All About Japan

เงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

เรียนภาษาญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น ทำงานในญี่ปุ่น
เงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

ค่ากิน-ค่าเช่า-ค่าเทอม-เงินเดือน-ค่าเดินทาง-ภาษีญี่ปุ่น คนที่จะเรียนต่อญี่ปุ่นหรือทำงานมารู้กันไว้ดีกว่า บทความนี้มีทุกคำตอบเรื่องรายรับรายจ่ายในญี่ปุ่น เตรียมตัวเอาไว้ให้ดีสำหรับคนที่ยังมีความฝัน ทั้งคนที่อยากเรียนญี่ปุ่น คิดหางานญี่ปุ่น หรือแม้แต่อยากทำงานต่างประเทศอื่นๆ ก็ควรอ่านเอาไว้

สารบัญ

หน้า 1 รายจ่ายในญี่ปุ่น
- เตรียมตัวเรียนต่อหรือทำงานที่ญี่ปุ่น
- ค่าอาหารในญี่ปุ่น
- ค่าเดินทาง (ไปกลับโรงเรียนหรือที่ทำงาน ต่อเดือน)
- ค่าเทอมของนักเรียนญี่ปุ่น
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น
- "ค่าใช้จ่าย" อื่นๆของพนักงานบริษัท

หน้า 2 ค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น
- 1. ที่ตั้ง
- 2. ประเภทอาคาร
- 3. ออพชั่นเสริมด้านความปลอดภัย
- 4. ขนาดห้องและแปลนห้อง
- สรุปเรื่องห้อง

หน้า 3 เงินเดือนญี่ปุ่น
- เงินเดือน
- บำนาญและประกันสุขภาพ
- ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงเมือง และภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT
- สาเหตุที่คนไทยหลายคนได้เงินเดือนต่ำกว่าที่ควร
- เราควรจะทำงานที่ญี่ปุ่นมั้ย
- งานประจำที่ญี่ปุ่น
- ทำงานญี่ปุ่นเก็บเงินได้แค่ไหน

เตรียมตัวเรียนต่อหรือทำงานที่ญี่ปุ่น

เตรียมตัวเรียนต่อหรือทำงานที่ญี่ปุ่น

ก่อนอื่น วันนี้ขออนุญาติใช้เมืองโตเกียวและหน่วยเงินเยนเป็นหลัก ที่ใช้โตเกียวก็เพราะคนไทยเยอะที่สุด (และผมเองอยู่โตเกียว) ส่วนค่าเงินนั้น เนื่องจากค่าเงินไทย-ญี่ปุ่น-ดินแดงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงขออนุญาติให้ทุกคนไปคำนวณเอาเอง ไปญี่ปุ่นเมื่อไหร่ก็ใช้เรทตอนนั้น

สิ่งสำคัญที่อยากคุยกันในวันนี้คือจำนวนเงินที่ใช้จริงในญี่ปุ่นเป็นเงินเยน อย่างช่วงแรกๆที่ผมมาเรียนญี่ปุ่นนั้น 100 เยนอยู่ที่ประมาณ 40 บาท แต่พอผ่านไปก็เหลือประมาณ 100 เยน 30 บาทอย่างในปัจจุบัน เพราะค่าเงินเปลี่ยนแปลงบ่อย แทนที่จะรีบคิดเป็นเงินบาทเรามารู้หน่วยเงินเป็นเยนเอาไว้คร่าวๆก่อนดีกว่า

อีกหนึ่งเรื่องก็คือ ความแตกต่างของคุณภาพชีวิตที่แต่ละคนรับได้ คำว่าถูกและแพง ผมจะพยายามอธิบายให้เป็นรูปธรรมที่สุด ว่าสินค้าและบริการที่ผมเลือกใช้นั้นถูก แพง ดี แย่ยังไง แต่สรุปคือการรับรู้ความถูกและแพงแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันครับ

และสุดท้ายนี้ ในกรณีที่ต้องยกตัวอย่าง ผมจะยกตัวอย่างโดยนำตัวเลขจากบัญชีรายรับรายจ่ายที่ผมทำไว้เองตลอดหลายปีที่อยู่ญี่ปุ่นมาครับ พร้อมทั้งอธิบายว่าผมกินอยู่ยังไงอย่าเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่ทำได้

ค่าอาหารในญี่ปุ่น

ค่าอาหารในญี่ปุ่น

ก่อนอื่นเลยก็อาหาร เป็นรายจ่ายที่คงจะไม่เท่ากันและคุยยากที่สุดแล้ว เพราะแต่ละคนกินเยอะไม่เท่ากัน คำว่า "ร้านถูก" ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะงั้นตรงนี้มาตีความกันก่อนดีกว่า

เรื่องปริมาณ ผมกินเยอะแค่ไหนนั้นถ้าจะอธิบายคร่าวๆๆก็คือประมาณผู้ชายญี่ปุ่นธรรมดาครับ สูง 170 สามารถกินอาหารจานเดียวของญี่ปุ่นขนาดธรรมดาได้โดยไม่ต้องเพิ่มไซส์ก็อิ่ม

ส่วนคำว่า "ร้านถูก" ของผมนั้น ญี่ปุ่นจะมีร้านที่เรียกว่าวันคอยน์ (หนึ่งเหรียญ) อยู่ทั่วไป โดยร้านพวกนี้นั้นราคาส่วนใหญ่จะตั้งง่ายๆ ก็คือเหรียญห้าร้อยเยนหนึ่งเหรียญนั่นเอง ส่วนปริมาณนั้นไม่ได้มีมาตรฐานกำหนดเป็นกฏบัญญัติตายตัว แต่ว่าญี่ปุ่นไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะปริมาณพอๆกันไปหมด คือผู้ชายส่วนใหญ่จะกินอิ่มพอดี คนตัวใหญ่หน่อยก็อาจจะต้องเพิ่มข้าวเป็นต้น ถ้าหากอยากประหยัด ร้านแบบนี้แหละคือที่พึ่ง

กรณีนี้อยากจะพูดถึงการคำนวณราคาการ "กินข้างนอกทุกมื้อแบบประหยัด" โดยผมคำนวณจากราคาอาหารของร้านแบบประหยัดที่ว่ามาด้านบน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณอิ่มละ 500 เยน แล้วก็คูณสามมื้อ ตามด้วยคูณสามสิบวันครับก็เลยออกมาเป็น 45,000 เยน

แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนกินเพื่ออยู่ แต่เป็นแบบอยู่เพื่อกิน กินเพื่อความสนุก ความมันส์ รับรองได้เลยว่าจะไม่จบที่ห้าหมื่นเยนแน่นอน เพราะการกินแต่ร้านอาหารแบบประหยัดคุณจะไม่แฮปปี้แน่ๆ (นึกภาพอยู่ไทยแล้วกินแต่ข้าวแกงทุกวัน ไม่เข้าไปกินในห้าง ไม่กินร้านอาหารฝรั่งหรือญี่ปุ่น ไม่กินขนม ไม่กินชานมไข่มุก) หากคุณตั้งใจว่าจะไม่กินแบบประหยัด ราคาจะแตกต่างกันไปอย่างมากระหว่างคนครับ อาหารมื้ออร่อยในร้านอาหารดีๆของญี่ปุ่นนั้นสามารถมีราคาได้ตั้งแต่พันเยนต้นๆ จนถึงสองสามพันเยน ถ้าอยากกินอาหารคอร์สสุดหรูก็อาจถึงหลักหมื่นเยน ซึ่งอันนี้ก็จะแตกต่างกันมากๆระหว่างร้าน ผมจึงขอข้ามละกัน ขอเน้นสรุปเพื่อคนที่ตั้งใจจะอยู่อย่างประหยัดเป็นหลักครับ

