รู้จักคำศัพท์ Gairaigo และ Wasei-eigo ยอดฮิต!

ภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความหลากหลาย ทั้งภาษาโบราณ ภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน ภาษาถิ่นต่างๆ อีกทั้งยังมีภาษาที่มาจากต่างประเทศที่มีการอัปเดตตามยุคตามกระแสอยู่เป็นประจำ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักคำศัพท์ Gairaigo และ Wasei-eigo ซึ่งเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ แม้แต่คนที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อน โดยเฉพาะใครที่ชอบมังงะหรืออนิเมะก็ต้องคุ้นหูกันอย่างแน่นอน
By hikawasaไกไรโงะ (Gairaigo) และวะเซ-เอโงะ (Wasei-eigo) คืออะไรกันนะ

https://pixta.jp/
นอกจากภาษาต้นฉบับแท้ๆ แล้วยังมีคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีที่มาจากภาษาต่างประเทศ การยืมคำจากภาษาต่างประเทศนั้นญี่ปุ่นทำมายาวนานแล้วตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 4 เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ไม่มีอยู่ในภาษาญี่ปุ่นหรือไม่ก็เป็นเรื่องของความทันสมัย แล้วญี่ปุ่นก็นำมาปรับการเขียนและการพูดสำเนียงให้เข้ากับรูปแบบของภาษาตัวเอง คำดังกล่าวเหล่านี้เรียกว่าไกไรโงะ (Gairaigo) กับวะเซ-เอโงะ (Wasei-eigo)
ไกไรโงะ (Gairaigo)

https://pixta.jp/
ไกไรโงะ (Gairaigo) ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า 外来語 ซึ่งความหมายก็แปลตามตัวอักษรเลยคือ 外 (ไก แปลว่าข้างนอก) 来 (ไร แปลว่า มา) และ 語 (โงะ แปลว่าภาษา) รวมกันได้เป็นภาษาที่มาจากข้างนอกญี่ปุ่น หรือมาจากต่างประเทศนั่นเอง คำที่ต้นกำเนิดมาจากภาษาต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นภาษาอังกฤษ ที่เหลือก็มาจากภาษาอื่นเช่น ภาษาโปรตุเกส ภาษาเนเธอร์แลนด์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษาเยอรมัน เป็นต้น
เมื่อนำมาทำเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ใช้ตัวอักษรคาตาคานะ (Katakana) ในการถอดเสียง และหากจะเปลี่ยนเป็นคำกริยาก็เติม する (suru) ที่เป็นคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าทำ ตามหลังคำไกไรโงะนั้นๆ ลองมาดูคำไกไรโงะที่น่าจะคุ้นหูเพื่อนๆ กัน 3 คำ ดังนี้
ตัวอย่างคำศัพท์ไกไรโงะ (Gairaigo) ที่น่าสนใจ

https://pixta.jp/
1. アルバイト (arubaito)
อ่านว่าอารุไบโตะ แปลว่างานพาร์ทไทม์ เรียกอย่างย่อลงไปอีกได้ว่า バイト (baito) อ่านว่าไบโตะ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเยอรมันคำว่า Arbeit อ่านว่าอาร์ไบท์ แปลว่างาน แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้อ่านเหมือนเยอรมันก็เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นมีเสียงสระน้อย คือมีเพียง 5 เสียง ทำให้ต้องดัดแปลงเสียงให้เข้ากับการออกเสียงของตน คำว่างานในภาษาญี่ปุ่นยังมี ワーク อ่านว่าวาคุ มาจากคำว่า Work ในภาษาอังกฤษ แต่ถึงอย่างไรญี่ปุ่นก็นิยมใช้คำว่าชิโงโตะ (Shigoto) ในภาษาญี่ปุ่นเองมากกว่า

https://pixta.jp/
2. アニメ (Anime)
อ่านว่าอะนิเมะ แปลว่าภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น เป็นหนังการ์ตูนที่ไม่ใช่แค่ภาพถ่าย ต้นทางคือคำว่า Animation อ่านว่าแอนิเมชั่น ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าภาพเคลื่อนไหว แล้วญี่ปุ่นยืมคำมาดัดแปลงเล็กน้อยโดยการย่อให้เหลือแค่ Anime แล้วนำมาใช้ใหม่ในความหมายว่าแอนิเมชันญี่ปุ่น กลายเป็นคำที่วัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) รู้จักกันเป็นอย่างดี

https://pixta.jp/
3. サッカー (Sakkā)
อ่านว่าซักก้า แปลว่ากีฬาฟุตบอล เป็นคำที่ทับศัพท์มาจากคำว่า Soccer อ่านว่าซ็อกเกอร์ของคนอเมริกันที่แปลว่ากีฬาฟุตบอลเหมือนกัน อันที่จริงญี่ปุ่นก็มีการใช้คำว่า フットボール (Football) ด้วยเช่นกัน แต่การแสดงความหมายมักเป็นที่รู้จักันในวงกว้างว่าหมายถึงกีฬาอเมริกันฟุตบอล (American Football) เสียมากกว่า
วะเซ-เอโงะ (Wasei-eigo)

https://pixta.jp/
วะเซ-เอโงะ (Wasei-eigo) ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า 和製英語 和製 (วะเซ-แปลว่าทำการผลิต สร้าง) และ 英語 (เอโงะ-แปลว่าภาษาอังกฤษ) รวมแล้วมีความหมายว่าภาษาอังกฤษที่สร้างเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นอีกลักษณะหนึ่งของภาษาญี่ปุ่นที่มาจากภาษาต่างประเทศ
แต่ต่างกับไกไรโงะ (Gairaigo) ตรงที่วะเซ-เอโงะยืมคำภาษาต่างประเทศมาแล้วสร้างให้เป็นคำภาษาญี่ปุ่นคำใหม่ ซึ่งคำศัพท์วะเซ-เอโงะบางคำก็กลับถูกชาวต่างชาติยืมกลับไปใช้ในภาษาอังกฤษ (Reborrowing) อีกรอบ และกลายเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เราลองมาดูกันดีกว่าว่าวะเซ-เอโงะมีคำว่าอะไรบ้าง โดยยกตัวอย่างมาให้ศึกษากัน 3 คำ ดังนี้
ตัวอย่างคำศัพท์วะเซ-เอโงะ (Wasei-eigo) ที่น่าสนใจ

https://pixta.jp/
1. サラリーマン หรือ Salaryman
คำศัพท์นี้เป็นคำเราคุ้นเคยนั่นเอง สร้างมาจากคำว่า Salary (เงินเดือน) กับ Man (ผู้ชาย/มนุษย์) แล้วภาษาไทยเราก็นำไปแปลออกมาเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานในออฟฟิศ ซึ่งภาพลักษณ์ที่เราจะเห็นกันจนชินตาและเข้าใจโดยอัตโนมัติแล้วคือภาพผู้ชายใส่ชุดสูทไปทำงานบริษัทตั้งแต่เช้าจนถึงดึกเลิกงาน มีชีวิตวนลูปกับการเป็นพนักงานบริษัทที่กินเงินเดือน พอตกเย็นเลิกงานก็มีการออกไปสังสรรค์กันก่อนกลับบ้าน

https://pixta.jp/
2. コスプレ หรือ Cosplay
สร้างมาจากการผสมคำระหว่าง Costume (ชุดเสื้อผ้า) และ Play (เล่น) รวมกันแล้วมีความหมายว่าการเล่นแต่งตัวกับเสื้อผ้า มีอิทธิพลในแวดวงของป็อปคัลเจอร์อย่างมากจนกลายเป็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ของวัฒนธรรมป็อป ภาพที่เราเห็นคือหนุ่มสาวที่แต่งตัวเลียนแบบตัวคาร์แรกเตอร์การ์ตูน ดารา ศิลปินต่างๆ เป็นคำที่ใช้กันในกลุ่มเล็กๆ ที่ภายหลังชาวต่างชาติให้ความสนใจทำตามบ้างจนกลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

https://pixta.jp/
3. マイペース หรือ My Pace
อ่านว่ามายเพซ มีความหมายถึงระดับความพึงพอใจที่ตัวเองชอบใจคนเดียว ความพอใจที่เหมาะกับตัวเองดีแล้ว ความเป็นตัวของตัวเอง หากใช้คำศัพท์นี้จะสื่อออกได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบสำหรับผู้รับสาร ในแง่บวกคือบอกกล่าวว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เหมาะกับตัวเอง เช่น ชุดที่ใส่นี้เป็นสไตล์ของฉันเอง แต่ถ้าในแง่ลบก็คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่สนใจคนรอบข้าง
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย