รวมคำศัพท์น่ารู้ของญี่ปุ่น ภาคปัจจุบัน
นัตโต (Nattou) 納豆 (なっとう)
ความหมาย = นัตโต คือถั่วเน่า อาหารของญี่ปุ่น
นัตโตหรือถั่วเน่าญี่ปุ่นนี้เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวญี่ปุ่น กินกันทั่วประเทศแต่เป็นที่นิยมตั้งแต่ทางตอนเหนือของคันโตขึ้นไปค่ะ เป็นอาหารซึ่งเกิดจากการนำเอาถั่วไปหมักกับแบคทีเรียดีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Bacillus subtilis ทำให้เกิดลักษณะเม็ดถั่วมีกลิ่นแรง มีเส้นยืดเหนียวๆโดยรอบ เมนูกลิ่นแรงรสอร่อยนี้หากเปรียบเทียบกับอาหารไทยก็คงเหมือนปลาร้าบ้านเรา ที่แม้แต่ชาวไทยเองก็ใช่ว่าทุกคนจะรับประทานได้ ต้องขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลด้วยค่ะ นับว่าเป็นอาหารที่รับประทานยากทั้งสำหรับชาวต่างชาติอย่างเราและชาวญี่ปุ่นเองเลย
โดยทั่วไปแล้วคนญี่ปุ่นมักรับประทานนัตโตกับข้าวสวยร้อนๆพร้อมด้วยโชยุค่ะ หรือนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารอื่นๆเพิ่มเติม เช่นซูชินัตโต ข้าวปั้นนัตโต เป็นต้น แต่สำหรับวิธีรับประทานของมือใหม่นั้นควรทานเคียงกับมัสตาร์ด หัวไชเท้าฝาน และวาซาบิเพื่อลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และการรับรสบางประการที่อาจทำให้รู้สึกว่ารับประทานนัตโตะได้ยาก จึงจะสามารถทำให้รับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โออิชี่ (Oishii) 美味しい (おいしい)
ความหมาย = อร่อย
โออิชี่เป็นคำพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและอุทานหรือบรรยายถึงรสชาติอาหารอร่อย ถ้าพิจารณาจากตัวคันจินั้น โออิชี่จะมาจากการประกอบคำว่า 美 (บิ) ที่แปลว่างดงามสวยงาม และ 味 (อะจิ) ที่แปลว่ารสชาติ พอรวมกันมักจะอ่านได้ว่า บิมิ
ส่วนการออกเสียงว่า โออิชี่ มาจาก 美し (อิชิ) ซึ่งอดีตแปลว่าสวยงาม แต่หลังจากยุคเอโดะเป็นต้นมา คำนี้ถูกใช้ในการชมว่าอาหารอร่อยด้วย (แต่เป็นคำสำหรับผู้หญิงเป็นหลัก) โดยใช้ในการพูดถึงรสชาติอาหารอร่อยที่ตนได้สัมผัสเอง ตามสมัยนิยมจึงได้มีการลากเสียงยาม เติมอิลงท้ายแบบภาษาพูดของผู้หญิงญี่ปุ่น กลายเป็นคำว่า いしい (อิชี่) นำมาเติม お (โอ) ซึ่งปกติใช้วางหน้าคำที่ต้องการยกย่องให้มีความสุภาพหรือเป็นทางการยิ่งขึ้น กลายเป็นคำว่า おいしい (โออิชี่) ที่มีความหมายทางการในการใช้ทั่วไป
แต่ใช่ว่าจะมีแต่คำว่าโออิชี่ที่แปลว่าอาหารรสชาติอร่อยเพียงแค่คำเดียวนะ ยังมีอีกคำที่ออกไปทางภาษาพูดเสียมากกว่าที่มีความหมายตรงกัน คือคำว่า “うまい อุไม” เป็นคำสบายๆที่เป็นทางการน้อยกว่า
ตัวอย่างประโยค = ラーメンが美味しかったです。(ramen ga oishikatta desu) ราเมงอร่อยมากค่ะ
อิคิไก (Ikigai) 生き甲斐 (いきがい)
ความหมาย = อิคิไก คือ หลักในการดำเนินชีวิตแบบหนึ่งของคนญี่ปุ่น
อิคิไกเป็นอีกหนึ่งหลักการในการดำเนินชีวิตรูปแบบหนึ่งของคนญี่ปุ่นค่ะ พื้นฐานมาจากคำว่า 生き (อิคิ) ที่แปลว่าชีวิตหรือการใช้ชีวิต และคำว่า 甲斐 (ไก) ที่แปลว่าเหตุผล เมื่อนำสองคำนี้รวมกันจึงอาจแปลได้ว่า เหตุผลของการใช้ชีวิตหรือเหตุผลของการมีชีวิตนั่นเอง
โดยพื้นฐานความคิดหลักอิคิไกนั้นคือการใช้ชีวิตของตนเองตั้งแต่ลืมตาตื่นมาในตอนเช้าให้มีความสุขในทุกๆวัน ซึ่งเป็นพิจารณาตั้งคำถามแล้วตอบตนเองจาก4องค์ประกอบหลักว่า
1 อะไรคือสิ่งที่คุณทำได้อย่างดี ในขณะเดียวกันก็ทำให้คุณความสุขที่จะทำด้วย?
2 อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการแล้วคุณเองก็มีความสุขที่จะกระทำ?
3 อะไรคือสิ่งที่สร้างประโยชน์(เงิน)ให้กับเรา แล้วโลกก็ยังคงต้องการ?
4 อะไรคือคือสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วก็สร้างรายได้ให้กับเราด้วย?
หากคุณตอบคำถามดังกล่าวแล้วขาดประเด็นใดไป ก็ถือว่าคุณยังปฏิบัติได้ไม่ครบตามหลักแนวคิดของอิคิไกนะ
คำถามจากแนวคิด4องค์ประกอบนี้คนญี่ปุ่นนำไปปรับใช้ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการวางแผนชิวิตและการทำงานซะเยอะ และมักแทรกซึมมาเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นด้วย เช่น ทำอย่างไรให้ทำงานแล้วมีความสุขและบริษัทเองก็ได้รับประโยชน์ด้วย
หากใครได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น รับรองได้ว่าคุณจะพบกับบุคคลไม่น้อยเลยที่รู้จักคำว่าอิคิไก หรือนำหลักอิคิไกมาใช้ในการทำงาน
ฮานามิ (Hanami) 花見 (はなみ)
ความหมาย = ฮานามิ คือ เทศกาลชมดอกไม้และซากุระในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
ฮานามิมาจากคันจิสองคำที่รวมกันคือ 花 (ฮานะ) ที่แปลว่าดอกไม้ และ 見る (มิรุ) ที่แปลว่าดูหรือมอง หากนำสองคำนี้มารวมกันอาจแปลได้ว่าการชมดอกไม้ ไม่ใช่ซากุระอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ในหลายกรณีก็จะหมายถึงซากุระเป็นหลัก
เนื่องจากฮานามิถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงรอยต่อสมัยนาระถึงสมัยเฮอัน (ประมาณตอนปลายศตวรรษที่ 8 ถึงต้นศตวรรษที่ 9) เป็นกิจกรรมของขุนนางเป็นหลัก และด้วยปัจจัยหลากหลายด้านทำให้ดอกซากุระกลายเป็นดอกไม้หลักที่ชมกันในงานฮานามิ เพราะสมัยก่อนนั้นต้นซากุระจะปลูกแค่เพียงในพระราชวังกับบ้านขุนนางเท่านั้น (เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงฐานะตระกูลในสมัยก่อน)
แต่กว่าจะมาเป็นดอกซากุระให้เราชมทั่วเมืองได้แบบทุกวันนี้ ต้องผ่านการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธ์อย่างหนัก (สายพันธ์โซเมอิโยชิโนะที่เราเห็นกันมากที่สุดนั้่น จริงๆเพิ่งเกิดมาไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น) แถมช่วงปลายเอโดะยังมีการเผาทำลายซากุระเพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจขุนนางอีกด้วย ทำให้มีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ซากุระลดจำนวนลงบ้าง
ในปัจจุบัน คุณค่าอีกด้านที่จับต้องได้สำหรับการชมซากุระคือการได้ไปทำกิจกรรมชมดอกไม้กันทั้งครอบครัวหรือคนที่รัก ได้ใช้เวลาดีๆในช่วงเวลาที่ดีใต้ต้นดอกซากุระนั่นเอง เทศกาลการชมดอกซากุระจึงมีความหมายมากกว่าแค่การไปชื่นชมดอกไม้ที่ผลิบาน
โอโมะเตะนาชิ (Omotenashi) おもてなし
ความหมาย = โอโมะเตะนาชิ คือ วิถีการบริการด้วยใจสไตล์ญี่ปุ่น
สำหรับคนที่ทำงานด้านต้อนรับ ทั้งงานบริการ งานร้านอาหาร หรือโรงแรม อาจจะคุ้นหูกับคำนี้อยู่บ้าง เพราะโอโมเตะนาชิคือหลักการบริการด้วยใจแบบญี่ปุ่นที่เป็นหัวใจหลักในการทำงานด้านบริการเลย ซึ่งเป็นมารยาททางธุรกิจบริการที่ควรทราบอย่างยิ่ง โดยมีหัวใจหลักในการทำงานง่ายๆคือการต้อนรับและดูแลลูกค้าเสมือนเขาเป็นญาติมิตรหรือคนในครอบครัวของเราอย่างจริงใจ ซึ่งแตกต่างการบริการลูกค้าทั่วไปที่มองว่าลูกค้าคือพระเจ้า (ไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง)
เราต้องการได้บริการแบบใดกับตนเอง ก็ให้เสนอการบริการแบบเดียวกันให้กับลูกค้า ใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยที่อาจสร้างปัญหาขณะที่ลูกค้าใช้บริการได้ แล้วอำนวยความสะดวกกับลูกค้าแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ นำมาสู่การกลับใช้บริการครั้งต่อไป
มังงะ (Manga) 漫画 (まんが)
ความหมาย = มังงะ คือ คำเรียกการ์ตูนแบบญี่ปุ่นแบบที่ต้องใช้การอ่านรับเรื่องราว
มังงะเป็นคำที่ไว้เรียกการ์ตูนแบบญี่ปุ่น ไม่ว่าจะลายเส้นมนหรือคม ทั้งแบบสีสดใสหรือขาวดำ แต่จะมีลักษณะที่ตรงกันคือจะมี การแบ่งช่องตอนของเรื่องราวชัดเจน มีบอลลูนคำพูดที่เป็นเอกลักษณ์งานวาดแบบญี่ปุ่น และที่สำคัญคือต้องเป็นสื่อการ์ตูนเล่มๆ ที่เราต้องอ่านเองเท่านั้นนะจึงจะนับว่าเป็นมังงะ การ์ตูนทีวีไม่นับ
หลายคนอาจมองว่ามังงะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่จริงๆแล้วมังงะมีหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แนวตลก ความรัก กีฬา วัฒนธรรม เสียดสีการเมือง ฯลฯ ลบความคิดที่ว่ามังงะเหมาะสมกับเด็กเท่านั้นไปได้เลย
นอกจากมังงะจะส่งผลต่อความชอบในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว ยังมีผลต่ออุตสากรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น อุตสาหกรรมผลิตสื่อญี่ปุ่น (ทั้งการ์ตูนและอื่นๆ) รวมถึงระบบการศึกษาของญี่ปุ่นอีกด้วย โดยสถานศึกษาหลายแห่งของญี่ปุ่นก็มีคณะและสาขาเกี่ยวกับการวาดมังงะเกิดขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งอาชีพเกี่ยวกับมังงะเองก็มีอัตราการแข่งขันพอสมควรทั้งจากนักเรียนญี่ปุ่นเองรวมถึงนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ
ด้วยหลากหลายเหตุผลที่กล่าวมานี้เอง มังงะถึงเป็นที่นิยมตั้งแต่ชาวญี่ปุ่นเองและชาวต่างชาติ ตัวอย่างมังงะยอดนิยมอย่างเช่น ONE PIECE หรือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน การ์ตูนดังทั้งสองเรื่องยาวที่ไม่รู้จะจบที่เมื่อไหร่เป็นต้น
ซึนเดเระ (Tsundere) ツンデレ (つんでれ)
ความหมาย = ซึนเดเระ คือ คำที่ไว้เรียกคนที่มีลักษณะปากไม่ตรงกับใจ หรือบุคลิกภายในและภายนอกขัดแย้งกัน
ถ้าใครชอบการ์ตูน ต้องรู้ความหมายของคำนี้แน่ๆ
ใครเคยโดนหาว่าเป็นคนซึนหรือซึนเดเระบ้างคะ? สำหรับคำว่าซึนเดเระนี้มาจากการรวมคำว่า ツンツン (ซึนซึน) ที่แปลว่าร้ายกาจ โมโหร้าย และ デレデレ (เดเระเดเระ) ที่แปลว่าอ่อนหวานหรืออ่อนไหว นำมารวมกันกล่าวถึงบุคลิกของคนที่ปากไม่ตรงกับใจ หรือบุคลิกที่แสดงออกมาแข็งกร้าวไม่เป็นมิตรนักแต่แท้จริงแล้วจิตใจภายในปรารถนาดีแถมอ่อนไหวด้วยซ้ำ
เป็นคำที่เกิดจากความนิยมในตัวละครของมังงะและอนิเมะ ที่มักพบตัวละครที่มีบุคลิกซึนเดเระได้มากมาย แต่เป็นอีกหนึ่งคำที่ฮิตขึ้นมาจากการ์ตูนแต่บางทีก็ถูกนำกลับมาใช้กับบุคคลทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งการนำคำนี้ไปใช้นั้นต้องระมัดระวังเพราะเป็นคำที่ไปได้ทั้งสองทาง อาจจะดูเหมือนเอ็นดูผู้ที่ถูกเรียก หรืออาจกลายเป็นคำแง่ลบ กล่าวหาผู้ถูกเรียกก็ได้ และที่สำคัญคือ เนื่องจากเป็นคำใหม่ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองบางคนก็ยังไม่มั่นใจว่าแปลว่าอะไร
โนมิไค (Nomikai) 飲み会 (のみかい)
ความหมาย = โนมิไค คือ คำเรียกการไปดื่มกัน และงานเลี้ยงพบปะกันแบบญี่ปุ่น
โนมิไคหรืองานเลี้ยงพบปะกันแบบญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นที่บางทีชาวต่างชาติอาจเกิดความสับสนกับงานเลี้ยงฉลองทั่วไปค่ะ
โนมิไคเป็นงานเลี้ยงที่ไม่ใช่งานเลี้ยงครั้งใหญ่ในวันสำคัญ แต่เป็นงานเลี้ยงกินดื่มที่มีจุดประสงค์ในการพบปะ สังสรรค์กับเพื่อนทั่วไป คุยกันแลกเปลี่ยนความคิด ละลายพฤติกรรม รวมถึงคุยเรื่องงานก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการนัดพบปะกันของผู้นัด สามารถนัดได้ในวันธรรมดาทั่วไปหลังเลิกงาน
ถึงโนมิไคจะดูไม่เป็นทางการมาก แต่ถ้าเมมเบอร์เป็นผู้ใหญ่ หรือจัดโดยบริษัท ก็จะมีมารยาทในการกินดื่มเยอะเหมือนกันนะ
อย่างเช่น มารยาทพื้นฐานการทักทายกันหรือการที่ผู้นัดต้องมาครบกันก่อนถึงเริ่มงาน หากเป็นโนมิไคที่จัดกับเพื่อนกันเองคงไม่ซีเรียส แต่สำหรับโนมิไคที่จัดในนามของบริษัท หรือมีหัวหน้าอยู่ด้วย ผู้น้อยหรือลูกน้องก็อาจจะต้องเอนเตอร์เทนต์แล้วคอยบริการผู้ใหญ่ของงานทั้งหมด (ทั้งนี้แล้วแต่ความเคร่งของบริษัทด้วย บริษัทที่จะไม่คุยเรื่องงานเลยในโนมิไคก็มี) หรือหากมีธุระสำคัญที่ต้องคุยกันก็ต้องคุยหลังจากอาหารหมดไปแล้วซัก 2ใน3 ส่วนเป็นต้น
ข้อควรระวังหากชวนกันไปกินดื่ม หากมีเอี่ยวกับเรื่องงานก็ไม่ควรดื่มหนักจนไม่ได้สติ หรือแพ้อาหารเครื่องดื่มแบบใดก็ควรบอกกล่าวกันก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตนะคะ
คัมไป (Kanpai) 乾杯 (かんぱい)
ความหมาย = คัมไป คือ คำพูดขณะชนแก้วเครื่องดื่มเพื่อฉลองในงานเลี้ยงฉลอง
คัมไป! แปลตรงๆก็แปลว่า แก้วแห้ง หมายถึงการดื่มหมดแก้วนั่นเอง เป็นคำที่พูดกันในงานเลี้ยงแล้วต้องยกแก้วเครื่องดื่มเพื่อชนแก้วร่วมกับทุกคนเพื่อฉลองบางอย่างนั่นเอว เป็นหนึ่งในคำพูดที่ทำให้งานเลี้ยงสนุกขึ้นแล้วยังแฝงนัยยะให้เราดื่มหมดแก้วอีกต่างหาก (แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับดื่มหมดแก้วนะ) ถ้าเปรียบเทียบกับคำพูดของคนไทยคงเหมือนเราตะโกนก่อนชนแก้วว่า “อ้าว...พวกเราหมดแก้ว” หรือ “อ้าว...ชนแก้ว” ประมาณนี้เป็นต้น
เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หากไปงานเลี้ยงหรือโนมิไคในญี่ปุ่นจะต้องพบเจอในช่วงต้นของงานแน่นอน อย่าเพิ่งดื่มก่อนที่จะคัมไปครั้งแรกนะ เพราะถือว่าเสียมารยาทพอสมควร (แต่ก็แล้วแต่ความเคร่งของงานด้วย)
禁煙 (きんえん) อ่านว่า คินเอน (Kinen)
ความหมาย = ห้ามสูบบุหรี่
สุดท้ายนี้สำหรับคำว่า 禁煙 (คินเอน) แปลว่าห้ามสูบบุหรี่ คำนี้มักถูกติดเป็นป้ายเตือนในจุดสาธารณะหรือบริเวณสถานที่คนพลุกพล่านเพื่อเป็นป้ายเตือนให้แก่นักท่องเที่ยวและชาวญี่ปุ่นเองถึงบริเวณที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยที่ญี่ปุ่นเองมีห้องสำหรับสูบบุหรี่โดยเฉพาะที่เรียกว่า 喫煙室 (คิทซึเอนชิทซึ) อีกด้วย เพราะงั้นใครสูบบุหรี่ หากไปที่ญี่ปุ่นแล้วโปรดจำสองคำนี้ให้ขึ้นใจ เพราะที่ญี่ปุ่นไม่สามารถสูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้แล้ว ปัจจุบันมีกฏหมายที่ค่อนข้างเด็ดขาดและรุนแรงพอสมควรจึงควรจำคำนี้ไว้ขณะไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น
ตัวอย่างประโยค : 飲食店は全て禁煙です。(Inshokuten wa subete kin-en desu) พื้นที่ของร้านอาหารทั้งหมดเป็นเขตปลอดบุหรี่
ผู้เขียน: Moonlight Yoku
นักเขียนสกิลเป็ดเอกบริหารธุรกิจญี่ปุ่น ที่ตอนเด็กมีความฝันอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นจนกระทั่งปัจจุบันเรียนเอกนี้เต็มตัว
ชอบอาหารญี่ปุ่นมากๆ ฉะนั้นจะสนใจที่กินที่เที่ยวเป็นพิเศษ Hokkaido Lover❤️