คุณภาพชีวิต กรุงเทพฯ VS โตเกียว
เงินเดือนเด็กจบใหม่
กรุงเทพ : 20,000 บาท / เดือน
โตเกียว : 58,200 บาท (200,000 เยน) / เดือน
เงินเดือนที่แสดงด้านบนคือเงินเดือนโดยประมาณของเด็กปริญญาตรีจบใหม่ที่ทำงานทั่วไป เช่นเป็นพนักงานบริษัท ถ้าเทียบตัวเลขดิบๆระหว่างเงินเยนและเงินบาทจำง่ายๆเลยว่าจะห่างกันประมาณ 10 เท่า (200,000 เยน ต่อ 20,000 บาท) ถ้าเทียบมูลค่าเงินก็จะห่างกันประมาณสามเท่า (20,000 บาทต่อ 60,000 บาท) จริงๆอาจจะมากกว่านี้เพราะ 20,000 แม้จะเป็นกลางกรุงเทพก็ไม่ใช่ว่าจะได้กันทุกคนนะ
เงินเดือนเด็กจบใหม่ญี่ปุ่นอาจจะดูเหมือนจะเยอะ แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างถ้าใช้อย่างฟุ่มเฟือยก็อยู่ลำบากเหมือนกันโดยเฉพาะภาษีสังคมในที่ทำงานอย่างโตเกียว (อย่างเช่นการกินดื่มตามอิซากายะหรือร้านเหล้ากับเพื่อนๆ หลังเลิกงาน) ในขณะที่ไทยจะไม่ค่อยมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้อย่างจริงจังเหมือนญี่ปุ่น หรือนาน ๆ มีที
เพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนในโตเกียวบ่นให้ฟังว่าจะต้องไปดื่มกับเพื่อนที่ทำงานหลังเลิกงานเกือบทุกวัน เสียเงินเยอะโดยไม่จำเป็น ไม่ไปก็จะถูกบ่นหรือถูกกันออกจากกลุ่มที่ทำงาน (ส่วนตัวยังคิดว่าสมัยนี้ยังมีอีกหรอ?) ส่วนเพื่อนผู้ชายอีกคนก็บ่นว่ายังโสดไปดื่มด้วยกันก็ดีอยู่หรอกไม่มีปัญหา แต่ต้องลากรุ่นพี่ที่เมาพับกลับบ้านหรือพาไปส่งนี่สิที่น่ารำคาญ เป็นมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นไม่ใช่ง่ายนะเออ
มาเม้าท์ถึงบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะได้ยินมาว่าทำงานกันอย่างหนักแต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ต้องทำ O.T. หรือทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับเงินเพิ่ม มีปัญหาเรื่องความอาวุโสในที่ทำงาน จนเกิดปัญหาพนักงานเสียชีวิตจากการทำงานหนัก (karoshi) รัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหา อย่างเช่นการสนับสนุนเลิกงานวันศุกร์ครึ่งวันหรือ Premium Friday ซึ่งช่วงหลังแคมเปญจะดูซา ๆ ลงไปบ้างแล้ว หรืออีกอย่างก็เช่นการสนับสนุนให้บริษัทสามารถจ้างพนักงานจากที่บ้านได้ (remote working)
แม่บ้านขอแนะนำทริกง่าย ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะดูว่าของไหนถูกหรือแพงให้ลองหารราคาเป็นเยนด้วย 10 แล้วเปลี่ยนหน่วยเป็นบาทดู แล้วจะสามารถเทียบได้ว่าถ้าเรามีเงินเดือน 20,000 บาท ของญี่ปุ่นชิ้นนี้จะถูกหรือแพงสำหรับเรา
ค่าเช่าห้อง
กรุงเทพ : 5,000 บาท / เดือน
โตเกียว : เฉลี่ย17,600 บาท (60,000 เยน) / เดือน
ประเทศญี่ปุ่นมีห้องเช่าเยอะมากที่เป็นแบบไม่แยกห้องนอน ห้องครัวออกเป็นสัดส่วน เรียกว่าวันรูม (คนไทยเรียกว่าสตูดิโอ) และห้องส่วนใหญ่ก็มีขนาดเล็กกว่าที่ไทยแน่นอน
