วัฒนธรรม Subculture ญี่ปุ่นที่คนไทยต้องตะลึง!
ปัจจุบันเราจะเห็นการแต่งกายแปลกตาของวัยรุ่นญี่ปุ่นกันมากขึ้น เช่น การแต่งชุดคาดผ้ากันเปื้อนแบบสาวใช้ การแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูนต่างๆ การแต่งตัวนำแฟชั่นสีสันแสบตา และอีกมากมาย เหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจแบบเฉพาะทาง ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นกลุ่มคนวัฒนธรรมย่อย
By Japan Travel Editorวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ของญี่ปุ่นนั้นมักเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อป วัฒนธรรมการ์ตูน ซึ่งวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ก็มีความเฉพาะด้านของตัวเอง มีเอกลักษณ์และสร้างสีสันให้กับญี่ปุ่น เดิมทีไม่ได้รับความสนใจที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำตลาด แต่ปัจจุบันกลับมีพลัง เป็นตลาดใหม่ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมของญี่ปุ่น จะเรียกว่าเป็นตัวแปรในการตลาดและตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ วัฒนธรรมกลุ่มย่อยของญี่ปุ่นที่เด่นๆ ก็มีอาทิเช่น เมดคาเฟ่ คอสเพลย์ แฟชั่นการแต่งกายแบบโลลิต้า สาวแกล ไอดอลใต้ดิน
1. เมดคาเฟ่
เมดคาเฟ่ (Maid café) เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่คุ้นตาและรู้จักกันดีในญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติด้วย เมดคาเฟ่เป็นคาเฟ่รูปแบบหนึ่งที่มีจุดเด่นอยู่ที่พนักงานเสิร์ฟหน้าตาน่ารักซึ่งจะแต่งตัวด้วยชุดกระโปรงคาดผ้ากันเปื้อน พนักงานเสิร์ฟนี้เรียกว่าเมดที่แปลว่าสาวใช้นั่นเอง เมื่อเข้าไปในเมดคาเฟ่ ลูกค้าจะกลายเป็นเจ้านายทันที และสาวเมดก็จะเรียกว่า "นายท่าน" นับเป็นดินแดนแห่งความฝันของหนุ่มๆ ที่อยากจะลองเป็นเจ้านายให้สาวน้อยน่ารักมาให้บริการ
2. คอสเพลย์
คอสเพลย์ (Cosplay) มาจากคำว่า คอสตูม (Costume ที่แปลว่า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย) กับคำว่า โรลเพลย์ (Roleplay ที่แปลว่า การแสดงบทบาท) การคอสเพลย์จึงหมายถึงการแต่งกายและสวมบทบาทเป็นตัวตนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์แรกเตอร์การ์ตูน เกม และตัวละครในภาพยนตร์ต่างๆ เมื่อสวมใส่ชุดที่เหมือนตัวตนที่ต้องการแล้วก็ต้องสวมบทบาทตามลักษณะนิสัยของตัวตนนั้นด้วย ซึ่งการคอสเพลย์ก็เป็นที่นิยมกันมากและมีมาอย่างยาวนานพอสมควรเลยทีเดียว ประโยชน์ของการคอสเพลย์ก็มีไม่น้อย อย่างเช่น ได้ความรู้เกี่ยวกับเสื้อผ้าและการตัดเย็บ มีความคิดสร้างสรรค์ ได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ เป็นต้น
3. โลลิต้า
โลลิต้า (Lolita) เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมย่อยของญี่ปุ่นที่มีการพูดถึงกันมาก เป็นสไตล์การแต่งตัวนำแฟชั่นที่โดดเด่น โดยเครื่องแต่งกายแบบโลลิต้านี้ได้รับอิทธิพลมาจากเสื้อผ้าเด็กในยุควิคตอเรียน (Victorian) และยุคเอ็ดเวอร์เดียน (Edwardian) ที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิง เน้นการแต่งกายที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนหวาน น่ารักน่าเอ็นดู สีของชุดที่ใส่ก็จะเป็นโทนสีพาสเทลกับโทนชมพู แต่ต่อมาก็มีการแตกย่อยของแฟชั่นแบบโลลิต้าไปอีกอย่างเช่น กอธิก โลลิต้า (Gothic Lolita) ที่สไตล์เสื้อผ้าเหมือนกันแต่จะเป็นโทนสีมืดที่เน้นสีดำ เทา ขาวเป็นหลัก และแต่งหน้าจัดด้วยโทนสีเข้ม นอกจากนี้ก็ยังมีวะโลลิต้า (Wa Lolita) ที่ประยุกต์กิโมโนญี่ปุ่นมาใช้เป็นสไตล์การแต่งตัว เป็นต้น
4. แกล
แกล (Gal) เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยเที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ในช่วงปลายยุค '90 และต้น 2000 จุดเด่นที่สังเกตง่ายของสาวแกลคือผิวสีแทน ย้อมผมสีแรงๆ ส่วนใหญ่มักเป็นสีทอง หรือทำไฮไลต์สีผมให้สะดุดตา บ้างก็ใส่วิก อีกทั้งยังแต่งหน้าจัด เขียนตาเข้ม ติดขนตาปลอมเป็นแพ ติดเล็บปลอมยาวๆ ที่มีกากเพชร และมักสวมเครื่องประดับวิบวับแวววาว ซึ่งแกลก็ยังมีวัฒนธรรมปลีกย่อยลงไปอีกอย่างเช่น มัมบะ (Manba) ที่นอกจากทาสีแทนแล้วก็ยังเล่นแต่งหน้าเป็นลวดลาย หรือใช้สีโทนสว่างเรืองแสงที่ตรงข้ามกับสีน้ำตาลแต่งตา ใสเสื้อผ้าสีสดใสสไตล์ฮาวาย เป็นต้น
5. ไอดอลใต้ดิน
ไอดอลใต้ดิน หรือที่เรียกว่าจิกะไอดอล (Chika Idol) เป็นไอดอลประเภทหนึ่งที่ไม่ได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดกับค่ายใหญ่ๆ แต่ก็มีเวทีแสดง มีการออกซีดี ผลงานต่างๆ และแฟนคลับเช่นเดียวกับไอดอลที่สังกัดค่ายใหญ่ ต่างกันตรงที่ไอดอลใต้ดินจะเป็นผู้ออกทุนทำเองทุกอย่างทั้งการโปรโมทตัวเองและทำผลงานออกจำหน่าย ส่วนเรื่องของรายได้ไอดอลใต้ดินจะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความนิยมในตัวไอดอลคนนั้นๆ และฐานแฟนคลับ
อยากชมวัฒนธรรมย่อยควรไปที่ไหนดีนะ
แหล่งที่สามารถหาชมวัฒนธรรมย่อยได้ง่ายก็มีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง เช่น ย่านอากิฮาบาระ (Akihabara) หรือที่เรียกย่อๆ ว่าอากิบะ ที่เป็นศูนย์รวมของเหล่าคอสเพลเยอร์ทั้งหลายที่แต่งเป็นตัวละครการ์ตูนที่ชื่นชอบเดินสวนกันไปมา และมีเมดคาเฟ่มากมาย ย่านชิบุยะ (Shibuya) ก็มีร้านเมดคาเฟ่สวยๆ ให้แวะเวียนไปรับบริการ ย่านฮาราจูกุ (Harajuku) ที่เป็นย่านแห่งแฟชั่นและซับคัลเจอร์ชื่อดัง ซึ่งรวมพลเหล่าวัยรุ่นมากมายที่มาทำกิจกรรมแฟชั่นและคอสเพลย์ต่างๆ ไอดอลใต้ดินก็มักมาเปิดการแสดงให้ได้รู้จักเช่นกัน
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย