ตั้งครรภ์ที่ญี่ปุ่น
ขั้นตอนที่ 1 กรี้ดดด~ด!
เมื่อคิดว่าตนเองตั้งครรภ์ปุ๊บ ขั้นตอนแรกให้ไปที่ร้านขายเพื่อซื้อที่ตรวจครรภ์มายืนยันอีกครั้ง นำที่ตรวจครรภ์นั้นไปคลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านและแจ้งว่าท้องค่ะ เพื่ออัลตร้าซาวด์อีกรอบ และเราจะได้รับเอกสารยืนยันว่าเราท้องจริง ๆ นะ
ลองสองชิ้นเพื่อความมั่นใจ
ขั้นตอนที่ 2 บอกรัฐว่าคุณจะมีประชากรเพิ่มแล้วนะ!
นำเอกสารที่ทางคลินิกหรือโรงพยาบาลออกให้ไปยังศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพประจำอำเภอ (保健センター) โดยแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าตั้งครรภ์ เจ้าหน้าที่จะให้กรอกเอกสารต่าง ๆ ให้เอกสารซึ่งเยอะแยะมากมาย ดังต่อไปนี้
• สมุดแม่และเด็ก (母子健康手帳)
สมุดบันทึกข้อมูลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนเด็กโต บางเขตมีหลากหลายภาษา อย่างภาษาไทยก็มีนะคะ ภายในเล่มจะมีทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาที่ถูกแปลด้วย สะดวกมากสำหรับคุณหมอ เจ้าหน้าที่ รวมถึงคู่สมรสชาวญี่ปุ่นที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหลักค่ะ
• คูปองหักลดหย่อนค่าตรวจ (妊婦健康診査受診票)
แต่ละเขตจะให้วงเงินในการลดหย่อนและจำนวนคูปองไม่เท่ากันค่ะ แต่ละครั้งที่ไปตรวจนำสมุดแม่และเด็ก คูปอง และบัตรประกันสุขภาพ (被保険者証) แสดงทุกครั้ง ถ้าการตรวจมีค่าใช้จ่ายเกินที่คูปองกำหนดเราก็จ่ายส่วนเกินไปตามจริงค่ะ
ป้ายห้อยสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ถ้าลองสังเกตุดูดีๆ บนรถไฟญี่ปุ่น ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ตั้งครรภ์แทบทุกคนจะมีป้ายแบบนี้ห้อยอยู่บยนกระเป๋าค่ะ เขียนว่า「お腹に赤ちゃんがいます」แปลว่า "ในท้องมีเด็กทารกอยู่" ค่ะ
ป้ายนี้มีไว้ห้อยกระเป๋าเพื่อให้คนเห็น และรู้ว่าเราท้องนะ แล้วเวลาขึ้นรถไฟหรือรถบัส คนส่วนใหญ่เห็นป้ายก็จะลุกให้นั่งค่ะ คนญี่ปุ่นเวลาท้องดูกันไม่ค่อยออก คนไทยมักจะบอกว่าคนท้องในญี่ปุ่นหาดูยาก แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบคนท้องที่ห้อยป้ายนี้ได้ทั่วไปค่ะ
ป้ายนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คนท้องทั่วประเทศญี่ปุ่นจะใช้เหมือนๆกัน ไปที่เมืองไหนคนท้องก็จะห้อยป้ายหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ทันทีเมื่อเห็นป้ายค่ะ ถ้าเจอคนห้อยป้ายแบบนี้อย่าลืมลุกให้นะ
เอกสารอื่น ๆ เช่น
• ใบแจ้งเกิด (出生通知票) ของเขตเมกุโระในโตเกียวที่แม่บ้านอยู่สะดวกมากค่ะ มาเป็นรูปแบบซองจดหมาย แค่กรอกแบบฟอร์ม พับ ติดกาว หย่อนไปรษณีย์ก็เสร็จเลย สะดวกสบายมากไม่ต้องไปถึงอำเภอ
• เบอร์ฉุกเฉินและเบอร์ติดต่อองค์กรที่ให้คำปรึกษา เช่น ถ้าคุณแม่มีภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถติดต่อปรึกษาได้ที่องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไปค่ะ
• หนังสือความรู้และแนวทางการเลี้ยงดูลูก อีกหลายเล่ม
• คลาสพ่อแม่มือใหม่ (パパママの育児教室) เป็นตารางกิจกรรมคลาสที่ท้องถิ่นจัดอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เป็นคลาสเรียนสั้น ๆ ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดงได้เข้าใจหลักการการดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธีค่ะ
เขตที่อยู่มีการมอบของขวัญสำหรับเด็กและคุณแม่ด้วยค่ะ โดยของเด็กเป็นชุดสมุดภาพและสีเทียน และของขวัญของคุณแม่คือแค็ตตาล็อกสินค้า เราสามารถเลือกดูสินค้าที่อยากได้ 1 ชิ้น เข้าเว็บไซต์ กรอกข้อมูลและของที่อยากได้ ของก็จะถูกจัดส่งมาถึงบ้านฟรี ๆ เลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 ดูแลสุขภาพจนถึงวันคลอด
ในระหว่างการตั้งครรภ์ระยะที่ 1 - 2 คุณแม่สามารถใช้ชีวิตได้ปรกติ เพราะท้องที่ยังไม่ใหญ่ ถ้าเกิดการแพ้ท้องและมีปัญหาในเรื่องการกินหรือกลัวสารอาหารไม่เพียงพอสามารถปรึกษาหมอ พยาบาล หรือศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพได้ โดยหมอจะนัดพบเดือนละครั้งจนถึงอายุ 7 เดือน
ที่ญี่ปุ่นเคร่งครัดกับสุขภาพของคุณแม่มาก เช่นการควบคุมน้ำหนัก ความดัน และปริมาณน้ำตาลในเลือด ซึ่งต่างจากทัศนคติของคนไทยจะนิยมให้คุณแม่ทานเยอะ ๆ เพื่อบำรุงครรภ์ ทำลูกน้อยให้ตัวใหญ่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นถึง 20 กิโลกรัม แต่จริงๆแล้วนี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่นะคะ
แต่คำสอนของหมอที่ญี่ปุ่น บอกไว้ว่าน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นได้สูงสุดตลอดการตั้งครรภ์ ไม่ควรเกิน 10 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอะไรที่ยากมากสำหรับการอาศัยอยู่ในประเทศที่มีของหวานอร่อยไปทั่วทุกที่ (TwT) ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นค่ะ
รัฐบาลญี่ปุ่นมีการช่วยเหลือเรื่องเงินตลอด เช่นค่าคลอด จำนวนเงินที่ให้ในแต่ละเขตหรือจังหวัดก็แตกต่างกันไป ปกติจะอยู่ที่ 400,000 เยน เช่นการผ่าคลอดในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่าย 420,000 เยน เราจะออกค่าคลอดแค่ส่วนต่าง 20,000 เยนค่ะ หรือในกรณีที่คลอดธรรมชาติกับหมอตำแยญี่ปุ่น (หมอซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพ ช่วยในการทำคลอดแบบธรรมชาติ) มีค่าใช้จ่าย 180,000 เยน เราก็จะได้ค่าส่วนต่างที่รัฐบาลช่วยออกด้วย 220,000 เยน เหมือนเป็นเงินขวัญถุงไว้ใช้เลี้ยงลูก ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมคลอดวิธีธรรมชาติเพราะแบบนี้ค่ะ
เมื่ออายุครรภ์มาก คุณหมอจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการคลอดและขั้นตอนต่าง ๆ ในการพักฟื้นที่โรงพยาบาล ในกรณีผ่าคลอดจะมีการกำหนดวันที่ชัดเจน ถ้าสามารถคลอดธรรมชาติได้ เมื่ออายุครรภ์ 8 เดือนสามารถจัดกระเป๋าเตรียมตัวของสำหรับใช้หลังคลอดได้เลยค่ะ โดยทางโรงพยาบาลจะให้รายการของที่ต้องเตรียม (出産準備品リスト) มาให้เราจัดของตามเช็คลิสต์ เมื่อรู้ตัวว่าใกล้คลอดก็หิ้วกระเป๋าไปโรงพยาบาลได้เลยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับการตั้งครรภ์ญี่ปุ่น ต่างหรือเหมือนกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง? มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