All About Japan

วิธีการหางานในญี่ปุ่น และประสบการณ์ส่วนตัว

ชีวิตในญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น ทำงานในญี่ปุ่น
วิธีการหางานในญี่ปุ่น และประสบการณ์ส่วนตัว

เพราะญี่ปุ่นอะไรๆก็แพง อยากได้เงินไปเที่ยวไปกินของอร่อยๆ เที่ยวชมวิวสวยๆ ฉันจึงต้องทำงานทำงาน! แต่ภาษายังไม่แกร่งกล้าแล้วจะเริ่มอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบ! (สำหรับหางานพาร์ทไทม์นะ) เหมาะกับคนอยู่ญี่ปุ่นหรือนักเรียนในญี่ปุ่นที่มีวีซ่าอยู่นี่แล้ว ใครมีแปลนจะมาอยู่ที่นี่นานๆ ต้องลองอ่านเตรียมไว้!

บทความนี้เป็นบทความเล่าประสบการณ์การหางานพาร์ทไทม์ของนักเรียนในญี่ปุ่น หากคุณมีความสนใจในการทำงานประจำที่ญี่ปุ่น หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับเงินเดือน รายรับรายจ่าย หรือภาษีต่างๆของคนทำงานประจำที่ญี่ปุ่น สามารถไปที่หน้านี้ได้ รวมข้อมูลสำหรับคนอยากทำงานประจำที่ญี่ปุ่น เช่นเงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

หางานในญี่ปุ่น จะเป็นไปได้ไหมเนี่ย?!

หางานในญี่ปุ่น จะเป็นไปได้ไหมเนี่ย?!

มาใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นแถมยังอยู่ที่โตเกียวเมืองที่ได้ชื่อว่าค่าครองชีพแพงติดอันดับโลก อะไรๆก็แพงไปหมด จะกินของอร่อยๆนอกบ้านสักทีอย่างน้อยๆก็ต้องมี 1000 เยน (ประมาณ 300 บาท) ให้อุ่นใจ ทำอย่างไรดีฉันก็ได้แต่นึกๆ จะให้ไปซื้อหวยกว่าจะรอให้ถูกก็คงยาก ใช้ดวงไม่ได้ ก็ต้องใช้แรงแล้วกัน *ร้องเพลงต้องสู้ต้องสู้ถึงจะชนะ*

ข้อมูลพื้นฐานการทำงานพิเศษในญี่ปุ่น

การทำงานพิเศษ ที่ญี่ปุ่นเขาเรียกการว่าการทำงานอะรุไบโตะ หรือเรียกสั้นๆง่ายๆว่าไบโตะ เป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน แม้จะเป็นนักเรียนต่างชาติหรือแม่บ้านที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่นก็สามารถทำงานไบโตะได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องไปขอใบอนุญาตที่เขตก่อน หรือสมัยนี้สะดวกสบายมากสามารถขอทำเรื่องได้ที่ ตม.สนามบินตอนถึงญี่ปุ่นได้เลยเวลาเดียวกันกับตอนที่ขอทำบัตร residence card หรือบัตร 在留カード

Residence Card บัตรที่เป็นเหมือนบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่มาอยู่ญี่ปุ่นระยะยาวนะ เช่นการมาเรียน มาทำงาน แต่งงาน มีหลากหลายชนิด แต่สำหรับนักเรียนมีข้อกำหนดว่าสามารถทำงานได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น (ห้ามเกินนะจ๊ะเพราะนักเรียนหน้าที่คือเรียน อะไรอย่างนี้)

