All About Japan

การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น ภาคพิเศษ : การติดต่อระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง

รู้ลึกเรื่องญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น
การพาลูกเข้าอนุบาลที่ญี่ปุ่น ภาคพิเศษ : การติดต่อระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง

เรามาเจาะลึกวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในระดับอนุบาลกันค่ะ ว่ามีช่องทางการติดต่อแบบใดบ้าง วิธีการติดต่อแบบต่าง ๆ นิยมใช้ในเหตุการณ์ใดบ้าง เหมาะสำหรับแม่บ้านญี่ปุ่นมือใหม่และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาญี่ปุ่นค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย!

1.) การติดต่อผ่านการคุยกับครูโดยตรง

1.) การติดต่อผ่านการคุยกับครูโดยตรง

https://www.freepik.com/free-photo/cheerful-korean-business-lady-posing-office-with-crossed-arms_5839526.htm#query=japanese%20woman&position=12&from_view=search

ความด่วน : ★★☆
ความยาวของเนื้อหา : ★☆☆

โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นนิยมคุยกับคุณครูประจำชั้นเพื่ออัพเดตข่าวสารของลูกแบบเร็ว ๆ หรือถ้ามีสิ่งที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ ต้องการสอบถามหรือยืนยันก็สามารถคุยกับครูได้โดยตรงสั้น ๆ เวลาไปรับหรือส่งลูกหน้าห้องเรียนค่ะ แต่ก็มีบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ มีนักเรียนเยอะ การพูดคุยกับครูจะต้องมีการนัดล่วงหน้า ซึ่งเคยได้ยินแม่บ้านท่านอื่นเม้าท์มาว่าบางครั้งกว่าจะนัดได้ก็ผ่านไป 1-2 อาทิตย์แล้ว เรื่องหรือปัญหาที่จะคุยก็ผ่านไปแล้ว ทำให้ไม่มีการแก้ปัญหาที่ดีเท่าที่ควร จุดนี้ก็สำคัญทำให้การพบเจอพูดคุยกับครูเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกโรงเรียน เพราะเด็กเปลี่ยนไปทุกวัน บางครั้งเราก็ต้องการบอกกับครูสั้น ๆ ว่าวันนี้ลูกเราเป็นแบบนี้ มีเงื่อนไขแบบนี้ การได้แจ้งครูตอนที่ไปส่งลูกหน้าห้องเรียนก็จะทำให้ตัวผู้ปกครองสบายใจขึ้น

- จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณแม่บ้านเมกุโระ -
ส่วนตัวได้รับการแจ้งจากครูบ่อยค่ะ เนื่องจากเป็นแม่บ้านต่างด้าว เราเลยจะเอ๋อ ๆ บางทีก็พลาดข้อมูลจากเอกสารหรือการประชุม ครูก็จะเน้นย้ำสั้น ๆ ให้ เช่น ทางโรงเรียนขอบัตรประกันสุขภาพเด็กด้วยนะคะ (ตรวจฟันเด็กที่โรงเรียน) คุณแม่อย่าลืมนำถุงมาใส่รองเท้าด้วยนะคะ พรุ่งนี้วันหยุดนะคะ เตรียมเสื้อกันลมมาไว้ที่โรงเรียนด้วยนะคะ (พร้อมโขว์ตัวอย่างเพราะกลัวเราไม่เข้าใจ) วันนี้ลูกชายวิ่งแล้วหัวไปชนกับราวเหล็กนะคะ (อุ้ย แต่พอเช็คดูหัวก็ไม่นูนนะ เล่นที่บ้านได้แผลประจำมากกว่า ฮาาา)

ส่วนตัวเราใจชื้นขึ้นนะ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้คุยกับครูโดยตรง หรือรอนาน มันอึดอัดอยู่ในใจเป็นหมื่นล้านคำก็คงจะรู้สึกแย่ค่ะ ส่งลูกไปโรงเรียนในแต่ละวันก็คงลำบากใจ

2.) การติดต่อผ่านสมุด

2.) การติดต่อผ่านสมุด

https://www.freepik.com/free-photo/man-writing-journal-while-home-new-normal_13461172.htm#query=writing%20note&position=41&from_view=search

ความด่วน : ★★☆
ความยาวของเนื้อหา : ★☆☆

การติดต่อผ่านสมุดเป็นอีกหนึ่งช่องการที่จะคุยหรือสอบถามครูหรือผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของลูกในโรงเรียน อาจจะไม่เร่งด่วนมากนัก หรือถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็อาจจะต้องการคำอธิบายยาว ๆ ครูมักจะส่งสมุดกลับมาอีกวันหลังจากได้รับสมุดค่ะ แต่ก็มีบางโรงเรียนที่ใช้สมุดเป็นเหมือนสมุดรายงานเด็กทุกวัน เช่น “วันนี้ A คุงออกไปเล่นที่สวนกับเพื่อน ๆ ตลอดชั่วโมงอิสระ กินข้าวอย่างรวดเร็ว หลับช่วงบ่าย 1 ชั่วโมง” และจะส่งสมุดใส่กระเป๋าลูกกลับมาทุกวัน ให้คุณแม่แสตมป์หรือตอบกลับไปว่ารับรู้แล้ว ซึ่งวิธีนี้มีใช้กับโรงเรียนอนุบาลเอกชนและโฮอิคุเอนบางแห่ง เวลาผู้ปกครองมีเรื่องกังวลหรือไม่สบายใจ หรืออัพเดตอะไรเดี่ยวกับเด็กก็เขียนลงสมุดได้เลย

- จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณแม่บ้านเมกุโระ -
อย่างแม่บ้านไม่ค่อยมั่นใจการทำกล่องข้าวกลางวันของลูกในช่วงแรก ๆ เลยเขียนลงในสมุดสอบถามครูไปค่ะ ว่า "โอเคหรือเปล่า? ครูอยากแนะนำอะไรเพิ่มเติมบ้างมั้ย?" วันต่อมาครูก็ตอบกลับมาว่า "เนื่องจากคุณแม่ทำข้าวผัดไป ดูลูกชายทานลำบาก แนะนำให้ปั้นหรืออัดข้าวผัดเป็นก้อนเล็ก ๆ พอดีคำเด็กจะกินง่ายและเร็วขึ้นค่ะ" หลังจากนั้นแม่บ้านก็ทำตามคำแนะนำของครู ลูกชายก็ดูสนุกกับการกินข้าวกล่องขึ้นค่ะ

อีกหนึ่งเรื่องใหญ่คือสามีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการพูดของลูกค่ะ เนื่องจากลูกชายพูด 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น) จึงทำให้กลายเป็นเด็กที่พูดแกรมม่าแบบสับสน ไม่พูดฉะฉานแบบเพื่อน ๆ ค่ะ (ที่จริงลูกชายเป็นเด็กพูดเก่งมา แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่องค่ะ พ่อแม่จับใจความไม่ค่อยได้) อิแม่นั้นชิว ๆ มากค่ะ ยังไงเดี๋ยวโตมาก็พูดได้ เห็นลูกเพื่อนหลายคนอายุถึง 5 ขวบก็พูดปร๋อเลยค่ะ

ส่วนสามีกังวลเลยเขียนใส่หนังสือสอบถามไปยังครู ครูก็เขียนตอบกลับมาพร้อมกับยกตัวอย่างบทสนทนาระหว่างครูและลูกมาให้อ่านค่ะ พร้อมกับแนะนำหนังสือนอกเวลาเรียน หรือถ้าต้องการคุยกับครูจริงจังเรื่องนี้ทางโรงเรียนจะนัดวันคุยให้ค่ะ พร้อมถามว่าต้องการล่ามมั้ย? ทางโรงเรียน (อำเภอ) พร้อมจัดหาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายค่ะ ซึ่งแม่บ้านก็บอกเอาค่ะ! แต่เอาเพื่อมาคุยกับสามีนี่แหละค่ะ ไม่ได้คุยกับครู บอกแล้วว่าไม่ต้องกังวล ไม่อยากให้สามีกดดันลูกเดี๋ยวพาลพาไปเรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่นหลังเลิกเรียนอีก อยากจับสามีไปปรับทัศนคติอีกหนึ่งกรุบค่ะ อนุญาตให้ล่ามไฝว้ได้เต็มที่ค่ะ ไม่ต้องรีบนะพ่อออ

3.) ผ่านการคุยโทรศัพท์

3.) ผ่านการคุยโทรศัพท์

https://www.freepik.com/premium-photo/talking-smartphone-beautiful-asian-woman-isolated-white-background_23394416.htm#query=Japanese%20call&position=26&from_view=search

ความด่วน : ★★★
ความยาวของเนื้อหา : ★☆☆

นิยมใช้ในการติดต่ออย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน เน้นคุยสั้น ๆ กระชับใจความ เช่น โทรตามผู้ปกครองในกรณีที่เด็กไม่ไปโรงเรียนและทางผู้ปกครองไม่ได้แจ้งโรงเรียนล่วงหน้า เด็กเกิดอุบัติเหตุต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ

- จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณแม่บ้านเมกุโระ -
(แม่บ้านเคยโดนครูโทรตาม 2 ครั้ง)

1. ครั้งแรกคือวันเปิดเรียนเทอมสอง
แม่บ้านเอาเอกสารวันเปิดภาคเรียนให้สามีอ่าน แล้วสามีคิดว่าเป็นวันหยุด ตอนเช้าเตรียมของไปโรงเรียนเรียบร้อย แต่สามีลงมาจากห้องนอนแล้วพูดว่าวันนี้หยุดนี่ แม่บ้านก็คิดในใจ ใช่หรอ? แล้วเอาเอกสารจากทางโรงเรียนให้สามีดูอีกครั้ง สามีก็บอกว่าวันนี้หยุด แม่บ้านก็โอเค งั้นวันนี้ไปไหนกันดี? เลยพาลูกไปดูหนังเด็กในโรงหนังครั้งแรก พอออกมาจากโรงหนังสามีพบว่าโรงเรียนโทรตาม 2 สาย ครูโทรตามทำไมไม่ไปโรงเรียนคร๊าาา แม่บ้านได้แต่เกิดคำถามขึ้นในใจเป็นหมื่นล้านคำ สามีเราไม่ใช่คนญี่ปุ่นหรอ? ถึงอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่แตกฉาน นิฮงจินจาไน่เด้?!?

2. ส่วนอีกครั้งนึงคือเป็นวันกีฬาสีของโรงเรียน แต่เนื่องจากวันนั้นฝนตก วันกีฬาสีเลยเลื่อนไปวันอื่นและวันนั้นเลยไปโรงเรียนตามปกติแทน
แม่บ้านก็สงสัยว่าเราต้องทำกล่องข้าวให้ลูกมั้ยนะ? เลยเอาเอกสารไปให้สามีดูเช่นเคย (ยังไม่เข็ดอีกเนอะ) แม่บ้านถามว่า “วันนี้ไม่มีงานกีฬาสี ต้องทำกล่องข้าวมั้ย?” สามีพูดอะไรไม่รู้ยาว ๆ แต่จับใจความได้ว่า “ไม่” อยู่ในประโยค เลยคิดว่าไม่ต้องทำ เพราะวันนี้ไม่มีงานกีฬาสี (ปรกติงานกีฬาสีของโรงเรียนผู้ปกครองจะไปร่วมด้วย) สามีเลยบอกว่าไปเอาบัตรไซริวใบใหม่กัน (บัตรต่างด้าว พกติดตัวไว้ว่าเราอยู่แบบถูกกฎหมายนะยะ)

แม่บ้านก็โอเค ไปกัน ขับรถไปจะถึงนิวกังอยู่แล้ว (กรมตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น) ครูโทรมาจ้า วันนี้คุณแม่ลืมกล่องข้าวหรอคะ? อ้าว! บันเทิงแล้วทีนี้ ได้แต่ลุ้นว่าจะทันเตรียมกล่องข้าวแล้วเอาไปที่โรงเรียนทันมั้ย? ดีที่วันนั้นคนน้อย และคิวรวดเร็วมาก สามีซิ่งกลับบ้าน แม่บ้านเตรียมกล่องข้าวพั่บๆๆ ปั่นจักรยานสุดแรงเกิด ทันจ้า มิชชั่นคอมพลีสเด้อ จากสองเรื่องนี้สอนให้แม่บ้านรู้ว่า สามีเป็นชาวต่างด้าว และอย่าเชื่อใจสามีต่างด้าวค่ะ แม่บ้านขอซบอก Google Translate ยาว ๆ เลยค่ะ (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะพึ่งสามีเมื่อจนใจ!!!)

4.) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น

4.) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น

https://www.freepik.com/premium-photo/woman-hand-using-black-smartphone-concept-using-phone-is-essential-everyday-life_5082928.htm#query=asian%20woman%20talk&position=38&from_view=search

ความด่วน : ★★★
ความยาวของเนื้อหา : ★★☆

โรวเรียนที่ญี่ปุ่นนิยมใช้แอพพลิเคชั่นเป็นสื่อกลางติดต่อทั้งเรื่องปรกติ (บางครั้งก็เขียนมาเพื่อเน้นย้ำก่อน 1 วัน จากเอกสารที่ได้ก่อนหน้านี้) หรืออาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็นระหว่างผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน เช่น แจ้งวันหยุดฉุกเฉิน

- จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณแม่บ้านเมกุโระ -
กรณีล่าสุดคือมีนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ติดโอมิครอน ได้รับผลการจรวจช่วงบ่ายว่าผลเป็นบวก ผู้ปกครองแจ้งทางโรงเรียน แต่นักเรียนกลับบ้านกันแล้ว (ปกติโรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นจะเลิกประมาณบ่าย 2 ค่ะ ถ้าไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าฝากเพิ่ม คือเพิ่มชั่วโมงการอยู่โรงเรียน) ถึงทำการแจ้งหยุดโรงเรียน 2 วันเพื่อทำความสะอาดผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งรวดเร็วและทั่วถึง สำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ระบบจะส่งอีเมล์ไปถึงผู้ปกครองอีกครั้งค่ะ

แอพพลิเคชั่นที่โรงเรียนใช้มีทั้งระบบของรัฐบาลและเอกชนค่ะ ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่ดาวน์โหลดเอกสารจากทางโรงเรียน เช่น เอกสารกรอกอุญหภูมิที่ต้องปริ้นท์ออกมา และเช็คอุญหภูมิและเขียนลงทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน รวมถึงสามารถแจ้งไปโรงเรียนสาย หรือแจ้งหยุดเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นได้ด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งรถโรงเรียนว่าไม่ต้องมารับ สามารถเข้าไปดูรูปที่ทางโรงเรียนถ่ายผ่านทางแอพลิเคชั่น (แต่ไม่สามารถดาวน์โหลดรูปได้) หรือทำโพลว่าอยากจะประชุมผู้ปกครองผ่าน Zoom หรือที่ห้องประชุมแบบเดิม ซึ่งส่วนตัวชอบระบบนี้ของทางโรงเรียนมาก สะดวกแม่มากค่ะ เลิฟ ๆ และสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย ซึ่งสะดวกมากสำหรับโรงเรียนและผู้ปกครอง

5.) การติดต่อผ่านจดหมายหรือเอกสาร

5.) การติดต่อผ่านจดหมายหรือเอกสาร

https://www.freepik.com/premium-photo/pile-paper-office-desk-stacked_20191490.htm#query=stack%20document&position=45&from_view=search

ความด่วน : ★★☆
ความยาวของเนื้อหา : ★★★★★ ดาวทะลุไปเล้ยยย

ประเทศญี่ปุ่นและกองเอกสารหนา ๆ เป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอกสารเยอะแยะเต็มไปหมด บางครั้งแค่ต้องการแจ้งว่าโรงเรียนเลื่อนการตรวจฟันของลูกในโรงเรียนไปเป็นวันอื่น เอกสารก็มาเต็ม 1 หน้ากระดาษ แม่บ้านก็กูเกิ้ลแปลวนไปสิคะ แถมภาษาที่ใช้ก็เป็นกึ่งราชการ ขนาดสามีแปลให้ หลายครั้งก็แปลไม่รู้เรื่องดั่งที่เคยเขียนไว้ตรงข้อ 1 เหมือนอ่านแล้วงง ๆ ไม่เคลียร์ 100% เกือบทุกครั้งที่แปลเอกสารจากโรงเรียน พี่ Google Translate ก็แปลออกมางง ๆ ทั้งภาษาอังกฤษ และโดยเฉพาะภาษาไทยนี่ยิ่งแล้วใหญ่ นึกว่าภาษาต่างโลก งงนิดหน่อยแต่ไม่เข้าใจมาก ๆ พี่กำลังพูดเรื่องอะไรเนี้ยยย?

เอกสารของทางโรงเรียนมักจะได้รับก่อนหรือตอนที่เข้าประชุมกับทางโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนจะอธิบายรายละเอียดของเอกสารระหว่างการประชุม (ข้อ 6) ส่วนใหญ่ก็จะรอประชุมเสร็จและนำเอกสารกลับบ้านมาแปล แปลไปงงไป ถามสามีงงกว่าเดิม 555 ที่โรงเรียนเอกสารบางอย่างก็เขียนเป็นลายมือมาน่ารัก ๆ มุ้งมิ้งจริง แต่พี่กูเกิ้ลแปลไม่ออกอ๊า!

แต่ความดีงามของเอกสารประเทศญี่ปุ่นคือมีรูปประกอบบ้าง ทำให้บางครั้งเราก็พอเข้าใจสถานการณ์หรือข้อความที่เอกสารต้องการจะสื่อ การอ่านเอกสารที่โรงเรียนให้มาให้ครบถ้วน อ่านให้เข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเคยพลาดที่อ่านเอกสารไม่ละเอียด แปลงง ๆ เลยเทเอกสาร ปรากฎว่างานกีฬาสีลืมเตรียมของไป (ไปตัวเปล่าคิดได้ไง?)

สามีอ่านเอกสารก็ไม่บอกว่าเราต้องเตรียมอะไรบ้าง? (เยี่ยม) ครูก็หน้าเหวอ ต้องเตรียมของเฉพาะหน้าให้แทน ขอโทษค่ะคุณครู หลังจากนั้นแม่บ้านต้องอ่านทุกบรรทัด ตรงไหนไม่เข้าใจถามเพื่อน ต้องขอความช่วยเหลือจากคุณแม่ ๆ ก็จำเป็น ไม่อยากให้ลูกขายหน้าอีกแล้วค่ะ มุแง้!

6.) การติดต่อผ่านการประชุมผู้ปกครอง

6.) การติดต่อผ่านการประชุมผู้ปกครอง

https://www.freepik.com/premium-photo/speaker-stage-front-room-with-rear-view-audience-put-hand-up-acton_3389007.htm#query=asian%20meeting&position=13&from_view=search

ความด่วน : ★☆☆
ความยาวของเนื้อหา : ★★★

เป็นความอิหลักอิเหลื่อขั้นสุดของแม่บ้านต่างด้าว Introvert ค่ะ การประชุมที่ต้องพบปะทักทายแม่ ๆ เพื่อนร่วมชั้นของลูก เดินไปพร้อมกับเหงื่อไหลเป็นน้ำตกนิกโก้ มือนี่เปียนชุ่มไปหมด ปกติโรงเรียนจะมีการประชุมผู้ปกครองอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน เพื่ออัพเดตตารางเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นค่ะ บางโรงเรียนก็ประชุมรัว ๆ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือ 4 ครั้งต่อเดือนเลยค่ะ ประชุมแบบไม่ต้องมีเวลาไปทำอะไรเลย อย่างถี่ หัวจะปวดดด

การประชุมค่อนข้างยืดยาว รายละเอียดเยอะ แม่บ้านต่างด้าวอย่างดิฉันก็ได้แต่นั่งมองตาปริบ ๆ เพราะไม่เข้าใจที่เขาพูดมาเด้อ ได้แต่นั่งเก็บเอกสารมาแปลที่บ้านอย่างเงียบ ๆ เพราะโรงเรียนห้ามอัดวีดีโอหรืออัดเสียงค่ะ โรงเรียนญี่ปุ่น Privacy ขั้นสุด

บางทีทางโรงเรียนก็เปิดโชว์รูปบรรยากาศในห้องเรียนของลูก มีลูกเราอยู่ในรูป น่ารักกก พ่อบ้านทั้งหลายพลาดแล้วค่ะ เพราะภายในโรงเรียนห้ามถ่ายรูป แม้แต่จะควักมือถือขึ้นมาในเขตโรงเรียนยังกระอักกระอ่วนใจเลย ยกเว้นมีกิจกรรมพิเศษ อย่างเช่นช่วงคริสมาสที่จะมีจัดกิจกรรมภายในกับเด็ก ๆ ก็จะอนุโลมให้ถ่ายรูปได้ค่ะ

แต่หลังจากสถานการณ์ไวรัสระบาด การประชุมช่วงหลังจึงเป็นการประชุมผ่าน Zoom ซึ่งแม่บ้านดีใจเป็นที่ซู้ดดด เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว เปิดหน้าจอเช็คชื่อทิ้งไว้แล้วหนีไปซักผ้าล้างจานทำงานบ้านบ่อย ๆ ค่ะ ไหน ๆ ก็ฟังไม่ออกอยู่แล้วขอให้เวลาให้เป็นประโยชน์แล้วกัน อุอิ แล้วค่อยไปคุยกับคุณแม่หัวหน้าห้องว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง? คุณแม่หัวหน้าห้องพูดภาษาอังกฤษได้ค่ะ น่ารักมาก นางบอกสงสัยอะไรไลน์ถามนางได้ทุกเวลา แม่บ้านต่างด้าวอย่างอิฉันสบายแล้วค่ะ

แชร์ประสบการณ์ตรงการสื่อสารของแม่บ้านด้าวและโรงเรียน

แชร์ประสบการณ์ตรงการสื่อสารของแม่บ้านด้าวและโรงเรียน

ช่วงนี้จะมาแนะนำเทคนิคที่ตัวแม่บ้านใช้ เพราะส่วนตัวภาษาญี่ปุ่นง่อยมาก เพื่อความง่ายในการติดต่อสื่อสารกับทางคุณครูและโรงเรียนเราจึงต้องมีตัวช่วยค่ะ

แปลสิ่งของที่ต้องใช้ในโรงเรียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ พร้อมกับรูปประกอบ
เวลาไม่เข้าใจว่าครูพูดอะไรกับเรา เราก็สามารถยื่นรูปให้ดูว่าครูกำลังหมายถึงสิ่งไหนคะ? สิ่งนี้ช่วยแม่บ้านได้มากตอนเข้าโรงเรียนแรก ๆ ค่ะ เพราะลืมนู่นลืมนี่บ่อยมาก ฮาาา

• ทำตารางลักษณะพิเศษของแต่ละคนเตรียมไว้
สำหรับแม่บ้านสมองอัลไซเมอร์อย่างดิฉัน ที่จำชื่อใครไม่ได้เลย ส่วนตัวทำตารางชื่อเพื่อนลูกและแม่ไว้ เว้นช่องให้เขียนลักษณะของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ความชอบ คนนี้เพื่อนสนิทลูก ผอมสูง เป็นต้น

• เตรียมสมุดโน๊ตไว้จดรายละเอียดต่าง ๆ
ถ้าเป็นสมุด Memo ที่มีตารางปฎิทินในตัวจะดีมาก เพราะเราจะสามารถหยิบสมุดขึ้นมาเช็ตได้ทันทีว่ามีอะไรบ้าง ยิ่งช่วงนี้เปลี่ยนตารางบ่อยมากเนื่องจากโควิด ย้ายวันประชุมบ้าง เลื่อนวันบ้าง หรือบางกิจกรรมก็ยกเลิกไปเลยก็มีค่ะ หรือไม่อยากพกสมุดไปไหนมาไหนก็เขียนลงมือถือเลยค่ะ สร้างปฎิทินแยกสำหรับเรื่องลูกและโรงเรียนโดยเฉพาะ ญี่ปุ่นมีแอพพลิเคชั่นญี่ปุ่นน่ารัก ๆ มากมายให้เลือกใช้ค่ะ

แนะนำขั้นตอนการแปลเอกสารที่ได้รับจากโรงเรียนของแม่บ้าน

1.) เอกสารที่ได้รับมาทั้งหมด ทำการแปลด้วย Google Translate เขียนลงกระดาษสรุปเนื้อหาของเอกสารนั้น ๆ หลายครั้งที่การแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยมีปัญหา อ่านไม่รู้เรื่อง แนะนำให้แปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่เราเข้าใจ และนำทั้ง 2 ภาษามาประกอบกัน จะเข้าใจเนื้อหาของเอกสารมากขึ้นค่ะ

2.) ให้สามีอ่านเอกสารรอบนึง แล้วสอบถามสามีว่าความเข้าใจของเราถูกต้องหรือไม่?

3.) ส่วนตัวแม่บ้านโชคดี มีหัวหน้าห้องที่เป็นคุณแม่สามารถพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้ เขาเลยช่วยเราดูและสรุปเอกสารต่าง ๆ ให้ เวลาที่เราแปลเอกสารและให้สามีตรวจรอบนึงแล้ว แม่บ้านจะสรุปและส่งข้อความไปหาคุณแม่คนนี้เพื่อให้เช็คครั้งสุดท้ายเพื่อความมั่นใจ (เพราะสามีของแม่บ้านพลาดบ่อยมาก พลาดจนสงสารลูกจริง ๆ ค่ะ) แต่ถ้าบ้านไหนพ่อบ้านน่ารักก็จบที่พ่อบ้านค่ะ แม่บ้านก็ชิล ๆ ไป (น่าอิจฉาาา)

ลิงค์ Google Translate
Google Translate - Website
Google Translate - Google Play App
Google Translate - Apple Store App
Google Translate Page - ไว้สำหรับแปลทั้งหน้าเว็บไซต์ค่ะ

บทส่งท้าย

การติดต่อจากโรงเรียนมายังผู้ปกครองมีวิธีมากมาย ซึ่งแต่ละวิธีก็เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ เนื่องจากโรงเรียนของลูกเป็นโรงเรียนเล็ก ดังนั้นการใช้ตัวช่วยอย่างแอพพลิเคชัน หรือจดหมายจะช่วยลดการใช้บุคลากรของโรงเรียนค่ะ

แต่เคยเจอโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่โทรไปสอบถามข้อมูล ทางโรงเรียนตอบกลับมาว่า "คุณแม่สามารถดูในเว็บไซต์หรือเอกสารของทางโรงเรียนได้เลยค่ะ" คุณแม่ถึงกับหงายตึง! เพราะแม่บ้านหาข้อมูลไม่เจอนี่แหละค่ะ เลยต้องบากหน้าโทรศัพท์ไปถามทางโรงเรียน สุดท้ายก็ต้องรบกวนสามีให้ช่วยหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่สาก็หาไม่เจอเช่นเดียวกัน เลยต้องโทรศัพท์ไปอีกครั้งจนได้คำตอบค่ะ (เอ้ะ! ทำไมพอสามีคุยถึงได้คำตอบ ยังไงน้าาา?)

ใด ๆ คือการอยู่ประเทศญี่ปุ่นนั้น "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ค่ะ แต่ถ้าเรามีที่พึ่งพิงในโรงเรียนอย่างแม่ ๆ ในห้องเรียนเดียวกันก็จะเป็นเรื่องวิเศษสุดเลยค่ะ เคยมีคุณแม่คนไทยที่เอาลูกเข้าอนุบาลก่อนหน้าเรา (ลูกจบไปแล้ว) บอกเราว่าโรงเรียนใจดีมาก แม่ ๆ ทุกคนก็ใจดี พี่เขาพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ แต่หลายคนก็ช่วยเหลือเขาเป็นอย่างดี ประทับใจมาก ๆ เลยเล็งโรงเรียนนี้เป็นอันดับ 1

การเลือกโรงเรียนไม่ใช่พิจารณาแค่ปัจจัยของลูก แต่สภาพแวดล้อมที่แม่ต้องพบเจอประจำก็สำคัญค่ะ สังคมดี โรงเรียนช่วยเหลือในด้านการสื่อสาร ทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นกำลังใจให้กับแม่ ๆ คนไทยที่จะนำลูกเข้าโรงเรียนญี่ปุ่นด้วยนะคะ ส่วนคนไทยที่อยู่ไทยก็สู้กันต่อไปนะคะ มีเงินก็ส่งไปโรงเรียนทางเลือกเถอะค่ะ ได้แต่หวังว่าการศึกษาระดับชั้นอนุบาลไทยจะพัฒนากว่านี้ ไม่ต้องมีการสอบแข่งขัน รีบเรียนกันค่ะ ตอนไปสมัครเข้าโรงเรียนอนุบาลลูกชายก็ร้องทั้ง 2 โรงเรียนเลยนะคะ แต่ก็ได้ทั้ง 2 โรงเรียนค่ะ สู้ ๆ ค่ะการศึกษาไทย

ผู้เขียน: แม่บ้านเมกุโระ
แม่บ้านกราฟฟิกไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ผู้ชื่นชอบอาหาร วิถึชีวิตคนญี่ปุ่น และวัฒนธรรมญี่ปุ่น

know-before-you-go