allabout japan
allabout japan

เงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

ค่ากิน-ค่าเช่า-ค่าเทอม-เงินเดือน-ค่าเดินทาง-ภาษีญี่ปุ่น คนที่จะเรียนต่อญี่ปุ่นหรือทำงานมารู้กันไว้ดีกว่า บทความนี้มีทุกคำตอบเรื่องรายรับรายจ่ายในญี่ปุ่น เตรียมตัวเอาไว้ให้ดีสำหรับคนที่ยังมีความฝัน ทั้งคนที่อยากเรียนญี่ปุ่น คิดหางานญี่ปุ่น หรือแม้แต่อยากทำงานต่างประเทศอื่นๆ ก็ควรอ่านเอาไว้

By รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

สารบัญ

หน้า 1 รายจ่ายในญี่ปุ่น
- เตรียมตัวเรียนต่อหรือทำงานที่ญี่ปุ่น
- ค่าอาหารในญี่ปุ่น
- ค่าเดินทาง (ไปกลับโรงเรียนหรือที่ทำงาน ต่อเดือน)
- ค่าเทอมของนักเรียนญี่ปุ่น
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น
- "ค่าใช้จ่าย" อื่นๆของพนักงานบริษัท

หน้า 2 ค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น
- 1. ที่ตั้ง
- 2. ประเภทอาคาร
- 3. ออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัย
- 4. ขนาดห้องและแปลนห้อง
- สรุปเรื่องห้อง

หน้า 3 เงินเดือนญี่ปุ่น
- เงินเดือน
- บำนาญและประกันสุขภาพ
- ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงเมือง และภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT
- สาเหตุที่คนไทยหลายคนได้เงินเดือนต่ำกว่าที่ควร
- เราควรจะทำงานที่ญี่ปุ่นมั้ย
- งานประจำที่ญี่ปุ่น
- ทำงานญี่ปุ่นเก็บเงินได้แค่ไหน

ค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น

ค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น

หัวข้อที่ใหญ่และคุยกันยาวที่สุดน่าจะเป็นเรื่องค่าเช่าบ้านนี่เองเพราะมีหลายเรื่องที่ต้องอธิบายก่อนจะสรุป

หลังจากที่ผมเองอยู่บ้านมาถึงห้าหลังในโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง ต้องย้ายบ้านและหาบ้านใหม่หลายครั้ง ข้อมูลบ้านผ่านตามาเยอะพอควร ผมขอรับรองว่าแม้อยู่ในโตเกียวการหาบ้านที่ราคาต่ำกว่า 50,000 เยนนั้นก็ทำได้จริง ตัวผมเองเคยอยู่บ้านเช่าราคาถูกที่สุด 37,000 เยนต่อเดือน โดยห้องมีขนาดใหญ่และมีปัจจัยเทียบเท่าห้องของเพื่อนหลายคนที่ราคา 50,000-80,000 (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)

แต่ว่าต้องแลกกับการเดินทางไกลหนึ่งชั่วโมง ซึ่งถือว่านานมากสำหรับคนโตเกียว ใครที่ไม่ชอบตื่นเช้าก็คงจะลำบากหน่อย (แต่เทียบกับสมัยที่อยู่กรุงเทพแล้วก็ยังสบายกว่าอยู่ดี)

หลายคนเลือกที่จะไม่เอาห้องราคาถูกเพราะความสะดวกลดลงตามราคา ไม่ใช่แค่ขนาด แต่ยังรวมถึงห้องน้ำ ห้องครัว ระยะทางที่อาจจะไกลจากที่เรียนหรือที่ทำงานมากเป็นต้น นอกจากนี้นักเรียนไทยในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักฐานะค่อนข้างดี หรือถ้าหากเป็นคนทำงานบริษัทแล้วละก็ เงินเดือนสตาร์ทของญี่ปุ่นสามารถเช่าห้องราคา 50,000-80,000 เยนได้โดยไม่ลำบากนัก

และสิ่งนึงที่อยากให้ทุกคนจำไว้ในการเช่าห้องก็คือ ได้อย่างเสียอย่าง ถ้าได้ทุกอย่าง แพง

การจะเช่าห้องหนึ่งห้องต้องคิดหลายปัจจัย ปัจจัยที่กระทบกับคนต่างชาติมากที่สุดในเรื่องราคาบ้านก็มีดังนี้

