เช่าจักรยานในญี่ปุ่นง่ายๆ ด้วยแอปหรือสมาร์ทโฟน
บริการแบ่งปันจักรยาน (Bicycle Sharing) คืออะไรนะ
สมัยนี้การปั่นจักรยานเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้ว การใช้จักรยานไม่ใช่แค่การออกกำลังเพื่อสุขภาพหรือเป็นเพียงกิจกรรมยามว่างเท่านั้น แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นโตเกียวหรือต่างจังหวัด จักรยานเป็นยานพาหนะสำคัญที่ใช้สำหรับเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นจากบ้านไปสถานีรถไฟ ไปโรงเรียน หรือไปที่ทำงาน
ในเมื่อจักรยานมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ความต้องการใช้จักรยานก็สูงไปด้วย จึงมีบริการแบ่งปันจักรยาน (Bicycle Sharing) ซึ่งก็คือบริการที่ให้เราสามารถยืมเอาจักรยานมาใช้เฉพาะตอนที่อยากใช้โดยจ่ายค่าบริการไปตามราคาที่กำหนด สมัครใช้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น เว็ปไซต์จากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังมีบริการภาษาอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าใจง่ายอีกด้วย
วิธีการใช้งานแบ่งปั่นจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่น
สำหรับวิธีการใช้งานนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชั่นจักรยานดังกล่าวมาใช้ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) หลังจากลงทะเบียนก็เลือกรุ่นจักรยาน ระยะเวลาการใช้งานที่ต้องการ เช่น 30 นาที 1 ชั่วโมง เป็นต้น จากนั้นเลือกจุดที่จะรับจักรยาน ซึ่งมักจะอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟต่างๆ สำหรับการคืนจักรยานนั้นสามารถคืนในจุดที่สะดวกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจุดที่รับรถ เมื่อเลือกได้เรียบร้อยแล้วก็รับ QR Code หรือรหัสรับบริการมาแสดงตอนรับจักรยาน
บริการแบ่งปันจักรยานให้ยืมนี้ต่างจากบริการให้เช่าจักรยานทั่วไปอยู่หลายข้อ อาทิ
1. ค่าบริการถูกกว่าเช่า ตกประมาณ 100-150 เยน/30 นาที ในขณะที่การเช่าอาจเริ่มตั้งแต่ครึ่งวันเป็นต้นไป ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 1000-2000 เยนโดยขึ้นอยู่กับรุ่นของจักรยานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่
2. การเช่าต้องเช่าที่ร้านและคืนจักรยานที่ร้านเดียวกัน แต่บริการแบ่งปันจักรยานสามารถยืมและคืนได้หลายจุด
3. การเช่าต้องทำตามระยะเวลาที่กำหนด แต่บริการแบ่งปันจักรยานสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง
4. ร้านเช่าจักรยานมักอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวและที่ที่มีระบบพื้นฐานการคมนาคมเป็นหลัก ส่วนบริการแบ่งปันจักรยานเน้นที่ในเมืองใหญ่และตามแหล่งท่องเที่ยวด้วย
5. การเช่าจักรยานมักจ่ายเป็นเงินสด แต่บริการแบ่งปันจักรยานจ่ายด้วยบัตรเครดิตเป็นหลัก
แนะนำบริษัทที่ให้บริการแบ่งปันจักรยาน (Bicycle Sharing)
ปัจจุบัน บริการแบ่งปันจักรยาน (Bicycle Sharing) มีให้บริการอยู่หลายบริษัท โดยครั้งนี้เราได้คัดเลือกมา 4 บริษัท ดังต่อไปนี้
1. DOCOMO Bike Share
สามารถลงทะเบียนใช้บริการได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน และซื้อบริการโดยจ่ายด้วยบัตรเครดิต มีบริการ 3 แบบ
- แบบ One Trip Membership ค่าบริการอยู่ที่ 100 เยน สำหรับ 30 นาทีแรก และ 100 เยนในทุก 30 นาทีต่อไป
- แบบ 1-day Pass สามารถซื้อด้วยบัตรโดยสาร IC card ได้ ค่าบริการอยู่ที่ 1,010 เยนและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
- แบบสมาชิกรายเดือน ค่าสมาชิก 2,000 เยน/เดือน ได้ใช้ฟรีใน 30 นาทีแรก และเพิ่ม 100 เยนในทุกๆ 30 นาทีต่อไป
2. PiPPA
เป็นบริการเช่ายืมจักรยานที่สามารถทำเบ็ดเสร็จได้ในแอปพลิเคชั่นเดียว นำเสนอบริการ 3 แบบ
- แบบขับขี่ครั้งเดียวคิดค่าบริการ 30 นาทีแรก 100 เยน และทุกๆ 30 นาทีต่อไปครึ่งชั่วโมงละ 50 เยน
- แบบสมาชิกพรีเมี่ยมรายเดือน จ่ายค่าสมาชิก 1,500 เยน/1 เดือน 6,000 เยน/6 เดือน และ 10,000 เยน/12 เดือน ได้ใช้ฟรีใน 30 นาทีแรก และเพิ่ม 100 เยนในทุกๆ 30 นาทีต่อไป
- แบบวันเดียว 300 เยน/24 ชั่วโมง 800 เยน/72 ชั่วโมง และ 3,000 เยน/720 ชั่วโมง
3. COGICOGI
อีกแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานสะดวก นำเสนอบริการเช่ายืมจักรยานที่เน้นการใช้งานหลายชั่วโมง มีแบบ 12 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง ไม่มีบริการแบบ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง มีจุดรับ-คืนจักรยานกว่า 22 แห่งพอๆ กับ PiPPA
- แบบ 12 ชั่วโมง ค่าบริการ 2,100 เยน
- แบบ 24 ชั่วโมง ค่าบริการ 2,400 เยน
- แบบ 48 ชั่วโมง ค่าบริการ 3,600 เยน
4. HUB Chari
การลงทะเบียนมี 2 แบบ คือเป็นแบบอนาล็อกที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำการบริการในแต่ละจุดรับ-คืนจักรยานกับแบบสมาร์ทโฟน
- การลงทะเบียนแบบอนาล็อก 1 ชั่วโมง 200 เยน และ 12 ชั่วโมง 1,000 เยน
- การลงทะเบียนแบบสมาร์ทโฟน 1 ชั่วโมง 150 เยน และ 1 วัน 1,389 เยน
เป็นอย่างไรบ้างคะกับบริการแบ่งปันจักรยานอันแสนสะดวกสบาย สำหรับการให้บริการของแต่ละแอปพลิเคชั่นก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแผนการของเพื่อนๆ แล้ว ลองเลือกแพลนที่เข้ากันมากที่สุดดูนะคะ เพียงเท่านี้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นครั้งถัดไปของเพื่อนๆ จะต้องมีสีสันมากขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย