All About Japan

พื้นฐานการหางานในญี่ปุ่น 101

เรียนภาษาญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น ทำงานในญี่ปุ่น

หางานปกติว่ายากแล้ว แต่หางานที่ต่างประเทศและไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ป้าบอกเลยว่าลมจะจับ เพราะไหนจะเตรียมพร้อมด้านความสามารถแล้ว ยังต้องคิดว่าจะตอบยังไงให้(ดู)ฉลาด เกลาภาษาให้เข้ากับบริบททางสังคมนั้นๆอีก ครั้งนี้ป้าเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์หางาน เอาตั้งแต่ทำความรู้จักกันเลยว่าระบบที่ญี่ปุ่นเป็นยังไง ใครกำลังเตรียมตัวหางานยิ่งพลาดไม่ได้เลยละ

ก่อนทำการใหญ่ต้องซ้อมมือกันก่อน

ก่อนเข้าสู่สนามจริง มันก็ต้องมีด่านวอร์มอัพ นั่นคือการเข้าไปฝึกงานหรือ internship นั่นเอง เมืองไทยก็มีการฝึกงานช่วงปิดภาคฤดูร้อน แต่ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการฝึกงานระยะสั้น เช่น 1 วัน 3 วันก็มี ป้าว่าเหมือนเข้าค่าย หรือไปดูงานบริษัทเสียมากกว่า แม้ระยะเวลาจะสั้นแต่ก็มีข้อดี คือทำให้เราสามารถยื่นสมัครฝึกงานได้หลายๆที่และไม่ต้องรอให้ถึงปิดเทอม เพราะการฝึกงานนี้จัดเพียงแค่ 1-2 วัน บริษัทก็สามารถจัดวันเสาร์หรืออาทิตย์ได้ ดังนั้นใครอยากหางานในญี่ปุ่นมาซ้อมมือสนามนี้ไว้จะดีมากๆ เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น แบ่งกลุ่มอภิปรายเพื่่อหาไอเดียแล้วพรีเซ้นต์งานตามหัวข้อที่กำหนด หรือลองให้เขียนโค้ดในโปรแกรมที่บริษัทใช้เพื่อสร้างเกมส์ต่างๆ หรือนั่งฟังเลคเชอร์เรื่องเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมของบริษัทนั้นๆก็มี

ป้าว่าดีมากๆสำหรับต่างชาติอย่างเรา เพราะว่าขั้นตอนการสมัครเพื่อไปฝึกงานยังไม่เข้นข้นเท่าไร แค่กรอกใบสมัคร เขียนตอบคำถามที่บริษัทถาม เช่น ทำไมถึงอยากมาฝึก เราน่าสนใจยังไง ส่วนใหญ่แล้วไม่ซีเรียสมาก เขียนรู้เรื่อง พอไปวัดไปวาได้ก็ผ่าน สามารถเข้าร่วมฝึกงานได้ ถือเป็นการซ้อมมือและที่สำคัญมันทำให้เราไม่กลัวหรือเกร็งเวลาต้องพูดภาษาญี่ปุ่นหน้าคนเยอะๆและได้รู้จักเพื่อนใหม่อีกด้วย

ต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการรับสมัครของญี่ปุ่นที่คนสมัครจะต้องเจอ ส่วนใหญ่ฤดูสมัครงานของญี่ปุ่นจะอยู่กันที่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี ดังนั้นนักศึกษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเตรียมตัวกันตั้งแต่ปลายปี หรือถ้าใครฟิตๆหน่อยจะเริ่มกันตั้งแต่ปิดเทอมฤดูร้อน นั่นคือเดือนสิงหาคมของปีก่อนหน้า ป้าแนะนำว่าให้เตรียมตั้งแต่เนิ่นๆดีกว่า เพราะแม้ว่าป้าจะหาข้อมูลและเตรียมตัวสักพักแต่ก็รู้สึกเวลาไม่พอและไม่พร้อมอยู่ดี....ฮ่า

รู้เขารู้เรา และรู้ตัวเอง

"รู้อะไรไม่เท่า รู้ตัวเอง" คำนี้เลยที่ป้าได้มาจากประสบการณ์หางาน เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ยากกว่าการเจอคนสัมภาษณ์โหดๆ ก็คือการไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร จะทนทำงานกับสิ่งนึงต่อจากนี้ได้จริงๆหรอ เพราะต่อให้คนสัมภาษณ์ใจดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ชัดเจนกับตัวเอง สุดท้ายเราก็พูดตะกุกตะกักอยู่ดี

