ต่างชาติก็ทำได้! บริจาคเลือดที่ญี่ปุ่น ไม่ยากอย่างที่คิด
การรับบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นจัดขึ้นโดยองค์กร Japanese Red Cross Society (JRCS) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เพื่อรวบรวมและจัดหาเลือดเพื่อใช้ในการถ่ายเลือดให้กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีชาวต่างชาติมากมายเข้าร่วมบริจาคเลือดเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น วันนี้แม่บ้านเลยจะพาไปทัวร์การบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นกันค่ะ
บริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นทำได้ที่ไหน ทำได้อย่างไร
การบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.บริจาคที่ศูนย์รับบริจาคเลือด 2.รถรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ (ส่วนใหญ่จะจอดอยู่ใกล้กับสถานี) ซึ่งสังเกตดีๆ จะเห็นเจ้าหน้าที่สภากาชาดจะคอยยืนชูป้ายขอความร่วมมือผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่าให้ช่วยบริจาคเลือดตามกรุ๊ปต่าง ๆ อยู่ เราสามารถเดินเข้าไปแจ้งความประสงค์บริจาคเลือดกับเจ้าหน้าที่ได้เลย โดยที่ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า และทางเจ้าหน้าที่จะเป็นคนนำทางเราไปเองค่ะ
ข้อสังเกต:ให้ดูป้ายที่เขียนคันจิคำว่า "献血" (อ่านว่า Kenketsu) แปลว่า "การบริจาคเลือด"
ขั้นตอนการรับบริจาค
1 ) กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว
กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ส่วนสูง น้ำหนัก ชื่อและเบอร์ติดต่อบุคคลอื่นในกรณีฉุกเฉิน โดยข้อมูลต่าง ๆ จะเก็บในฐานข้อมูลเพื่อไว้ใช้ในการบริจาคครั้งต่อไป
2 ) ศึกษาเอกสาร
เราจะได้รับเอกสารต่าง ๆ เช่น สิ่งที่ควรทำหลังการบริจาค เช่น นั่งพักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถไฟสาธารณะ (ระวังเป็นลมจนวูบตอนรอรถไฟแล้วตกลงไปในรางรถไฟ) ข้อดีของการบริจาคเลือด และเอกสารอื่น ๆ อีกมากมาย
3 ) ตอบแบบสอบถามการบริจาค
เป็นการทำแบบสอบถามเพื่อคัดกรองเบื้องต้น เช่น คุณเคยไปอเมริกาเหนือในช่วง 4 ปีนี้หรือไม่ กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือไม่ เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไม่ เคยเป็นโรคดังต่อไปนี้หรือไม่ ซึ่งเราก็ตอบไปตามความจริงได้เลยค่ะ
4 ) ดูวีดีโอ (สำหรับผู้ที่บริจาคครั้งแรก)
เป็นวีดีโอสรุปข้อมูลต่าง ๆ ของการบริจาคเลือดผ่านวีดีโออีกที เพื่อทบทวนข้อมูลและสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริจาคเลือดมากขึ้น
5 ) คุยกับแพทย์เพื่อตรวตสอบความพร้อม
แพทย์จะสอบถาม 3 - 4 คำถามเพื่อเช็คว่าเราพร้อมที่จะบริจาคเลือดหรือไม่? ที่ญี่ปุ่นต้องมีแพทย์ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจในตอนสุดท้ายว่าเราสามารถบริจาคเลือดได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาค (พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะแพทย์จะพยายามสื่อสารกับเราด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด)
6 ) เช็คกรุ๊ปเลือด (สำหรับผู้ที่บริจาคครั้งแรก)
เป็นการเช็คหมู่เลือดของผู้บริจาค ถึงแม้เราจะเคยบริจาคที่ไทยมานับครั้งไม่ถ้วนจนรู้หมู่เลือดของตัวเองอยู่แล้ว ก็ยังคงต้องเจาะเลือดเพื่อเช็คกรุ๊ปเลือดอีกครั้งค่ะ
7 ) เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนบริจาคเลือด
ภายในห้องบริจาคเลือดจะงดใช้โทรศัพท์ และวัดความดันค่ะ ถ้าไม่มีปัญหาก็จะเริ่มไปนอนบนเตียงเพื่อเจาะเลือดกันเลย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการบริจาคเลือดมี 2 ปริมานคือ 200 มล. และ 400 มล. (สำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนัก 40 กก. ขึ้นไปและผู้ชายที่มีน้ำหนัก 45 กก. ขึ้นไป บริจาคได้ครั้งละ 200 มล.) ใช้เวลาไม่นานค่ะ
8 ) นั่งพักที่ศูนย์ 10-15 นาที รอรับบัตรและเอกสารต่าง ๆ
หลังจากบริจาคเสร็จก็นั่งพักทานน้ำทานขนม โดยขนมที่ศูนย์บริจาคเลือดก็ไม่ได้ไก่กานะคะ มีทั้งไอศกรีมฮาเก้น-ดาส ไมโล และอีกมากมายให้ทานกันแบบฟรี ๆ
ระหว่างที่รอ แม่บ้านก็ทำการลงทะเบียนผ่านเว็บ โดยใช้เลขของผู้บริจาคลงทะเบียน เพราะเมื่อลงทะเบียนแล้วเราจะสามารถจองการบริจาคเลือดออนไลน์ได้ รวมถึงได้รับของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วยค่ะ แล้วก็สะดวกมาก เพราะเราจะสามารถดูประวัติการบริจาคครั้งก่อน ๆ ได้ และเหลือเวลาอีกกี่วันก่อนที่จะสามารถบริจาคเลือดครั้งต่อไปได้
สรุปประสบการณ์จากการบริจาคเลือด
• มีการตรวจสอบประวัติในวันที่จะบริจาคเลือดอย่างละเอียดมาก ๆ อย่างปริมาณน้ำที่ดื่ม พักผ่อนกี่ชั่วโมง ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเอาใจใส่กับเรื่องนี้มาก
• พนักงานแจ้งว่าอาจจะใช้เวลา 1 - 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่พอบริจาคจริงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ดังนั้นอยากให้เผื่อเวลาสำหรับการบริจาคเลือดครั้งแรกไว้หน่อยค่ะ
• เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ส่งรายงานผลการตรวจเลือดมาให้เราหรือไม่ ประทับใจส่วนนี้มาก เราจะได้รับโปสการ์ดที่เหมือนเอกสารรายงานสุขภาพขนาดย่อม ๆ (ตามภาพ) ซึ่งจะมีคำอธิบายรายละเอียดของสารแต่ละตัวที่ตรวจเช็ค มีบอกค่ามาตรฐานเพื่อให้เราใช้ในการเปรียบเทียบว่าสุขภาพของเราตอนนี้เป็นอย่างไร สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อที่จะเป็นไกด์ไลน์ให้เราได้ดูแลสุขภาพของเราให้ดีขึ้น
• มีเว็บไซต์ให้บริการ ทั้งตรวจสอบประวัติการบริจาค จองล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เสียเวลา สามารถเช็คดูว่าจะบริจาคครั้งต้อไปได้ภายในกี่วัน ซึ่งสร้างความสะดวกให้กับผู้บริจาคมาก
ความเหมือนหรือข้อแตกต่าง ระหว่างการบริจาคเลือดที่ไทยและที่ญี่ปุ่น
• ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยมีการรับบริจาคที่เหมือนกัน คือโลหิต พลาสมา และเกล็ดเลือด
• ประเทศญี่ปุ่นผู้บริจาคหญิงจะให้บริจาคเลือดทุก 4 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยชายหญิงเท่ากันบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน
• ชอบเตียงการบริจาคเลือดของญี่ปุ่นมาก สาขาที่ไปบริจาคมีจอทีวีเล็ก ๆ ไว้ทุกเตียงเลย คือเราสามารถเลือกดูสิ่งที่อยากดูได้
• เอกสารบางอย่างมีภาษาอังกฤษ แต่เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น ถ้าพูดหรืออ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ค่อนข้างยุ่งยากนิดนึงค่ะ (ส่วนตัวแม่บ้านใช้แอพพลิเคชั่นแปลภาษาในการแปลเอกสารค่ะ) แต่อย่างที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เค้าบริการค่อนข้างดีค่ะ คอยช่วยเหลือเราเต็มที่
สำหรับนักท่องเที่ยวบริจาคเลือดในญี่ปุ่นได้หรือไม่
นักท่องเที่ยวไม่สามารถบริจาคเลือดในญี่ปุ่นได้ เพราะต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในการติดต่อหรือส่งเอกสารกลับค่ะ
※ สำหรับคนไทยที่อาศัยในญี่ปุ่น มีกฎข้อบังคับคือ ในช่วง 1 เดือนมานี้ต้องไม่ได้ไปต่างประเทศ กรณีถ้าไปต่างประเทศกลับมาก็ต้องรอให้ครบ 1 เดือนก่อนแล้วค่อยบริจาค เพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้รับเชื้อโรคอะไรติดมาจากต่างประเทศค่ะ
มาสคอตแห่งการบริจาคเลือด : เคนเคะสึจัง (けんけつちゃん)
แน่นอนว่าประเทศแห่งมาสคอตอย่างญี่ปุ่นจะพลาดการมีตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ อย่างมาสคอตเอาไว้ประชาสัมพันธ์องค์กรได้อย่างไร ซึ่งแม่บ้านจะขอแนะนำ "เคนเคะสึจัง" (けんけつちゃん / Kenketsu-chan) น้องสุดน่ารักที่คล้ายกระต่าย แต่บริเวณใบหูมีลักษณะคล้ายหยดเลือด เป็นคาแรคเตอร์ที่น่ารัก เห็นปุ๊บรู้เลยว่าน้องทำอาชีพอะไร ฮ่าๆ
น้องได้รับความนิยมถึงขั้นมีสินค้าออริจินัลมาสคอตวางจำหน่ายด้วยนะคะ ใครที่อยากสะสมล่ะก็สามารถหาซื้อได้ที่สภากาชาดและองค์กรส่งเสริมการบริจาคเลือดเท่านั้นนะ
บทส่งท้าย
สำหรับใครที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ถ้าร่างกายพร้อมใจพร้อมก็อยากให้ไปลองบริจาคเลือดกันดูนะคะ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ดี รวมถึงได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกใบนี้ด้วยค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความถัดไป สุดท้ายนี้ อย่าลืมติดตาม All About Japan และช่องทาง Social Media ของเรากันด้วยนะคะ
https://www.facebook.com/AllAboutJapan.th
https://www.instagram.com/allabout_japan_thai/