allabout japan
allabout japan

นักท่องเที่ยวก็รู้ไว้ไม่เสียหาย! วิธีรับมือหากเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น

นักท่องเที่ยวก็รู้ไว้ไม่เสียหาย! วิธีรับมือหากเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟระเบิด พายุหิมะ แผ่นดินไหว สึนามิ แต่ญี่ปุ่นก็เตรียมตัวพร้อมรับมือกับภัยต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี มีทีมงานช่วยเหลือเรื่องการอพยพ บริหารจัดการแก้ภัยพิบัติได้ค่อนข้างรวดเร็ว

By hikawasa
เหตุการณ์แผ่นดินไหวจังหวัดอิชิคาวะ

ภาพประกอบนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไหวคุมาโมโตะปี 2016 ซึ่งบ้านส่วนตัวถูกทำลาย และตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2020 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ขึ้นไป 17.9% ทั่วประเทศญี่ปุ่น และญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวหลายครั้ง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวจังหวัดอิชิคาวะ

ภัยพิบัติมาเยือนประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เปิดศักราชปี 2024 ด้วยการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 มกราคม เวลาประมาณ 16.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาด 7.6 ริกเตอร์ ความรุนแรงระดับ 7 เป็นระดับสูงสุดตามเกณฑ์การวัดแบบชินโดะ (Shindo) ของญี่ปุ่น และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาจำนวนมากกว่า 129 ครั้ง

โดยศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่คาบสมุทรโนโตะ (Noto Peninsula) จังหวัดอิชิคาวะ (Ishikawa) มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการพังถล่มลงมาของอาคารบ้านเรือนหลายหลัง รวมทั้งจากไฟไหม้ที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ความเสียหายไม่ได้มีเพียงที่จังหวัดอิชิคาวะเท่านั้น แต่จังหวัดนีงาตะ (Niigata) จังหวัดฟุคุอิ (Fukui) และจังหวัดโทยามะ (Toyama) ซึ่งอยู่ในพื้นที่โดยรอบก็ได้รับผลกระทบ

เนื่องด้วยการเกิดแผ่นดินไหวนี้ ทางญี่ปุ่นก็ได้ประกาศเตือนให้จังหวัดชายฝั่งตะวันออกตอนกลางของประเทศเฝ้าระวังการเกิดสึนามิที่รุนแรง แต่โชคดีว่าไม่ได้เกิดสึนามิที่ร้ายแรงเหมือนกับในปี 2011 สึนามิลูกแรกระดับความสูงประมาณ 1.2 เมตร พัดเข้าฝั่งบริเวณท่าเรือของเมืองวาจิมะ (Wajima) จังหวัดอิชิคาวะ ลูกที่ 2 ระดับความสูงประมาณ 0.8 เมตร พัดเข้าเมืองโทยามะ จังหวัดโทยามะ และลูกที่ 3 ระดับความสูงประมาณ 0.4 เมตร พัดเข้าเมืองคาชิวาซากิ (Kashiwazaki) จังหวัดนีงาตะ

วิธีเอาตัวรอดและรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว

วิธีเอาตัวรอดและรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว

การเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติของญี่ปุ่นทำได้ดีเพราะการเตรียมพร้อมของประชาชน ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ถ้าเบื้องต้นมีการเตรียมมาตรการป้องกันตัวเองและสมาชิกในบ้านได้ก็สามารถลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้มาก ญี่ปุ่นเริ่มป้องกันตัวตั้งแต่ในบ้านด้วยวิธีเล็กๆ น้อยดังต่อไปนี้

1.ไม่วางเฟอร์นิเจอร์มากเกินความจำเป็นในห้องนอนและห้องเด็กเล็ก หรือหากมีก็ควรเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สูงมากนักเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มลงมาทับหรือขวางทางเข้าออก
2.ตู้และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น โทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ที่หน้าจอเป็นกระจก ไมโครเวฟและเตาอบ ควรทำตัวยึดเกาะกับผนัง เจาะรูใส่สกรูยึดให้มั่นคงอยู่กับที่เพื่อเวลาแผ่นดินไหวจะได้ไม่หล่นลงมาแตก มีเศษแก้วที่เป็นอันตราย
3.วางไฟฉายให้อยู่ใกล้มือ เพื่อจะได้หยิบสะดวกเวลาแผ่นดินไหวแล้วไฟฟ้าดับ
4.วางรองเท้าแตะสลิปเปอร์ที่ใส่ในบ้านให้หยิบใช้ได้สะดวก ยามแผ่นดินไหวแล้วข้าวของตกแตก มีเศษแก้ว เศษกระจก จะได้สวมรองเท้าสลิปเปอร์ป้องกันเศษวัสดุบาดเท้า
5.เตรียมซื้อถุงยังชีพเผื่อกรณีที่ต้องอพยพไปยังสถานที่หลบภัยอันปลอดภัย หรือติดอยู่ข้างในสถานที่และรอคนมาช่วย

ในถุงยังชีพมีอะไรบ้าง

ในถุงยังชีพมีอะไรบ้าง

เราควรเตรียมใส่อะไรในถุงยังชีพบ้างเมื่อถึงกรณีที่ต้องใช้ถุงยังชีพขึ้นมาจริงๆ ลองมาไล่ดูกันทีละอย่าง

1.น้ำดื่ม
แต่ละคนควรเตรียมไว้ประมาณ 3 ลิตรสำหรับอยู่รอดได้ใน 3 วัน
2.อาหาร
ควรเป็นอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมรับประทานได้เลยไม่ต้องนำมาปรุงต่อ เช่น บิสกิต แครกเกอร์ต่างๆ ช็อกโกแลต (ให้พลังงานเร่งด่วนได้อย่างดี) คัมปัง (ขนมปังแห้ง) อาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็งที่ทิ้งให้น้ำแข็งละลาย เป็นต้น
3.ชุดชั้นใน เสื้อผ้า
4.กระดาษทิชชู่ ทิชชู่เปียก
5.ไม่ขีดไฟ เทียนไข
6.ไฟฉายที่ชาร์จด้วยการหมุนมือหรือแสงอาทิตย์
7.ถุงมือผ้าสีขาวที่ใช้ใส่ทำงาน
8.เชือก
9.นกหวีด
10.ส้วมพกพา
11.อลูมิเนียมฟอยล์สำหรับห่มป้องกันลมและความหนาว
12.วิทยุแบบพกพา ถ่านชาร์จ
13.หมวกกันภัย
14.หน้ากากอนามัย
15.เซ็ตปฐมพยาบาลเบื้องต้น
16.ยารักษาโรค

วิธีป้องกันตัวจากแผ่นดินไหว

กรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขั้นรุนแรงจนกระทั่งรู้สึกได้ถึงอันตราย สิ่งที่ควรปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อยู่ตอนนั้น

1.กรณีที่อยู่ในบ้าน

1.กรณีที่อยู่ในบ้าน

1.ปิดแก๊ซให้เรียบร้อยดี
2.อาจใช้เบาะรองนั่งแบบญี่ปุ่นคุ้มกันศีรษะ เข้าไปหลบอยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรง
3.อยู่ให้ห่างจากเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มง่ายและมีด้านที่ทำจากแก้วหรือกระจก
4.อาจมีไฟไหม้หลังเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นพยายามอยู่ให้ห่างจากแหล่งกำเนิดไฟ
5.อย่ารีบร้อนออกไปข้างนอก

2.กรณีอยู่นอกบ้าน

2.กรณีอยู่นอกบ้าน

1.ใช้กระเป๋าหรือสัมภาระติดตัวมาบังศีรษะ
2.อยู่ห่างจากกำแพงอิฐบล็อก ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่อาจโค่นใส่ได้
3.รีบออกห่างจากรอบบริเวณอาคารเพราะอาจมีของที่สามารถหล่นใส่ได้ เช่น เศษกระเบื้อง เศษกระจกหน้าต่างที่แตก หรือป้าย เป็นต้น

อย่างไรก็ให้รอดูสถานการณ์รอบข้างอย่างใจเย็นจนกว่าแผ่นดินไหวจะสงบ ถ้าหากมีการเคลื่อนย้ายไปยังที่หลบภัยก็ตรวจสอบข้อมูลได้จากการประกาศกระจายเสียงเตือนภัยพิบัติจากทางการ ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่จะแจ้งเรื่องการเคลื่อนย้ายไปในที่ปลอดภัย

ที่ญี่ปุ่นจะมีสถานที่หลบภัยที่เรียกว่าฮินันบะโฉะ (Hinanbasho) มักเป็นที่โล่ง เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานหน้าโรงเรียน ใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวเพื่อดูสถานการณ์ว่าควรจะทำอะไรต่อไป หลังเกิดแผ่นดินไหวและมีประกาศเตือนภัยสึนามิตามมา ให้วิ่งหนีขึ้นที่สูงเท่านั้น พยายามหลีกหนีให้ไกลจากทะเล แม่น้ำ ลำคลองอาคารสูงบางแห่งใช้หนีภัยจากสึนามิได้ ขึ้นไปบนชั้นสูงๆ หรือไปให้ถึงดาดฟ้า

การแจ้งเตือนข้อมูล แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่มีประโยชน์เมื่อเกิดภัยพิบัติ!

การแจ้งเตือนข้อมูล แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่มีประโยชน์เมื่อเกิดภัยพิบัติ!

เดี๋ยวนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการอัพเดทข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีเวอร์ชั่นภาษาไทยด้วยนะ! สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการด้านล่างนี้เลย

・การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติแก่ชาวต่างชาติ

・แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่มีประโยชน์เมื่อเกิดภัยพิบัติ

บทส่งท้าย

หวังว่าบทความนี้จะพอเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เผื่อว่าขณะท่องเที่ยวในญี่ปุ่นแล้วเจอเหตุการณ์ภัยพิบัติเข้า จะได้เป็นไกด์ไลน์ให้รอดพ้นจากสภาวะวิกฤตได้

hikawasa

หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวัจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

hikawasaxwanako.blogspot.com