All About Japan

เปรียบเทียบสนามบินนาริตะและฮาเนดะ

การเดินทาง สนามบิน Tokyo อภิมหานครโตเกียว Kanto
เปรียบเทียบสนามบินนาริตะและฮาเนดะ

สนามบินนาริตะเป็นอย่างไร สนามบินฮาเนดะเป็นอย่างไร แล้วสองสนามบินดีมีอะไรดี อะไรเด่น มีอะไรแตกต่างกันบ้าง คราวนี้จะได้รู้กันละ

Airport

สนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะเปรียบเหมือนประตูหน้าบ้านของญี่ปุ่นที่สำคัญ 2 แห่งใหญ่ ทั้งสนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะเป็นสนามบินนานาชาติทั้งคู่ โดยสนามบินฮาเนดะเปิดให้บริการก่อน แล้วสนามบินนาริตะจึงเปิดให้บริการในทีหลัง ซึ่งทั้งสองแห่งก็จะมีสายการบินหลายสัญชาติเข้าออกตลอด ทีนี้ก่อนจะพาไปทำความรู้จักสนามบินทั้งสอง เรามาดูสายการบินกันสักนิดว่าสายการบินไหนบ้างที่ลงจอดสนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะ

1.สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service)

1.1 แบบบินตรง (Direct Flight)
บินยาวรวดเดียวใช้เวลา 5 ชั่วโมงครึ่งถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง ราคาตั๋วก็พอประมาณทีเดียว

สายการบินที่ลงเครื่องสนามบินนาริตะ
- การบินไทย (Thai Airways)
- เจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines)
- ออลนิปปอน แอร์เวย์ (All Nippon Airways)

สายการบินที่ลงเครื่องสนามบินฮาเนดะ
- การบินไทย (Thai Airways)
- เจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines)
- ออลนิปปอน แอร์เวย์ (All Nippon Airways)

สายการบิน Full Service ทั้งสามที่เป็นเจ้าตลาดของเส้นทางไทยญี่ปุ่นล้วนเดินทางไปลงทั้งสองสนามบิน จึงสามารถเลือกขึ้นลงสนามบินที่ชอบกันได้ตามอัธยาศัย

1.2 แบบเปลี่ยนเครื่อง (Transit)
สายการบินอื่นๆอีกหลายสายมีบินแบบแวะเปลี่ยนเครื่อง คือจะต้องไปลงเครื่องที่สนามบินในประเทศฐานการบินของสายการบินนั้นๆก่อนจะไปสู่ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เสียเวลาไปบ้าง มักใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ราคาตั๋วบางครั้งบางคราวก็จะถูกกว่าแบบบินตรงเสียอีก และใครที่ชอบแวะเดินเล่นในสนามบินของประเทศทางผ่าน ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่สนุกดี

สายการบินที่ลงเครื่องสนามบินนาริตะ
- มาเลเซียแอร์ไลน์ (Malaysia Airlines)
- สิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airlines)
- เวียดนาม แอร์ไลน์ (Vietnam Airlines)
- คาเธ่ย์แปซิฟิค (Cathay Pacific)
- แอร์มาเก๊า (Air Macau)
- ไชน่าแอร์ไลน์ (China Airlines)
- แอร์ไชน่า (Air China)
- ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ (China Eastern Airlines)
- โคเรียนแอร์ (Korean Air)
- เอเชียน่าแอร์ไลน์ (Asiana Airlines)

สายการบินที่ลงเครื่องสนามบินฮาเนดะ
- สิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airlines)
- คาเธ่ย์แปซิฟิค (Cathay Pacific)
- แอร์ไชน่า (Air China)
- ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ (China Eastern Airlines)
- ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์ (China Southern Airlines)

2.สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost)

ซื้อตั๋วได้ในราคาแบบสบายกระเป๋า มีเงินไว้จับจ่ายที่ญี่ปุ่นเยอะขึ้น แต่ถ้าราคาตั๋วแบบถูกสุดจะไม่มีบริการอย่างเช่น โหลดกระเป๋า อาหาร/เครื่องดื่ม บริการเลือกที่นั่ง เป็นต้น

สายการบินที่ลงเครื่องสนามบินนาริตะ
- ไทยแอร์เอเชียเอกซ์ (Thai AirAsia X)
- นกสกู๊ต (NokScoot)
- ไทย ไลอ้อน แอร์ (Thai Lion Air)

จากรายชื่อสายการบิน เราจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะบินไปลงที่สนามบินนาริตะ ทั้งสายการบินแบบ Full Service และสายการบิน Low Cost ส่วนที่สนามบินฮาเนดะรองรับเฉพาะสายการบินแบบ Full Service อย่างเช่น การบินไทย (Thai Airways) เจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) ออลนิปปอน แอร์เวย์ (All Nippon Airways) ไม่มีสายการบิน Low Cost และรองรับพวกสายการบินภายในประเทศ ราคาตั๋วเครื่องบินที่มาลงฮาเนดะก็จะสูงกว่านาริตะด้วย

และแล้วก็ได้เวลาพาไปแนะนำสนามบินฮาเนดะกับสนามบินนาริตะกันแล้ว

สนามบินฮาเนดะ

สนามบินฮาเนดะ

https://pixta.jp/

สนามบินฮาเนดะ (HND) หรือท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (Tokyo International Airport) เป็นสนามบินที่เป็นเหมือนสหายเก่าแก่ของญี่ปุ่น เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1931 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้เป็นสนามบินหลักมายาวนาน พอถึงปี ค.ศ.1978 ก็มีสนามบินนาริตะเปิดให้บริการเพิ่ม กลายเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่แทน ส่วนสนามบินฮาเนดะนั้นก็เปลี่ยนไปใช้เป็นสนามบินสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก แต่ต่อมาปริมาณผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก จึงมีการกลับมาใช้สนามบินฮาเนดะกับเที่ยวบินระหว่างประเทศด้วยเพื่อแบ่งเบาสนามบินนาริตะ โดยกลับมาให้บริการในปี ค.ศ.2010

สนามบินฮาเนดะแบ่งออกเป็น 3 เทอร์มินัล ได้แก่ เทอร์มินัล 1 เป็นพื้นที่ให้บริการของสายการบินของ JAL และพันธมิตรเป็นหลัก เทอร์มินัล 2 เป็นพื้นที่ให้บริการของสายการบินของ ANA และสายการบินเล็กภายในประเทศอื่นๆอีก ส่วนเทอร์มินัล 3 เป็นของเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Terminal)

สนามบินฮาเนดะอยู่ใกล้มาก ห่างจากใจกลางโตเกียวไปทางทิศใต้เล็กน้อย และยังอยู่ในเขตโอตะ ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน 23 เขตปกครองพิเศษของโตเกียว

การเดินทางจากสนามบินฮาเนดะสู่โตเกียว

ในแง่การเดินทาง สนามบินฮาเนดะสามารถเข้าสู่ใจกลางโตเกียวได้เร็ว ถูก และง่ายกว่านาริตะมาก การเดินทางจากสนามบินฮาเนดะเข้าเมืองโตเกียวสามารถเดินทางได้หลายวิธีดังนี้

โตเกียวโมโนเรล (Tokyo Monorail) เป็นรถไฟรางเดียวที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินฮาเนดะกับสถานี Hamamatsucho ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14 นาที ค่าโดยสารผู้ใหญ่ 500 เยน / เด็ก 250 เยน/เที่ยว และจากสถานี Hamamatsucho เราสามารถต่อรถไฟ JR Yamanote ไปสถานีต่างๆ ในโตเกียวได้สะดวกสบาย

รถไฟสาย Keikyu เป็นรถไฟสไตล์วินเทจที่วิ่งจากสนามบินฮาเนดะไปถึงสถานี Shinagawa ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายต่างๆ เช่น สาย JR Yamanote สาย Oedo Line ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 นาที ราคาตั๋ว 410 เยน/เที่ยว

รถบัสลีมูซีนของสนามบิน (Airport Limousine) เป็นรถบัสที่วิ่งระหว่างสนามบินฮาเนดะกับสนามบินนาริตะ และแวะจอดตามสถานีรถไฟต่าง ๆ ในโตเกียว เช่น สถานี Tokyo สถานี Ikebukuro สถานี Shinjuku สถานี Asakusa สถานี Ginza สถานี Roppongi เป็นต้น ราคาค่าโดยสารก็ขึ้นอยู่กับสถานีที่เราจะลง ก็อยู่ที่ประมาณ 930 - 1500 เยน/เที่ยว

