วิธีตกแต่งบ้านช่วงปีใหม่ของคนญี่ปุ่น
ต้นสนกระบอกไม้ไผ่ คาโดมัทสึ (門松)
กิ่งสนแห่งโชคลาภหรือคาโดมัทสึ ปกติจะมีขนาดใหญ่ มักจะวางประดับไว้บริเวณทางเข้าหน้าบ้าน/ร้านค้า หรือตรงประตูบ้าน/ร้านค้า โดยคาโด(門)แปลว่าประตู และมัทสึ (松)แปลว่าต้นสน และนอกจากนี้ยังเป็นคำพ้องเสียงกับ Matsu (待つ) ที่แปลว่าการรอคอย นั่นหมายถึงรอคอยการมาของเทพเจ้าในช่วงปีใหม่นั่นเองค่ะ
ถ้าเป็นคาโดมัทสึตามร้านค้าหรือบริษัทจะมีความปราณีต นิยมใส่ไม้ไผ่และสิ่งที่เป็นมงคลอื่น ๆ เข้าไปร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความสวยงาม ต่างจากคาโดมัทสึตามบ้านที่ทำจากกิ่งสนอย่างง่าย ๆ ที่จริงแล้วคาโดมัทสึจะแตกตามแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องที่ของประเทศญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปจะมีกระบอกไม้ไผ่ 3 แท่งอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นตัวแทนของสวรรค์ มนุษย์ และโลก ปักเรียงลำดับความสูง โดยแท่งไม้ไผ่ที่สูงที่สุดคือสวรรค์ และแท่งที่อยู่ต่ำที่สุดหมายถึงโลก และถูกมัดด้วยเชือกฟาง
เชือกศักดิ์สิทธิ์ชิเมะนาวะ (注連縄)
เชือกศักด์สิทธิ์หรือชิเมะนาวะ เป็นเครื่องรางที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปยังตำนานญี่ปุ่นเกี่ยวกับเทพแห่งพระอาทิตย์ อามาเทราสุ โอมิคามิ (天照大神) ในหนังสือ นิฮงโชกิ (日本書紀) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์กึ่งตำนานของญี่ปุ่นซึ่งถูกบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 8
เรื่องราวมีอยู่ว่าวันหนึ่ง พระเจ้าองค์หนึ่งเกิดความไม่พอใจ และหลบตัวเองอยู่หลังประตูหิน เมื่อเทพองค์อื่น ๆ สามารถนำเทพองค์นี้ออกมาได้ก็วางเชือกล้อมรอบเพื่อไม่ให้กลับไปซ่อนอีก เชือกนี้ถูกเรียกว่า ชิริคุเมะนาวะ (しりくめ縄) เราจะเห็นเชือกนี้ได้ตามศาลเจ้าและวัด ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคำว่า ชิเมะนาวะ ซึ่งเป็นชื่อย่อนั่นเอง
เชือกศักด์สิทธิ์ชิเมะนาวะ ส่วนใหญ่มักจะมีขนาดใหญ่ นิยมติดไว้บริเวณสถานที่ที่มีพิธีกรรม แต่คนญี่ปุ่นก็นิยมนำแบบเล็กมาประดับบ้านด้วย เพื่อทำให้บ้านเป็นพื้นที่ที่มีแต่โชคลาภและสิ่งดี ๆ เข้ามาค่ะ
พู่ฟางศักดิ์สิทธิ์ ชิเมะคาซาริ (紙垂)
พู่ฟางศักดิ์สิทธิ์หรือชิเมะคาซาริ เป็นเครื่องรางที่นำมาประดับไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลช่วงปีใหม่ นิยมติดไว้ประตูหน้าบ้านเพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในบ้าน พู่ฟางศักดิ์สิทธิ์แบบดั้งเดิมจะมีผลส้มห้อยไว้ด้วยเพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าส้มนั้นเป็นผลไม้แห่งความโชคดีค่ะ
เริ่มประดับไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงวันที่ 7 มกราคม เพราะเชื่อว่าพระเจ้ามาเยี่ยมเยียนโลกมนุษย์ และกลับสวรรค์วันที่ 7 มกราคมของทุกปี ตามท้องถิ่นจะมีการรวบรวม ชิเมะคาซาริมาเผารวมกัน บางคนอาจจะเก็บเศษขี้เถ้ากลับไปบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
คากามิโมจิ (鏡餅)
โมจิในช่วงปีใหม่หรือคากามิโมจิ เป็นของประดับแบบดั้งเดิม ทำจากข้าวเหนียว มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมแบน 2 ก้อนซ้อนกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ซึ่งชิ้นล่างจะใหญ่กว่าชิ้นบน วางซ้อนชั้นบนสุดด้วยผลส้ม วางไว้บนแท่น ทำขึ้นเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้าขอพรให้มีอายุยืนยาว
ในสมัยก่อนหรือตามชนบทใช้วิธีการทำแบบดั้งเดิมคือ ‘โมจิทสึคิ’ คือการแช่ข้าวข้ามคืนแล้วนำมาหุงจนสุด ตำด้วยค้อนไม้ด้ามใหญ่จนกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจะถูกปั้นขึ้นรูป ซึ่งมีวิธีการซับซ้อน ใช้เวลาและอุปกรณ์เฉพาะ แต่ปัจจุบันคากามิโมจิแบบสำเร็จรูปมีขายอยู่ทั่วไป ทั้งสะดวกและน่ารักดูฟรุ้งฟริ้งเวลาเอามาประดับตกแต่งบ้านค่ะ
คากามิโมจิจะถูกนำมาประดับบ้านหรือบูชาเทพเจ้า จนถึงวันที่ 11 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่เรียกว่าคากามิ บิราคิ (鏡開き) จะนำคากามิโมจิที่แข็งมาหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือใช้ค้อนทุบ แล้วนำไปปรุงอาหารหรือใส่ในซุป แต่จะไม่ใช้มีดหั่นเป็นอันขาด เพราะคากามิโมจิเป็นการขอให้ชีวิตยืนยาว ถ้าใช้มีดหั่นเชื่อว่าจะทำให้อายุสั้นค่ะ (ที่จริงโมจินั้นแข็งโป๊กมากๆ หั่นก็ไม่เข้าหรอกค่ะ ヾ(´▽`”)ノ
Shime Kazari แบบมินิมอลร่วมสมัย
นอกจากแบบดั้งเดิมแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังขึ้นชื่อเรื่องการดัดแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นแบบร่วมสมัยด้วยค่ะ
อย่างอันนี้เป็นแบบตุ๊กตา น่ารักมุ้งมิ้งแถมเข้ากับยุคสมัย คอลเล็คชั่นพิเศษจากแบรนด์ดังสุดฮิตจากญี่ปุ่น Craft Holic
ใครเป็นแฟนรีบไปสอยมาประดับบ้านกันนะคะ (̂ ˃̥̥̥ ˑ̫ ˂̥̥̥ )̂