All About Japan

โอซาก้า ดินแดนเสรีของชาวสีรุ้ง

LGBT ครั้งแรกในญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น ทำงานในญี่ปุ่น Osaka Kansai

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าประเทศญีปุ่นนั้นมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ แต่โดยภาพรวมก็ยังคงอยู่ในระเบียบที่เข้มงวดและเชื่อในจารีตอย่างเคร่งครัด เช่นการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มันจึงเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับคู่รักที่มีสถานะเป็นเพศทางเลือก แต่หากได้อยู่ที่โอซาก้าแล้วล่ะก็ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป

โอซาก้า

โอซาก้า

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Dotonbori_19.jpg

โอซาก้านั้นเป็นได้ทั้งชื่อเมืองและจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่น "เมืองหลัก"ของจังหวัดโอซาก้าซึ่งเป็นศูนย์รวมที่เที่ยวของชาวต่างชาตินั้น เป็นพื้นที่เล็กๆ ขนาดประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร เล็กประมาณเขตหนองจอกของกรุงเทพแค่เขตเดียวเท่านั้นเอง แต่ก็มีประชากรอยู่มากกว่าสองล้านคน! ส่วนตัว"จังหวัด"โอซาก้านั้นมีประชากรมากเกินกว่า8ล้านคน เป็นเมืองหลักแถบคันไซที่ทุกคนให้เกียรติว่ามีความเป็นเมืองหลวงไม่แพ้โตเกียว
แน่นอนว่าจากมุมมองของคนไทย ที่นี่คือเมืองที่มีผู้คนหลั่งไหลมาเพื่อท่องเที่ยวและเสาะหาความสนุกสนานตามแบบฉบับของนักผจญภัย ด้วยอาหารที่หลากหลาย สถานที่อันน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นสวนสนุกหรือสถานเริงรมย์ เรียกได้ว่าเป็นจังหวัดที่เปิดรับผู้คนจากภายนอกประเทศเป็นอันดับต้นๆของประเทศญีปุ่นเลยก็ว่าได้

การยอมรับผู้มีรสนิยมทางเลือก

การยอมรับผู้มีรสนิยมทางเลือก

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/98/Hideyoshi_and_Mitsunari.jpg

การยอมรับว่าผู้มีรสนิยมทางเลือกมีอยู่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่
อย่างในภาพ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ อิชิดะ มิตสึนาริ ภาพนี้มีอายุมากกว่าสองร้อยปี โดยผู้วาดมีเจตนาชัดเจนที่จะสื่อว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สื่อสมัยใหม่อย่างมังงะ อนิเมะ ละคร ก็ล้วนนำความรักของคนเพศเดียวกันสองคน มาทำเป็นเรื่องราวมากมายอย่างเปิดเผย โดยไม่ได้มีการต่อต้านแต่ประการใด

แต่การที่มีกฏหมายออกมารองรับให้กลุ่มคนเพศทางเลือกมีเสรีภาพและสิทธิเท่าเที่ยมบุคคลอื่นๆนั้น เป็นเรื่องที่ใหม่พอควร เพราะหลายๆประเทศ เมือง คนออกกฏหมาย ก็อาจจะยังมีการกีดกันจากกลุ่มศาสนาหัวรุนแรง กลุ่มคนอนุรักษ์นิยม หรืออาจจะแค่ยังนึกไม่ถึงก็ได้

ทั้งนี้ ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาแลกความเห็นและปรับมุมมอง ในที่สุดเรื่องที่น่ายินดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ของกลุ่มคน LGBT ที่อาศัยอยู่ในโอซาก้า เมื่อโอซาก้าเป็นจังหวัดแรกที่อนุญาตให้กลุ่มคนที่รักในเพศเดียวกันสามารถอุปถัมภ์บุตรได้ถูกต้องตามกฏหมายทุกอย่าง โดยไม่แบ่งแยกเพศที่จะต้องดูแลเด็ก ไม่แบ่งว่าจะต้องมีเพียงพ่อหรือแม่ในการดูแลลูก จะเป็นคุณพ่อกับคุณพ่อ หรือคุณแม่กับคุณแม่ก็ได้ ขอเพียงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะดูแลชีวิตหนึ่งชีวิตให้กลายเป็นคนดีของสังคมได้ก็เพียงพอ

http://www.city.osaka.lg.jp/yodogawa/page/0000232949.html

ในวันที่ 1 มีนาคม ปี2015 กฏหมายในประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรได้เปลี่ยนไป คู่รักที่มีเพศเดียวกันสามารถรับเด็กไปอุปถัมภ์ได้หากมีความพร้อมทั้งทรัพย์สินและคุณสมบัติที่ดีพร้อมพอ ซึ่งเกิดได้จากเมงุมิ ฟูจิ หัวหน้าของกลุ่ม Rainbow Foster Care ได้ออกตัวนำเสนอและผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้กลุ่มคนเพศทางเลือกได้มีโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลเพศชายและหญิง

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการขึ้นเพื่อสรรหาสภาพแวดล้อมและพื้นที่ๆเหมาะสมกับโครงการ และที่ๆพวกเขาเลือกก็คือที่โอซาก้า เพราะเป็นพื้นที่ๆโดยรวมแล้ว ประชากรเปิดรับทุกวัฒนธรรมและความเห็นต่างอย่างไม่คิดมาก

ซึ่งคู่รักคู่แรกที่ได้รับสิทธิ์นั้น คือคู่รักชายวัย30และ40ปี ที่ไม่ต้องการเปิดเผยว่าเป็นใครหรือมีอาชีพและฐานะทางสังคมอย่างไร แต่ทั้งคู่ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีสิทธิ์ดูแลและรักเด็กซักคนในฐานะผู้ปกครอง

" ผมมีความสุขมากที่เราได้เลี้ยงดูเขาในฐานะครอบครัว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้อุปถัมภ์ "

" สิ่งที่สำคัญสำหรับเขาคือการได้รับความรักจากคนที่โตกว่า หรือการยืนยันว่าเขายังมีตัวตนในชีวิตของใครซักคน "

แม้จะเป็นคำพูดที่ดูเรียบง่ายและสามารถได้ยินทั่วไปจากปากคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกทั่วๆไป แต่สำหรับคู่รักLGBTมันมีค่ามากกว่านั้น เพราะไม่ใช่เพียงได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต แต่มันคือการเปิดทางให้กับโอกาสของคู่รักLGBTอีกหลายต่อหลายคู่มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เป็นครอบครัวที่ดีพร้อมในความหมายที่ "คนธรรมดา" บัญญัติเอาไว้

http://www.city.osaka.lg.jp/miyakojima/page/0000334761.html

การสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่การที่ต้องมี พ่อ แม่และลูกอยู่พร้อมหน้า แต่ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบจริงๆคือครอบครัวที่สามารถฟูมฟักและเลี้ยงดูชีวิตหนึ่งชีวิตด้วยความรัก ความเอาใจใส่ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งจนถึงวันที่ชีวิตนั้นจะออกไปมีชีวิตใหม่เป็นของตนเอง นั่นต่างหากถึงจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบจริงๆ

สถานะ อายุ การศึกษา เพศ ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นกฏในการสร้างครอบครัว

โอซาก้าดูเหมือนจะเข้าใจสิ่งนี้

know-before-you-go