allabout japan
allabout japan

สตาร์บัคส์ในญี่ปุ่นเป็นแค่กาแฟธรรมดาๆเจ้านึง

สตาร์บัคส์ในญี่ปุ่นเป็นแค่กาแฟธรรมดาๆเจ้านึง

Starbucks ในไทยเป็นร้านกาแฟหรูที่คนใช้แรงงานยากจะเข้าถึง ด้วยราคาที่แพงจนค่าแรงขั้นต่ำไม่มีทางซื้อได้ เป็นแบรนด์ที่เวลาเห็นใครเดินถือแก้วก็จะดูแพงเพราะราคาที่ต้องจ่ายกว่าจะได้แก้วนี้มานั้นแพงน่าดู แต่ในญี่ปุ่นนั้นต่างออกไป การดื่ม Starbucks ในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องปรกติ เหมือนถือกาแฟรถเข็นในไทย ทำไมกาแฟ Starbucks ในญี่ปุ่นถึงดูไม่ไฮโซเท่าไทย?

By แม่บ้านเมกุโระ
ราคามาตรฐาน

ราคามาตรฐาน

ก่อนอื่นเลย กาแฟ Starbucks ราคาประมาณ 500 เยนต่อแก้ว (150 บาท) ไม่ได้แพงกว่าไทยเลยนะ

ส่วนราคากาแฟตามคาเฟ่หรือร้านอาหารทั่วไปในโตเกียวนั้นอยู่ที่เท่าไหร่เหรอ ก็ตกอยู่ที่ประมาณ 500 เยนต่อแก้วเช่นกัน มีถูกลงนิดแพงขึ้นหน่อยแล้วแต่ร้าน สาเหตุที่กาแฟในโตเกียวแพงก็เพราะการเช่าพื้นที่ทำร้านอาหารมีราคาสูงมาก ทำให้ราคาเครื่องดื่มบวกราคาที่รวมค่าโต๊ะ หรือค่าเช่าพื้นที่ในการทำร้านอาหาร (บางร้านสั่งกาแฟแบบกลับบ้านจะราคาถูกกว่า) ซึ่งเทียบกับกาแฟ Starbucks แล้ว ร้านกาแฟทั่วไปก็จะมีราคาพอ ๆ กันอยู่ดี หรือถ้าสั่งเครื่องดื่มพิเศษหรือเครื่องดื่มปั่น Frappuchino ราคาก็จะบวกอีกซัก 100 – 200 เยนเท่านั้น

ลาเต้เล็กของ Starbucks ที่เราจะยกขึ้นมาบ่อยๆในบทความนี้ อยู่ที่ 330 เยน (ประมาณ 100บาท) ส่วนของไทยอยู่ที่ 110 บาท ไม่ต่างกันมาก

มีสาขามากมาย

มีสาขามากมาย

เพราะราคาที่ไล่เลี่ยกับร้านกาแฟทั่วไป หลายคนเลือกที่จะดื่มกาแฟ Starbucks เพราะมีสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ไม่ต้องคอยเลือกเมนูในร้านกาแฟที่ไม่รู้จักให้วุ่นวาย เดินเข้าร้านประจำ สั่งกาแฟสูตรเดิม ได้กาแฟที่มีมาตรฐาน มีรสชาติเหมือนกันทุกแห่ง และมั่นใจได้ว่าที่ร้านมีห้องน้ำให้เข้าแน่นอน

ง่าย สะดวก และราคาเดิมทุกที่ ทำให้แฟรนไชส์ Starbucks เป็นที่นิยมเหมือนกาแฟโกปี้ถุง ไม่ว่าคนกลุ่มใด ทำงานชนชั้นใดก็ซื้อดื่มได้ (500 เยนนั้นเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น) นอกจากคุณจะจนสุดๆ เป็นนักเรียนทุนต่างชาติ หรือต้องการประหยัด เราขอแนะนำกาแฟ 7i หรือ 7-11 ทั้งอร่อยและถูกกว่าเยอะ

เพราะค่าครองชีพต่างกัน ความรู้สึกถูกแพงจึงต่างกัน

เพราะค่าครองชีพต่างกัน ความรู้สึกถูกแพงจึงต่างกัน

นี่คงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กาแฟ Starbucks ในญี่ปุ่นดูไม่ไฮโซเท่าไทย นั่นเพราะหากเทียบราคากาแฟหนึ่งแก้วต่อค่าแรงเฉลี่ย คนญี่ปุ่นสามารถซื้อกาแฟของ Starbucks ดื่มได้เมื่อทำงานเพียง 27 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ไทยต้องทำงานถึง 162 นาทีถึงจะได้มาถือสักแก้ว ด้วยเหตุนี้เองคนไทยจึงมองแก้วดาวเขียวนี้เป็นของมีราคามากกว่าคนญี่ปุ่น

ถ้าใช้ Latte Index จากรายงานของ ValuePenguin โดยการเทียบราคาลาเต้เล็กต่อแก้ว โดยการเปรียบเทียบกับค่าครองชีพของคนในแต่ละประเทศเข้าไป สรุปออกมาว่าลาเต้สตาร์บัคส์ของไทยนั้น "รู้สึก" แพงมากๆ เทียบได้กับคนอเมริกาจ่ายเงินซื้อกาแฟราคาแก้วละ 8.04 ดอลล่าร์ (266 บาท) ในขณะที่การซื้อลาเต้ญี่ปุ่นนั้น เทียบได้กับคนอเมริกาจ่ายเงินซื้อแก้วละ 3.56 ดอลล่าร์ (118 บาท)

ส่วนในอเมริกาเองนั้นอยู่ที่ 2.75 ดอลล่าร์ (เท่ากับราคาลาเต้แก้วเล็กของสตาร์บักส์ที่อเมริกาจริงๆ) เพราะงานวิจัยนี้ใช้ตัวเลขของอเมริกาเป็นฐาน

สรุปง่ายๆ
ไทย ลาเต้เล็กราคาแก้วละ 110 บาท แต่เทียบกับเงินเดือนและค่าครองชีพอื่นๆแล้ว รู้สึกแพงเหมือน 8.04 ดอลล่าร์
ญี่ปุ่น ลาเต้เล็กแก้วละ 330เยน (ประมาณ100บาท) แต่เทียบเงินเดือนและค่าครองชีพจริงๆแล้ว รู้สึกเหมือนราคาประมาณ 3.56 ดอลล่าร์
USA ลาเต้เล็กแก้วละ 2.75 ดอลลาร์ (ประมาณ 90บาท) ซื้อทีก็รู้สึกเหมือน 2.75 ดอลล่าร์ (เพราะงานวิจัยนี้มองจากมุมมองคนอเมริกา)

การเทียบแบบนี้เรียกว่า ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับสินค้าอย่างกาแฟ Starbucks เท่านั้น แต่รวมถึงสินค้าทุกชนิด ของแบรนด์เนมต่าง ๆ เช่น Nike, Apple, Prada ของที่เหมือนกันทั่วโลกและขายที่ญี่ปุ่นด้วยราคาเกือบเท่ากับไทย แต่คนที่อยู่ไทย รับเงินเดือนไทย และซื้อของชิ้นเดียวกันที่ว่าในไทย จะรู้สึกว่าของนั้นแพงกว่าคนที่อยู่ญี่ปุี่น รับเงินเดือนญี่ปุ่น และซื้อที่ญี่ปุ่น เหตุผลง่ายๆก็เพราะรายได้เฉลี่ยของคนที่ญี่ปุ่นมากกว่าคนไทยหลายเท่านั่นเอง

อ่านบทความเต็ม: www.marketwatch.com (อังกฤษ)

กาแฟ 1 แก้วบางครั้งก็บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด ประเทศญี่ปุ่นกว่าจะพัฒนามาถึงจุดนี้ก็ต้องทุ่มแรงใจแรงกายใช้เวลาชั่วชีวิตคนในการพัฒนา คนญี่ปุ่นหลายคนที่เคยอยู่ประเทศไทยมักจะพูดว่าสมัยก่อนเมื่อสัก 50 ปีที่แล้วญี่ปุ่นก็เหมือนไทย เค้าพัฒนาอย่างไรให้ค่าเงินมีมูลค่ามากกว่า สามารถซื้อของ 1ชิ้นเหมือนๆกันได้ถูกกว่า (และแน่นอนว่าทำให้เวลาหนึ่งชั่วโมงของคนหนึ่งคนมีค่ามากกว่า) ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรคิดและนำไปพัฒนาให้ไทยรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าในเอเชีย หรือได้แต่ฝันไปยาว ๆ 20 ปีแบบไม่ได้ลืมตาตื่น?

แม่บ้านเมกุโระ

แม่บ้านกราฟฟิกไทยส่งออกไปญี่ปุ่น