จุดถ่ายรูปสุดเก๋! ตู้ขายของอัตโนมัติสไตล์เรโทร
สำหรับใครที่กำลังมองหาจุดถ่ายรูปแปลกใหม่และสถานที่ที่ไม่เหมือนใคร วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับร้านขายยางรถยนต์มือสองในจังหวัดคานางาวะ ซึ่งเจ้าของร้านนั้นชื่นชอบการซ่อมแซมและสะสมตู้กดเครื่องดื่มและอาหารแบบโบราณ จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวและถ่ายรูปชื่อดัง และยังได้อิ่มอร่อยกับขนมและเครื่องดื่มหลากหลายชนิดที่สามารถซื้อจากตู้กดที่ยังคงใช้งานได้จริงทุกเครื่อง
ตู้กดสไตล์เรโทรกว่า 40 เครื่องที่ร้านขายยางรถยนต์
สำหรับใครที่คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่น คงรู้ดีว่าญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยตู้กดอัตโนมัติที่สามารถซื้อเครื่องดื่มและของกินหลากหลายประเภทได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แถมยังพบเห็นได้แทบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ หน้าอาคาร หรือตามสถานที่ท่องเที่ยว
แต่ที่ร้านขายยางรถยนต์มือสองที่ชื่อว่า "Used Tire Mart Sagamihara Store" ในเมืองซากามิฮาระ (Sagamihara) จังหวัดคานางาวะ (Kanagawa) นั้นได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวและจุดถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการที่มีตู้กดอัตโนมัติสไตล์เรโทรจำนวนกว่า 40 เครื่องตั้งเรียงรายอยู่หน้าร้าน ซึ่งนอกจากจะให้บรรยากาศที่ดูแปลกตาและย้อนยุค ซึ่งแทบทุกตู้นั้นหาใช้ที่อื่นไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ที่สำคัญคือทุกตู้ที่อยู่ที่นี่ยังคงใช้งานได้จริงอีกด้วย
ที่มาของตู้กดสไตล์เรโทร
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมตู้กดอัตโนมัติสไตล์เรโทรเหล่านี้ถึงมาตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านขายยางรถยนต์ คำตอบก็คือตู้ทั้งหมดนี้เป็นงานอดิเรกส่วนตัวของเจ้าของร้านเอง โดยเขาเล่าว่าเป็นความอยากรู้อยากเห็นของเขาเองตั้งแต่สมัยเด็กว่าตู้กดเหล่านี้ทำงานยังไง ประกอบกับความรู้และทักษะในด้านช่าง ทำให้เขาพยายามหาซื้อตู้กดอัตโนมัติเก่าๆ ที่เลิกใช้แล้ว โดยนำมาซ่อมจนกลับมาใช้งานได้ปกติ
และที่นำตู้กดเหล่านี้มาวางไว้หน้าร้าน เพราะเขาคิดว่างานขายยางรถยนต์ของเขานั้นเป็นงานที่ต้องให้ลูกค้าต้องใช้เวลารอพอสมควร จึงควรมีอะไรมาให้บริการลูกค้าระหว่างรอ โดยในช่วงแรกนั้นเขานำตู้กดแบบเรโทรมาวางไว้เพียงสามเครื่อง แต่ก็ได้รับคำชมมากมายจากลูกค้าว่าทั้งแปลกตา น่าสนใจ และที่สำคัญที่ทำให้รู้สึกนึกถึงความทรงจำในอดีต เขาจึงตัดสินใจค่อยๆ เพิ่มจำนวนตู้กดเหล่านี้มากขึ้น จนในปัจจุบันมีตู้กดสไตล์เรโทรแบบนี้อยู่ทั้งหมด 42 เครื่อง
จากการบริการลูกค้า สู่จุดถ่ายรูปและสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต
หลังจากเพิ่มจำนวนตู้กดสไตล์เรโทรเป็นกว่า 40 เครื่อง ก็ได้ทำให้ร้านขายยางแห่งนี้กลายเป็นแลนด์มาร์คชื่อดังสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากถ่ายรูปเก๋ๆ และยังมีนักท่องเที่ยวรวมถึงชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่เดินทางมาเยือนเพราะอยากย้อนความทรงจำในอดีตด้วยการลองใช้ตู้กดเหล่านี้อีกครั้ง สำหรับนักท่องเที่ยวที่คุ้นเคยแต่ตู้กดอัตโนมัติที่มีหน้าตาทันสมัย ตู้กดสไตล์เรโทรเหล่านี้กลับมีกลิ่นอายที่คลาสสิค และไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสจากที่ไหนอีกแล้ว แม้แต่ขนมที่ขายจากตู้เหล่านี้ก็ยังเป็นขนมแบบย้อนวัยที่หาซื้อได้ยากในปัจจุบัน การมาเยือนร้านขายยางรถยนต์แห่งนี้จึงเหมือนกับการได้นั่งไทม์แมชชีนมาสู่ญี่ปุ่นในยุคราว 40-50 ปีที่แล้วจริงๆ
การเดินทาง:เนื่องจากเมืองซากามิฮาระนั้นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักของจังหวัดคานางาวะ จึงเหมาะแก่การแวะมาเป็นทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีแผนจะเช่ารถขับเที่ยวบริเวณภูมิภาคคันโต โดยเฉพาะการขับรถจากโตเกียวมาเที่ยวบริเวณภูเขาไฟฟูจิ แต่หากใครต้องการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ก็สามารถนั่งรถไฟมาลงที่สถานีซากามิฮาระ (Sagamihara Station) จากนั้นต่อรถบัสมาลงที่ป้าย "Sagamihara Jyo"
สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงที่น่าสนใจ
ถนนสายซากุระ เซกามิฮาระ ซิตี้ ฮอลล์ (Sagamihara City Hall Sakura Street)
หากมีโอกาสเดินทางไปเยือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก็จะได้พบกับถนนสายซากุระความยาวกว่า 1.6 กิโลเมตรจากบริเวณถนนสายช้อปปิ้งมาจนถึงหน้าศาลากลางประจำเมืองเซกามิฮาระ และยังเป็นจุดหลักในการจัดเทศกาลชมดอกซากุระประจำเมืองเช่นกัน
ทะเลสาบซากามิ (Lake Sagami)
ทะเลสาบเทียมที่สร้างขึ้นจากการผลิตเขื่อน ซึ่งห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง รวมถึงเป็นจุดชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยงาม ในบริเวณใกล้เคียงยังมีสวนสนุก Lake Sagami Pleasure Forest ซึ่งนอกจากจะสามารถสนุกเพลิดเพลินไปกับเครื่องเล่นต่างๆ แล้ว ยังมีจุดเด่นตรงที่มีการประดับไฟอย่างสวยงามยามค่ำคืนระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนเมษายน
ผู้เขียน: ชินพงศ์ มุ่งศิริ
เริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพอิสระหลังเรียนจบ เดินทางไปถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งจนครบทั้ง 4 ฤดูอันสวยงาม และเกือบครบทุกภูมิภาค มีผลงานภาพถ่ายตีพิมพ์ในไกด์บุ๊คระดับโลกอย่าง Lonely Planet ถึง 3 เล่ม คือ Discovery Japan, Japan และ Kyoto รวมถึงเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง National Geographic Traveler UK, BBC Travel, Travel+Leisure, TIME และอีกมาก
นอกจากการถ่ายทอดความสวยงามของประเทศญี่ปุ่นผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันยังหันมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรทั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลควบคู่กันไปอีกด้วย