รวม 5 สิ่งที่คนญี่ปุ่นจริงจังแต่คนไทยมักจะละเลย
ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ไปเที่ยว เดินทางไปเรียน ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น หรือคนญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยว มาทำงานในประเทศไทยระยะยาวหรือระยะสั้นก็ตาม ล้วนต่างต้องเจอปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture Shock) แล้วมักตกเป็นประเด็นพูดคุยเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละ! คือ ข้อแตกต่างระหว่างคนญี่ปุ่นจริงจังแต่คนไทยมักจะละเลย
1. ความสำคัญของเรื่องลิขสิทธิ์: 著作権
เริ่มมาข้อแรกก็ร้อง "อ๋ออ..." กันแล้วใช่ไหมคะ
“ลิขสิทธิ์” หากจะพูดภาษาชาวบ้าน ก็คืออะไรสักอย่างที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ อักษร ดนตรี แผนแปลน สื่อ วรรณกรรม หนังสือ หนัง ละคร ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์หยิบจับได้ พวกนี้ล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ทั้งนั้นค่ะ แปลว่า ห้ามลอก!
สำหรับคนญี่ปุ่นเองเขาจริงจังเรื่องลิขสิทธิ์มาก ๆ เลยค่ะ ห้ามละเมิดเด็ดขาด ต้องซื้อของแท้ เจอของปลอมแจ้งตำรวจได้เลย ห้ามบินไปกับของปลอมนะคะ แล้วด้วยค่าครองชีพของเขาเองเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายทำให้ไม่ได้เดือดร้อนกับการต้องไขว่ขว้าหาซื้อของแบรนด์เนมด้วย ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ในบ้านเมืองเข้าจึงมีน้อย รวมถึงกฏหมายญี่ปุ่นเรื่องลิขสิทธิ์เองก็แรงมากเช่นกันค่ะ
แล้วรัฐบาลเองก็มีบัญญัติกฏหมายลิขสิทธิ์ที่เขียนชัดเจนมากระบุไว้ รวมถึงมีหน่วยงานย่อยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์มากมายอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่นซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทอีกทีหนึ่งใกล้เคียงกับไทยแต่ทำงานชัดเจนกว่าค่ะ
ส่วนในไทยเราขอพูดกันแบบตรง ๆ เลยแล้วกันในบทความนี้ มีทั้งของแท้ ของก็อป ของปลอม ของเกรด A+ งานมิลเลอร์ หลายคำสรรหาจะมาใช้ในโลกออนไลน์ของการขายของแม้แต่คนไทยเองยังโดนหลอกขายแล้วคนต่างชาติต่างภาษาจะเหลือหรอคะ แล้วกฏหมายไทยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์อ่อนมากที่จะจัดการด้วยค่ะ
ปัจจุบันเรายังใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 อยู่เลย มีการปรับปรุงเล็กน้อย ซึ่งอ้างอิงจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามส่วนที่ 5 และหมวด 8 มีโทษปรับหลักแสน จับคุกมากสุด 5 ปี ค่ะ แบ่งโทษการใช้แตกต่างกันไปว่ากันไปตามการดัดแปลงกระทบเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่และการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งในความเป็นจริงจะมีตาสีตาสาที่ไหนมีแรงยื่นเรื่องฟ้องร้องจริงไหมคะ นอกจากกระทบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่แท้จริงหรือศิลปิน
นอกจากนี้ การนำรูปภาพในโซเชียลมีเดียมาลงในโซเชียลของตัวเอง จำเป็นต้องมีการขออนุญาตก่อนทุกครั้ง คนไทยหลายคนอาจจะละเลยแค่เซฟรูปแล้วมาโพสต์ต่อคือจบ แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นไม่ได้ค่ะ! ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือคลิปวิดีโอแบบไหนก็ตาม หากนำมาใช้ต่อล่ะก็จำเป็นขออนุญาตกับผู้ถ่ายรูป หรือเจ้าของสถานที่ก่อนทุกครั้ง
โดยเฉพาะการนำรูปภาพภายในพิพิธภัณฑ์หรือผลงานศิลปะมาใช้ต่อนี่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเลยค่ะ เพราะกฎหมายเขาค่อนข้างแรง และมีการฟ้องร้องแบบจริงจัง จะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้เลยนะ
อ่านบทความเต็ม: www.ipthailand.go.th (ภาษาไทย)
Case Study #กูรูเอโดะ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ กระทบ 3 โลก (นักวาด - ล่ามแปล - สื่อสิ่งพิมพ์)
เขาคือใครกันนะ?
เรากำลังจะพูดถึงนี้เป็นประเด็นเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ช่วงปลายเดือน กันยายน 2021 - ปัจจุบัน
กูรูเอโดะ เป็นนามสมมติที่ชาวทวิตเตอร์ตั้งให้ค่ะในช่วงปลายกันยายน 2021 ที่ผ่านมา เนื่องจากเขานั้นเป็นนักเขียนท่านหนึ่งผู้ที่รอบรู้คอนเทนต์ญี่ปุ่นโบราณจนกระทั่งออกหนังสือจำหน่าย
แต่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าวก็ถูกผู้ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) รายหนึ่งตั้งข้อสงสัยแล้วโควทข้อความในทวิตต่อว่าเขาทำการเทรซ (Trace ภาษาในกลุ่มวาดรูป คือ การวาดทาบรูป) รูปภาพ อาจารย์มัตซึโอะ ฮิโรมิ (Matsuo Hiromi) ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น ในตอนแรกเขาได้ปฏิเสธ แล้วเหล่าผู้ติดตาม (Follower) หลักหลายหมื่นต่างก็ไม่เชื่อ แต่หลังจากนั้นก็ต้องจำนนต่อหลักฐานชาวทวิตที่ทาบด้วยโปรแกรมแหละค่ะ
หลังจากนั้นมาก็ถูกขุดแล้วตั้งข้อสงสัยว่า...แล้วบทความที่เขาเขียนหนังสือทำมือเองนั่นล่ะจะถูกต้องหรือไม่
แน่นอนว่า...ไม่ถูกต้องค่ะ ข้อมูลผิดพลาดใหญ่หลวงเต็มไปหมด เนื่องจากว่าเขาไม่ได้มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นตามที่เขากล่าวอ้างอย่างแท้จริง ว่าเขาผ่าน JLPT ระดับ N3 จุดนี้ก็กระทบไปถึงวงการคอนเทนต์และล่ามแปลพอสมควรเลย เรื่องราวเผ็ดร้อนขึ้นเรื่อย ๆ คนใกล้ชิดเริ่มออกมาเล่าเป็นเงาในออนไลน์
ในระหว่างที่ชาวเน็ตและลูกค้าของเขาที่กำหนังสือที่ซื้อว่าจะเอาอย่างไรต่อดีนั้น...ก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก นอกจากเขาจะหายไปเลยเป็นเดือนแล้ว อาจารย์ สำนักพิมพ์เรด และศิลปินแต่ละท่านที่ญี่ปุ่นก็เริ่มแสดงตัวว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และหาทางติดต่อกับเขาแต่ติดต่อไปไม่ได้
สุดท้ายก็มาผิดหวังกับคำแถลงการณ์ขอโทษอย่างขอไปทีของเขาแบบ Copy Paste เปิดผนึกบนหน้าทวิตเตอร์ส่งเหมือนกันกับทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าคนญี่ปุ่นมองว่าตรงนี้เป็นการไม่ให้เกียรติอย่างมาก แล้วแฟนคลับไทยคนไทยเองก็รับไม่ได้เหมือนกัน
ทางญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจนะคะ ก็ถึงกับทวิตเตอร์แล้วกล่าวว่ากำลังรวบรวมหลักฐานเตรียมฟ้องร้องข้ามประเทศเลยทีเดียวค่ะ...แล้วไม่ใช่รายเดียวซะด้วยสิ เพราะในบริษัทในไทยเองก็ร่อนจดหมายทางการว่านำสินค้าซึ่งเป็นหนังสือของเขาออกจากหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ แล้วก็เตรียมการฟ้องร้องเช่นกัน
ส่วนผู้เสียหายที่ซื้อหนังสือกับเธอ มีเพียงแต่ตัวแทนรับหน้ารวบรวมให้กรอกฟอร์ม แต่ก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าไปมากกว่านั้นค่ะ รวมแล้วสูญเงินไปกว่า 500,000 บาทเลยทีเดียว
ข้อสรุป
เรื่องราวดังกล่าวแม้จะยังไม่จบสิ้นแต่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์คนไทยในอุดมคติของคนญี่ปุ่นบางส่วนในสายงานดังกล่าวไปเหมือนกันค่ะ เราคงไม่ยินดีนักหากใครตราหน้าว่าเราขี้ก๊อปใช่ไหมคะ?
สำหรับความเสียหายต่อคนไทยด้วยกันเองนอกจากยอดเงินดังกล่าวแล้ว นักเรียนนักศึกษาน้อยใหญ่ก็มักจะนำหนังสือของเขาไปอ้างอิงเป็นรายงานและวิทยานิพนธ์จบการศึกษาทั้งนั้นเลยค่ะ เรียกได้ว่ามีผลต่ออนาคตเพราะเขาเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นหลัก ในส่วนปกเจ้าปัญหาที่เป็นปกนิยายก็ทำให้แฟน ๆ ช้ำใจค่ะ
2. สิทธิส่วนบุคคล: プライバシー権
พอถึงข้อนี้เราอาจจะมองในรูปธรรมยากสักนิดนึง
สิทธิส่วนบุคคล คือ สิทธิอันชอบธรรม อิสระ ในการกระทำการใด ๆ ต่อข้อมูลส่วนตัว ต่อชีวิตความเป็นอยู่ ต่อการสื่อสาร และการอยู่อาศัยในเคหะสถาณ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นของตนเอง ส่วนหนึ่งเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและอีกส่วนคืออิสระและการเลือกใช้ชีวิตของเราด้วย เป็นการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
เช่น เราไม่ให้ใครดูข้อมูลรหัส 13 ตัวบัตรประชาชนของเรา ไม่ให้ใครถ่ายรูปหน้าเรา ถ่ายรูปแค่เพียงสัดส่วนเราส่วนใดส่วนนึง เป็นต้น
ดูผิวเผินข้อนี้เองก็คล้ายกับกฏหมายที่ญี่ปุ่นเหมือนกันนะคะ แต่ความเข้มข้นในการใช้งานของเราต่างกันค่ะ ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง
อ้างอิงจาก ในพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล ฉบับปี 2562 นี้ ของไทยเองต้องมีการขออนุญาตก่อนเพื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเสียก่อนถึงนำข้อมูลมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นกลับมีการละเมิดพรบ.นี้มากมายในสังคม รวมถึงการสวมสิทธิ เนื่องจากคนไทยขาดความรู้กฏหมายข้อนี้ค่ะ
วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับสิทธิส่วนบุคคลของเขามีเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของตนเองและอีกฝ่ายด้วยค่ะ เขาใส่ใจฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นคนอื่นด้วย ตรงนี้คือจุดที่แตกต่างกัน ทำให้เขาดูจะตกใจไม่น้อยสำหรับพฤติกรรมชาวต่างชาติแบบเราเมื่อหันกล้องไปทางเขา
สำหรับที่คนญี่ปุ่นเองหรือ Culture Shock ของคนญี่ปุ่นมาเที่ยวกับคนไทยที่ไทยก็คือ การที่ชาวต่างชาติแบบเรามักจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปไปทั่ว ทั้งถ่ายรูปเขา (คนญี่ปุ่น) ถ่ายรูปเด็ก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของโดยไม่ขออนุญาตซึ่งตรงนี้ผิดมารยาทญี่ปุ่นนะคะ
2.1 หากอยากถ่ายรูป ควรทำอย่างไร
** ง่าย ๆ เลยค่ะ คือเราต้องขออนุญาตชาวญี่ปุ่นก่อนเสมอ
เช่น คำว่า 写真を撮ってもいいですか? (Shashin wo tottemo ii desu ka?) ที่แปลว่าขอถ่ายรูปได้ไหมคะ / ครับนั่นเอง
สำหรับใครที่พอมีความรู้ภาษาญี่ปุ่น หากจะถ่ายรูปร่วมกับเขาด้วย ควรใช้เป็นประโยครูปให้เขาปฏิเสธได้ด้วยนะคะ ไม่ควรใช้ประโยครูปชักชวน เช่น
~ませんか? (~Masenka?) → 一緒に写真を撮りませんか?
(Isshoni Shashin wo torimasenka?) แปลว่าถ่ายรูปด้วยกันไหมคะ / ครับ
~ましょうか? (~Mashouka?) ⓧ ไม่ค่อยสุภาพกับคนแปลกหน้า จึงไม่ควรใช้
ข้อสำคัญคือ แม้เราจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายวิวก็ตาม ต้องระวังไม่ให้โดนหน้าหรือโดนตาเขานะคะ แล้วถ้าอัพรูปภาพลงโซเชียลมีเดียต้องเบลอหน้าบุคคลที่ติดรูปมาด้วย หรือจะเป็นระหว่าง Live สดก็เช่นกันค่ะ
เหตุผล:ญี่ปุ่นจริงจังเรื่องนี้มากจริงค่ะ เพราะที่ประเทศนี้มีคดีสตอร์คเกอร์ (ストーカー) หรือพวกโรคจิตเยอะมากค่ะ แล้วด้วยนิสัยชนชาติเขาต้องการความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก ขี้ระแวง จึงจริงจังเรื่องนี้มาก ///เราจะไปเห็นใครหล่อใครสวยแล้วแอบถ่ายมาไม่ได้นะคะ ติดคุกค่ะ บางเคสอาจโดนโวยวายแจ้งตำรวจก็มี
ข้อระวังที่สำคัญอีกอย่างก็คือ อย่าถือกล้องหน้าแม่และเด็ก รวมถึงไปถ่ายรูปเขาด้วย
เหตุผล:อันนี้คิดว่าหลายประเทศทางตะวันตกก็มีกฎหมายเรื่องนี้เหมือนกัน ญี่ปุ่นก็เช่นกันค่ะ เขากลัวเรื่องการลักพาตัวเด็ก โจร แล้วก็ความเป็นส่วนตัวของเด็ก ห้ามถ่ายเด็ดขาด ขนาดแม่ของเด็กจะเห็นได้น้อยมากที่จะอวดลูกลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมไทยที่ชอบอวดสิ่งที่มีกัน ดังนั้น ใครเห็นเด็กน่ารัก ๆ แล้วยกกล้องขึ้นมานี่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ค่ะ
จากประสบการณ์ Moonlight Yoku เอง ก็เคยจะถ่ายรูปอาหารแต่ไปติดโดนตัวคนญี่ปุ่นเขาด้วยค่ะ เขาดูตกใจมากเลย ต้องขอโทษขอโพยกันใหญ่เลย
อ่านบทความเต็ม: www.oic.go.th (ภาษาไทย)