การเช่าห้องของญี่ปุ่นนั้นจะต้องทำผ่านเว็บไซต์หรือบริษัทนายหน้า (fudosan) สังเกตง่าย ๆ บริษัทนายหน้าหาห้องพักมักจะมีรูปตัวอย่างห้องพัก แผนผังห้อง และราคา แปะเต็มข้างหน้าร้านไปหมด ถ้าห้องพักที่มีให้เลือกด้านหน้ายังไม่ถูกใจเราสามารถเข้าไปคุยและบอกความต้องการห้องที่เราอยากได้ พนักงานก็จะหาห้องที่ตรงหรือใกล้เคียงกับลักษณะที่เราบอกมากที่สุดมาให้เลือก
การเช่าห้องในญี่ปุ่นค่อนข้างแตกต่างจากประเทศไทย มีขั้นตอนมากมายที่ยุ่งยาก และต้องจ่ายเงินยิบย่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาไปติดต่อเช่าห้องจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ต่าง ๆ เช่น ทำงานบริษัทอะไร ตำแหน่งอะไร (ที่ไทยไม่เห็นต้องละเอียดขนาดนี้เลย) รวมไปถึงข้อมูลคนค้ำประกัน และบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน ในกรณีที่เบี้ยวค่าห้องแล้วย้ายหนีไปเลยบริษัทจะไปไล่บี้กับคนค้ำหรือบุคคลที่ติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน ดังนั้นคนญี่ปุ่นถ้าไม่สนิทกันจริง ๆ จะไม่ยอมเป็นคนค้ำและบุคคลติดต่อฉุกเฉินให้ค่ะ
ค่าดำเนินการก็มีดังนี้
• เงินมัดจำ (shiki-kin) เท่ากับค่าเช่าห้อง 1-2 เดือน ซึ่งเป็นเงินที่จะได้คืนเมื่อทำการคืนห้อง แต่ถ้าของในห้องมีอะไรเสียหายเงินส่วนนี้ก็จะถูกหักไปชดใช้ค่ะ
• เงินกินเปล่า (rei-kin) ส่วนใหญ่เท่ากับค่าเช่าห้อง 1 เดือน เป็นเงินที่ไม่มีใครรู้ว่าจะจ่ายทำไม หนึ่งในเหตุผลทำให้คนญี่ปุ่นไม่ชอบย้ายห้องเพราะนอกจากค่าขนย้ายของแล้ว ยังต้องเสียเงินกินเปล่าส่วนนี้อีก แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เก็บกันทุกที่นะ ผู้ให้เช่าหลายรายตัดส่วนนี้ออกเพื่อเรียกลูกค้าก็มี
• ค่านายหน้า ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทนายหน้าหาห้อง ส่วนใหญ่จะราคาประมาณค่าเช่าห้อง 1 เดือน
• ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปก่อนที่จะเข้าอยู่ห้องเช่า เช่น ค่าประกัน ค่าเปลี่ยนกุญแจ เป็นต้น
หลังจากเข้าอยู่แล้วบางตึกก็อาจมีค่าส่วนกลาง เป็นเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือนให้กับเจ้าของตึกควบคู่ไปกับค่าเช่า
นอกจากค่าเช่าห้องที่โตเกียวจะแพงกว่าที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังต้องจ่ายเงินจิปาถะต่าง ๆ มากมายซึ่งเทียบเท่ากับการเช่าห้อง 4 - 5 เดือน ด้วยความที่คนไทยเป็นคนง่าย ๆ ทำให้ระบบการเช่าห้องในไทยสะดวกและง่ายมาก ข้อนี้ประเทศไทยชนะเห็น ๆ
ค่าอาหารต่อมื้อ
กรุงเทพ : 50 บาท / มื้อ
โตเกียว : 147 บาท (500 เยน) / มื้อ
