แนะนำของฝากประจำจังหวัด 10 ชนิด 10 จังหวัด
เวลามาเที่ยวญี่ปุ่นนั้นของฝากคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วก็หาซื้อไม่ยากหรอก ตามสถานีรถไฟหรือสนามบินก็มีเยอะ แต่ถ้าอยากได้ของที่ไม่ซ้ำใครละก็เราขอแนะนำของขึ้นชื่อของท้องถิ่นต่างๆในญี่ปุ่น ตั้งแต่ของคนชื่อจนถึงที่น้อยคนจะรู้จัก รับรองว่าซื้อกลับไปไม่ซ้ำใครแน่นอน
By Japan Travel Editor1 ผ้าย้อมบิงงาตะ (Okinawa)
เชื่อว่าใครที่เคยไปจังหวัดโอกินาวะต้องได้เจอกับบรรยากาศแดนใต้ที่สดชื่นมีชีวิตชีวาเป็นแน่แท้ ดังนั้นของฝากที่เหมาะจะซื้อติดไม้ติดมือกลับมาให้คนที่บ้านก็น่าจะเป็นของที่มีสีสันสดใส อย่างผ้าบิงงาตะ (Bingata) ที่เป็นของดีโอกินาวะ
บิงงาตะ (Bingata) เป็นเทคนิคการย้อมผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวโอกินาวะที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 500 ปีตั้งแต่สมัยที่เกาะยังเป็นอาณาจักรริวกิว การย้อมผ้าแบบบิงงาตะนี้ได้รับอิทธิพลจากจีน อินเดีย และชวาในช่วงศตวรรษที่ 14 -15 ลวดลายส่วนใหญ่ก็เป็นภาพที่ได้ไอเดียจากความสวยงามของธรรมชาติและภูมิอากาศในโอกินาวะ เช่น ดอกไม้ นกในเขตร้อน หรือคลื่นน้ำทะเล เป็นต้น สินค้ามีให้เลือกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าผ้า ชุดกิโมโน เสื้อยืด หรือเคสสำหรับสมาร์ทโฟน ซึ่งน่าซื้อหาไปเป็นของฝากทั้งนั้น
2 โมมิจิมันจู (Hiroshima)
ขนมที่หน้าตาเหมือนใบเมเปิ้ลนี้เป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดฮิโรชิมะ เรียกกันว่าโมมิจิมันจู (Momiji Manju) เดิมเป็นของฝากประจำเกาะมิยาจิมะ แต่ได้รับความนิยมมากจนกลายเป็นของดีจังหวัดฮิโรชิมะไปแล้ว
โมมิจิมันจูถูกคิดค้นขึ้นประมาณช่วงกลางสมัยเมจิโดยช่างทำขนมชื่อทาคาสึ โจสุเกะ (Takatsu Josuke) เป็นเพียงขนมที่ทำส่งให้แขกที่มาพักในโรงแรมที่เขาทำงานอยู่เท่านั้นเอง แต่หลังจากทาคาสึสิ้นไป โมมิจิมันจูก็หายหน้าไปพักใหญ่ พอมีคนทำสูตรเหมือนต้นตำรับได้จึงกลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2009 และกลายเป็นของฝากแสนอร่อยยอดนิยมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้โมมิจิมันจูไม่ได้มีแค่ไส้ถั่วแดงกวนของต้นตำรับดั้งเดิมอย่างเดียวแล้ว แต่เพิ่มสูตรมากมายเช่นไส้ชาเขียว ไส้ช็อกโกแลต ไส้งาดำ ไส้เลมอน เป็นต้น และสูตรไส้ถั่วแดงกวนก็ประยุกต์ให้หลากหลายมากขึ้นด้วยการผสมวัตถุดิบอย่างอื่น เช่น รสเมล่อน นม ซากุระ เป็นต้น ทำให้มีตัวเลือกสำหรับเราที่จะเลือกซื้อไปเป็นของฝากได้อย่างถูกใจ
3 ตุ๊กตาโคเคชิ (Miyagi)
ตุ๊กตาโคเคชิของแท้และดั้งเดิมมาจากจังหวัดมิยางิ เริ่มขึ้นจากฝีมือของช่างไม้จังหวัดมิยางิในสมัยเอโดะ มีลักษณะเป็นตุ๊กตาไม้ลำตัวทรงกระบอก ไม่มีแขน ไม่มีขา และมีหัวกลมโต พวกมันถูกทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกให้ผู้มาใช้บริการออนเซ็นสมัยนั้น นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์สำหรับเอามานวดคลึงคลายความปวดเมื่อยตามร่างกายตอนที่แช่ออนเซ็นด้วย ภายหลังมีความเชื่อว่าตุ๊กตาโคเคชินำมาซึ่งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง คนจึงนิยมพกเป็นเครื่องรางปกป้องสิ่งร้ายๆ ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าพื้นเมืองชื่อดังยอดนิยมที่คนซื้อเป็นของขวัญของฝากให้กัน และแม้แต่นอกจังหวัดมิยางิก็มีการผลิตโคเคชิมากมาย จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของงานฝีมือญี่ปุ่น
4 เชอร์รี่ (Yamagata)
จังหวัดยามากาตะมีชื่อเสียงในเรื่องผลไม้สดตามฤดูกาล โดยเฉพาะเชอร์รี่นั้นเป็นสินค้าของจังหวัดที่มีคุณภาพดีที่สุดของญี่ปุ่นเลย โดยเฉพาะเชอร์รี่สายพันธุ์ซาโตนิชิกิ (Satonishiki) ซึ่งมีลักษณะเป็นสีแดงทับทิม รสชาติหวานเข้มข้นอมเปรี้ยวกำลังดี เนื้อฉ่ำนุ่ม ได้รับความนิยมสุดๆ เหมาะจะซื้อกลับไปเป็นของฝากหรือจะนั่งกินเล่นในโรงแรมก็ได้ โดยเชอร์รี่สายพันธุ์ซาโตนิชิกิที่ว่านี้มีแหล่งปลูกหลักๆ อยู่แถวเมืองฮิงาชิเนะ (Higashine) และเมืองเท็นโด (Tendou) แต่ของดีอย่างนี้มีฤดูกาลให้ลิ้มรสและจับจองเป็นของฝากน้อยเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น คือตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ต้องรีบกันหน่อยนะ ของดีห้ามพลาด
5 เครื่องหนังโคชู อินเด็น (Yamanashi)
เครื่องหนังโคชู อินเด็น (Koshu Inden) เป็นงานศิลปหัตถกรรมเครื่องหนังโบราณที่ผลิตโดยนำหนังกวางมาลงรักและทำเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยไม่ซ้ำกัน เป็นงานหัตถศิลป์ของจังหวัดยามานาชิที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 400 ปี ลวดลายที่สร้างก็มีหลากหลาย เช่น ลายจุดเล็กๆที่เรียงตัวกันเป็นคลื่น หรือลายดอกไม้เล็กๆน่ารักเป็นต้น สำหรับตัวหนังก็มีผิวสัมผัสที่อ่อนนุ่มน่าใช้งาน แถมไม่ซ้ำใครแน่นอนเพราะมีน้อยคนที่รู้จัก และน้อยกว่าที่จะเคยซื้อมาใช้ ของดีแบบนี้น่าเลือกซื้อไปเป็นของฝากเก๋ๆดูดีมีคลาสให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่บ้านเป็นอย่างยิ่ง