท ยิ้มให้กำลังใจ ฯลฯ แต่ชาวต่างชาตินั้นไม่เข้าใจความหมายเนื่องจากวัฒนธรรมของเขานั้นไม่ได้ใช้รอยยิ้มในการสื่อสารอารมณ์เท่ากับบ้านเรานักค่ะ (ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูด เช่น ไฟท์โตะ สู้ๆนะ หรือเก็บสีหน้าและอารมณ์ไม่ให้อีกฝ่ายอ่านได้อย่างนี้ซะมากกว่า) ดังนั้นควรระวังสีหน้าและการแสดงออกเวลาทำงานด้วยนะคะ

4.ไม่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามมากจนเกินพอดี

ที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีวัฒนธรรมใกล้ชิดตัวเเบบตะวันตกหรือบ้านเราค่ะ ดังนั้นการเเตะเนื้อต้องตัวกันโดยไม่จำเป็นทั้งเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะนอกจากจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดแล้ว ยังอาจถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศได้อีกด้วย (ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในบริษัทญี่ปุ่น) ไม่ว่าจะสนิทกันเเค่ไหนก็ตามก็ต้องระวังนะคะ ถ้าถูกเพื่อนร่วมงานไปฟ้องว่าเราล่วงละเมิดทางเพศเขาล่ะก็มีสิทธิ์โดนไล่ออกจากงานสูงมากค่ะ

นอกจากการกระทำเเล้ว เราก็ควรระวังคำพูดเช่นกันค่ะ อย่างตัวผู้เขียนเองก็เคยโดนเพื่อนร่วมงานพูดล้อเล่นใส่ อีกฝ่ายอาจไม่คิดอะไรมาก แต่ผู้เขียนรู้สึกไม่ชอบและอึดอัดมากค่ะ เพราะเขามาวิจารณ์กระโปรงที่ใส่มาวันนี้ว่าสวยเข้ารูปดีนะ แถมถามว่าวันนี้ไปเดทหรอ แล้วจบด้วยการพูดว่า"ถ้าผมหนีภรรยาออกไปได้ผมก็อยากออกเดทกับคุณสักครั้งนะเนี่ย" ถึงเเม้จะเป็นการล้อเล่น แต่ผู้เขียนก็ไม่เเน่ใจว่าล้อเล่น100% หรือพูดลองเชิงกันเเน่ค่ะ หากผู้อื่นมาได้ยินอาจเข้าใจผิดว่าเรามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับอีกฝ่ายได้ ซึ่งข่าวลือเหล่านี้กระทบกับหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างแน่นอนค่ะ

นอกจากนี้ การดื่มสังสรรค์ในที่ทำงานก็เป็นที่ที่ควรระวังอย่างยิ่ง ไม่ควรนั่งใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามกันมากเกินไป ไม่แตะเนื้อต้องตัวหรือดูเเลใครเป็นพิเศษ (เพราะอาจโดนเข้าใจผิดว่าเราสนใจในตัวอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเชิงชู้สาวหรือประจบสอพลอเจ้านายจนเกินพอดี เพื่อนร่วมงานอาจเอาไปนินทาได้)

5. ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว

ข้อนี้สำคัญมากๆค่ะ วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นนั้นจะเเตกต่างจากไทยเป็นอย่างมากในเรื่องการแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ที่ไทยเราอาจได้มิตรภาพใหม่ๆจากการทำงาน อาจได้ไปเที่ยวและออกทริปกับเพื่อนร่วมงานจนสนิทกันถึงขั้นเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวให้ฟังตั้งเเต่เด็กยันโต เเต่ที่ญี่ปุ่นขอบอกเลยว่า น้อยมากๆค่ะ เพราะเพื่อนร่วมงานนั้นถือว่าไม่ใช่เพื่อนในชีวิตจริง แต่เป็นเพียงคนทำงานร่วมกัน ยิ่งอีกฝ่ายรู้เรื่องของตัวเองมากเท่าไหร่ก็เท่ากับเปิดจุดอ่อนให้อีกฝ่ายรู้มากเท่านั้นค่ะ (สำคัญสำหรับคนที่มีเป้าหมายว่าอยากเลื่อนขั้นเลยนะคะ ระวังโดนหั่นขาเก้าอี้น้า) คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เล่าเรื่องตัวเองให้คนที่ไม่สนิทฟัง และจะรู้สึกไม่ค่อยชอบเวลาที่มีคนมาถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ดังนั้นรอสนิทไปสักพักก่อนค่อยตะล่อมถามหรือรออีกฝ่ายเล่าให้ฟังเองจะดีกว่า

ในทางกลับกัน หากเราเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองมากเกินไปก็ไม่ดีค่ะ เพราะอีกฝ่ายจะงงว่าทำไมถึงเล่าทั้งๆที่เขาไม่ได้ถาม บางทีเขาอาจจะไม่ได้อยากรู้ก็ได้ อีกทั้งหากเรานำไปเล่าได้ไม่ถูกคน เรื่องของเราอาจกลายเป็นหัวข้อในการนินทาในบริษัท ข่าวลือต่างๆหรือการกระทำของเราก็มีผลต่อการประเมิณผลงานในบริษัทเช่นกัน อย่าลืมว่าในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นนั้น เรื่องส่วนตัวนั้นสามารถกระทบกับงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเล่าเฉพาะเรื่องที่เล่าได้ดีกว่า ไม่ต้องเล่าลึกแบบละเอียดสุดๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาครอบครัวหรือคนรัก แนะนำให้เก็บเอาไว้กับตัวจะดีกว่าค่ะ

หลังจากที่ได้อ่านไปแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวในการทำงานเข้ากับคนญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ควรระวังอีกหลายจุดที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็อย่ากลัวไปค่ะ หากเราเผลอทำผิดหรือเสียมารยาทแล้วขอโทษด้วยความจริงใจล่ะก็ อีกฝ่ายก็ยินดีที่จะให้อภัยและเข้าใจเราอย่างแน่นอนค่ะ

know-before-you-go