รถบัส Keikyu Limousine เป็นรถบัสของ Keikyu ที่วิ่งจากสนามบินฮาเนดะไปตามสถานีรถไฟและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น โตเกียวดิสนีย์แลนด์ Roppongi Hills หรือ Ooedo Onsen Monogatari หรือ Tokyo Railway Station เป็นต้น มีวิ่งทั้งรอบกลางวันและกลางคืน ค่าโดยสารเที่ยวกลางวันผู้ใหญ่ 930 เยน เด็ก 470 เยน ส่วนค่าโดยสารเที่ยวหลังเที่ยงคืน ผู้ใหญ่ 1,030 เยน เด็ก 520 เยน

แท็กซี่ เป็นทางเลือกท้ายๆ เพราะค่าโดยสารค่อนข้างแพง และตัวเลือกอื่นก็เยอะ เผื่อไว้เวลาที่ตกรถเที่ยวสุดท้ายหรือสัมภาระเยอะ

สนามบินนาริตะ

สนามบินนาริตะ

https://pixta.jp/

สนามบินนาริตะ (NRT) หรือ ท่าอากาศยานนานาชาตินะริตะ (Narita International Airport) เป็นสนามบินที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดที่มาโตเกียว ตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะ (Narita) จังหวัดชิบะ (Chiba) ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกประมาณ 60 กิโลเมตร เปิดทำการในปี 1978 ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสาร (Terminal) 3 อาคารดังนี้

อาคารผู้โดยสาร 1 ทางปีกเหนือ (Terminal 1 North Wing) สำหรับรองรับสายการบินในกลุ่มพันธมิตร SkyTeam ทั้งหมด และ 2 สายการบินที่ไม่ใช่พันธมิตร ซึ่งได้แก่ สายการบิน Virgin Atlantic และสายการบิน Aircalin

อาคารผู้โดยสาร 1 ทางปีกใต้ (Terminal 1 South Wing) สำหรับรองรับสายการบินในกลุ่มพันธมิตร Star Alliance ทั้งหมด ซึ่งรวมการบินไทยกับ ANA ด้วย นอกจากนี้ยังมีสายการบินที่ไม่ใช่พันธมิตรอื่นๆอีกเล็กน้อย

อาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2) ใช้สำหรับรองรับสายการบินในกลุ่มพันธมิตร Oneworld และสายการบินอื่นๆ ทั้งหมดรวมถึง Japan Airlines ด้วย และที่สำคัญสำหรับคนไทยคือ สายการบินต้นทุนต่ำเช่น Thai AirAsia X หรือ นกสกู๊ต (NokScoot) จะมาลงที่นี่

อาคารผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) เปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับรองรับสายการบิน Low Cost ทั้งในและต่างประเทศ (แต่ไม่มี Low Cost ของไทย)

การเดินทางจากสนามบินนาริตะสู่โตเกียว

การเดินทางจากสนามบินนาริตะเข้าโตเกียวโดยหลักๆ ก็มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีดังนี้

JR Narita Express (N’EX) ส่วนใหญ่ก็เรียกย่อๆ ว่า N’EX กัน เป็นรถไฟด่วนพิเศษของ JR ที่จอดตามสถานีใหญ่ๆ ของโตเกียวเช่น สถานี Tokyo สถานี Shinagawa สถานี Shibuya สถานี Shinjuku และสถานี Ikebukuro เป็นต้น ที่นั่งมี 2 แบบคือที่นั่งปกติ ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 3,060 เยน กับที่นั่งเฟิร์สคลาส ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 4,640 เยน

รถไฟสาย Keisei เป็นรถไฟที่ให้บริการโดยบริษัท Keisei มี 3 แบบคือ รถด่วนพิเศษ (Skyliner) ราคาตั๋วผู้ใหญ่ 2,520 เยน/เที่ยว เด็ก 1,270 เยน/เที่ยว รถด่วนทั่วไป (Access Express) ราคาตั๋วขึ้นอยู่กับระยะทาง ผู้ใหญ่ประมาณ 1,350 เยน/เที่ยว เด็กประมาณ 675 เยน/เที่ยว และรถไฟธรรมดา (Keikyu Main Line) ราคาตั๋วขึ้นอยู่กับระยะทาง ผู้ใหญ่ประมาณ 1,050 เยน/เที่ยว เด็กประมาณ 525 เยน/เที่ยว

รถบัส มีให้เลือกหลายบริษัท และหลายเส้นทางที่อยู่ในช่วงระหว่างสนามบินนาริตะ สนามบินฮาเนดะ และโตเกียว แต่ราคานั้นไม่จำเป็นว่าต้องถูกกว่ารถไฟ ราคาของสายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2,000-4,000 เยน/เที่ยว แล้วแต่ว่าไปลงที่ไหน ราคาที่ค่อนข้างถูกก็จะอยู่ประมาณ 900-1,000 เยน แต่อาจมีน้อย เต็ม หรือไม่ไปลงที่ๆเราต้องการ

สรุปความแตกต่างระหว่างสนามบินฮาเนดะกับสนามบินนาริตะ

- สนามบินนาริตะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นหลัก มีในประเทศน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนสนามบินฮาเนดะรองรับทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินภายในประเทศ

- สนามบินนาริตะ รองรับทั้งสายการบินแบบ Full Service และสายการบิน Low Cost ส่วนที่สนามบินฮาเนดะรองรับเฉพาะสายการบินแบบ Full Service ไม่มีสายการบิน Low Cost จากไทย

- ค่าตั๋วเครื่องบินที่มาลงสนามบินฮาเนดะ โดยรวมจะราคาสูงกว่าที่มาลงสนามบินนาริตะแน่นอนเพราะค่าบริการสนามบินที่แพงกว่า แต่ค่าเดินทางจากสนามบินฮาเนดะเข้าโตเกียวถูกกว่ามาก

- สนามบินฮาเนดะอยู่ใกล้โตเกียวมากกว่า (อยู่ภายใน 23 เขตปกครองพิเศษของโตเกียว หรือย่านที่เจริญที่สุดนั่นเอง) ทำให้การเดินทางเข้าเมืองโตเกียวสะดวกรวดเร็วและราคาถูก ส่วนสนามบินนาริตะอยู่ไกลจากโตเกียวเพราะอยู่ถึงจังหวัดชิบะ (ห่างจากโตเกียวประมาณ 60 กิโลเมตร) ต้องเสียค่าเดินทางเข้าโตเกียวแพง และใช้เวลาเดินทางนาน กว่าจะไปถึงที่หมายอาจจะเหนื่อยกว่า

- ถ้าต้องการต่อเที่ยวบินภายในญี่ปุ่น ต่อเครื่องที่สนามบินฮาเนดะสะดวกกว่ามาก ที่สนามบินนาริตะมีสายการบินไปยังเมืองอื่นในญี่ปุ่นค่อนข้างน้อย

- เที่ยวบินที่จะลงสนามบินนาริตะมีให้เลือกมากกว่า โดยเฉพาะจากไทย เครื่องลงสนามบินฮาเนดะมีน้อยกว่า ถ้าเลือกเวลาบินแล้วลงเครื่องมา แต่รถไฟหรือรถบัสเที่ยวสุดท้ายหมดหารถต่อไม่ได้ก็อาจต้องนั่งเท็กซี่เสียเงินแพง

- สนามบินฮาเนดะไม่ใหญ่เท่านาริตะ ดังนั้นก็ไม่ต้องเดินไกลมากไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องหรือขึ้นลงเครื่อง

- ช่องตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินฮาเนดะมีจำนวนน้อยกว่าสำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ บางช่วงเวลาอาจไม่เพียงพอต่อเที่ยวบินที่เข้ามาพร้อมๆ กัน อาจต้องรอคิวค่อนข้างนาน

- ร้านค้า Duty Free ที่สนามบินฮาเนดะมีจำนวนน้อยกว่าสนามบินนาริตะมากเลยทีเดียว ร้าน Duty Free ที่นาริตะมีความหลากหลายและมีทั้ง 2 เทอร์มินัล

ผู้เขียน: hikawasa
นักแปลภาษาญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ
นักเขียนของ AAJ
ทำงานเบื้องหลังเล็กๆ น้อยๆ เช่น รับจ๊อบรีวิวหนังสือเพื่อคัดเลือกต้นฉบับมาแปล/อีดิท/พรูฟรีด
รักการ์ตูนเรื่อง Kuroko no Basket มากทุกรูปแบบทั้งอนิเมะ มังงะ เกม กู๊ดส์

know-before-you-go