มารยาทคนญี่ปุ่น เป็นเนื้อแท้หรือแค่ภายนอก
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
เคยสงสัยมั้ยว่าคนประเทศแห่งหนึ่งจะมีมารยาทอันยอดเยี่ยมเพราะเนื้อในพวกเขาทุกคนคือคนดีแต่กำเนิด หรือว่ามีเหตุผลอื่น?
คนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่เยอะอย่างกรุงเทพหรือชลบุรีคงจะเคยเห็นคนญี่ปุ่นเดินไปกินไป สูบบุหรี่ไม่เลือกที่ หรือใส่หูฟังเปิดเพลงดัง ๆ จนรบกวนคนรอบข้างได้ยินบ้าง ขากสเลดลงพื้นบ้าง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าคนญี่ปุ่นบางส่วนไม่ได้มีมารยาทโดย ‘เนื้อแท้’ ที่มาจากภายใน แล้วมารยาทนี้มาจากไหนกันนะ
ให้ลองจินตนาการคนไทยบางคนที่ไม่ได้ฝึกมารยาทอะไรเป็นพิเศษ แต่พอถึงเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถรอต่อคิวยาว ๆ ได้ ไม่เดินไปกินไปได้ ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดตามทางได้เหมือนคนญี่ปุ่น ถ้านึกจะทำก็ทำได้เช่นกัน นั่นก็เพราะแต่ละสังคมมีกฏที่กำหนดให้คนในสังคมต้องทำตาม ใครที่ไม่ทำตามจะถูกมองเป็นแกะดำและถูกตำหนิติเตียนได้ เรียกว่าเป็นมารยาทที่เกิดจากกฏเกณท์ทางสังคมก็ได้ค่ะ
แล้วอะไรบ้างที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องมีมารยาท ไม่ว่าจะเป็นนิสัยที่แท้จริงจากภายในหรือไม่
ความเกรงใจต่อผู้อื่นในที่สาธารณะ เพราะประชากรหนาแน่นจึงต้องหาทางอยู่ร่วมกัน
ปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้านคน แต่เฉพาะในโตเกียว 23 เขต มีประชากร 9.27 ล้านคน จังหวัดโตเกียวมีพื้นที่รวม 2,188 ตารางกิโลเมตร ซึ่งยังไม่นับรวมคนที่อาศัยอยู่นอกโตเกียวแต่นั่งรถไฟหรือรถบัสไป-กลับเพื่อทำงานที่โตเกียว เพราะที่อยู่อาศัยในโตเกียวแพงมากถึงแม้จะเป็นการเช่าอยู่ ถึงจะได้ห้องราคาถูกแต่ห้องส่วนใหญ่ก็มีลักษณะคับแคบทำให้คนส่วนหนึ่งนิยมอาศัยอยู่รอบนอกโตเกียวอย่างโยโกฮาม่าหรือชิบะที่ตั้งของโตเกียวดิสนี่ย์แลนด์นั่นเอง แถมรถไฟก็รวดเร็วตรงเวลาทำให้คนนิยมออกไปอยู่นอกโตเกียวเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกวันมีคนจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนเดินทางเข้ามายังโตเกียวเพื่อทำงานและท่องเที่ยว ทุกเช้าจะเห็นรถไฟอันเบียดเสียดอัดกันเป็นปลากระป๋องทุกครั้งไป ทำให้มีความเคร่งครัดมารยาททางสังคม หรือที่เรียกง่ายๆว่า ‘ความเกรงใจ’ เช่น ไม่ควรเดินเข้าขบวนรถไฟก่อนคนข้างในจะเดินออกมา ไม่ควรใช้โทรศัพท์บนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วน การต่อแถว ยืนชิดซ้ายเดินชิดขวา การไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งการปิดฝาโถส้วมในสถานีรถไฟหลังใช้เสร็จ
จะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่ได้เป็นสิ่งที่โดน ‘ห้าม’ หรือถูกบังคับให้ทำทั้งหมด แต่เป็นการสร้างความลื่นไลของกลไกในสังคมที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดีไม่มีสะดุด
แล้วถ้าไม่ทำตามมารยาททางสังคมล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? บอกได้เลยว่าคุณจะโดนมองบน มองด้วยหางตา มองด้วยสายตาเสียดแทงบาดลึกไปถึงหัวใจ เพราะถึงแม้คนโตเกียวจะไม่ยุ่งเรื่องคนอื่นที่ไม่รู้จัก แต่ก็มองคนที่ไม่ทำตามแนวทางที่ควรทำว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ไม่มีความศิวิไลซ์ ทำให้คนญี่ปุ่นทั้งหลายดูมีวินัย เกรงใจผู้อื่น
แต่สำนึกทุกอย่างจะมลายหายไปหลังเที่ยงคืน โดยเฉพาะคืนวันศุกร์หรือวันเสาร์ ไม่เชื่อลองไปแหล่งที่เต็มไปด้วยร้านเหล้าอิซากายะดูสิ สมบัติผู้ดีแทบจะหายไปหมดสิ้น
กฏหมายที่ดี บังคับใช้จริงจัง และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีคุณภาพ
จากข้อข้างต้นเราพูดถึง ‘มารยาททางสังคม’
ส่วนข้อนี้เป็น ‘ข้อกฎหมายที่ต้องทำ’
กฏหมายคือกฏหมาย ถ้าไม่ทำตามจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อสังคมและสามารถสร้างความเสียหายวงกว้างได้ รัฐถึงต้องคอยควบคุมกำกับให้สังคมอยู่ในสภาพเรียบร้อย อย่างกฎหมายเกี่ยวกับการขับรถ การดื่มไม่ขับ การหยุดให้คนข้าม หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ต้องสูบในที่ ๆ สามารถสูบได้เท่านั้น แท็กซี่ที่ขับรถชนท้ายรถคันอื่น ถึงแม้จะไม่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ แต่ก็จะถูกพักใบอนุญาตทำงาน 30 วัน รวมไปถึงการลักเล็กขโมยน้อยที่มีค่าปรับที่สูงมากและมีโอกาสติดคุกได้ง่ายๆ อีก
ดังนั้นคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเพราะโทษปรับที่รุนแรง เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างแข็งขัน เพราะอาชีพตำรวจถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นการทำอะไรที่ผิดศีลธรรมเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดอาชญากรรมน้อยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แน่นอนญี่ปุ่นก็มีคนไม่ดี มีคนที่อยากทำอะไรมักง่ายอยู่บ้าง แต่ความที่อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แถมคำนวณดูแล้วมันไม่คุ้ม เลยต้องจำใจทำตามกฏระเบียบไป (พูดง่าย ๆ คือลึก ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนดีมาก แต่การทำผิดกฏหมายมันไม่คุ้มก็แค่นั้น) จริง ๆ นี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการมีกฏหมายนะ
บางทีก็คือการทำเพื่อหน้าตาของตนเอง
เมื่อเราเดินท่องเที่ยวไปตามตรอกซอกซอยที่เป็นโซนที่อยู่อาศัย เราจะเห็นว่าบ้านแต่ละหลังดูสะอาดมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดสวนที่สวยงาม ไม่มีขยะหรือใบไม้มากมายอยู่บริเวณหน้าบ้าน แต่รู้หรือไม่ข้างนอกบ้านนั้นคือมายา! ในบ้านสิของจริง!!!
ขอเล่าประสบการณ์ตรงที่ได้เจอด้วยตนเอง (*゚▽゚*) เมื่อได้เจอกับสามีครั้งแรกดูเป็นผู้ชายญี่ปุ่นที่เรียบร้อยและเนี้ยบมาก ดูเป็นผู้ชายสะอาดสะอ้าน จนกระทั่งได้แต่งงานและย้ายเข้าบ้านเท่านั้นแหละคุณขา จะเป็นลม สามีเคยใช้ชีวิตกับแม่สองคนในบ้านหลังนี้ ก่อนที่คุณแม่จะย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา (บ้านพักคนชราที่นี่ไม่ใช่ถูก ๆ นะคะ ตกเดือนละ 60,000 - 90,000 บาท) จนเสียชีวิต ภายหลังสามีก็ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว บ้านของสามีเป็นบ้านขนาด 3 ชั้น ห้องนอนทั้งหมด 4 ห้อง ตอนที่มาถึงสามีใช้ห้องนอนเพียงห้องเดียว ที่เหลือเป็นห้องกองขยะ ไม่ใช่สิ! ขอเรียกว่า "ห้องเก็บของ" สถานภาพของตนเองในขณะนั้นเปลี่ยนจากเมียมาเป็นแจ๋วในทันที ใช้เวลาทั้งหมดครึ่งปีในการเคลียร์ขยะและจัดข้าวของต่าง ๆ ให้เป็นที่เป็นทาง อยากจะเล่าให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่าคนญี่ปุ่นบางคนในและนอกไม่เหมือนกัน ที่ดูเนี้ยบสะอาดนั้น บางทีก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่เค้ารักษาไว้ให้คนนอกเห็น
แยกระหว่างคนในและคนนอก
คนญี่ปุ่นอย่างที่เรารู้คือเป็นชนชาติที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก ทำให้เกิดการแบ่งแยก ‘คนใน – คนนอก’ (อุจิ-โซโตะ) ซึ่งคน ๆ เดียวกันสามารถเป็นคนใน – คนนอกได้ตามแต่ละสถานการณ์ ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงส่วนตัวนะคะ
มีเพื่อนเป็นคุณแม่ชาวญี่ปุ่นนามสมมุติ A ซัง โดยคุณ A ซังอยู่ในคลาสคุณแม่มือใหม่เดียวกัน กรุ๊ปเดียวกัน (ในคลาสจะแบ่งกรุ๊ปย่อยเพื่อให้คุณแม่ ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น) รู้จักกันและพูดคุยถูกคอ A ซังจึงชวนพาลูกไปเล่นและดื่มชากาแฟที่บ้าน แต่เมื่อมาที่บ้านในบ้านของ A ซังก็มีคุณแม่อยู่ด้วย เลยได้รับการต้อนรับแบบคนนอก (แขก) A ซังและคุณแม่ของ A ซังเวลาคุยกันจะเป็นคนใน เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน ส่วนเราเป็นคนนอก จะถูกปฏิบัติอีกแบบ ทำให้เข้าไปบ้านครั้งแรกมีความเก้ๆ กังๆ หน่อย
คนในคนนอกไม่เพียงใช้แต่เฉพาะคนญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น ยังใช้ในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติแยกกับชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ทำให้บางครั้งการปฏิบัติต่อชาวต่างชาติกับชาวญี่ปุ่นด้วยกันแตกต่างกัน การปฏิบัติเช่นการใช้ระดับความสุภาพของภาษา การแสดงกริยาท่าทางเวลามีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นเคร่งครัดในการปฏิบัติซึ่งต่างจากคนไทยอย่างชัดเจนไม่ว่าใครที่ไหนก็สามารถเรียกเป็นพี่ น้อง ป้า น้า อา ลุง เสมือนญาติเราได้หมด เจอครั้งแรกก็ถามชื่อเล่นและเรียกได้ตั้งแต่ยังไม่รู้จักอะไรกันเลย ถ้าไปทำแบบนี้ที่ญี่ปุ่นจะโดนมองแรงเอานะ
ตัวอย่างปสก.ตรง การรักษาเวลา
คนญี่ปุ่นอาจจะขึ้นชื่อในเรื่องของการเคร่งครัดและตรงต่อเวลาแต่ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นก็สายเป็นนะ ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น ก็มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่สนิท 2-3 คน ทุกครั้งที่นัดจะเจอกันทีต้องเผื่อเวลาให้มาสาย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง อาจจะเป็นเพราะสนิทกันมากบวกกับเป็นการพบเจอเพื่อกินข้าวด้วยกัน พูดคุยถามถึงสารทุกข์สุขดิบ ไม่ได้เป็นเรื่องงาน จึงทำให้เผยนิสัยที่แท้จริงออกมาว่าคนญี่ปุ่นก็สายเป็นนะ
แต่ถ้าพูดถึงคนไทยกับคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นที่รู้จัก 10 คนจะมีคนสาย 1 คน คนไทย 10 คนจะมีคนสาย 5 คน ประเด็นคือคนไทยนัดพบปะเรื่องงานก็สาย แต่คนญี่ปุ่นเรื่องงานนี่แทบจะไม่สายให้เห็น เพราะงานคือเรื่องคอขาดบาดตาย มาสายถือว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ จะส่งผลไปถึงการทำงานได้ ขนาดนัดยังมาสายแล้วเวลาทำงานจะหวังพึ่งได้หรอ? ประมาณนี้ค่ะ
ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็ยังพอหยวนๆ แต่นัดมาดูหนังแล้วเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นมาสาย 30 นาทีนี่จริงๆก็ไม่โอเคนะ
การรักษามารยาทนอกบ้านนับเป็นเรื่องที่ดีในสังคมญี่ปุ่น เพราะไม่ว่าไปที่ไหนเราก็จะเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน แต่อีกมุมนึงก็ถือว่าเป็นความเครียดเล็ก ๆ ที่ก่อตัวและสะสมภายในใจคนญี่ปุ่นเพราะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบสังคมอย่างเคร่งครัดในทุก ๆ วันอย่างไม่มีการผ่อนปรน
ถ้าให้เลือก จะเลือกแบบไหนกันคะ? อยู่กันอย่างสบาย ๆ มักง่ายทำอะไรตามใจ หรือจะเคร่งเครียดต้องทำตามกฎและหลักปฏิบัติในสังคมจนอ่อนล้า เป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างความสุขและรักษากฏข้อปฏิบัติ ส่วนตัวคิดว่าการรักษามารยาททางสังคมเป็นการให้เกียรติทั้งตนเองและผู้อื่นที่อยู่รอบข้างค่ะ มาช่วยกันทำสังคมให้น่าอยู่โดยเริ่มที่ตัวเรากันนะคะ