ไปญี่ปุ่น นั่งรถไฟหรือเช่ารถขับดี
หน้าแรก การเที่ยวด้วยรถไฟและรถสาธารณะ
แม้ว่าญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อในเรื่องของเส้นทางรถไฟที่ครอบคลุม สะดวกสบาย และยังมีพาสให้เลือกหลากหลายรูปแบบในราคาประหยัด แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีเช่ารถขับเที่ยวญี่ปุ่น หลายคนอาจสงสัยว่าวิธีไหนดีกว่ากัน หรือวิธีไหนที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่ากัน เราจึงรวบรวมข้อมูลของการเดินทางสองรูปแบบนี้มาเปรียบเทียบให้ดูกันชัดๆ
เที่ยวแบบไหนกับใครควรนั่งรถไฟ
เที่ยวญี่ปุ่นมือใหม่: สำหรับคนที่เที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกๆ ยังไม่คุ้นชินกับระบบการเดินทางรูปแบบต่างๆ การขึ้นรถไฟเที่ยวเป็นวิธีที่ง่ายดายและสะดวกสบายมากที่สุด เพียงแค่ทำความเข้าใจเรื่องสายรถไฟของเมืองที่จะไปอย่างคร่าวๆ โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยในการเดินทางติดตัวไว้ และลองสำรวจเส้นทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางล่วงหน้า เพื่อเลือกวิธีการเดินทางที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งความครอบคลุมของเส้นทางรถไฟในญี่ปุ่นนั้นก็มากเพียงพอที่จะพาไปเจอสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ และสร้างความประทับใจในการเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งแรกได้เป็นอย่างดี
เที่ยวแบบแบ็คแพ็ค เน้นประหยัด: ญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่พาสราคาแพงหลายพันบาทเท่านั้น แต่ยังมีพาสเล็กๆตามพื้นที่ต่างๆอีกมากมายที่มีราคาเพียงแค่หลักร้อยบาท และยังใช้เที่ยวได้อย่างจุใจทั้งวัน เช่นพาสรถไฟใต้ดินในโตเกียว ที่แบบ 1 วัน ราคา 800 เยน (240 บาท) หรือแบบ 3 วัน 1,500 เยน (ตกวันละ 500 เยนหรือ 150 บาท) ซึ่งในพื้นที่อื่นๆเช่นเมืองใหญ่ในภูมิภาคคันไซ ฟุกุโอกะ ซัปโปโร ก็มีพาสลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้นหากไม่ได้มีสถานที่ๆอยากไปเป็นพิเศษซึ่งต้องเดินทางออกไปไกลๆ การใช้แค่พาสเล็กๆเหล่านี้ก็สามารถเที่ยวทั่วเมืองหลักได้ในราคาประหยัดเพียงไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น และนอกจากนี้ เมืองรองเองก็มีพาสแบบเล็กๆให้เลือกใช้ตามสะดวกเช่นกัน อย่างเช่นพื้นที่ีรอบๆเมืองคามาคุระเป็นต้น
เที่ยวเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นหลัก: สำหรับใครที่มีเวลาเที่ยวสั้นๆและอยู่ในเมืองใหญ่เป็นหลัก แทบไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเช่ารถขับ เพราะการเดินทางด้วยรถไฟและระบบขนส่งสาธารณะอื่นในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างครอบคลุมและมีราคาถูกอยู่แล้ว หรือหากมีแผนเที่ยวแบบ 1 Day Trip ไปยังเมืองใกล้เคียง ก็ยังมีตัวเลือกทั้งรถไฟท้องถิ่นและรถบัสระหว่างเมืองคอยให้บริการ เพียงแต่มีเรื่องต้องระวังบางเรื่อง เช่นต้องตรวจสอบตารางการให้บริการล่วงหน้า และอาจต้องจองตั๋วไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เป็นฤดูท่องเที่ยวซึ่งอาจมีคนเดินทางเยอะเป็นพิเศษ
สิ่งที่จำเป็นในการนั่งรถไฟ
รู้ข้อมูลรถไฟเบื้องต้น: เช่นตารางเวลา ค่าโดยสาร ระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์อย่าง Hyperdia และแอปพลิเคชันท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้สามารถวางแผนการเดินทางคร่าวๆ ได้ และรู้ตัวเลือกที่เหมาะสมกับการเดินทางของตนเองมากที่สุด
พาสต่างๆ: ถือเป็นตัวช่วยในการเดินทางที่ดีที่สุดของนักท่องเที่ยว เนื่องจากรถไฟของญี่ปุ่นนั้นมีพาสให้เลือกตั้งแต่พาสทั่วประเทศ เฉพาะภูมิภาค ย่อยลงมาถึงพาสเฉพาะเมืองต่างๆ และยังสามารถเลือกวันใช้งานที่ต้องการได้ตั้งแต่ 1-21 วัน (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-7 วัน) แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีพาสแล้วจะขึ้นรถไฟได้ทุกสาย ทุกขบวน พาสส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดเบื้องต้นที่ควรศึกษาไว้ล่วงหน้า เช่น JR Pass นั้นใช้ขึ้นได้เฉพาะรถไฟของบริษัท JR เท่านั้น หรือหากใช้ขึ้นรถไฟชินคันเซน ก็ไม่สามารถขึ้นขบวน Nozomi หรือ Mizuho ได้ เป็นต้น
IC Card และวิธีการซื้อตั๋วรถไฟเบื้องต้น: วิธีซื้อตั๋วรถไฟในญี่ปุ่นอาจมีความแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย แต่ในกรณีที่ซื้อจากตู้อัตโนมัติ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องรู้ค่าโดยสารระหว่างต้นทางและปลายทางก่อน (โดยการดูจากป้ายหรือตรวจจากในแอป) จากนั้นจึงกดเลือกราคาดังกล่าวบนหน้าจอ และใส่เงินเข้าไปในตู้ หรือซื้อโดยการไปแจ้งข้อมูลกับพนักงานที่เคาท์เตอร์จองตั๋วภายในสถานี และยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการซื้อ IC Card หรือบัตรเงินสดที่สามารถเติมเงินเข้าไปและใช้ขึ้นลงรถไฟได้โดยไม่ต้องซื้อตั๋วล่วงหน้า เพียงแค่แตะบัตรที่ประตูทางเข้าและทางออก ระบบก็จะหักเงินค่าโดยสารออกจากบัตรโดยอัตโนมัติ ซึ่งสะดวกและประหยัดเวลาการต่อคิวซื้อตั๋วรายเที่ยว
ข้อดีและข้อเสียของการนั่งรถไฟ (และรถสาธารณะ)
ข้อดี
- มีพาสให้เลือกหลากหลาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยประหยัดเวลาในการต่อคิวซื้อตั๋ว
- มีตารางเวลาที่แน่นอน ทำให้ควบคุมเวลาในการเดินทาง และช่วยในการวางแผนการเดินทางได้
- ถ้าเที่ยวเฉพาะในเมืองใหญ่ๆเช่นโตเกียวโอซาก้า ที่มีทั้งรถไฟบนดินและใต้ดิน การนั่งรถไฟถือว่าค่อนข้างครอบคลุมที่เที่ยวแทบทุกแห่งโดยไม่ต้องเดินทางด้วยวิธีอื่น
- เหมาะสำหรับทุกคน เป็นวิธีเดินทางที่ทำความเข้าใจได้ง่าย มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือตามสถานีต่างๆ ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ
- ไม่ต้องขับรถ ระหว่างเดินทางสามารถคุย เล่น หลับกันได้ตามสะดวก
ข้อเสีย
- ไม่สะดวกสำหรับคนที่มีสัมภาระเยอะหรือมีกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ เพราะแม้แต่รถไฟใหญ่อย่างชินคันเซนเองก็ยังมีพื้นที่วางกระเป๋าเดินทางที่จำกัด
- รถไฟไม่ได้วิ่งไปถึงทุกที่ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เที่ยวแนวธรรมชาติ ป่า ภูเขา ทะเลสาบ ออนเซ็น มักจะต้องต่อรถบัสหรือรถแท็กซี่อีก
- รถไฟไม่ได้วิ่ง 24 ชั่วโมง และในพื้นที่นอกเมืองใหญ่ บางครั้งรถไฟอาจหมดตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ จึงทำให้เที่ยวนานๆไม่ได้ หรือใครที่มีไฟลท์บินเช้ามากๆ ก่อนที่รถไฟจะเริ่มวิ่งต้องหันไปใช้ทางเลือกอื่นแทน
- อาจเจอผู้คนมหาศาลในชั่วโมงเร่งด่วนทั้งในช่วงเช้า (08.00 -09.00) และช่วงเย็น (18.00-19.00) โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งหลายครั้งก็หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะนักท่องเที่ยวเองก็มักจะเดินทางในช่วงเวลานี้เช่นกัน
- มีโอกาสไม่ได้ที่นั่ง (แม้จะเป็นรถไฟชินคันเซนหรือรถไฟด่วน) หากเดินทางในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว รวมถึงการขึ้นรถไฟธรรมดาในชั่วโมงเร่งด่วน
บริเวณไหนที่ควรนั่งรถไฟ
โตเกียว, โอซาก้า ฟุกุโอกะ นาโกย่า และเมืองใหญ่อื่นๆ: สำหรับคนที่เน้นเที่ยวตามเมืองใหญ่เป็นหลัก ทั้งรถไฟใต้ดินและบนดินภายในเมืองอย่างโอซาก้า นาโกย่า โตเกียว ฟุกุโอกะ หรือแม้แต่เซ็นไดซัปโปโรนั้น ก็ถือว่าครอบคลุมที่เที่ยวดังๆในเมืองแทบทุกแห่ง และยังมีพาสให้เลือกอีกหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น 1 Day Pass ที่มีราคาเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หากไม่มีเหตุผลจำเป็นจริงๆก็แทบไม่ต้องใช้การเดินทางในรูปแบบอื่นเลย
เส้นทางรถไฟชมธรรมชาติสายต่างๆ: แม้ว่าการเช่ารถขับดูเหมือนจะได้ชมวิวสวยๆ ระหว่างทางมากกว่า แต่เส้นทางรถไฟหลายแห่งในญี่ปุ่นก็พยายามสร้างจุดขายด้วยการพัฒนาเส้นทางรถไฟชมธรรมชาติขึ้นมามากมาย หนึ่งในเส้นทางที่รู้จักกันดีคือรถไฟสายโรแมนติคซากาโนะที่อาราชิยาม่า จ.เกียวโต ที่วิ่งผ่านหุบเขาเพื่อสัมผัสความสวยงามของดอกซากุระและใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งไม่สามารถชมวิวเดียวกันจากการขับรถด้วย และยังมีเส้นทางแบบเดียวกันนี้ในอีกมากมายในทุกภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น