ดังนั้นป้าเลยแนะนำว่าให้ไปฟัง setsumeikai (説明会) หรือ company info session ซึ่งเหมือนเป็นการทำความรู้จักบริษัทที่เราไปสมัคร ส่วนใหญ่แล้วจะจัดขึ้นในงาน job fair ต่างๆ หรือบางทีก็จัดขึ้นที่บริษัทของเขาเลย (แต่เดี๋ยวนี้บางที่ก็ให้ดูวิดีโอของบริษัทแบบออนไลน์ก็มี) ภายในงานนี้เราจะได้รู้ว่าบริษัททำอะไร มีที่มาที่ไปยังไง รู้ว่าบริษัทกำลังต้องการคนแบบไหน และส่วนมากจะปิดด้วยการบอกขั้นตอนและไทม์ไลน์การสมัคร ป้าว่าเหมือนกับการเล่นเกมส์ที่เรากำลังดูว่ากติกาของเกมส์คืออะไร ทำยังไงถึงได้คะแนนสูงนั่นเอง

นอกจากจะรู้จักบริษัทแล้วเรายังได้รู้จักตัวเองอีก เพราะบริษัทที่เราเคยเล็งๆไว้อาจไม่ได้เป็นเหมือนที่เราตั้งความหวังไว้ หรือไม่ได้มีตำแหน่งที่เราสนใจจริงๆก็ได้ สื่งสำคัญอีกอย่างคือจะได้รู้ว่าการคนอื่นเขาเตรียมตัวยังไง เพราะช่วงท้ายบริษัทมักเปิดโอกาสให้ผู้สมัครถามคำถามกับบริษัท ดังนั้นเราจะได้ใช้โอกาสนี้ถามสิ่งที่เราสงสัย หรือถ้าอายไม่กล้าถาม เราก็จะได้รู้ว่าผู้สมัครคนอื่นเขาถามคำถามอะไรกับบริษัทและมีเกณฑ์ในการเลือกบริษัทยังไงด้วย เพราะอย่าลืมว่านอกจากบริษัทจะเลือกเราแล้ว เราเองก็มีสิทธิเลือกบริษัทด้วยเหมือนกันนะ!

ด่านที่ 1 ออกแรงเขียน

ด่านที่ 1 ออกแรงเขียน

https://pixta.jp/

หลังจากฟังข้อมูลต่างๆของบริษัทแล้ว เราก็จะเลือกได้แล้วว่าจะสมัครบริษัทไหนบ้าง อันนี้แล้วแต่เลย บางคนสมัครเยอะมาก(กกกก) เพราะเน้นหว่านไว้ก่อน แต่บางคนก็เลือกเฉพาะที่สนใจจริงๆ เพราะอยากเอาเวลาไปโฟกัส อันนี้ป้าว่าแล้วแต่สไตล์และความถึกของแต่ละคน แต่ไม่ว่าจะสมัครมากหรือน้อย ด่านอรหันต์ที่ผู้สมัครต้องเจอสามารถแบ่งใหญ่ๆ ได้ 3 ด่านดังนี้ (ทั้งนี้อาจแตกต่างตามความยากและความป๊อปปูล่าของบริษัทนั้นๆ)

ด่าน 1 entry sheet เปรียบเสมือนใบเบิกทาง เสนอขายตัวเราเองว่าเรามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่จะช่วยบริษัทเขาได้ ส่วนใหญ่แล้วแต่ละบริษัทจะมีคำถามหรือธีมมาให้ ที่ป้าเจอบ่อยๆ เช่น “ให้ลองเล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่ผู้สมัครได้ใช้ความพยายามที่สุดในชีวิต” “จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง” “เหตุผลที่อยากสมัคร” หรือแม้กระทั่ง “เขียนอะไรก็ได้พรีเซ้นต์ตัวเองมาได้เลย” ดูเผินๆเหมือนกับเรซูเม่ แต่ไม่ใช่นะ และเรื่องที่จะให้เขียนก็มักจะต่างกันไปแล้วแต่ว่าบริษัทไหนต้องการถามอะไรเรา เพราะงั้นอาจใช้ซ้ำไม่ค่อยได้

เห็นคำถามง่ายๆแบบนี้แต่เอาเข้าจริงใช้เวลาเขียนใช่ย่อย เพราะบริษัทมักจะกำหนดจำนวนคำมาให้ ส่วนใหญ่แค่ประมาณ 200-300 ตัวอักษร แล้วพิมพ์กรอกลงไปในระบบ ดังนั้นแปลว่าถ้าพิมพ์เกินก็ไม่สามารถกด submit ในระบบได้เลย ดังนั้นต้องเกลาคำให้กระชับเขียนให้พอดี

และเห็นหัวข้อง่ายๆแบบนี้อาจคิดว่าหวานหมู พวก HR คงไม่ดูมากเพราะเป็นแค่รอบแรก เขียนดูเป็นผู้เป็นคนแบบตอนสมัครฝึกงานคงไม่เป็นไร คนญี่ปุ่นอ่านเข้าใจแกรมม่าไม่ผิดเป็นใช้ได้ บอกเลยว่าคิดผิด! เพราะป้าตกคำถามง่ายๆนี้มาแล้ว บอกเลยว่า “งง” มาก เพราะเขียนก็ปกติ แนวเขียนก็คล้ายชาวบ้านเขา แกรมม่าก็ให้คนญี่ปุ่นช่วยดูให้แล้ว แต่ทำไมมันไม่ผ่าน (เกาหัว) เดาไปเดามาคิดว่าคงต้องเขียนให้ฉีก แตกต่าง อ่านแล้วรู้ว่านี่คือตัวเรา เพราะ HR เขาต้องอ่านใบสมัครเยอะมากและก็ทำมาหลายปี เขาก็คงเบื่อสำนวนเดิมๆที่ผู้สมัครคนญี่ปุ่นเองชอบเอามาใช้ซ้ำๆกันอยู่แล้ว...

ด่านที่ 2 ข้อสอบสุดทรหด

ด่าน2 ด่านข้อสอบข้อเขียน: ด่านแรกว่ายากแล้ว แต่โดยส่วนตัวป้าว่าด่านนี้ยากสุด เพราะภาษาเป็นอุปสรรคสุดๆ แม้จะพูดได้ แต่ยังไงก็อ่านเร็ว หรือรู้คันจิ (ตัวอักษรโบราณ ตัวจีน) ไม่เท่าคนญี่ปุ่นแน่แท้ ข้อสอบข้อเขียนนี้เรียกว่าข้อสอบ SPI ซึ่งสามารถสอบได้ที่ Test Center (ศูนย์สอบ) ทั่วประเทศ หรือจะ log in สอบผ่านคอมตัวเองก็ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อสอบเฉพาะที่บริษัทจัดทำขึ้น แต่ไม่ว่าข้อสอบแบบไหนก็ตาม หัวข้อมักแบ่งได้เป็น

1) เลข (บวก ลบ คูณ หาร โจทย์เลขยากระดับ ม.ต้น และสอบเข้า ม.4)

2) เชาว์ มิติสัมพันธ์

3) ภาษาญี่ปุ่น อ่านจับใจความจากบทความ

4) ภาษาญี่ปุ่น (คันจิ) จับคู่คำเหมือน คำต่าง (อารมณ์เชาว์ปัญญา หาความสัมพันธ์ของคำ)

5) ภาษาอังกฤษ แนวอ่านจับใจความแล้วเลือกตอบ และทดสอบคำศัพท์

เนื้อหาไม่ได้ยากระดับที่ทำไม่ได้ อย่างที่บอก อย่างเรื่องเลขนั้นมักจะเป็นเรื่องที่คนสายศิลป์ก็ทำได้ เพราะส่วนใหญ่การสอนนั้นทำไปเพื่อวัด Aptitude ไม่ใช่วัดความสามารถทางวิชาการ แต่ทั้งนี้แล้วแต่บริษัทว่าจะเลือกพาร์ทไหนมาออกหรือนำมาคิดคะแนน เช่นบางบริษัทก็ไม่มีการทดสอบภาษาอังกฤษ จึงต้องลองตรวจสอบให้ดีก่อน

ป้าคิดว่าใครที่ภาษาญี่ปุ่นแข็งแรง อ่านญี่ปุ่นได้เร็ว คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับป้าแล้วนั้นไม่ง่ายเลย เพราะมีปัญหาเรื่องการอ่านให้ทันกับเวลาที่กำหนด แถมภาษาญี่ปุ่น(ตัวคันจิ)ก็ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น ผสมกับความตื่นเต้นที่ต้องทำให้ทันเวลาแล้ว มันรนมากจริงๆ แนะนำให้เตรียมตัวอ่านตั้งแต่เนิ่นๆเพราะมีหลายพาร์ท ไหนจะอ่านศัพท์ เลข เชาว์ เตรียมอย่างน้อยครึ่งปีกำลังดีจะได้อุ่นใจ~

ด่านที่ 3 สนามจริงมาแล้ว

ด่าน3 ด่านสอบสัมภาษณ์: ของจริงได้มาถึงทุกท่านแล้ววว สิ่งสำคัญพอๆกับการตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ด้วยภาษาสุภาพ (ใช้รูปยกย่อง ภาษาถ่อมตัว) แล้ว นั่นคือมารยาทนั่นเอง! เพราะเชื่อไหม เขาว่าคนเราตัดสินคนอื่นด้วย 7 วินาทีแรกเท่านั้น ใครกำลังจะไปสัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่นหรืองานที่มีเจ้านายคนญี่ปุ่นแนะนำให้อ่านเช็คลิสต์คร่าวๆไว้เลย เช่น

- ก่อนเข้าห้องต้องเคาะประตูอย่างไร (เคาะ 2-3 ครั้งพอ)

- วิธีการก้มหัว ทำความเคารพที่ถูกต้อง

- คำพูดเมื่อเข้า-ออกห้อง ห้ามลืมเด็ดขาด

- ท่านั่ง การวางกระเป๋า

- แม้จะกรอกข้อมูลในระบบแล้ว แต่ก็ห้ามลืมปริ้นเรซูเม่ไปด้วย จะได้ดูว่าเราพร้อม

- เวลาพูดภาษาญี่ปุ่น ผิดๆถูกๆ ก็ให้พูดขอโทษเสมอ (พูดแนวออกตัวไว้ก่อนและบอกว่าจะพยายามต่อไป~)

คำถามที่เจอบ่อยๆ คนสัมภาษณ์มักจะไล่เนื้อหาไปตามเรซูเม่และไล่ไปตามหัวข้อที่เราเขียนตอบลงใน Entry Sheet ตอนแรก ดังนั้นอย่าลืมว่าคนอ่านเขามีสิ่งที่เราเขียนอยู่ในมืออยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ พูดยังไงก็ได้ให้เป็นธรรมชาติ พูดให้ฟังแล้วสนุก อยากให้ผู้สัมภาษณ์มีคำถามและสนใจในตัวเราต่อ ตอนแรกป้าประหม่ามาก จำทุกคำที่เขียนลงไปใน Entry Sheet (รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควร แต่มันไม่มั่นใจถ้าไม่ได้จำ ป้าอดไม่ไหวจริงๆ) แต่สุดท้ายตระหนักเลยว่าจำไปก็เท่านั้น เพราะเวลาสัมภาษณ์มันทำให้เหมือนหุ่นยนต์ ลองนึกเราคุยกับ call center ที่เป็นระบบอัตโนมัติดูสิ มันน่าโมโหขนาดไหน และนั่นแหละผู้สัมภาษณ์ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ช่วงสมัครงานใหม่ๆป้าตกสัมภาษณ์ระนาว กลับมาน้ำตาตกอยู่ในมุมห้องประจำ~

สรุป

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการสมัครงานที่ญี่ปุ่นเป็นระบบมาก เป็นขั้นเป็นตอน มีข้อดีคือคนสมัครรู้ว่าขั้นตอนไหนจะดำเนินการเป็นอย่างไรอย่างชัดเจน แต่มีข้อเสียคือกดดันมาก เพราะป้าจำได้ว่าช่วงผลออกประมาณ Golden week ของญี่ปุ่น (ต้นเดือนพฤษภาคม) ถึงก่อนปิดเทอมฤดูร้อน (เดือนสิงหาคม) เพื่อนๆลงในโซเชียลว่าได้ที่นู้นที่นี่เต็มไปหมด ป้ารอแล้วรอเล่า ลุ้นไปมาหางานก็ยังไม่ได้สักที เครียดเหมือนกันตอนนั้น T^T

ดังนั้นก่อนสมัครงานก็ต้องวางแผนให้ดี ดังนั้นป้าสรุป Timeline คร่าวๆ ตามเดือนดังนี้

Internship: จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ของปีก่อนหน้าที่เราจะสมัครงาน
Company info session: หรือ Setsumeikai ประมาณปลายกุมภาพันธ์-มีนาคม
Entry sheet: ประมาณปลายกุมภาพันธ์-มีนาคม (โดยส่วนมาก company info session จะเริ่มพร้อมหรือก่อนประมาณ 1-2 อาทิตย์)
Interview: ประมาณเมษา-พฤษภาคม

*บางบริษัทที่ไม่ได้มีความเป็นญี่ปุ่นมาก ก็มีเปิดเรื่อยๆตามตำแหน่งที่ว่าง ยังไงก็ตรวจสอบตามเว็บไซต์ของบริษัทที่เรากำลังไปสมัครอีกครั้ง

ฝากทิ้งท้ายสำหรับคาถาที่ต้องท่องไว้ ก็คือ "อึด ถึก" เพราะเตรียมตัวเร็วไว้ก่อนย่อมดี กว่าเราจะชินกับระบบการสมัครงาน ชินกับธรรมเนียมปฏิบัติจนทำให้การสัมภาษณ์ไม่ทำให้เราประหม่าจนเราสามารถตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ และกว่าผลจะออก ทุกอย่างใช้เวลาและความค่อยเป็นค่อยไปทั้งสิ้น ห้ามใจร้อนเด็ดขาด ใจร่มๆเข้าไว้

ครั้งหน้าป้าจะมาแนะนำเคล็ดลับการหางาน (ประจำ) ในญี่ปุ่น เอาใจช่วยคนหางาน เพราะเข้าใจมันเหนื่อยแรงและเหนื่อยใจจริงๆ!

รัก

ป้าเมโกะ

know-before-you-go