ร้านอาหารที่ราคาถูกสุด ๆ แล้วในเมืองหลวงอย่างโตเกียวส่วนใหญ่ก็ยังต้องอยู่ที่ระดับ 500 เยน (เรียกว่า "วันคอยน์" ที่แปลว่าหนึ่งเหรียญ เพราะสามารถอิ่มได้ด้วยเหรียญห้าร้อยเยนเหรียญเดียว) ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กและแคบเพราะค่าเช่าที่มีราคาสูงมาก ยิ่งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหรือที่ที่มีผู้คนสัญจรไปมามากเท่าไหร่ค่าเช่าที่ก็จะยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น นอกจากร้านจะเล็กยังไม่พอ คนยังแห่แหนกันมากินอย่างกับแจกฟรีโดยเฉพาะช่วงและตอนเย็น บางร้านต้องแชร์โต๊ะกับคนอื่น นั่งด้วยกันแต่ต่างคนต่างกิน ยิ่งร้านดัง ๆ ต่อแถวกันเป็นกิโลนักกินชาวญี่ปุ่นทั้งหลายก็ไม่หวาดหวั่น บางร้านเป็นร้านยืนกิน อย่างร้าน Ikinari Steak ที่ขายอาหารหรูพรีเมี่ยมอย่างสเต็ก แต่จะต้องมายืนกินกันขาแข็งเลยทีเดียว ในขณะที่อาหารไทยนอกจากอาหารจะหลากหลาย หากินง่าย รวดเร็ว อย่างข้าวราดแกงหรืออาหารจานเดียว
แต่อาหารไทยถึงแม้จะราคาถูกแต่ก็มีปัญหาเรื่องความสะอาด หนู แมลงสาบวิ่งกันว่อน แม้แต่ในฟู้ดคอร์ทตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ บางที่ ก็ยังเคยเห็นหนูตัวอวบวิ่งโฉบอาหารมาแล้ว หลังจากอยู่ญี่ปุ่นมาสักพักทุกครั้งที่ไป Thai Festival หรือเทศกาลอาหารไทยในโตเกียวจะต้องท้องเสียกลับบ้านทุกที
ที่ญี่ปุ่นความสะอาดและสุขอนามัยค่อนข้างเข้มงวดมาก ร้านอาหารส่วนใหญ่จะไม่มีบริการห่อกลับบ้านให้เมื่อทานเหลืออย่างไทย หรือบางร้านไม่มีบริการสั่งอาหารกลับบ้านด้วยซ้ำ เพราะถ้าซื้ออาหารออกไปแล้วเก็บรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ และตามกฎหมายถ้าอาหารนั้นทำให้ลูกค้าเกิดความเจ็บป่วยร้านจะต้องถูกตรวจสอบและเสียค่าปรับ ถ้ารุนแรงมากอาจจะถึงขั้นปิดร้านชั่วคราวเลยทีเดียว ซึ่งกฎหมายญี่ปุ่นรุนแรงมากจึงทำให้บางร้านค้าไม่ค่อยจะกล้าเสี่ยง
ค่าเดินทางโดยรถไฟฟ้า
กรุงเทพ : 31 บาท / 5 สถานี
โตเกียว : 45 บาท (154 เยน) / 5 สถานี
ราคาค่าเดินทางโดยรถไฟฟ้าด้านบน เป็นราคาที่เปรียบเทียบโดยใช้ระยะทางการเดินทาง 5 สถานี (ไทย: บริษัท BTS จากสยามไปพร้อมพงษ์) และ (ญี่ปุ่น: บริษัท JR East สาย Yamanote จาก Ueno ไป Tokyo)
จะเห็นได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นและของไทยราคาใกล้เคียงกันมากถ้าดูตัวเลขดิบๆ แต่อย่าลืมว่าฐานเงินเดือนห่างกัน 3 เท่านะคุณขา เท่ากับว่าคนกรุงเทพฯ นั้นนอกจากจะต้องทนกับรถไฟฟ้าที่ล่าช้าไม่ตรงเวลา รถเสียบ่อยบ้าง เสี่ยงตายประตูเปิดได้บ้าง บริการทุกระดับประทับใจไม่พอ ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ
ถึงแม้ทั้งสองประเทศจะมีช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่ผู้คนเบียดเสียดทั้งเช้าและเย็นเหมือนกัน แต่ในด้านคุณภาพญี่ปุ่นยังทิ้งห่างอยู่พอควรอย่างเช่น
- เรื่องของการให้บริการที่ตรงเวลา
- ทุกสถานีมีลิฟต์สำหรับคนพิการหรือคุณแม่ที่มากับรถเข็นเด็ก (ถึงแม้บางสถานีจะไกลก็แต่มีก็ยังดีกว่าไม่มีแบบที่ไทย)
- เบรลล์บล็อค (Braille Block) หรือบล็อคสีเหลืองสำหรับคนตาบอดในสถานีรถไฟญี่ปุ่นมีทุกที่และติดตั้งอย่างถูกต้อง
- ทุกสถานีในเมืองมีห้องน้ำให้ใช้บริการใช้ได้ตลอดเวลาไม่ต้องขอ (สถานีที่ไม่มีห้องน้ำคือสถานีเล็กๆกลางป่าเป็นต้น)
- เครื่องขายตั๋วคุณภาพที่ไม่ต้องแลกเหรียญเป็นกำ ๆ ไปหยอด และประตูที่ไม่หนีบสะโพกจนช้ำ
- ถ้าเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้วีลแชร์ สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานในเรื่องต่างๆได้ อย่างการขึ้นลงบันไดโดยใช้ลิฟต์เลื่อน หรือเข้าออกรถไฟโดยมีพนักงานช่วยอำนวยความสะดวกโดยการแผ่นเหล็กให้ชานชลาระนาบกับรถไฟโดยไม่ทำให้ผู้ใช้รถเข็นบาดเจ็บขณะเดินทาง
ถามว่าสถานีรถไฟญี่ปุ่นโอเคขนาดไหน โอเคขนาดเคยเห็นผู้พิการทางสายตาเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเองคนเดียวเป็นประจำค่ะ แม่บ้านก็อยากรู้อยากเห็นเคยติดตามผู้พิการทางสายตาว่าเขาเดินทางอย่างไร พอได้เห็นก็เข้าใจทันทีว่าการการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) นั้นสำคัญขนาดไหน
คนญี่ปุ่นรู้ว่าร้านสะดวกซื้อสาขานี้ต้องต่อแถวจ่ายเงินตรงไหนเพราะร้านค้าทำจุดให้เห็นชัดเจนว่า ต้องยืนรอตรงนี้นะ สิ่งนี้แหละคือตัวอย่างความสำคัญของดีไซน์ง่ายๆ ที่ทำให้สังคมเกิดระเบียบ แต่เป็นสิ่งที่ไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ ไม่เชื่อไปดูเบรลล์บล็อคทางเท้าสิ ขาด ๆ หาย ๆ ที่ๆมีก็วางผิดหลัก พาคนพิการทืางสายตาเดินไปชนต้นไม้บ้างอะไรบ้าง เห็นแล้วก็เสียใจไปกับงบประมาณการก่อสร้างที่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นเลย
ค่าเดินทางโดยรถเมล์
กรุงเทพ : ถูกที่สุดคือ 6.5 บาทตลอดสาย หรือคิดตามระยะทาง 12-25 บาท
โตเกียว : 62 บาท (210 เยน) ตลอดสาย
ค่าเดินทางโดยรถเมล์ในโตเกียว โดยรวมแล้วญี่ปุ่นแพงกว่ามากๆ Toei Bus รถเมล์สีเขียวส้มที่บริหารงานเองโดยศาลาว่าการกรุงโตเกียว จะเก็บค่าโดยสาร 210 เยนราคาเดียวตลอดสาย แม้จะขึ้นแค่ 1 ป้ายก็ต้องจ่าย 210 เยน ส่วนเด็กจะเก็บค่าโดยสารลดหย่อนเหลือ 110 เยน ส่วนผู้สูงอายุจะมีบัตรพิเศษที่แสดงจะไม่ต้องเสียค่าโดยสาร ในขณะที่รถเมล์ไทยมีการลดหย่อนค่าโดยสารให้แก่ผู้สูงอายุลงครึ่งหนึ่ง
จุดเด่นของรถเมล์ในโตเกียว
- รถเมล์ในโตเกียวมีระบบและเส้นทางที่ชัดเจน
- มีแอร์ปรับอากาศและฮีตเตอร์ทุกคัน
- มีป้ายบอกเบอร์รถทุกฝั่งของรถเมล์
- เมื่อรถมีการเคลื่อนตัวจะแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ
- เกือบทุกสายผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถใช้บริการได้ มีที่นั่งที่สามารถพับได้สำหรับจอด และสายเซฟตี้ยึดรถเข็นไม่ให้ไหล
- รถเมล์รุ่นใหม่ๆมีจอแสดงป้ายปัจจุบันและป้ายต่อไปที่จะจอด (ในเมืองใหญ่มักบอกชื่อป้ายภาษาอังกฤษด้วย)
- บริเวณจุดรอรถเมล์จะมีป้ายบอกเบอร์รถ (สายที่ให้บริการ) วมไปถึงเวลาโดยประมาณที่รถจะมาถึง ซึ่งค่อนข้างตรงเวลา และมาค่อนข้างถี่ (ทุก 10 นาที เป็นต้น)
รถเมล์ใน 23 เขตปกครองพิเศษของโตเกียวและรถเมล์ของเมืองอื่นจะมีระบบที่แตกต่างกันบ้าง รถเมล์ในโตเกียวเมื่อขึ้นรถจะต้องจ่ายค่าโดยสารก่อน และกดปุ่มก่อนถึงสถานีเพื่อแจ้งคนขับให้ทราบว่ามีคนลงสถานีต่อไป ส่วนรถเมล์นอกโตเกียวหลายๆเมืองก็เลือกที่จะเก็บเงินเวลาออกจากรถเมล์ แต่ก็มีรถเมล์ที่เก็บตอนจึ้นเหมือนกัน (ส่วนใหญ่จะต้องเป็นแบบจ่ายเหมาราคาเดียวตลอดสายเหมือนกัน)
สิ่งสำคัญในการขึ้นรถเมล์ในโตเกียวให้สังเกตหมายเลขของรถบัสที่ป้าย บางป้ายสายซ้อนกัน (มีบางจุดเดินรถทางเดียวกัน) แต่ป้ายที่รอก็ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ดังนั้นเมื่อใช้แอพแผนที่ดูจุดที่จะขึ้นรถบัสให้สังเกตตัวเลขที่ป้ายด้วย เพราะคนรู้จักหลายคนรอป้ายผิดมาหลายรายแล้ว ป้ายที่จะต้องรอรถจริงๆ อยู่ถัดไป 50 เมตรก็มี เช็คกันด้วยนะคะ
ส่วนปัญหาของไทยอยู่ที่พื้นฐานที่สุดของที่สุดเลย อย่างเช่นอุปกรณ์ที่พึงมี เช่นอุปกรณ์เก็บเงินอัตโนมัติ
อย่างก่อนหน้านี้นั่งดูข่าว ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สั่งหยุดให้บริการกล่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะนี่เป็นอุปกรณ์ที่พื้นฐานที่สุด ประเทศที่นำไปใช้และประสบความสำเร็จมีตั้งมากมาย (หนึ่งในนั้นอยู่ไม่ไกล ญี่ปุ่นนี่แหละ) ควรจะศึกษาให้ลึกซึ้งแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคนไทย อนุมัติโดยไม่ได้ทดลองระบบให้รอบคอบก่อนดำเนินการหรือทำสัญญา ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไปก็เงินภาษีคนไทยทั้งนั้น แม่บ้านคนไทยคนนี้ก็ได้แต่ฝันว่าสักวันการขนส่งมวลชนบ้านเราจะพัฒนาเทียบเท่าอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่นสักที
ค่าน้ำค่าไฟ
อยู่หอคนเดียว
กรุงเทพ : 500-1,000 บาท
โตเกียว : 1,500-3,000 บาท (5,000-9,000 เยนโดยประมาณ)
หากมองค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาญี่ปุ่นแพงกว่าแน่นอน แต่ถ้าเทียบเป็นอัตราส่วนกับรายได้ของเด็กจบใหม่ (ซึ่งญี่ปุ่นได้มากกว่าเราสามเท่าอย่างที่บอกไป) ก็ไม่ได้แพงนัก
ไฟฟ้า
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการเปิดให้บริษัทพลังงานเอกชนเข้ามาแข่งขันกันขายแก๊สและไฟฟ้าได้ โดยที่ไม่ผูกขาดอยู่เจ้าเดียวอย่างประเทศไทย นั่นหมายความว่าประชาชนชาวโตเกียวมีตัวเลือกที่มากขึ้น สามารถเลือกบริษัทที่ไว้วางใจได้ บริษัทก็จะต้องแข่งขันกันที่ราคา แข่งกันสร้างโปรโมชั่น ยิ่งการแข่งขันสูงยิ่งหมายถึงประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นนั่นเอง
เช่นบริษัท" โตเกียวแก๊ส" ก็ได้ขยายธุรกิจพลังงานไปยังไฟฟ้า มีโปรโมชั่นเมื่อลูกค้าใช้ทั้งแก๊สและไฟฟ้าของบริษัทเขาก็จะได้รับส่วนลดพิเศษ ค่าแก๊สค่าไฟถูกลงอีก หรืออย่างบริษัทปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ก็ลงมาเข้าตลาดไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ถ้าเปลี่ยนมาซื้อไฟฟ้าจากเอสโซ่จะได้รับบัตรของขวัญไว้ใช้สำหรับเติมน้ำมันฟรี เป็นต้น
น้ำประปา
ในญี่ปุ่นค่าน้ำจะจ่ายทุก ๆ 2 เดือน นอกจากค่าน้ำจะราคาไม่แพงแล้ว น้ำในโตเกียวได้รับการการันตีว่าดื่มได้ (จริง ๆ นะ) ส่วนตัวทุกวันนี้น้ำทุกอย่างที่ใช้ในบ้านทั้งดื่มและใช้ทั่วไปก็เป็นน้ำก๊อกทั้งนั้น (โดยไม่ได้ผ่านการกรองหรือการต้ม) และตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่นมายังไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล หรือน้ำประปาเป็นตะกอนสีอิฐ หรือน้ำมีกลิ่นมีรสใด ๆ ทั้งสิ้น (เคยมีเหตุการณ์ไฟตกแค่พริบตาเดียว และเกิดเพียง 2 ครั้งตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น) ซึ่งคงเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์สำหรับคนไทยอย่างเรา ๆ
สวนสาธารณะ
กรุงเทพ : 34 สวน
โตเกียว : 57 สวน (ไม่นับสวนขนาดเล็กตามย่านที่อยู่อาศัย)
จุดเด่นของสวนสาธารณะญี่ปุ่นคือ ไม่ได้มีแต่สวนใหญ่ๆ แบบสวนรถไฟหรือสวนจตุจักร แต่เต็มไปด้วยสวนที่เป็นลานเล็กๆ อยู่ตามหมู่บ้านทั่วไป ข้อดีคือคนท้องถิ่นสามารถพักผ่อน เดินเล่น จ๊อกกิ้งที่สวนสาธารณะได้โดยไม่ต้องขับรถไป ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ต่างกันมากๆกับที่ไทย
สวนสาธาณะที่กล่าวมา 57 สวนคือสวนใหญ่ที่เทียบได้กับสวนรถไฟหรือสวนจตุจักร ไม่รวมสวนเล็ก ๆ ที่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในโตเกียว อย่างที่เคยกล่าวในบทความก่อนว่ารัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ้านมีสวนเล็ก ๆ ถึง 8 แห่ง (นึกภาพลานกว้างในโดราเอม่อนที่พวกโนบิตะชอบมานั่งเล่นกัน แต่ใหญ่หน่อย) ถ้านับรวมสวนโนบิตะพวกนี้ด้วยแล้ว โตเกียวมีสถานที่ๆเรียกว่า "สวนสาธารณะ" ได้ถึง 3,908 แห่ง
ซึ่งจากที่เคยอยู่ไทยแทบไม่เคยพบเห็น (นอกจากไซต์ก่อสร้างที่มีเหล็กเส้น ก้อนอิฐ และทราย ที่เห็นเด็ก ๆ ชอบแอบเข้าไปเล่นหินดินทรายในนั้น) นอกจากนั้นก็จะเป็นยิมหรือฟิตเนสที่ต้องสมัครสมาชิกหรือเสียค่าใช้บริการ หรือต้องขับรถไปสวนสาธารณะใหญ่อย่างเช่นสวนรถไฟหรือสวนจตุจักร ซึ่งทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบเสียค่าบำรุงเล็กน้อยหรือไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างสวนสาธารณะ เป็นสถานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี (ค่าบำรุงนั้นทุกที่ต้องมี ถึงเราจะไม่ได้จ่ายเวลาไปใช้แต่ที่จริงเราจ่ายผ่านทางภาษีไปเรียบร้อยแล้ว) ขนาดพื้นที่และความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพฯและโตเกียวมีความใกล้เคียงกัน แต่ความต่างของจำนวนสวนสาธารณะใหญ่ที่มีช่องว่างห่างกันถึง 23 สวนก็แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเรานั้นยังมีที่พักผ่อนหย่อนใจน้อยกว่าโตเกียว ทำให้กิจกรรมที่ไม่ต้องเสียเงินค่าใช้สถานที่ภายในสวนสาธารณะอย่างการเดิน วิ่ง แอโรบิค โยคะ รำไทเก๊ก และอื่น ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย ลดค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องแบกรับในส่วนของการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนลงไปด้วย การที่มีสวนสาธารณะน้อยก็หมายถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนที่ต่ำลงไปด้วย
