ญี่ปุ่นกับจีน - การรักษารากเหง้าทางประเพณี
งานเทศกาล (มะสึริ) ในญี่ปุ่นมีผู้คนเข้ามาร่วมงานกันอย่างล้นหลาม เยอะมหาศาลจนบางคนสงสัยว่าทำไมเทศกาลของญี่ปุ่นจึงใหญ่นัก แต่เพราะงานเทศกาลนี่เองที่ส่งเสริมให้ชุมชนต่าง ๆ มารวมตัวกัน และเฉลิมฉลองประเพณีที่เป็นสืบทอดกันมาร่วมกัน บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลที่ช่วยให้ญี่ปุ่นรักษารากเหง้าทางประเพณีและความเป็นชุมชนไว้ได้ดีกว่าจีน
รากเหง้าที่มีร่วมกันกับประเพณีที่หายไป
จีนและญี่ปุ่นมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประเพณีคล้ายคลึงกัน เช่นงาน ทานาบาตะ หรือเทศกาลแห่งดวงดาวในญี่ปุ่น ที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากตำนานจีนเกี่ยวกับคู่รักแห่งดวงดาวผู้อาภัพ เทศกาลเรือมังกรในจีนก็ยังคล้ายคลึงกับเทศกาลทังโกะ ในญี่ปุ่น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเพณีเหล่านี้กำลังค่อย ๆ เลือนหายไปจากในประเทศจีน
อย่างนึงที่เห็นชัดเจน คืองานเทศกาลในจีนนั้นเป็นโอกาสให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ (แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อยนักก็ตาม) เทศกาลตามประเพณีบางอย่างให้ความสำคัญกับอาหารมากกว่าอย่างอื่น และการรับประทานอาหารในเทศกาลพิเศษก็กลายเป็นงานอดิเรก ทว่าสิ่งนี้กลายเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้คนติดสินบนเจ้าพนักงาน โดยการซ่อนเงินไว้ในห่ออาหาร การทุจริตพรากแนวคิดสำคัญของการเฉลิมฉลองและกิจกรรมในชุมชนไปจากจุดประสงค์ดั้งเดิมของงานเทศกาล
การแห่ขบวนพาเหรด หรือชุมชนรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในประเทศจีน ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องยาก ทั้ง ๆ ที่เราสามารถพบเห็นกันได้บ่อย ๆ ในญี่ปุ่น แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีรากเหง้าประเพณีร่วมกันก็ตาม
บรรยากาศทางการเมือง
สิ่งหนึ่งที่ร่วมเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความแตกต่างในการรักษารากเหง้าของประเพณีเอาไว้นั้นก็คือ การเมือง
ระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-1976) ประเพณีและพิธีกรรมทางจิตวิญญาณในประเทศจีน ได้ถูกทำลายอย่างหนัก โอกาสในการรวมตัวกันขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะถูกบั่นทอน ด้วยความกลัวที่จะสร้างปัญหาทางการเมือง หรือล้มล้างรัฐบาล เว้นแต่ประชาชนจะรวมตัวกันในขบวนพาเหรดของวันชาติ หรือขบวนพาเพรดทางทหารอื่น ๆ ในโอกาสสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดเท่านั้น
ถึงอย่างนั้น แม้จะมีการจัดการรวมตัวขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่รัฐบาลก็ยังจำกัดให้สาธารณชนทั่วไปชมงานผ่านได้แค่ทางทีวี และอนุญาตเฉพาะผู้นำระดับสูงของประเทศเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมในงานจริงๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นยังคงส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกันในงานขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั่วไปยังคงเฉลิมฉลองเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต
การขยายตัวของเมืองภายในจีน
นักวิชาการกล่าวว่า จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ซึ่งมีความแตกต่างกันมากมายระหว่างจังหวัดและหมู่บ้านต่าง ๆ ภายในประเทศ นักวิชาการบางท่านยังสังเกตว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นที่อิงอยู่ภายในแต่ละหมู่บ้านมีความผูกพันกันแน่นแฟ้น และหากหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ถูกทำลายหายไป วัฒนธรรมดังกล่าวก็จะหายไปด้วย
ในช่วงเวลากว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการขยายตัวของเมืองทั่วประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้หมู่บ้านขนาดเล็กสูญหายไป ผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมต่างย้ายเข้าเมืองเป็นจำนวนมากเพื่อมองหาโอกาสที่ดีกว่า เนื่องจากความหวังและศักยภาพที่เมืองใหญ่มีให้ แต่วัฒนธรรมท้องถิ่นก็จะสูญหายไปเมื่อหมู่บ้านถูกทำลาย หรือเมื่อผู้คนออกจากบ้านเกิดเพื่อย้ายไปเมืองใหญ่จนหมด นอกจากนี้ ผู้ที่ย้ายไปยังเมืองใหญ่และวัฒนธรรมของพวกเขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอไป การเลือกปฏิบัติต่อ “คนงานต่างถิ่น” กลายเป็นปัญหาที่โดดเด่นภายในเมืองใหญ่ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือวัฒนธรรมหายไปเพราะเข้ากันไม่ได้กับชีวิตในเมืองใหญ่ รวมถึงผลจากการเลือกปฏิบัติที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เองที่นำไปสู่การไม่รักษารากเหง้าทางประเพณีของคนในประเทศจีนสมัยใหม่
จิตวิญญาณของชุมชน
การเลือกปฏิบัติต่อคนงานต่างถิ่น ในเมืองของประเทศจีน หมายถึง บุคคลที่ไม่สามารถรวมตัวเองเข้าไปในชุมชนได้อย่างสนิทใจ แม้ว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลทุ่มเทพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีในประเทศจีนอย่างจริงจัง แต่การขาดจิตวิญญาณความเป็นชุมชนของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ สร้างความยากลำบากในการรักษาพิธีกรรมและประเพณีให้สืบต่อไป
ตรงกันข้าม ความเป็นชุมชนอย่างเข้มข้นในญี่ปุ่นช่วยรักษาประเพณีในประเทศให้คงอยู่มีชีวิตชีวา ตัวอย่างเช่น งานเทศกาลที่มักจัดโดยชุมชนท้องถิ่น สำนักงานท่องเที่ยว หรือสมาคม หอการค้า หรือบริษัทในท้องถิ่นต่างๆอาจถึงขั้นส่งทีมนักแสดงมาร่วมงานเทศกาลด้วย ซึ่งเทศกาลเหล่านี้จะมีการเริ่มฝึกซ้อมการแสดงกันล่วงหน้าหลายเดือน เทศกาลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโอกาสให้บริษัทท้องถิ่นหรือสมาคมต่างๆ แสดงความขอบคุณแก่ผู้อื่น และสร้างความประทับใจให้กับคนในชุมชน
ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับชาวเมืองในท้องถิ่น การเข้าร่วมงานเทศกาลเป็นสิ่งที่มากกว่าการไปชมการแสดง ผู้ที่เข้าร่วมงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงาน เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้พบปะกับผู้คนที่พวกเขารู้จัก เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน ลูกหลานที่เข้าร่วมในขบวนพาเหรดเป็นต้น ประชาชนท้องถิ่นจับจองพื้นที่ตามทางเดินกันตั้งแต่เช้า เพื่อให้ได้ที่ดี ๆ สำหรับการชมการเดินขบวนในยามค่ำคืน พวกเขารออยู่ข้างทางพร้อมกับกล้อง และทุกครั้งที่คนที่รู้จักคุ้นเคยเดินผ่านมา ก็จะเรียกชื่อ โบกไม้โบกมือ และถ่ายรูปอย่างร่าเริง ผู้แสดงจะหยุดพักจาก “การแสดง” ชั่วครู่ และหันกลับมาส่งยิ้มให้
คล้ายกับจีน ญี่ปุ่นได้ผ่านช่วงเวลาขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วมาก่อน ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนจีนมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำลายความรู้สึกของการเป็นชุมชนที่แพร่หลายในญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่นการคงอยู่ของศาลเจ้าเป็นต้น แม้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ยึดติดในศาสนาอย่างเข้มข้นแต่ศาลเจ้าชินโตยังคงพบได้ทั่วไป
ความพยายามในการบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบยังคงมีส่วนช่วยให้เกิดการรักษาพิธีกรรมและประเพณีท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นก็ตาม ทั้งญี่ปุ่นยังมีความพยายามอย่างแข็งขันในการสืบค้นประวัติศาสตร์ เพื่อหารากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของตัวเอง พร้อม ๆ ไปกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว การผสมผสานประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเข้ากับสังคมสมัยใหม่ ที่ก่อให้เกิดเทศกาลอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น จริงๆเริ่มต้นมาเพียงประมาณครึ่งศตวรรษเท่านั้น เทศกาลเหล่านี้มีผลดีในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
จิตวิญญาณของชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองในญี่ปุ่น คือเหตุผลที่ทำให้สามารถเก็บรักษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาได้จนถึงปัจจุบัน
"มะสึริ" หรือเทศกาลของญี่ปุ่น
ฤดูร้อนนี้ ฉันได้มีโอกาสออกไปดูงานเทศกาลหลายครั้งในภูมิภาคโทโฮคุ ไม่เพียงได้ตื่นตาตื่นใจกับการชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ฉันยังได้มีโอกาสพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไมประเพณีในญี่ปุ่นและจีนจึงได้มีโชคชะตาที่แตกต่างกันอีกด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขนาดของงานเทศกาลในญี่ปุ่นนั้นใหญ่โตน่าประทับใจ ผู้คนนับพันจากทุกช่วงอายุ ออกมาเดินบนถนนในชุดตามประเพณี ร้องเล่นเต้นรำไปพร้อมกับเสียงจังหวะกลองญี่ปุ่น (ไทโกะ) สำหรับชาวญี่ปุ่นมากมาย งานเทศกาลมีความหมายลึกซึ้ง “หากไม่มีงานเทศกาล ฤดูร้อนคงไม่เหมือนฤดูร้อน” ฉันได้ยินข้อความนี้มาจากคนญี่ปุ่นหลายท่าน มากกว่าหนึ่งคน มากกว่าหนึ่งครั้ง
งานเทศกาลส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับลัทธิชินโต มักจะมีการแห่รูปปั้นเทพทั้งหลายจากศาลเจ้าของชุมชนในโอกาสพิเศษ และเดินขบวนไปตามถนนให้ผู้คนได้บูชาและเฉลิมฉลอง แต่งานเทศกาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีบรรยากาศของศาสนาและจิตวิญญาณเข้มข้นเสมอไป บ่อยครั้งงานเทศกาลเหล่านี้เป็นแหล่งความบันเทิงสนุกสนานเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้น เรื่องราวและตำนานที่อยู่เบื้องหลังงานเทศกาลก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจได้
เทพนิยายและตำนาน
เทศกาลซันซะโอโดริ ในจังหวัดอิวะเตะ มีต้นกำเนิดมาจากตำนานเก่าแก่ซึ่งเล่าว่า มีปีศาจตนหนึ่งสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น เมื่อชาวบ้านภาวนากับเทวดา คำภาวนาก็ได้รับการตอบรับ และปีศาจสัญญาว่าจะไม่ก่อปัญหาอีกต่อไป ปีศาจสร้างสัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาด้วยการประทับรอยมือลงบนหินก้อนยักษ์ ชาวบ้านท้องถิ่นเต้นรำรอบ ๆ ก้อนหินอย่างรื่นเริง จนเกิดเป็นเทศกาลเต้นรำซันซะโอโดริมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวนี้เป็นที่มาของชื่อจังหวัดอิวะเตะ ซึ่งมีความหมายว่ามือบนหิน หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมการเต้นรำมาตลอด 8 ปีเล่าให้ฉันฟังว่า ทุก ๆ คนในท้องถิ่นได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานนี้มาตั้งแต่เด็ก
พิธีกรรมบางอย่างยังกลายเป็นศิลปะพื้นบ้านซึ่งส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยวิธีนี้เองประเพณีจึงยังคงอยู่เรื่อยมา ในงานเทศกาลคันโตมัตสึริ ในจังหวัดอะคิตะ จะมีการผูกติดโคมไฟ (คันโต) ขึ้นบนโครงที่ประกอบขึ้นมาจากไม้ไผ่ คันโตขนาดใหญ่ที่สุดสูงถึง 12 เมตร แขวนโคมไฟจำนวน 46 โคม และมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม ระหว่างช่วงเทศกาล ชาวเมืองจะเข้าร่วมงาน แล้วพยายามแบกรับน้ำหนักของคันโตไว้บนหน้าผาก หัวไหล่ หรือแม้แต่บนสะโพก ซึ่งไม่ได้ฝึกกันง่าย ๆ เลย แม้ว่าหลายคนจะทำล้ม แต่ทุกคนก็ยังพยายาม และฉันรู้สึกมีแรงบันดาลใจ เมื่อได้เห็นเด็ก ๆ รุ่นใหม่แสดงในงานเทศกาลเพื่อสืบสานประเพณีสืบทอดต่อไปสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เทศกาลบางอย่างก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดที่ชัดเจน เช่นคันโตมะสึริ ในจังหวัดอาคิตะ และเนบูตะมะสึริ ในจังหวัดอะโอโมริมีที่หลายคนเชื่อกันว่ามีที่มาจากการเก็บเกี่ยวข้าว แต่ก็ยังว่ากันว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและความเจ็บป่วยช่วงฤดูร้อนอีกด้วย
เทศกาลเนบูตะและคันโตคล้ายคลึงกับเทศกาลโคมไฟในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเป็นเทศกาลที่ตรงกับทุกวันที่ 15 มกราคมในปฏิทินจันทรคติ และเป็นวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ผู้คนได้ชื่นชมกับโคมไฟกระดาษที่ตกแต่งอย่างสวยงาม และทายปริศนาของโคมไฟกันในวันนั้น กิจกรรมดังกล่าวแทบไม่มีการจัดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และบรรยากาศก็ไม่เหมือนกับขบวนพาเหรดของงานเทศกาลในญี่ปุ่นเลย