หมดห่วง! แนะนำการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภาษาญี่ปุ่น
อุปกรณ์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีภาษาอังกฤษ!?
อุปกรณ์ไฟฟ้าญี่ปุ่นบางทีก็ทำให้เราปวดหัวได้เนื่องจากฟังก์ชั่นการใช้งาน และปุ่มกดทั้งหลายเป็นภาษาญี่ปุ่น เมื่อเดืนทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นในหลายๆ ครั้งนักท่องเที่ยวมักประสบปัญหาการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวล้ำนำเทคโนโลยีตามโรงแรมหรือที่พักต่างๆ ด้วยความที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น
ดังนั้นเวลาจะใช้งานทีก็ลำบาก ครั้งนี้จึงมาแนะนำอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ่มกดและฟังก์ชั่นการทำงานของอุปกรณ์ 3 อย่างที่พบเจอได้บ่อยๆ ซึ่งก็คือ รีโมทไฟ LED รีโมทแอร์ และเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ ลองไปดูกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานกันอย่างไรบ้าง
1. รีโมทไฟ LED
ไฟ LED คืออะไร เรามาทำความรู้จักกันก่อน LED ย่อมาจากคำว่า Light-Emitting Diode หรือไดโอดชนิดเปล่งแสงที่ติดตั้งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง ไฟ LED ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นหลอดแสงสีฟ้า คิดค้นโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่นำทีมโดยชูจิ นากามุระ (Shuji Nakamura) จากบริษัท Nichia เมื่อปี 1995 หลอดไฟ LED แบ่งออกเป็นไฟ LED แสดงสถานะบนจอแสดงผลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น นาฬิกาดิจิทัล ไฟแสดงภายในรถยนต์ เป็นต้น กับไฟ LED ให้แสงสว่างที่เรากำลังจะกล่าวถึงการใช้งานรีโมทไฟ LED ดังต่อไปนี้
การใช้งานรีโมทไฟ LED สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- เริ่มด้วยการกดปุ่มเปิดไฟที่เป็นภาษาญี่ปุ่นคำว่า 全灯 (เซนโต) จะทำให้ไฟทั้งหมดติดขึ้น หรือบางรุ่นจะเป็น 点灯 (เทนโต) คือไฟติดนั่นเอง
- ถ้าต้องการปรับไฟให้สว่างมากขึ้น กดปุ่ม 明 (อาคารุย) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ขึ้นกำกับเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย
- ถ้าต้องการปรับไฟให้สว่างน้อยลง กดปุ่ม 暗 (คุไร) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ลงกำกับเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย
- หากอยู่ในช่วงกลางคืนที่ใกล้จะเข้านอนแล้ว สามารถปรับไฟให้เป็นแบบไฟกลางคืนได้โดยการกดปุ่ม 常夜灯 (โจยะโต) แสงจะนุ่มนวลขึ้น
- ฟังก์ชั่นการนอนหลับก็มีให้ใช้สะดวก กดปุ่ม スリープタイマー 60分/30分 สามารถตั้งเวลาสลีปได้ 30 นาทีและ 60 นาที
- ปัจจุบันมีการพัฒนาไฟให้สามารถเลือกหลอดไฟ LED ได้ด้วย โดยถ้ากด 白い色 (ชิโร่ยอิโระ) เป็นสีเดย์ไลท์ออกสีขาวโทนเย็น หรือกด 暖かい色 (อาตะตะไคอิโระ) แสงก็จะออกสีเหลืองอมส้มโทนอบอุ่น
- หากสิ้นสุดการใช้งานไฟก็ให้กดปุ่ม 消灯 (โชโต) เพื่อปิดไฟ
2. รีโมทแอร์
รีโมทแอร์คงเป็นที่รู้จักและใช้งานกันตามบ้านเรือนเป็นปกติ มีแบบแผงคอนโทรลติดผนังซึ่งมักจะติดอยู่บนผนังบริเวณประตู ห้องน้ำ หรือบริเวณหัวเตียง กับรีโมทแบบมือถือ ที่ญี่ปุ่นจะมีทั้งแอร์และฮีทเตอร์ที่สามารถปรับการใช้งานให้เหมาะสมกับฤดูกาลต่างๆ ได้ และนี่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ
การใช้งานรีโมทแอร์ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- เริ่มใช้งานด้วยการกดปุ่ม 運転 (อุนเต็น) หมายถึงการขับเคลื่อนทำงานหรือการเปิดแอร์นั่นเอง
- หากกดปุ่ม 冷房 (เรโบ) จะเข้าสู่ฟังก์ชั่นของทำความเย็น
- หากต้องการทำความร้อนก็ให้กดปุ่ม 暖房 (ดัมโบ) เครื่องปรับอากาศก็จะปรับเป็นฮีทเตอร์
- การไล่ความชื้นในห้องก็สามารถทำได้ โดยการกดปุ่ม 除湿 (โจชิตสึ) ช่วยสำหรับให้ตากผ้าในห้องได้
- มีปุ่มสำหรับโหมดตากผ้าโดยเฉพาะด้วย คือปุ่ม ランドリー (ลอนดรี) ตรงกับคำว่า Laundry ในภาษาอังกฤษ
- ในการปรับอุณหภูมิใหกดปุ่ม 温度 (อนโดะ) ซึ่งมักจะมีลูกศรชี้ขึ้นและชี้ลงกำกับไว้ ปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นก็กดลูกศรขึ้น ปรับอุณหภูมิให้ลดลงก็กดลูกศรลง หรือเป็นเครื่องหมายเพิ่ม (+) ลด (-) ในรีโมทบางตัว
- หากต้องการปรับระดับความแรงของลม ให้กดปุ่ม 風量 (ฟูเรียว) หน้าจอจะแสดงระดับลม โดย 強 (เคียว) หมายถึงลมแรง 弱 (จาคุ) หมายถึงลมเบา และ 微風 (บิฟู) หมายถึงลมอ่อนๆ
- ยังมีโหมดระบายอากาศให้ด้วย โดยการกดปุ่ม 送風 (โซฟู) ก็ช่วยให้อากาศสดขึ้นได้
- ปุ่ม スウィング (สวิง) เหมือนภาษาอังกฤษคำว่า swing ใช้ปรับให้ใบพัดหมุนหรือหยุดนิ่ง
- ปุ่ม 風向 (ฟูโค) สำหรับปรับทิศทางของใบพัดให้เป่าสูงหรือต่ำ
- สำหรับปุ่ม ハイパワー (ไฮเพาเวอร์) มาจากคำว่า High Power ในภาษาอังกฤษ ใช้สำหรับเร่งแอร์เต็มที่
- และเมื่อใช้งานเสร็จต้องการปิดแอร์ก็ให้กดปุ่ม 停止 (เทชิ) แปลว่าหยุดการทำงาน
3. เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ
เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ เป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะทำให้การอาบน้ำน่ารื่นรมย์มากยิ่งขึ้น หากรู้สึกว่าอุณหภูมิของห้องน้ำร้อนก็เปิดลมเย็น หากรู้สึกว่าอุณหภูมิของห้องน้ำเย็นก็เปิดลมร้อน และมีลมที่ช่วยระบายความชื้นในห้องน้ำที่มักมีขนาดเล็กและปิดทึบไม่มีทางระบายอากาศ มีลมร้อนช่วยเป่าเสื้อผ้าที่ซักตากไว้ให้แห้ง เหมาะสำหรับช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับญี่ปุ่นที่อากาศมีความชื้นค่อนข้างมากจริงๆ
การใช้งานเครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ สามารถทำได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- ฟังก์ชั่นหลักๆ มี 4 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 標準換気 (เฮียวจุนคันคิ) กับ ブロー換気 (โบลวคันคิ) สำหรับการระบายอากาศ 暖房 (ทัมโบ) ลมเป่าร้อน 涼風 (เรียวฟู) ลมเป่าเย็น 乾燥 (คันโซ) ทำให้แห้ง
- หากต้องการระบายอากาศปกติ ให้กดปุ่ม 標準換気 (เฮียวจุนคันคิ)
- หากต้องการระบายความชื้นหลังการอาบน้ำหรือต้องการให้ห้องน้ำแห้ง ให้กดปุ่ม ブロー換気 (โบลวคันคิ) จะมีลมเป่าออกมาทำไล่ความชื้น
- ปุ่มการใช้งานอื่นๆ มีปุ่ม 24 時間 (นิจูโยะจิกัง) สำหรับการระบายอากาศ 24 ชั่วโมง
- ปุ่ม タイマー切替 (ไทเมอร์คิริคาเอะ) สำหรับกดเปลี่ยนการตั้งเวลาให้ลมเป่า เช่นเข้าห้องน้ำเวลาเท่าไรก็กดปุ่ม 入時刻 (นิวจิโคคุ) ตั้งเวลาเข้า และตั้งเวลาที่จะออกจากห้องน้ำโดยกดไปที่ 切残時間 (เซ็ตซังจิกัง) ลมก็จะหยุดทำงาน
- หากต้องการหยุดการทำงานทั้งหมด ให้กดปุ่ม 停止 (เทชิ)
- สำหรับการตั้งเวลาเป็นตัวเลข ให้กดปุ่ม 時計/セット (โทะเค/เซ็ต) แล้วกดลูกศรเลื่อนขึ้นลงตรงหน้าจอแสดงตัวเลขดิจิทัลเวลา
- และเมื่อตัวกรองสกปรกจนมีไฟเตือนแสดง ให้กดปุ่ม フィルターリセット (ฟิลเตอร์รีเซ็ต) เพื่อจัดการทำความสะอาดตัวกรอง
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย