ทำไมแม่บ้านชาวญี่ปุ่นถึงเย็นชา
วันนี้แม่บ้านจะมาเม้าท์มอยครอบครัวชาวญี่ปุ่นกันค่ะ ต้องเกริ่นไว้ก่อนนะคะว่าสภาพโครงสร้างครอบครัวที่จะเล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครอบครัว เป็นแค่ส่วนหนึ่งในญี่ปุ่น และเกิดขึ้นในยุคพ่อแม่ของเรา (สามีอายุ 50 ขึ้นไป) ครอบครัวญี่ปุ่นสมัยใหม่เปลี่ยนไปมากแล้วค่ะ ถ้าพร้อมเผือกแล้วจะเล่าให้ฟังค่ะ
By แม่บ้านเมกุโระตอนอยู่ไทยก็มักจะได้ยินผู้ชายญี่ปุ่นวัยกลางคนใหญ่มีตำแหน่งสูง เช่น ผู้จัดการโรงงานที่มาทำงานในประเทศไทย บ่นให้ฟังบ่อย ๆ ว่าเค้าอ่ะนะ เป็นได้แค่ ATM หรือตู้กดเงินของภรรยาเท่านั้นแหละ แต่ก่อนก็ฟังเฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น ได้เห็นสภาพสังคม พูดคุยกับบรรดาแม่บ้านที่ลูก ๆ โตกันไปหมดแล้วก็สรุปได้ดังนี้
1 ) ผู้ชายญี่ปุ่นถูกสั่งสอนให้ทำงานนอกบ้าน
ส่วนผู้หญิงเมื่อแต่งงานก็ต้องออกจากงาน หรือถูกบังคับให้ออกจากงาน มาทำงานบ้านและเลี้ยงลูก ถูกบังคับหมายถึงการถูกกดดันจากบริษัทให้ลาออก เพราะสมัยก่อนการลาไปคลอดลูกและกลับมาทำงานเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้ผู้หญิงที่อยากทำงานรู้สึกเครียดและกดดัน หลาย ๆ ครั้งอุปสรรคไม่ได้มาจากภายนอกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนในบ้านอย่างสามีก็อยากให้ภรรยาอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้แม่บ้านหลายคนเสียใจ สามีก็ไม่เข้าใจ บริษัทก็ไม่ให้โอกาส เกิดความรู้สึกด้อยค่าเมื่อไม่ได้ทำงานหรือทำตามความฝันของตน แต่ปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดการให้ผู้หญิงที่ลาคลอดสามารถกลับมาทำงานได้
2 ) ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ต่อเนื่องจากข้อ 1 ผู้ชายญี่ปุ่นแยกหน้าที่กับภรรยาชัดเจน ดังนั้นจะถือว่างานบ้านและการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของภรรยา พ่อบ้านชาวญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยช่วยเหลือดูแลลูกอย่างพ่อบ้านประเทศอื่นๆ บวกกับการทำงานในประเทศญี่ปุ่นที่เคร่งเครียด ทำเกินเวลา (โดยบางทีไม่ได้ค่า O.T.) ทำให้พ่อบ้านเหนื่อยล้า เมื่อกลับบ้านไม่มีแรงเล่นหรือดูแลลูก ทำให้ภรรยาต้องดูแลลูกแทบจะ 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาส่วนตัว จึงทำให้เกิดความเครียดทั้งต่อตนเองและความสัมพันธ์สามี – ภรรยา
3 ) จากเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่
จากข้อ 2 สามีไม่พยายามเข้าใจและไม่ค่อยช่วยเหลือภรรยา แม่บ้านหลายคนหลังคลอดลูกได้กลับบ้านแทนที่จะมีความสุข กลับถูกต่อว่าเรื่องอาหารที่รสชาติแย่ลง หรืองานบ้านที่ทำไม่เนี้ยบ ไม่สะอาดเท่าเดิม ทำให้ภรรยารู้สึกน้อยใจหรือเสียใจ เกิดการสะสมความเครียด บางคนถูกเคยถูกสามีต่อว่า ว่าทำไมลูกร้องไม่หยุด? ทำพูดที่เสียดแทงจิตใจเล็กๆ น้อยๆ ทำให้กลายเป็นความเย็นชา ได้แต่ประคับประคองครอบครัวจนลูกโต หมดหน้าที่ ก็ไม่สนใจสามีในที่สุด
4 ) ไม่รู้ตัวว่าทำร้ายจิตใจกันแค่ไหน
พ่อบ้านมักไม่ค่อยจะรู้ตัวว่าใช้อำนาจในการปกครองครอบครัว การเลี้ยงลูกชายแบบประคบประหงมแบบคนญี่ปุ่นรุ่นก่อนรวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นที่ชายเป็นใหญ่ได้บั่นทอนสถาบันครอบครัวจนเหลือเพียงชื่อเรียกแต่สายใยหลายครอบครัวตัดขาดพังทลายหมดแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นครอบครัวญี่ปุ่นเมื่อมีลูกภรรยามักจะแยกห้องนอนอยู่กับลูก และไม่กลับมานอนกับสามีอีกเลย
5 ) ต่างคนต่างอยู่
เกี่ยวเนื่องจากข้อ 1 – 4 หลังจากเกิดความร้าวฉานในครอบครัว สามีเจ้ากี้เจ้าการ ภรรยาเฉยเมย เมื่อลูกโตเข้ามหาวิทยาลัยย้ายไปอยู่หอ ภายในบ้านก็เหมือนผู้ร่วมชายคากันเฉย ๆ ต่างคนต่างอยู่ต่างทำธุระของตน ส่วนสามีถ้าได้มีโอกาสทำงานในต่างประเทศก็จะพบว่ามีเรื่องชู้สาวมากมาย
อย่างที่เรา ๆ เห็นกันทั้งในกรุงเทพฯ และชลบุรี สแน็คบาร์ (ร้านนั่งดื่มตอนกลางคืนที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มชายญี่ปุ่นกลางคน) ผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด สมัยเศรฐกิจรุ่งเรืองเคยเห็นเลี้ยง 7 วัน 7 คนก็มี เวลาภรรยามาเยี่ยมสามีที่ไทยก็ได้นิฮงชู สาเกญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ เป็นค่าปิดปาก (ฮาาา) บางคนภรรยาไม่เคยมาเยี่ยม แถมช่วงเทศกาลไม่เคยสนใจจะให้สามีกลับบ้าน แค่ส่งเงินไม่ขาดเท่านั้นพอ
ที่พูดมาเป็นเพียงครอบครัวส่วนหนึ่งในสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น เดี๋ยวนี้ผู้ชายญี่ปุ่นยุคใหม่ก็เปลี่ยนไปเยอะ ช่วยดูแลลูกบ้านขึ้น ช่วยแม่บ้านมากขึ้นก็มี อย่างที่ว่าแต่งงานเหมือนซื้อลอตเตอรี่ ถ้าถูกแจ็คพอตก็โชคดีไป ก็อยากให้ทุกคนถูกลอตเตอรี่นะคะ อิอิ