แบบนี้ก็มีด้วย! ชื่อประเภทชาย-หญิงแบบญี่ปุ่น
วิธีจำแนกประเภทและการเรียกผู้ชายและผู้หญิงแบบคนญี่ปุ่นนิยมพูดกันต่อไปนี้บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างตามโลกโซเชียลหรืออนิเมะ มังงะต่างๆ แต่คาดว่าอีกหลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินมาก่อน วิธีเรียกจะแปลกอย่างไร ลองไปติดตามกันดีกว่า!
By hikawasaการจำแนกประเภทของคนญี่ปุ่นคืออะไรกันนะ
ในหมู่วัยรุ่นของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีเทรนด์แปลกๆ คือการเรียกผู้ชายและผู้หญิงประเภทต่างๆ ตามบุคลิกภาพหรือภาพลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันคำเหล่านั้นเป็นคำเรียกพิเศษหลายแบบขึ้นเรื่อยๆ เลยทีเดียว โดยแต่ละประเภทเรียกได้ว่าสร้างสรรค์สุดๆ!
มาดูกันว่ามีคำเรียกแบบไหนกันบ้าง โดยเริ่มจากฝั่งผู้ชายก่อนกันกว่า โดยคำว่าผู้ชายภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "男子" หรือ Danshi นั่นเองค่ะ
1. ผู้ชายกินเนื้อ (Nikushokukei Danshi)
หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้มาก่อน ผู้ชายกินเนื้อนั้นเป็นประเภทที่ค่อนข้างได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น เพราะคำว่า "กินเนื้อ" เป็นลักษณะของผู้ชายที่กล้าเข้าไปจีบผู้หญิงก่อน เป็นผู้ชายที่สมชายชาตรี มาดแมนๆ มีความเป็นผู้นำ มีความมั่นใจในตัวเองสูง และมีนิสัยชอบเอาชนะ บางทีก็แสดงออกเหมือนกระหายความรักอย่างมาก
2. ผู้ชายกินพืช (Soushokukei Danshi)
เมื่อมีผู้ชายกินเนื้อแล้ว เราก็ต้องมีประเภทตรงข้ามใช่ไหมคะ สำหรับผู้ชายกินพืชนั้นเหมาะกับสาวๆ ที่เป็นสายรุกอย่างมากเลยล่ะ เพราะนี่เป็นลักษณะของผู้ชายที่มีความสุภาพ เรียบร้อย ขี้อาย ไม่ค่อยแสดงออกเรื่องความรัก ดูไม่โหยหากับการต้องมีแฟน ชีวิตนี้สามารถอยู่คนเดียว ผู้ชายประเภทนี้จึงเป็นประเภทที่จะไม่เข้าไปจีบสาวก่อน และไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเองเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ มักเป็นบุคคลที่มีงานอดิเรกและโลกส่วนตัวสูงมาก
3. ผู้ชายกะหล่ำปลีม้วน (Rorukyabetsu-kei Danshi)
สำหรับเทรนด์ที่มาแรงมากที่สุดในช่วงนี้คือผู้ชายประเภทนี้เลยค่ะ คำว่า "กะหล่ำปลีม้วน" นั้นเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งมีมาไม่นาน จุดเด่นของผู้ชายประเภทนี้คือภายนอกดูสุภาพ อ่อนโยน ไร้เดียงสาเหมือนผู้ชายกินพืช ชอบการที่ให้สาวๆ เข้าหาก่อน แต่หารู้ไม่ว่าพอได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงแล้วสาวๆ จะสัมผัสได้ถึงการมีสัญชาตญาณเหมือนผู้ชายกินเนื้อที่ดูดิบๆ มีเสน่ห์น่าหลงไหลราวกับเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยล่ะ
4. ผู้ชายเบคอนพันหน่อไม้ฝรั่ง (Asuparabekon Danshi)
หลายอาจจะยังไม่คุ้นกับคำศัพท์นี้เท่าไหร่นัก และได้ยินมาว่าสาวๆ หลายคนไม่ชอบผู้ชายประเภทนี้มากที่สุดเลยล่ะ เนื่องจากผู้ชายประเภทนี้มีลักษณะภายนอกดูห้าวหาญสมชายชาตรี สามารถพึ่งพาได้เหมือนผู้ชายกินเนื้อ แต่เมื่อได้รู้จักตัวตนที่เป็นเนื้อแท้ของเขาแล้วจะพบว่าเป็นคนสุภาพอ่อนหวาน จิตใจอ่อนโยนเหมือนผู้ชายกินพืช ไปจนถึงผู้ชายใจเสาะก็มี ซึ่งผู้หญิงบางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบเพราะคิดว่าน่ารำคาญก็เป็นได้
ทางฝั่งผู้หญิงก็มีคำเรียกแบบพิเศษไม่แพ้ผู้ชายเช่นกัน
หลังจากที่เราได้เรียนรู้การจำแนกประเภทของฝั่งผู้ชายแล้ว เราไปต่อกันที่ฝั่งผู้หญิงเลยดีกว่าค่ะ สำหรับภาษาญี่ปุ่นคำว่าผู้หญิงนั้นเรียกว่า "女子" หรือ Joshi
1. ผู้หญิงกินเนื้อ (Nikushokukei Joshi)
ผู้หญฺงกินเนื้อนั้นเรียกได้ว่าหนุ่มๆ หลายคนอาจรู้สึกหวาดกลัวก็เป็นได้ เนื่องจากเป็นลักษณะของผู้หญิงที่แสดงออกด้านความรักอย่างตรงไปตรงมา เป็นฝ่ายกล้ารุกเข้าหาผู้ชายก่อน จีบก่อน แสดงออกว่ามีใจก่อน ชวนออกเดทก่อน สารภาพรักก่อน เหมือนการกระทำของสิงโตที่ออกไล่ล่าเหยื่อเสียเอง
2. ผู้หญิงกินพืช (Soushokukei Joshi)
ว่ากันว่าสาวๆ ญี่ปุ่นส่วนใหญ่โดยเฉพาะสาวๆ ที่มีความเป็นกุลสตรีสูงมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ สำหรับผู้หญิงกินพืชนั้นมีลักษณะตรงกันข้ามกับผู้หญิงกินเนื้ออย่างสิ้นเชิง คือจะไม่เข้าหาผู้ชายก่อน แต่จะรอให้ทางผู้ชายเป็นฝ่ายไล่ตามและเข้ามาหา มาจีบก่อน นิสัยจะออกแนวขี้อายและอ่อนหวาน ไม่ค่อยกล้าแสดงออกเช่นเดียวกับผู้ชายกินพืช
3. ฟุโจชิ (Fujoshi)
สาวๆ คนไหนที่เป็นแฟนอนิเมะหรือการ์ตูนมังงะมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะคำว่าฟุโจชินั้นเป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงที่ชื่นชอบและเพ้อฝันอยู่ในจินตนาการของโลกการ์ตูนและนิยายประเภทที่มีเนื้อหาแสดงถึงชายรักชาย หรือบอยเลิฟ (Boys' Love) ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกคำนี้ว่ายาโอย (Yaoi)
4. ยูริโจชิ (Yurijoshi)
ผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า "ยูริโจชิ" นั้นจะตรงกันข้ามกับฟุโจชิ เนื่องจากเป็นผู้หญิงที่ชอบการ์ตูนและนิยายที่มีเนื้อหาแสดงความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง (Yuri) โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องเชิงชู้สาว เพราะสามารถเรียกได้ทั้งลักษณะของมิตรภาพที่ผูกพันกัน และความรักโรแมนติกระหว่างผู้หญิงด้วยกัน
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย