เทศกาลปีใหม่ในแบบฉบับของญี่ปุ่น
ชมพระอาทิตย์แรกของปี
การชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปีใหม่ สถานที่ที่นิยมกันก็จะเป็นภูเขา ทะเล หรือตึกสูงที่เห็นวิวได้ชัดเจน โดยมีความเชื่อว่า ได้ชมพระอาทิตย์แรกของปีก็เหมือนได้รับพลังศักดิ์สิทธิ์ในการดำรงชีวิต เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและนำความสุขมาให้ตลอดปี ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่สถานที่ต่างๆที่ได้รับความนิยมในการเดินทางไปชมแสงแรกของปีก็จะเปิดเป็นกรณีพิเศษในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ตลอดทั้งคืนถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม
สถานที่ยอดนิยมในการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นวันแรกของปีใหม่ก็มีอยู่ทั่วทุกจังหวัด เช่น ชายฝั่งทะเลกับวิวหินคู่รัก (Bungo Futamigaura) ในจังหวัดโออิตะ, ทะเลสาบทั้ง 5 รอบภูเขาไฟฟูจิในจังหวัดยามานาชิ, บนจุดชมวิวภูเขาทาคาโอะของโตเกียว เป็นต้น
และเมื่อวันที่ 1 มกราคมมาถึง หลังจากชมแสงแรกของพระอาทิตย์แล้ว ประเพณีที่นิยมกันมากอีกอย่างของชาวญี่ปุ่นก็คือชวนกันไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่อสวดมนต์ ขอพรปีใหม่ ทำบุญและอธิษฐานเพื่อความเป็นมงคลแก่ตัวเอง โดยผู้หญิงก็นิยมแต่งชุดกิโมโนไปวัดหรือศาลเจ้าในวันนี้ด้วย
ฮัทสึโมเดะ การขอพรปีใหม่ครั้งแรกของปี ที่วัดหรือศาลเจ้า (Hatsumode)
วัดและศาลเจ้าที่ชาวญี่ปุ่นนิยมไปสักการะขอพรปีใหม่ในแต่ละภูมิภาคก็มีหลายแห่ง เช่น
ศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Jinja) ในเกียวโต ซึ่งมีพิธีไฟศักดิ์สิทธิ์นั่นคือการแกว่งเชือกที่จุดไฟในช่วงเวลาที่ไปขอพรในคืนที่เข้าสู่ปีใหม่ ตามความเชื่อว่าเพื่อปัดเป่าโชคร้ายในปีที่ผ่านมาออกไป และขอให้โชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังมาถึง
ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu) ในกรุงโตเกียวก็มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก ถือว่าเป็นศาลเจ้าอีกแห่งที่มีผู้คนเดินทางไปไหว้ขอพรมากที่สุดในช่วงปีใหม่ของทุกปี
ศาลเจ้าดาไซฟุ (Dazaifu Tenmangu) ในจังหวัดฟุกุโอกะ ก็เป็นศาลเจ้าที่เชื่อกันว่าถ้ามาขอพรปีใหม่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้จะทำให้ประสบความสำเร็จเรื่องการเรียน
วิธีการสักการะขอพรที่ศาลเจ้าหรือวัดในวันปีใหม่ตามแบบฉบับชาวญี่ปุ่นจะมี 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.โยนเหรียญลงในกล่องถวายเงิน เพื่ออัญเชิญเทพเจ้าให้มารับการสักการะ ส่วนใหญ่นิยมใช้เหรียญ 5 เยน
2.สั่นกระดิ่งที่แขวนอยู่ข้างหน้ากล่องถวายเงิน เป็นการอัญเชิญเทพเจ้าที่บนสวรรค์ให้ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อรับการสักการะ
3.โค้งคำนับ 2 ครั้ง เป็นขั้นตอนการคำนับฟ้าดิน
4.พนมมือและอธิษฐาน
5.ปรบมือ 2 ครั้ง เพื่อแสดงความคารวะเทพเจ้าที่ได้มารับฟังสิ่งที่เราขอพร และอัญเชิญให้กลับไปสถิตย์ยังที่เดิม
6.โค้งคำนับ 1 ครั้ง เพื่อคารวะต่อศาลเจ้าอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
"โอมิคุจิ" และ "โอมาโมริ" รับปีใหม่
ประเพณีปีใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในญี่ปุ่น คงเป็นการเสี่ยงเซียมซีเพื่อรับใบทำนายที่วัดหรือศาลเจ้าหรือที่เรียกว่า “โอมิคุจิ” เพื่อทำนายว่าในปีนี้ดวงชะตาจะเป็นอย่างไร โดยมีรูปแบบดวงชะตาราวๆ หนึ่งร้อยรูปแบบ ซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการเงิน, สุขภาพ, ความรัก และอื่นๆ หากอ่านแล้วรู้สึกว่าคือโชคร้าย ตามธรรมเนียมก็จะต้องผูกใบเซียมซีนี้ไว้ในบริเวณวัดหรือศาลเจ้าเพื่อเป็นการทิ้งความโชคร้ายเอาไว้ที่นี่ ส่วนใครที่ได้โชคดีก็มักจะนำใบเซียมซีกลับไปด้วย
ส่วน “โอมาโอริ” ก็คือเครื่องรางที่มีความหมายเป็นสิริมงคลที่สามารถซื้อได้ในศาลเจ้าหรือวัดในวันปีใหม่ ตามจุดประสงค์ที่แต่ละคนต้องการ เช่น เครื่องรางเนื้อคู่, เครื่องรางส่งเสริมเรื่องการเงิน, สุขภาพ เป็นต้น โอมาโอริที่พบเห็นได้ทั่วไปจะมีลักษณะเป็นถุงไหมปักเล็กๆ สำหรับพกพาติดตัวนั่นเอง