เห็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราชอบตระเวนไปดูงานตามต่างประเทศ เลยขอแนะนำ 5 สวนสาธารณะในโตเกียวที่ควรใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนไปดูงานสักครั้ง
อ่านบทความเต็ม: allabout-japan.com (ภาษาไทย)
ดัชนีชี้วัดกำลังซื้อ
ค่าครองชีพที่ดูจากราคาสินค้าเพียว ๆ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถวัดว่าความเป็นอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ หรือโตเกียวที่แพงกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยว่าประเทศไหนแพงกว่าประเทศไหน เราจึงมีการสร้างดัชนีชี้วัดความแพง เปรียบเทียบกำลังซื้อของเมืองหรือประเทศต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า Local Purchasing Power โดยใช้เมืองหรือประเทศหนึ่งเป็นแกนกลางเพื่อดูว่าเมืองหรือประเทศอื่นมากน้อยอย่างไร ซึ่งเมืองที่ใช้เป็นแกนกลางในครั้งนี้คือนิวยอร์ค
ตัวเลข Local Purchasing Power ของสามเมืองใหญ่
นิวยอร์ค : 100.00
โตเกียว : 87.39
กรุงเทพฯ : 53.47
ตัวเลขนี้มีความหมายว่า สมมุติว่าคนนิวยอร์คที่ได้เงินเดือนปานกลางในนิวยอร์ค จะมีกำลังซื้อ 100.00 ถ้าคุณเป็นคนโตเกียวที่ได้เงินเดือนปานกลางในโตเกียว จะมีกำลังซื้อเท่ากับ 87.39% ของคนนิวยอร์คที่ได้เงินเดือนปานกลางส่วนถ้าคุณเป็นคนได้เงินเดือนปานกลางของกรุงเทพฯ จะมีกำลังซื้อเท่ากับ 53.47% ของนิวยอร์ค นั่นหมายถึงตัวเลข เท่ากับว่าชีวิตในกรุงเทพฯจริง ๆ แล้วนั้นแพงกว่าที่โตเกียว (ยกเว้นแต่ถ้าเราไปโตเกียวแล้วไม่สามารถหางานทำได้นะ) และที่สำคัญคือแพงกว่านิวยอร์คเกือบ 2 เท่า!
เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพ
ถ้าหากสมมุติว่าคนได้เงินเดือนปานกลางที่นิวยอร์คซื้อลูกอมที่ขายในนิวยอร์คได้ 100 เม็ด คนที่ได้เงินเดือนปานกลางที่โตเกียวจะซื้อลูกอมได้ 87 เม็ด ส่วนคนเงินเดือนปานกลางของกรุงเทพฯนั้นซื้อลูกอมได้ 53 เม็ด นี่คือความหมายของ Local Purchasing Power
เห็นแล้วก็สะเทือนใจ ความแพงระดับนี้ยังไม่รวมคุณภาพชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ ตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปหลับบนรถยนต์ โบกแท็กซี่ที่ไม่รู้ชาตินี้มันจะรับเราไปมั้ย? ฟุตบาธวัดใจทุกครั้งที่ฝนตก รถไฟฟ้าที่ต้องสวดภาวนาไม่ให้มีปัญหาในชั่วโมงเร่งด่วน น้ำรอระบายเวลาฝนตก ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเมืองที่เทพสร้าง
กรุงเทพฯ...ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว
หวังว่าอ่านแล้วก็คงจะไม่โกรธกันนะคะ เป้าหมายของวันนี้คืออยากให้ทุกคนรู้ไว้ว่า ไทยเราสามารถเจริญได้อีกค่ะ ตอนนี้หยุดเจริญอยู่ตรงนี้ เป็นเพราะอะไรนั้นห้ามพูด เพราะเว็บนี้ไม่การเมือง เป็นเว็บเที่ยวญี่ปุ่นค่ะ