ประสบการณ์ทำงานที่ญี่ปุ่น ไม่ลอง ไม่รู้

ประสบการณ์ทำงานที่ญี่ปุ่น ไม่ลอง ไม่รู้

ช่วงเรียนปริญญาตรีดิฉันได้โอกาสมาแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นและยังเป็นช่วงที่ภาษาญี่ป่นยังกระท่อนกระแท่น วาดฝันก่อนมาว่าอยากจะตะลุยกินเค้กแสนอร่อยตามรอยรายการทีวีแชมเปี้ยน แต่ก็ต้องจอดสนิทหน้าร้านเพราะแพงเหลือเกิน (มาใหม่ๆยังไม่ชินราคา ในหัวคำนวณเป็นบาทอัตโนมัติแล้วจุกเลย55) แม้จะได้ทุนค่าขนมในแต่ละเดือนแต่ก็จะมาใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้เพราะคงชักหน้าไม่ถึงหลัง ฉันจึงเริ่มหางานพิเศษทำ แต่ปัญหาตัวใหญ่ๆคือภาษานั่นเอง ใครที่จะมาอยู่ญี่ปุ่น แต่ภาษายังไม่แข็งแรงก็ไม่ต้องกังวลไปฉันมีข้อแนะนำ ของอย่างนี้ถ้าเราไม่ลองเราก็ไม่ได้พัฒนาสักทีใช่ไหม~

ภาษาก็ไม่แข็งแรง ทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องขายแรงงานแล้วกัน สมัยนั้นยังพิมพ์ญี่ปุ่นก็ไม่คล่อง ฉันก็เสิร์ชหาเป็นภาษาอังกฤษ งานที่มักเป็นด่านแรกของนักเรียนต่างชาติอย่างเราๆคือเด็กเสริฟนั่นเอง ฉันวางกลยุทธ์การหางานว่าต้องเป็นร้านที่ลูกค้าฝรั่งเยอะๆด้วยนะ (เพราะเราจะได้ไม่ปวดหัวกับภาษาญี่ปุ่นแบบทางการมาก แหะๆ) ฉันก็ดุ่มๆเจอร้านที่น่าทำเป็นพนักงานร้านอาหารอิตาลี ลองส่งอีเมล์ไป รอสัก 2-3 วันเขาก็เรียกไปสัมภาษณ์ ปรากฏได้ด้วยแหะแบบฟลุ๊คๆ

อยากจะบอกเพื่อนๆว่าอย่าท้อใจหรือกลัว อย่างไรก็ลองไปสมัครก่อน ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรดีกว่าไม่ลอง และอีกอย่างเท่าที่เราทราบๆกัน สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ เขาค่อนข้างขาดแรงงานในภาคบริการมากๆ อย่างที่ๆฉันเคยทำงานพิเศษ เขาก็เปิดรับสมัครงานเรื่อยๆ เด็กญี่ปุ่นสมัยนี้ (อย่างน้อยก็พวกเพื่อนๆของดิฉัน) ก็ไม่ค่อยอยากทำงานพิเศษเป็นเด็กเสิร์ฟหรือพนักงานในร้านสะดวกซื้อแบบเซเว่นกันเท่าไหร่ ทำให้คนต่างชาติแบบเราๆมีโอกาสมากขึ้นเยอะ

วิธีสมัครงาน

วิธีสมัครงาน

เรซูเม่

วิธีสมัครงานญี่ปุ่นเขาก็ไม่เหมือนใครเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เรซูเม่ โดยต้องใช้แบบฟอร์มแบบญี่ปุ่นเท่านั้น โดยส่วนมาก กรอกประวัติส่วนตัวของเรา รายละเอียดการศึกษา (ละเอียดยิบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย) พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากสมัครงานนี้ แบบฟอร์มตามภาพนี้ โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป หรือเคล็ดลับว่าใครอยากประหยัดก็ลองไปหยิบนิตยสารหางาน (ที่กล่าวข้างต้น) ตามสถานีรถไฟหรือร้านสะดวกซื้อ โดยหน้าสุดท้ายเขาจะมีเรซูเม่แบบญี่ปุ่นให้เราใช้ฟรีๆ ดีงาม~

การแต่งกาย
ที่ญี่ปุ่นเขาเน้นความสุภาพ เพื่อความชัวร์ควรใส่ชุดสูทไปสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะผู้หญิงควรใช้กระเป๋าสีสุภาพเข้ากับชุดสูทจะดีมาก) ฉันเองแม้จะอยู่ญี่ปุ่นมานานก็ยังไม่แน่ใจเรื่องระดับความสุภาพเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนที่สมัครทำงานเด็กเสิร์ฟ ฉันก็ใส่กางเกงสแลค เสื้อสูททับไว้ก่อน (แต่เดี๋ยวนี้น่าจะหยวนๆมากขึ้นนะ) แต่ถ้าใครสมัครงานประจำ งานบริษัทแล้วละก็แนะนำให้ใส่สูทกันเหนียวดีกว่า แม้เวลาทำงานปกติบริษัทจะให้แต่งตัวสบายๆได้ก็ตาม

คำถามยอดฮิต
เดาได้เลยว่าต้องเจอคำถามอะไรบ้าง ดิฉันคิดว่าญี่ปุ่นทำอะไรทุกอย่างเป็นระบบ (ซึ่งก็ดีต่อเราเองจะได้เดาได้ ว่าเขาจะมีแพทเทิร์นอย่างไรจะได้ไม่กลัว) เช่นเริ่มแรกก็จะถามประวัติส่วนตัว บ้านอยู่แถวไหน เรียนภาษาญี่ปุ่นกี่ปี ตอนนี้ทำงานพิเศษที่อื่นอีกไหม อยากทำที่นี่เพราะอะไร ข้อดีข้อเสียของตัวเอง ฯลฯ

แต่ที่สำคัญที่ต้องมีการตั้งธงไว้แล้วในใจ เช่น สามารถมาทำงานได้สัปดาห์ละกี่วัน วันไหนบ้าง วันละกี่ชั่วโมง เพราะนายจ้างต้องการความชัดเจน ให้เราตอบตามจริงตามที่เรามาทำได้จริงๆ และถ้ารายละเอียดการสมัครงานไม่ได้บอกค่าชั่วโมง ให้เราเกริ่นๆไปเลยดีกว่าจะได้ไม่มีปัญหาตามหลัง เรทที่โตเกียวในงานภาคบริการทั่วไปก็ชั่วโมงละ 900-1000 เยน (ประมาณ300บาท) ดูเหมือนเยอะนะแต่ค่าครองชีพก็สูงตาม กระซิกๆ

โดยสรุปให้เราตอบเรื่องเวลาทำงานและค่าแรงต่อชั่วโมงและวิธีรับเงินให้ชัดเจน เช่น ขอรับเป็นเงินสด หรือโอนผ่านธนาคาร เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาภายหลัง

แอพและเว็บไซต์ช่วยได้

สมัยนี้มีเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือหางานไบโตะมากมาย เช่นเว็บ
mynavi
townwork
baitoru
พวกนี้คือเว็บดังที่มีงานให้หาทั่วประเทศ นอกจากนี้ญีปุ่นเขาก็จะมีนิตยสารฟรีหลายๆอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการประกาศหางาน โดยมีให้หยิบกันฟรีๆตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่นสถานีรถไฟ ร้านสะดวกซื้อ หรือแคมปัสที่เรียนอยู่เป็นต้น โดยเราจะสมัครตามรายละเอียดที่เขาลงไว้ในนิตยสารก็ได้เช่นกัน

วิธีเอาตัวรอดในการทำงานบริษัทญี่ปุ่น

วิธีเอาตัวรอดในการทำงานบริษัทญี่ปุ่น

หลังจากเริ่มแกร่งกล้าในการทำงาน ดิฉันก็เริ่มอยากลองอะไรใหม่ๆเรื่อยๆ เพราะอย่างไรก็ดีกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆเปลืองค่าไฟ และยังได้ฝึกภาษาอีกด้วย ดิฉันก็สมัครงานไปทั่ว ตั้งแต่พนักงานร้านอาหารไทย (ข้อดีคือได้กินอาหารไทย 55) พนักงานโรงแรมโฮสเทล ล่ามออกบูท พนักงานกรอกข้อมูลหรือที่เรียกว่า Data Entry นางแบบ(จำเป็น55) ครูสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย พนักงานออฟฟิศในบริษัทนิตยสาร นักเขียน นักแปลตามวาระต่างๆ (จนเพื่อนชอบแซวว่าทำงานเหมือนบ้านเป็นหนี้55)

เอาเป็นว่าไม่ว่างานอะไรก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง และไม่ว่างานอะไร ข้อสำคัญคือความตรงต่องเวลาและกฏเหล็กที่แม้คนญี่ปุ่นเองยึดกันคือกฏที่เรียกว่า Horenso (報連相) นั่นเอง โดยประกอบไปด้วย 3 ส่วนดังนี้

1.Ho 報
มาจากคำว่า Hokoku 報告 ที่แปลว่าการรายงานนั่นเอง ที่ทำงานดิฉันมีกฏว่าจะต้องรายงานความคืบหน้าทุกวันในไลน์กลุ่ม (ได้คำสั่งนี้ครั้งแรกถึงกับกุมขมับ) เช่นเวลาใครในทีมสั่งงานก็อะไร แม้จะปากเปล่ากับเรา เขาก็จะรายงานในกลุ่มไลน์ หรือจะอีเมล์และ cc ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรและความเข้าใจที่ตรงกัน

2. Ren 連
มาจากคำว่า Renraku 連絡 ที่แปลว่า การติดต่อ/การแจ้ง เช่น มีปัญหาอะไรในที่ทำงานต้องแจ้งเจ้านายทันที! เพื่อจะได้แก้ไขได้ทัน หรือสถานการณ์ง่ายๆ เช่นเกิดท้องเสีย ตื่นสาย รถไฟหยุดเป็นเหตุให้เราไปสายกว่ากำหนด ก็ต้องรีบแจ้งคนในทีมล่วงหน้าเช่นกัน

3. So 相
มาจากคำว่า Sodan 相談 ที่แปลว่า ปรึกษา มีอะไรให้ปรึกษากันก่อนตัดสินใจ เพราะญี่ปุ่นเน้นการทำงานเป็นทีม ทุกคนต้องรับรู้และเห็นพ้องก่อน จะมาบู่มบ่ามไม่ได้ เช่น บริษัทนิตยสารท่องเที่ยวที่ดิฉันทำอยู่ เวลาจะออกแคมเปญอะไรทีก็ต้องประชุมก่อน ต้องหาหลักฐานยืนยัน หาข้อมูลให้เพียงพอให้ทุกคนตกลงก่อนจะลงมือทำจริงๆ

วลียอดฮิต

วลียอดฮิต

การทำงานที่ญี่ปุ่นก็คล้ายบ้านเรา คือ ไปมาลาไหว้ เจอหน้าใครก็ต้องทักทาย (แม้อารมณ์จะไม่ให้หรือไม่รู้จักกันก็เถอะ แต่ทำงานบริษัทเดียวกัน ชั้นเดียวกันก็เหมือนลงเรือลำเดียวกันแล้วอย่างไงละ)

คำที่ต้องพูดติดนิสัยไว้เลยคือ Otsukaresama desu お疲れ様です หรือแปลเป็นไทยตรงๆว่า ขอบคุณในความเหนื่อยยาก (คนไทยเราไม่มีคำที่ความหมายตรงกว่านี้แล้วละ) ตอนเรียนอาจารย์คนญี่ปุ่นก็บอกแค่ว่าใช้พูดตอนเลิกงาน แต่เอาจริงๆที่คนญี่ปุ่นพูดคำนี้บ่อยมากๆ เช่น บังเอิญเดินสวนกัน เจอกันในห้องน้ำ หรือตอนเริ่มเข้างานก็เห็นเขาพูดกัน เอาเป็นว่าเป็นวลีที่ควรติดเป็นนิสัยไว้นะจ๊ะสำหรับคนที่ต้องมาทำงานบริษัทญี่ปุ่น

สรุป

ใครจะเริ่มหางานพิเศษทำในญี่ปุ่นก็พกความมั่นใจเอาไว้ก่อน แม้ว่าจะดูโหด เข้าไปทำงานแล้วก็ยังเจออะไรที่ไม่เหมือนบ้านเราอีกเพียบ แต่ก็เป็นการฝึกตัวเราเอง ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง (แถมได้เงินใช้ อิอิ) กล้าๆเข้าไว้ ลองกันดูกันทุกคน เป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ




บทความนี้เป็นบทความเล่าประสบการณ์การหางานพาร์ทไทม์ของนักเรียนในญี่ปุ่น หากคุณมีความสนใจในการทำงานประจำที่ญี่ปุ่น หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับเงินเดือน รายรับรายจ่าย หรือภาษีต่างๆของคนทำงานประจำที่ญี่ปุ่น สามารถไปที่หน้านี้ได้ รวมข้อมูลสำหรับคนอยากทำงานประจำที่ญี่ปุ่น เช่นเงินเดือนญี่ปุ่น ค่าครองชีพ และเงินเก็บ

know-before-you-go