ต่อไปคือการทำกินเองแบบประหยัด ถ้ากินครบสามมื้อและครบห้าหมู่ทุกวัน (ไม่กินมาม่าสามมื้อนะ) จะประหยัดยังไงค่าวัตถุดิบก็จะอยู่ที่ประมาณ 700-800 เยนต่อวันครับ ผมจึงคำนวณออกมาเป็นเดือนละประมาณสองหมื่นเยน ถ้าน้อยกว่านี้ก็อาจจะไม่ครบ บางวันอาจจะไม่มีผักหรือไม่มีเนื้อเป็นต้น แต่อาหารที่ทำจะต้องเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบชาวบ้านนะครับ ถ้าทำอาหารไทยละก็แพงกว่านี้แน่นอนเพราะวัตถุดิบหลายอย่างหาเองไม่ได้ครับ

ปัจจุบันผมทำงานออฟฟิศธรรมดา มื้อเที่ยงจะนิยมกินตามร้านใกล้ๆกับคนในออฟฟิศ (ไม่ทำข้าวกล่องกินเอง) ค่าอาหารอยู่ที่มื้อละประมาณ 1,000-1,500 เยน ส่วนมื้อเช้ากินอะไรง่ายๆที่บ้านเช่นขนมปัง มื้อเย็นก็กินข้างนอกบ้างทำกินที่บ้านบ้าง (แต่บางวันก็ไม่กินมื้อเย็นเลยเพราะแก่แล้วไม่หิว) ค่าอาหารเลยออกมาแกว่งๆอยู่ที่ประมาณ 30,000-50,000 เยนครับ ซึ่งก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกนะในหมู่พนักงานออฟฟิศที่ไม่ค่อยทำอาหารเอง ถ้าใครชอบทำอาหารเองก็จะถูกลง ถ้าใครอยู่เพื่อกินก็จะแพงขึ้น

สรุปกันสั้นๆ คำนวนกันคร่าวๆ
ทำกินเองทุกมื้อ = 20,000 เยน
ทำกินเองทุกมื้อยกเว้นมื้อเที่ยง = 35,000 เยน
กินข้างนอกทุกมื้อแบบประหยัด = 45,000 เยน
กินข้างนอกทุกมื้อแบบเปลือง = 50,000 ++ เยน


ลองใช้เป็นไกด์ไลน์ดูละกันครับ แต่ขอบอกเลยว่าค่าอาหารนี่เป็นอะไรที่แต่ละคนไม่มีทางเหมือนกันได้

ค่าเดินทาง (ไปกลับโรงเรียนหรือที่ทำงาน ต่อเดือน)

ค่าเดินทาง (ไปกลับโรงเรียนหรือที่ทำงาน ต่อเดือน)

ถ้าทั้งบ้านและโรงเรียน (หรือบริษัท) อยู่ในโตเกียวทั้งคู่ส่วนใหญ่จะไม่มีทางเกิน = 20,000 เยนต่อเดือน (6,000 บาท)

ก่อนอื่นเรามาเริ่มดูจากค่ารถไฟแบบเที่ยว ค่ารถไฟนั้นแน่นอนว่าเปลี่ยนตามระยะทาง ถ้าหากบ้านอยู่ห่างจากบริษัทแค่สองสามสถานีก็อาจจะเที่ยวละ 140 เยน (ราคาขั้นต่ำของ JR East) แต่ถ้าอยู่ไกลหลายสิบกิโลก็อาจแพงถึง 400-500 เยนได้

กรณีของผมนั้น บ้านกับบริษัทอยู่ห่างกันประมาณเกือบ 20 กม. ค่ารถไฟจากบ้านถึงที่ทำงานอยู่ที่ขาละ 400 เยน (120บาท) วันละ 800 เยนพอดี ถ้าคำนวณว่าเดือนหนึ่งทำงาน 20 วันก็จะอยู่ที่ 16,000 เยน แต่ว่าราคาที่เราจ่ายจริงนั้นจะไม่ใช่ราคา 2 เที่ยวคูณจำนวนวันทำงานนะ จะถูกกว่านั้นครับ

