All About Japan

วิธีรับมือแผ่นดินไหวขณะเที่ยวญี่ปุ่น

ที่พัก การเดินทาง ชายฝั่ั่ง Sanriku ทะเลญี่ปุ่น ครั้งแรกในญี่ปุ่น แผ่นดินไหว โทโฮคุฝั่งแปซิฟิค
วิธีรับมือแผ่นดินไหวขณะเที่ยวญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวถือเป็นอุบัติภัยอันดับต้นๆ ที่ควรระวังและเตรียมการรับมือเอาไว้เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวจนต้องวิตกกังวลเสมอไป แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และนี่คือหลักปฏิบัติพื้นฐานในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยหากคุณกำลังเที่ยวอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้วเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นจริงๆ

เมื่ออยู่ในโรงแรม/ที่พัก

ขณะที่แผ่นดินไหว ให้พยายามป้องกันศีรษะของตนเองด้วยกระเป๋าหรือเสื้อคลุม และเข้าไปอยู่ในที่กำบังที่แข็งแรง ปลอดภัย เช่นใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากข้าวของที่ตกลงมา

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ให้เปิดประตูห้อง และมองหาทางออกจากห้องและอาคาร รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยจากเจ้าของสถานที่

ในบางกรณี การอยู่ในบ้าน/อาคารอาจปลอดภัยกว่าการออกไปอยู่กลางแจ้ง พยายามอย่าวิ่งออกไปข้างนอกอย่างเร่งรีบเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และทุกครั้งที่เข้าพักในโรงแรม/ที่พักประเภทอื่นๆ ควรตรวจสอบทางออกฉุกเฉินล่วงหน้าเสมอ

เมื่ออยู่ในอาคารทั่วไป

ขณะที่แผ่นดินไหว ให้พยายามป้องกันศีรษะของตนเองด้วยกระเป๋าหรือเสื้อคลุม พยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นโถงโล่ง หรืออยู่ใกล้กับเสา ไม่อยู่ในบริเวณที่ข้าวของหรือวัตถุต่างๆ อาจตกลงมาใส่ร่างกายได้ เช่น บริเวณชั้นวางสินค้าในห้าง/ร้านสะดวกซื้อ

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภายในอาคาร ตั้งสติและอยู่ในความสงบ และหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์หากยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยในการใช้ลิฟต์ในขณะนั้น

เมื่ออยู่ในพื้นที่ใต้ดิน

ขณะที่แผ่นดินไหว เนื่องจากพื้นที่ใต้ดินถือเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้ตั้งสติและอยู่ในความสงบ ป้องกันศีรษะของตนเองด้วยกระเป๋าหรือเสื้อคลุม และคอยระวังอุบัติภัยอื่นๆ เช่นเพลิงไหม้ หรือกระจกแตก

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว หากไฟฉุกเฉินติดสว่าง ให้ค่อยๆ อพยพออกจากพื้นที่ใต้ดินด้วยการเดินชิดกับผนัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

เมื่ออยู่ในลิฟต์

ขณะที่แผ่นดินไหว ให้กดปุ่มทุกชั้น และรีบออกจากลิฟต์เมื่อลิฟต์หยุดไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้นใดก็ตาม จากนั้นให้ตรวจสอบสถานการณ์และความปลอดภัยของชั้นที่ตนเองออกจากลิฟต์

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ในกรณีที่ติดอยู่ในลิฟต์ ให้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากภายนอกโดยการ กดปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยปุ่มมักจะเป็นเครื่องหมายรูปโทรศัพท์บนพื้นหลังสีเหลือง จากนั้นรอการช่วยเหลือ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ลิฟต์บางแห่งอาจมีอุปกรณ์ป้องกันภัยพิบัติอยู่ ให้มองหาอุปกรณ์เหล่านี้ และรอการช่วยเหลืออย่างใจเย็น

ปุ่มขอความช่วยเหลือภายในลิฟต์

ปุ่มขอความช่วยเหลือภายในลิฟต์

เมื่ออยู่กลางแจ้ง - ในเขตเมือง/ย่านธุรกิจ

ขณะที่แผ่นดินไหว ให้พยายามป้องกันศีรษะของตนเองด้วยกระเป๋าหรือเสื้อคลุม พยายามอยู่ให้ห่างจากตัวอาคารโดยรอบ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระจกแตกหรือข้าวของต่างๆ ตกลงมา

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ที่สุด ในประเทศญี่ปุ่นจะมีป้ายสัญลักษณ์รูปคนวิ่งบนพื้นที่วงกลมสีเขียว ซึ่งพื้นที่ที่มีสัญลักษณ์นี้หมายถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยในการหลับภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ

เมื่ออยู่กลางแจ้ง - ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

ขณะที่แผ่นดินไหว ให้พยายามป้องกันศีรษะของตนเองด้วยกระเป๋าหรือเสื้อคลุม พยายามอยู่ให้ห่างจากตัวอาคารโดยรอบ รวมถึงอยู่ให้ห่างจากสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่มลงมาได้ง่าย เช่น รั้วอิฐ หรือบานกระจก

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ที่สุด ในประเทศญี่ปุ่นจะมีป้ายสัญลักษณ์รูปคนวิ่งบนพื้นที่วงกลมสีเขียว ซึ่งพื้นที่ที่มีสัญลักษณ์นี้หมายถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยในการหลับภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ

ป้ายบอกสถานที่หลบภัย

ป้ายบอกสถานที่หลบภัย

เมื่ออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เช่นทะเล

ขณะที่แผ่นดินไหว ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยในกรณีที่อยู่ในอาคารหรือพื้นที่กลางแจ้ง และเมื่อแผ่นดินไหวหยุดลง ให้ระวังการเกิดซึนามิ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในทะเลและแม่น้ำ นอกจากนี้ซึนามิยังเกิดขึ้นซ้ำเป็นระลอก จึงควรออกห่างจากแหล่งน้ำให้ไกลมากที่สุดจนกว่าจะได้รับการยืนยันความปลอดภัย

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดซึนามิ ให้มองหาป้ายสัญลักษณ์สีเขียวรูปคนวิ่งหนีคลื่นไปที่ตึก อาคารที่มีป้ายนี้อยู่หมายถึงอาคารที่สามารถขึ้นไปหลบภัยในกรณีที่เกิดซึนามิได้ หรือมองหาที่สูงรูปแบบอื่นๆ เช่น เนินเขา เพื่อหลบภัย

ป้ายบอกสถานที่หลบภัยซึนามิ

ป้ายบอกสถานที่หลบภัยซึนามิ

เมื่ออยู่ในรถไฟ

ขณะที่แผ่นดินไหว รถไฟจะหยุดวิ่งในทันที ให้จับเสาหรือราวไว้เพื่อควมปลอดภัย และป้องกันศีรษะตัวเองจากข้าวของที่อาจตกลงมาจากชั้นวางของเหนือศีรษะ

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว และรถไฟจอดสนิทแล้ว ให้รอจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ ไม่ควรเปิดประตูแล้วออกไปอยู่บนรางรถไฟด้วยตนเองหากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้

เมื่อกำลังขับรถเช่า

ขณะที่แผ่นดินไหว อย่ารีบเบรกรถในทันที ให้ค่อยๆ จอดรถตามปกติ และควรจอดที่ฝั่งซ้ายของถนน ดับเครื่องยนต์ และออกมาจากรถ

เมื่อแผ่นดินหยุดไหว ให้ตรวจสอบข้อมูลแผ่นดินไหวแล้วตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หากไม่มีอะไรร้ายแรง สามารถขับรถต่อไปได้ตามปกติ แต่หากจำเป็นต้องอพยพ ให้เสียบกุญแจรถคาไว้ในรถ ปิดกระจกและประตูรถทั้งหมด แต่ไม่ต้องล็อครถ พร้อมกับเขียนข้อมูลติดต่อทิ้งเอาไว้ในรถ จากนั้นทำการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยด้วยการเดินแทนการขับรถ

คำแนะนำเพิ่มเติม

สำหรับทุกกรณี เมื่อมีการยืนยันความปลอดภัยแล้ว ให้ระวังการเกิดอาฟเตอร์ช็อคหรืออุบัติภัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา และควรเดินทางกลับที่พักในทันที

นอกจากนี้คือควรเตรียมข้อมูลติดต่อที่สำคัญในกรณีที่เกิดภัยพิบัติเอาไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางทุกครั้ง เช่น เบอร์ติดต่อสถานทูตหรือโรงพยาบาลในเมืองที่ตนเองพักอาศัย รวมถึงดาวน์โหลดแอปเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติในญี่ปุ่น (ปัจจุบันมีให้บริการในภาษาอังกฤษ) เตรียมไว้ในมือถือของตนเอง

know-before-you-go