allabout japan
allabout japan

การปฏิบัติให้ถูกประเพณีเมื่อไปวัดหรือศาลเจ้า

การปฏิบัติให้ถูกประเพณีเมื่อไปวัดหรือศาลเจ้า

วัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยว แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางศาสนาและวัฒนธรรมเก่าแก่ มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นการเข้าไปเยี่ยมชมวัดหรือศาลเจ้าจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามให้ถูกต้อง

By Japan Travel Editor
รู้จักความแตกต่างของวัดและศาลเจ้า

https://pixta.jp/

รู้จักความแตกต่างของวัดและศาลเจ้า

ธรรมเนียมปฏิบัติและขั้นตอนการไปไหว้พระและศาลเจ้าในญี่ปุ่นก็แตกต่างกันบ้างเนื่องจากวัดกับศาลเจ้านั้นก็มีความแตกต่างกัน ลองมาดูกันว่าทั้งสองแห่งต่างกันอย่างไร

1. คำลงท้ายชื่อ
- วัดลงท้ายด้วย ji หรือ tera หรือ dera
- ศาลเจ้าลงท้ายด้วย jingu หรือ jinja หรือ taisha

2. ทางเข้า
- หน้าศาลเจ้าเป็นเสาโทริอิ เมื่อเข้ามาก็จะเจอบ่อน้ำสำหรับล้างมือหรือบ้วนปากก่อนเข้าไปภายในศาลเจ้าเพื่อชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์
- หน้าวัดเป็นซุ้มประตู เมื่อเข้ามาจะเจอกระถางธูปขนาดใหญ่ที่ควันธูปจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น

3. สิ่งสักการะ
- สิ่งสักการะบูชาของวัดจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือเจ้าแม่กวนอิม
- สิ่งสักการะบูชาของศาลเจ้าคือเทพเจ้าต่าง ๆ ที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละศาลเจ้า

พอจะรู้ลักษณะของวัดและศาลเจ้ากันแล้ว ต่อไปมาดูกันว่าเราควรปฏิบัติตามธรรมเนียมของแต่ละที่อย่างไร

การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในวัด

https://pixta.jp/

การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในวัด

การล้างมือก่อนเข้าวัด เพื่อเป็นการชำระล้างตามธรรมเนียมญี่ปุ่น
- เมื่อถึงบริเวณหน้าซุ้มประตูทางเข้าให้โค้งคำนับเป็นการทำความเคารพก่อนเข้าไป
- เมื่อเจอบ่อน้ำตรงทางเข้าก็ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาด้วยมือซ้ายล้างมือขวา และใช้กระบวยตักน้ำด้วยมือขวาล้างมือซ้าย
- น้ำที่เหลือเทรดใส่มือแล้วล้างปากโดยไม่ให้ปากสัมผัสกับกระบวย
- ถือกระบวยตั้งขึ้นเพื่อให้น้ำที่ยังเหลืออยู่ไหลลงมาล้างด้ามจับ

การจุดธูปไหว้พระ และการไหว้พระขอพรในวัด

https://pixta.jp/

การจุดธูปไหว้พระ และการไหว้พระขอพรในวัด

- เดินไปตรงกระถางธูป จุดธูปและเทียนไหว้พระแล้วปักลงไป
- โบกควันจากกระถางธูปเข้าหาตัวเอง เพื่อเป็นสิริมงคล เสริมโชคลาภในด้านต่างๆ
- ยืนสงบนิ่ง โยนเหรียญ 5 เยนหรือ 100 เยนลงกล่องบริจาคหรือเรียกกันว่ากล่องไม้ไซเซ็นบาโกะ จากนั้นยืนโค้งคำนับหนึ่งครั้ง
- กรณีถ้ามีกระดิ่งให้สั่นกระดิ่ง และพนมมือขึ้นเพื่ออธิษฐานขอพร (ไม่จำเป็นต้องปรบมือ)
- เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วให้โค้งคำนับอีกรอบ

การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในศาลเจ้า

https://pixta.jp/

การปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมที่ถูกต้องในศาลเจ้า

การเดินเข้าศาลเจ้าผ่านเสาโทริอิ และล้างมือก่อนเข้าศาลเจ้า
- หยุดยืนที่หน้าเสาโทริอิ โค้งคำนับ 1 ครั้งเพื่อทำความเคารพต่อเทพเจ้า
- เดินลอดผ่านเสาโทริอิบริเวณข้างซ้ายหรือข้างขวา ไม่ลอดผ่านตรงกลางเนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นทางผ่านของเทพเจ้า
- เมื่อเจอบ่อน้ำตรงทางเข้าก็ใช้กระบวยตักน้ำขึ้นมาด้วยมือซ้ายล้างมือขวา และใช้กระบวยตักน้ำด้วยมือขวาล้างมือซ้าย
- น้ำที่เหลือเทรดใส่มือแล้วล้างปากโดยไม่ให้ปากสัมผัสกับกระบวย
- ถือกระบวยตั้งขึ้นเพื่อให้น้ำที่ยังเหลืออยู่ไหลลงมาล้างด้ามจับ

การไหว้พระขอพรในศาลเจ้า

https://pixta.jp/

การไหว้พระขอพรในศาลเจ้า

- เมื่อเดินมาถึงหน้าศาลเจ้าจะเห็นกล่องไม้ใหญ่ที่มีช่องแบ่งเป็นร่อง ให้โยนเหรียญ 5 เยนหรือ 100 เยนลงไปเพื่อเป็นการบริจาค แล้วดึงเชือกเพื่อสั่นกระดิ่ง
- โค้งคำนับ 90 องศา 2 ครั้ง ปรบมือเสียงดัง 2 ครั้งเพื่อเป็นการเรียกเทพเจ้า จากนั้นพนมมืออธิษฐานขอพร แล้วโค้งคำนับอีก 1 ครั้ง
- ขาออกก็เดินลอดเสาโทริอิและหันกลับไป โค้ง 1 ครั้งเพื่อเป็นการทำความเคารพ

เสี่ยงเซียมซีและซื้อเครื่องรางญี่ปุ่นเสริมดวง

https://pixta.jp/

เสี่ยงเซียมซีและซื้อเครื่องรางญี่ปุ่นเสริมดวง

ก่อนออกไปจริงๆ ถ้าเจอจุดเสี่ยงเซียมซีก็ลองเสี่ยงโชคดู หลังเสี่ยงเซียมซีแล้วตามธรรมเนียมปฏิบัติจะต้องนำใบเซียมซีติดตัวกลับบ้านไปด้วยเพื่อความโชคดี แต่ถ้าสมมติว่าเสี่ยงได้ใบไม่ดี ก็ให้นำไปผูกไว้ตรงบริเวณที่ทางวัดหรือศาลเจ้านั้นๆ กำหนด

สุดท้ายแล้วอย่าลืมแวะไปเลือกหาซื้อเครื่องรางกัน เครื่องรางในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอมาโมริ (Omamori) เป็นถุงผ้าขนาดเล็ก พกพาสะดวกสำหรับเป็นสิ่งคุ้มครองและเป็นที่พึ่งทางใจ ควรใส่ไว้ในกระเป๋าหรือกระเป๋าสตางค์ เครื่องรางยอดนิยมส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องรางที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ ความรัก การเรียน การงาน การค้าขาย ความร่ำรวย เป็นต้น โดยจะเป็นตัวอักษรเขียนไว้บนถุงเครื่องราง อย่างเช่น

交通安全 Kotsu anzen : ขอให้ขับขี่ปลอดภัย
健康祈願 Kenko kigan : ขอให้ไม่เจ็บป่วย ทุกวันมีความแข็งแรง
長寿祈願 Choju kigan : ขอให้มีสุขภาพดีและอายุยืน
商売繁盛 Shobai hanjo : ขอให้มีความเจริญมั่งคั่งทางการค้าขาย
恋愛成就 Renai joju : ขอให้มีความรักที่ดี
縁結び Enmusubi : ขอให้พบเนื้อคู่และครองคู่กันอย่างมีความสุข
学業成就 Gakugyo joju : ขอให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษา

และอีกมากมาย แต่ละวัดและศาลเจ้าก็จะมีชื่อเสียงในเครื่องรางแต่ละประเภทไม่เหมือนกันด้วย ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวที่วัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นก็หวังว่าจะเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับทุกคน

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

Japan Travel Editor

เรารวบรวมไอเดียเที่ยวญี่ปุ่นอันหลากหลายมาให้คุณ ตั้งแต่ถนนใหญ่สายช้อปปิ้งในเมืองโตเกียว วัดและศาลเจ้าโบราณสุดขลัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งดอกซากุระสีชมพู ใบไม้แดง วิวหิมะขาวๆ ทีมงานของเราจะนำข้อมูลดีๆมาให้คุณ