1. ที่ตั้ง

1. ที่ตั้ง

สำคัญที่สุดก็คือโลเคชั่น ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ ที่สถานีชินจูกุ สุดยอดศูนย์กลางความเจริญที่เรารู้จักกันดี ค่าเช่าเฉลี่ยของห้องเช่าประเภท 1R 1K 1DK (จะอธิบายในหัวข้อหลัง) อยู่ที่ 106,000 เยน แต่ถ้าหากนั่งรถไฟสาย Keio Line ออกห่างจากชินจูกุไป 5 สถานี ห้องประเภท 1R 1K 1DK เหมือนกันจะเหลือค่าเช่าเฉลี่ยแค่ 73,900 เยนเป็นต้น เพราะฉะนั้นหากใครทนตื่นเช้าได้มากกว่า นั่งรถไฟได้ไกลกว่า ก็จะได้บ้านที่ถูกกว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการเช่าบ้านในญี่ปุ่น

อีกหนึ่งปัจจัยก็คือระยะทางการเดินจากสถานีถึงบ้าน หากมีห้องสองห้องที่เหมือนกันเป๊ะๆ ห้องหนึ่งอยู่ติดสถานี อีกห้องเดิน 20 นาทีจากสถานีเดียวกัน แน่นอนว่าห้องที่ติดสถานีก็จะแพงกว่าครับ

2. ประเภทอาคาร

2. ประเภทอาคาร

ในบทความนี้เราขอไม่พูดถึงบ้านเดี่ยว เพราะร้อยทั้งร้อยคนที่ต้องเช่าห้องอยู่มักจะอยู่อาคารชุด คนที่ผมเคยเห็นว่าอยู่บ้านเดี่ยวก็มีแค่แม่บ้านคนไทยที่แต่งงานกับสามีญี่ปุ่นเท่านั้นเอง ซึ่งไม่เสียค่าเช่า (จริงๆก็เป็นทางเลือกนะ)

อาคารให้เช่าในญี่ปุ่นแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก คนญี่ปุ่นเรียกว่า "อพาร์ทเมนต์" และ "แมนชั่น" โดยข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ

อพาร์ทเมนท์ ร้อยทั้งร้อยจะสูงไม่เกินสามชั้นและโครงสร้างจะเป็นไม้
แมนชั่น โครงสร้างจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และสามารถสูงได้หลายสิบชั้น

ถ้าสรุปแบบเหมารวมง่ายๆเลยว่าแบบไหนดีกว่า คำตอบคือแมนชั่น และมีข้อดีหลายอย่างที่ดีกว่าแน่ๆโดยโครงสร้างของมัน อย่างเช่นการป้องกันสร้างกำแพงได้หนากว่าทำให้กันอากาศหนาวได้ดีกว่า และกันเสียงรบกวนได้ดีกว่า โครงสร้างเองก็ช่วยให้ทนแผ่นดินไหวได้ดีกว่าเป็นต้น ซึ่งเรื่องพวกนี้มักจะไม่เขียนในกระดาษ ต้องลองไปสัมผัสห้องด้วยตัวเองจะดีที่สุด

มีข้อยกเว้นเช่นอาคารไม้ที่ใช้เทคนิคสมัยใหม่ (มากๆๆ) บางหลังก็สามารถทนแผ่นดินไหวได้ดีกว่าอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก็มี แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าบ้านที่เราจะไปเช่าน่าจะไม่มีอะไรเด็ดๆ แบบนี้ เพราะฉะนั้นพยายามอย่าไปคาดหวังว่าอพาร์ทเม้นท์จะดีกว่าแมนชั่น

3. ออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัย

3. ออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัย

การรักษาความปลอดภัยเช่น อาคารที่มีส่วนกลาง มียามเฝ้าตลอดเวลา มีประตูล็อกอยู่ด้านหน้าก่อนเข้าส่วนกลางที่ต้องใช้การ์ดคีย์หรือพาสเวิร์ดในการเข้าออก ซึ่งคนแปลกหน้าไม่สามารถเดินไปถึงหน้าประตูห้องได้ พวกนี้เป็นออพชั่นที่ล้วนทำให้ค่าเช่าแพงขึ้นเมื่อเทียบกับตึกสเป็คเดียวกันที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้

สำหรับนักเรียนไทย (โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่อยู่คนเดียว) อาจจะต้องการออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัยเหล่านี้ ซึ่งห้องก็จะแพงขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนตัวแล้วสำหรับผมและผู้ชายญี่ปุ่นทั่วไปซึ่งไม่ต้องการออพชั่นเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสเลือกห้องที่ราคาถูกกว่า เป็นต้น

เพราะฉะนั้นข้อสรุปแบบเหมารวมอีกอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างจริงก็คือ ผู้หญิงรวมๆน่าจะเสียค่าเช่ามากกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

4. ขนาดห้องและแปลนห้อง

4. ขนาดห้องและแปลนห้อง

ขนาดห้องเข้าใจไม่ยาก ถ้าปัจจัยอื่นเหมือนๆกันหมด ห้องใหญ่กว่าก็จะแพงกว่า

แต่สำหรับแปลนห้องญี่ปุ่นจะไม่ได้เรียกเป็นสามห้องนอนสองห้องน้ำแบบไทย แต่มีชื่อเรียกที่เป็นมาตรฐานอย่างเช่น 1R 1K 2DK 3LDK ซึ่งอธิบายความหมายสั้นๆได้ดังนี้

ตัวเลข คือจำนวนห้องเปล่า (ห้องนอน) ไม่มีอุปกรณ์ครัวและเตาแก๊ส
R คือห้องสตูดิโอ ทำให้ส่วนใหญ่มีแต่ 1R เท่านั้น ไม่มี 2R 3R
K คือห้องแบบมีครัวที่ไม่มีอย่างอื่นนอกจากพื้นที่ทำอาหาร
DK คือห้องแบบมีครัวที่มีพื้นที่ทำอาหาร และพื้นที่กว้างพอวางโต๊ะกินข้าว
LDK คือห้องแบบมีครัวผสมห้องนั่งเล่น คือมีพื้นที่ทำอาหาร และมีพื้นที่กว้างพอที่จะวางโต๊ะกินข้าว โซฟา ทีวี และอื่นๆได้ในห้องเดียวกัน (ใกล้เคียงกับห้องรับแขกในคอนโดใหญ่ๆ)

รู้แค่นี้เราก็จะสามารถเข้าใจแปลนห้องได้พอควร อย่างเช่น 1DK คือมีหนึ่งห้องนอนและมีครัวที่กว้างพอจะตั้งโต๊ะกินข้าวได้ 3LDK คือสามห้องนอนพร้อมกับมีครัวที่กว้างพอจะเป็นห้องรับแขกด้วย

สรุปเรื่องห้อง

บ้านมีหลากราคา แต่ละคนก็มีหลากความต้องการต่างกัน แต่ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ

ค่าเช่าบ้านเฉลี่ยในโตเกียว (สำหรับห้องแบบ 1R 1K) = 50,000-80,000 เยน

ห้องแต่ละห้องนั้นแตกต่างกันไป ไม่มีห้องไหนที่เหมือนกันเป๊ะ แถมยังมีปัจจัยที่มองไม่เห็นหลายอย่าง อย่างเช่นความพอใจของเจ้าของบ้านที่จะตั้งราคาแพงเกินราคาตลาดที่ควรจะเป็นก็ได้ หรืออาจจะไม่อนุญาติให้คนต่างชาติเช่าห้องก็มี (มีคนเคยโดนอยู่บ้างเป็นครั้งคราว) และแน่นอน ความพอใจของเราเอง

ถ้าเป็นนักเรียนและมหาลัยมีหอ ก็แนะนำให้อยู่ไปเลยเพราะถูก ใกล้ และง่ายดี

เราต้องเก็บข้อมูลและเลือกเองครับสำคัญที่สุด อย่างตัวผมไม่ค่อยสนใจระบบรักษาความปลอดภัยเท่าไหร่ แต่ชอบตึกสูงที่วิวดี หน้าต่างมองออกไปไม่โดนตึกอื่นบังและรอบๆมีสวนสาธารณะ จะไกลจากสถานีแค่ไหนก๋็ไม่บ่น ผมก็เลยเลือกห้องให้ตัวเองแบบนึงซึ่งผมก็แฮปปี้ดี แต่สมมุติถ้าผู้หญิงที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย ตื่นสาย ชอบบ้านใกล้สถานีสะดวกสบาย มาให้ผมเลือกห้องให้ก็คงไม่แฮปปี้ครับ

จะเลือกห้องใกล้หรือไกลที่ทำงาน หรือจะเลือกแมนชั่นรักษาความปลอดภัยเต็มที่หรืออพาร์ทเม้นท์แบบโปร่งๆ แปลนห้องเล็กใหญ่แค่ไหน เดินจากสถานีไกลหรือใกล้ ก็ขอให้ทุกคนชั่งน้ำหนักเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดด้วยตัวเองครับ

ได้อย่างเสียอย่าง ถ้าได้ทุกอย่าง แพง

หน้าต่อไป มาคุยกันเรื่องเงินเดือนและภาษีต่างๆแบบคร่าวๆครับ ถึงจะไปเรียนก็ควรรู้ไว้นะ

รัชวุฒิ เชิดชูวานิช

บรรณาธิการ All About Japan ภาษาไทย เขียนบทความเองบ้างตามสมควร แต่ถนัดขอให้คนอื่นเขียนมากกว่า จุดเด่นคือมีเข็มขัดแค่เส้นเดียวที่ใช้มาตั้งแต่มหาลัยปี1