เพราะว่าทุกสายรถไฟในญี่ปุ่นจะมีตั๋วแบบเหมารายเดือน ส่วนใหญ่จะมีขายแบ่งเป็น 1-3-6 เดือน โดยยิ่งซื้อระยะยาว ราคาต่อเดือนก็จะยิ่งถูกครับ ซึ่งโดยปกติถ้าซื้อเหมาหนึ่งเดือน ราคาจะถูกกว่าจ่ายตามจริง 20 วัน วันละ 2 เที่ยวประมาณ 15% อย่างของผมก็ลดจาก 16,000 เหลือประมาณ 13,000 แต่ถ้าคุณเป็นนักเรียนส่วนลดตรงนี้จะมากถึง 40-60% เลยทีเดียว

และอย่าลืมว่าราคาตัวอย่างนี่เป็นระยะทางของบ้านผมถึงบริษัทครับ ซึ่งผมอยู่ไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับคนที่เรียนหรือทำงานกลางโตเกียวอื่นอีกหลายคนเพราะชอบที่เงียบๆ ถ้าอยู่ใจกลางเมืองแบบไม่ห่างจากที่ทำงานหรือโรงเรียนมาก ถูกกว่านี้ิีอีกครับ (แต่อาจจะแพงค่าเช่าบ้านแทน)

แต่อีกสิ่งที่ทุกคนควรรู้ก็คือ ถ้าคุณเป็นคนทำงานบริษัทญี่ปุ่นมักจะออกค่าเดินทางให้ โดยออกให้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน ส่วนใหญ่จะมีลิมิตเช่นเดือนหนึ่งไม่เกินสามหมื่นเยนหรือห้าหมื่นเยนเป็นต้น แล้วแต่บริษัท ถ้าใครเกินจำนวนลิมิตก็จะต้องออกเองบางส่วน แต่เนื่องจากคนต่างชาติส่วนใหญ่มาอยู่ญี่ปุ่นต้องเช่าบ้านอยู่แล้วบ้านก็จะไม่ได้อยู่ไกลเว่อร์ ก็มักจะได้เต็มจำนวนครับ (เพราะถ้าจะเดินทางให้เกินเดือนละห้าหมื่นเยน บ้านจะต้องอยู่ไกลจากบริษัทเป็นร้อยกิโล) นอกจากนี้หากคุณเดินทางด้วยวิธีอื่นเช่นรถเมล์ บริษัทก็พร้อมจะออกค่าเดินทางให้เช่นกันครับ

ด้วยเหตุนี้ ค่าเดินทางของคนทำงานในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จริงๆแล้วจะอยู่ที่ = 0 เยน (0 บาท)
ส่วนนักเรียนต้องจ่ายเอง แต่ด้วยพลังของส่วนลดนักเรียน เชื่อว่าจะต่ำกว่าหลักห้าพันเยนครับ

ค่าเทอมของนักเรียนญี่ปุ่น

ค่าเทอมของนักเรียนญี่ปุ่น

อีกหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สำคัญของนักเรียนก็คือค่าเทอม โดยที่ญี่ปุน่นนั้นความแตกต่างของรัฐบาลและเอกชนก็มีคล้ายๆกับไทย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลกับค่าเทอมอย่างมากนั้นก็คือสาขาวิชาที่เรียน

มหาวิทยาลัยของรัฐบาลทุกสาย เฉลี่ยปีละ 817,800 เยน
มหาวิทยาลัยเอกชน สายศิลป์ เฉลี่ยปีละ 1,146,000 เยน
มหาวิทยาลัยเอกชน สายวิทย์ เฉลี่ยปีละ 1,501,000 เยน


(ตัวเลขค่าเทอมปีแรกรวมค่าแรกเข้า ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาญี่ปุ่น)
การเรียนมหาวิทยาลัยนั้นแพงที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะเป็นการศึกษาระดับสูงสุด ราคาที่นำมาเสนอนี้เป็นราคาปีแรก ซึ่งทุกมหาลัยจะมีค่าแรกเข้าเพิ่มเติม โดยหากเรียนตั้งแต่สองปีขึ้นไป ตัวเลขในเทอมต่อๆไปจะถูกกว่านี้ประมาณ 200,000 - 300,000 เยน
และอีกข้อยกเว้นที่ไม่ได้รวมในนี้ก็คือ คณะแพทย์ศาสตร์และทันตแพทย์ ซึ่งค่าเทอมมักจะสูงถึง 3-4 ล้านเยน

โรงเรียนสายอาชีพ (เซมมง) ประมาณปีละ 794,000 - 1,235,000 เยน

(ตัวเลขเฉลี่ยจากโรงเรียนสายอาชีพในโตเกียวเท่านั้น ไม่รวมค่าแรกเข้า) ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนสายอาชีพแตกต่างกันมากๆ โดยขึ้นอยู่กับสายอาชีพที่เลือกเรียนโดยกฏง่ายๆคือสายอาชีพที่ต้องใช้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นการพยาบาลก็จะมีค่าเทอมแพง และถ้าใช้อุปกรณ์เยอะก็มักจะมีราคาแพงกว่า เช่นโรงเรียนช่างกล

โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น ปีละ 415,000 - 997,400 เยน
(ข้อมูลจากองค์กรส่งเสริมการศึกษาภาษาญี่ปุ่น)

โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างราคาถูกกว่าโรงเรียนแบบอื่นๆ เพราะว่าเงินเดือนครูไม่แพง ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการสอนครับ โดยความแตกต่างของราคาแต่ละโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเพราะค่าครองชีพ โรงเรียนในต่างจังหวัดจะถูกกว่าโรงเรียนในโตเกียวเป็นต้น

ค่าใช้จ่ายอื่นๆของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น

ผมไม่ขอพูดถึงค่าใช้จ่ายในการเที่ยวเล่น ทั้งของนักเรียนและผู้ใหญ่วัยทำงานเพราะความแตกต่างระหว่างบุคคลเยอะมาก แต่ก็สนับสนุนให้จัดลำดับความสำคัญกันด้วยตัวเอง เช่นเดือนไหนที่จ่ายค่ากินค่าเช่าบ้านยังไม่พอก็ลดการเที่ยวลงเป็นต้น อันนี้ทุกคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองอยู่แล้ว

"ค่าใช้จ่าย" อื่นๆของพนักงานบริษัท

"ค่าใช้จ่าย" อื่นๆของพนักงานบริษัท

หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าทำงานบริษัทญี่ปุ่นต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสุดๆ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่นต้องไปดื่มทุกวันกับเจ้านายโดยไม่จำเป็น กลับบ้านดึกๆดื่นๆ เสียสุขภาพแถมเปลืองเงินอีกด้วย อันนี้ผมขอแจ้งเลยว่าไม่จริงเสมอไป เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แต่ละที่ทำงานหรือหัวหน้าแต่ละคนจะต่างกันอย่างสุดโต่ง

โดยตัวผมเองก็เคยทำงานทั้งที่ๆหัวหน้าไม่บังคับกินดื่มเลย และที่ๆไปกินดื่มกันบ้างอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง (แต่เราสามารถปฏิเสธได้อยู่ดี)

ที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทสมัยใหม่จะไม่อนุญาติให้ทำแบบนี้ครับ การแยกงานและเรื่องส่วนตัวหรือ work-life balance เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มให้ความสำคัญเป็น บริษัทที่ไม่หัวโบราณจริงๆ จะไม่ยอมให้หัวหน้าพาลูกน้องไปดื่มกินนอกเวลางานโดยไม่มีเหตุผล (เช่นเลี้ยงลูกค้าหรือทำอะไรที่เป็น "งาน") เราจึงไม่ขอนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายครับ

ทั้งนี้เรื่องหนึ่งที่อยากให้ทราบไว้ก็คือ ในบริษัทที่ดีตรงนี้จะไม่นับเป็น "ค่าใช้จ่าย" ของเราด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราไปเป็นงาน อย่างเช่นพาลูกค้าไปเลี้ยง บริษัทก็จะออกค่าใช้จ่ายให้แน่นอน

หน้าต่อไปคือหัวข้อใหญ่ที่สุดจึงแบ่งไว้ให้เป็นหน้าของตัวเองเลย นั่นคือเรื่องค่าเช่าบ้าน เป็นเรื่องใหญ่ที่หลายคนหมดเงินไปเป็นจำนวนมากจึงต้องระวังเป็นพิเศษครับ

know-before-you-go