All About Japan

ประสบการณ์อาสาสมัครนานาชาติที่ จ.ชิมาเนะ

Shimane Chugoku
ประสบการณ์อาสาสมัครนานาชาติที่ จ.ชิมาเนะ

ประสบการณ์ การเป็นอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมและเทศกาลท้องถิ่น (Local Festival) ในหมู่บ้านชนบทเล็กๆชื่อว่ามิซาโตะ (Misato-Cho) ตั้งอยู่ในเขตโอชิ (Ochi) จังหวัดชิมาเนะ (Shimane) ภูมิภาคชูโกกุ (Chugoku) ร่วมกับอาสาสมัครจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ปุ่นรวม 8 คน เป็นระยะเวลา 14 วัน

ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ

สวัสดีค่ะ วันนี้จะมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ในญี่ปุ่นกับโครงการที่เรียกว่าอาสาสมัครนานาชาติหรือ International Workcamp ซึ่งนอกจากญี่ปุ่นแล้วก็มีอีกหลายๆประเทศทั่วโลกด้วย โดยมีองค์กรประเภท Volunteer เป็นพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศ อย่างเช่นในประเทศไทยก็มีหลายองค์กร ที่เราเลือกติดต่อไปชื่อว่า ดาหลา (Dalaa Thailand) ตอนนั้นทางผู้ประสานงานองค์กรก็แนะนำให้เราเข้าไปหารายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับ International Workcamp ในต่างประเทศที่สนใจจากที่นี่ ซึ่งเราสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ เช่น ช่วงเวลาที่ต้องการไป ประเทศที่อยากไป ประเภทของกิจกรรม เป็นต้น

สำหรับโครงการที่เราเลือกไปเข้าร่วมเป็นอาสามาสมัคร เป็นโครงการขององค์กรที่ญี่ปุ่นมีชื่อว่า NICE (Never-ending International WorkCamps Exchange) และรหัสของโครงการนี้ก็คือ NICE-17-135 Misato เป็นโครงการเวิร์คแคมป์ระยะสั้น (Short-Term) ประมาณ 14 วัน ร่วมกับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นอีก 3 คน เกาหลี 1 คน สเปน 1 คน เยอรมัน 1 คน และ เม็กซิโก 1 คน รวมทั้งหมดเป็น 8 คน ค่ะ

ทำความรู้จักหมู่บ้านมิซาโตะ (Misato) จังหวัดชิมาเนะ Shimane)

ทำความรู้จักหมู่บ้านมิซาโตะ (Misato) จังหวัดชิมาเนะ Shimane)

มิซาโตะเป็นหมู่บ้านขนบทเล็กๆ มีแม่น้ำโกโนคาวะ (Gounokawa) เป็นแม่น้ำสายหลัก บรรยากาศของหมู่บ้านเงียบสงบ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวนประชากรค่อนข้างเบาบาง ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชนที่มาประสานงานค่ายกับพวกเราเล่าให้ฟังว่า ที่นี่นับวันจะมีแต่ผู้สูงอายุและประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยรุ่นกับวัยทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาของจังหวัดชิมาเนะด้วย เพราะเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ เมื่อถึงเวลาต้องทำงานก็มักจะย้ายไปอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซาก้า

สำหรับวัฒนธรรมและประเพณีที่พวกเรามาเรียนรู้กันนี้ ในเรื่องของการทำโคมไฟไม้ไผ่ ก็มีที่มาจากการที่มิซาโตะเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่จำนวนมาก จึงมีความคิดที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และการใช้โคมไฟไม้ไผ่ประดับตกแต่งงานเทศกาลศาลเจ้าประจำปี ก็เป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันมาตลอด สิ่งสำคัญที่ทุกคนทราบดีในจุดประสงค์ของค่ายฯนี้ ก็คือ อยากให้ทุกคนรู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบญี่