All About Japan

6 ขนมท้องถิ่นในต่างจังหวัดญี่ปุ่น ที่ควรซื้อเป็นของฝาก

ขนมหวาน ของฝาก
6 ขนมท้องถิ่นในต่างจังหวัดญี่ปุ่น ที่ควรซื้อเป็นของฝาก

ตามท้องถิ่นต่างๆ ในญี่ปุ่นมีการคิดสรรค์สร้างของฝากที่บ่งบอกถึงความเป็นถิ่นนั้นๆ ออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ โดยของฝากเหล่านั้นมักทำจากวัตถุดิบพื้นบ้านนั้นๆ เองมาผลิตเป็นของฝากขึ้นชื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นที่ระลึกกัน โดยบทความนี้เราได้คัดสรรขนมขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยมทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวญี่ปุ่นมาฝาก

ของฝากจากญี่ปุ่นควรซื้ออะไรดี

ของฝากจากญี่ปุ่นควรซื้ออะไรดี

https://pixta.jp/

เวลาเราไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น นอกจากจะได้ชมความงามและเพลิดพลินกับสถานที่เที่ยว สนุกกับกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ของฝากก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและอาจพูดได้ว่าขาดไม่ได้เลยในการเที่ยวแต่ละครั้ง ซึ่งของฝากของญี่ปุ่นในแต่ละจังหวัดก็มีให้เลือกสรรกันมากมาย ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ งานประดิษฐ์กระจุกกระจิกไปจนถึงผลงานชิ้นใหญ่ ของที่ระลึกที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร รวมไปถึงของกินและขนมต่างๆ

สำหรับของฝากที่เราจะมาแนะนำในวันนี้จะขอนำเสนอเป็นประเภทขนม โดยจะเป็นขนมญี่ปุ่นเก่าแก่ที่ทำกันมาแต่โบราณ และขนมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำวัตถุดิบขึ้นชื่อประจำจังหวัดมาเป็นส่วนผสม ผลิตออกมาเป็นของฝากยอดนิยม ซึ่งเราได้คัดเลือกมา 6 อย่างด้วยกัน

1.ยัตสึฮาชิ (Yatsuhashi):จังหวัดเกียวโต (Kyoto)

1.ยัตสึฮาชิ (Yatsuhashi):จังหวัดเกียวโต (Kyoto)

https://pixta.jp/

ยัตสึฮาชิ (Yatsuhashi) เป็นขนมของฝากยอดนิยมของเกียวโตที่มีประวัติการทำมายาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo Period) ชื่อขนมตั้งตามพระภิกษุตาบอดนามว่า ยัตสึฮาชิ เค็งเงียว (Yatsuhashi Kengyo) ที่คิดค้นขนมชนิดนี้

เดิมทีนั้นยัตสึฮาชิทำจากแป้งข้าวเหนียว แล้วนำไปอบจนกรอบคล้ายกับขนมเซ็มเบ ต่อมาได้พัฒนาเป็นแบบนิ่ม ทำจากแป้งข้าวต่างๆ แต่งรสด้วยน้ำตาลและซินนามอน สอดไส้ต่างๆ เช่น ไส้ถั่วแดงหวาน เกาลัด งาดำ สตรอว์เบอร์รี ช็อกโกแลต เป็นต้น และห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่าอันอิริ นามะ ยัตสึฮาชิ (An-iri Nama Yatsuhashi) รูปลักษณ์ก็มีการทำรูปแบบที่แปลกใหม่ เช่น ดอกไม้ แต่รูปสามเหลี่ยมก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย

2. เซนไดดะงะชิ (Sendai Dagashi):จังหวัดมิยางิ (Miyagi)

2. เซนไดดะงะชิ (Sendai Dagashi):จังหวัดมิยางิ (Miyagi)

https://pixta.jp/

เซนไดดากาชิ (Sendai Dagashi) เป็นขนมวากาชิ (Wagashi) หรือขนมหวานญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมประเภทดากาชิ (Dagashi) หรือขนมขบเคี้ยวที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยดากาชิสมัยก่อนไม่ได้เป็นของขึ้นชื่ออะไร ราคาก็ย่อมเยา อยู่ที่ประมาณ 5 เยนถึง 100 เยนเพราะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก

ส่วนเซนไดดากาชิเป็นขนมหวานท้องถิ่นที่มีชื่อของเมืองเซนได ทำด้วยมือโดยใช้วัตถุดิบเป็นข้าวเหนียวที่ผลิตในจังหวัดมิยางิ สำหรับน้ำเชื่อม และน้ำตาลทรายแดง เริ่มแพร่หลายหลังจากที่ดาเตะ มาซามุเนะ (Date Masamune) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองเซนได นำพิธีชงชามาให้ชาวเซนไดรู้จัก และเซนไดดากาชิก็ถูกนำมารับประทานคู่กับชาเขียว

ปัจจุบันขนมประเภทนี้นิยมทำเป็นของฝากเมืองเซนได จัดทำเป็นคำเล็กๆ เรียงใส่กล่องสวยงาม มีหลากหลายแบบ เช่น เซนได มาโครอน (Sendai Makoron) ที่คล้ายขนมมาการอง ดารุมะอะเมะ (Daruma-ame) เป็นอมยิ้มรูปร่างเหมือนตุ๊กตาดารุมะ เนจิริ (Nejiri) ที่รูปร่างบิดเป็นเกลียว อังโกะดามะ (Ankodama) ที่ทำจากถั่วแดง เป็นต้น

3. อากาฟุกุโมจิ (Akafuku Mochi):จังหวัดมิเอะ (Mie)

3. อากาฟุกุโมจิ (Akafuku Mochi):จังหวัดมิเอะ (Mie)

https://pixta.jp/

อากาฟุกุโมจิ (Akafuku Mochi) เป็นขนมโมจิผสมถั่วแดงบดซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของเมืองอิเสะ (Ise) จังหวัดมิเอะ (Mie) ที่มีมานานกว่า 300 ปีแล้ว ลักษณะของอากาฟุกุโมจิจะวางถั่วแดงบดด้านบนแป้งโมจิที่นุ่มอร่อย

สูตรดั้งเดิมของสมัยเอโดะ ใช้เกลือผสมถั่วแดงบดเพื่อเพิ่มรสชาติเพราะสมัยนั้นน้ำตาลแพงมาก แต่พอโชกุนโทกุงาวะ โยชิมุเนะ (Tokugawa Yoshimune) แนะนำให้ชาวบ้านปลูกอ้อย ก็สามารถผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ ถั่วแดงบดจึงผสมน้ำตาลให้เป็นรสหวานแทน จากนั้นในปี ค.ศ.1911 ก็มีการคิดสูตรน้ำตาลทรายขาวขึ้นอีก และใช้มาจนปัจจุบัน

4. พีนัทโมนากะ (Peanut Monaka):จังหวัดชิบะ (Chiba)

4. พีนัทโมนากะ (Peanut Monaka):จังหวัดชิบะ (Chiba)

https://pixta.jp/

พีนัทโมนากะ (Peanut Monaka) เป็นขนมที่ทำจากถั่วลิสง หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า รักกะเซ (Rakkasei) เพราะถั่วลิสงนั้นเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดชิบะ ชิบะจึงเต็มไปด้วยขนมที่ทำจากถั่วลิสงหลายรูปแบบ

สำหรับพีนัทโมนากะเป็นขนมถั่วที่โด่งดัง นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากทุกครั้งที่แวะมาเยือนจังหวัด ไส้ของพีนัทโมนากะทำด้วยถั่วลิสงที่เอามาบดและเพิ่มรสหวานอยู่ในแป้งขนมปังอบคล้ายวาฟเฟิลที่มีรูปร่างเหมือนถั่วลิสง รสของไส้ถั่วหวานกำลังดีและมีกลิ่นหอมของถั่วลิสงด้วย

5. ริงโงะสติ๊ก (Ringo Stick):จังหวัดอาโอโมริ (Aomori)

5. ริงโงะสติ๊ก (Ringo Stick):จังหวัดอาโอโมริ (Aomori)

https://pixta.jp/

ริงโงะสติ๊ก (Ringo Stick) เป็นขนมแท่งพายอบกรอบสอดไส้เนื้อแอปเปิ้ลที่ขึ้นชื่อ จังหวัดอาโอโมริ (Aomori) นั้นปลูกแอปเปิ้ลได้อร่อยที่สุดในญี่ปุ่นเนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้แอปเปิ้ลของอาโอโมริจึงถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย รวมถึงริงโงะสติ๊กซึ่งเป็นของฝากรสเลิศที่ทุกคนติดใจ

ริงโงะสติ๊กนี้เคยได้รางวัลเหรียญทองของงานเทศกาลขนมหวานครั้งที่ 26 ประจำปี 2013 (The 26th National Confectionery Exposition) อีกด้วย เป็นการรับรองคุณภาพและความอร่อย วิธีการทำริงโงะสติ๊กเริ่มจากฉีดน้ำเชื่อมเข้าไปในผลแอปเปิลแล้วตัดเนื้อแอปเปิ้ลออกเป็นชิ้น ห่อด้วยแป้งพายและนำไปอบ เท่านี้ก็จะได้พายแอปเปิลริงโงะสติ๊กหอมๆ เป็นของฝากที่ยอดเยี่ยมแล้ว

6. อินาบะ โนะ ชิโระอุซางิ (Inaba no Shiro Usagi):จังหวัดทตโตริ (Tottori)

6. อินาบะ โนะ ชิโระอุซางิ (Inaba no Shiro Usagi):จังหวัดทตโตริ (Tottori)

https://pixta.jp/

อินาบะ โนะ ชิโระอุซางิ (Inaba no Shiro Usagi) เป็นขนมมันจูที่ทำเป็นรูปกระต่ายตาแดง ตั้งชื่อขนมตามชื่อกระต่ายขาวอินาบะในนิทานพื้นบ้านซึ่งเป็นตำนานชื่อดังของจังหวัดทตโตริ (Tottori) ว่าด้วยเรื่องของกระต่ายขาวแห่งอินาบะที่ต้องการจะข้ามฟากมาอีกฝั่ง จึงเกิดความคิดที่จะอาศัยฉลามแต่ก็โดนฉลาดถลกหนังและรับความทรมานจนได้รับความช่วยเหลือจากโอคุนินุชิโนะโอคามิ (Okunishi no Okami) เทพประจำศาลเจ้าอิซุโมะไทฉะ (Izumo Taisha)

ขนมประเภทนี้ทำจากแป้งผสมเนยซึ่งทำจากนมท้องถิ่นของจังหวัดทตโตริ สอดไส้ตรงกลาง ไส้ข้างในมีให้เลือกทั้งไส้ไข่แดง ไส้ถั่วแดงหวาน และไส้ชาเขียว บรรจุในกล่องแพ็คแกจน่ารักที่มีให้เลือกหลายขนาด

บทส่งท้าย

ก็แนะนำกันไปแล้วนะคะกับ 6 ขนมจาก 6 จังหวัด เป็นอย่างไรกันบ้างคะ นอกจากจะได้ไอเดียซื้อของฝากดีๆ แล้ว เรายังได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่มาของขนมแต่ละประเภทอีกด้วย หวังว่าบทความนี้จะถูกใจเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อย นี่ก็เป็นเพียงบางส่วนของของฝากท้องถิ่นในญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีขนมของฝากอีกนานาชนิดที่รอให้เพื่อนๆ ไปเที่ยวชมและซื้อหากลับมาฝากที่บ้านกันนะคะ

ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย

know-before-you-go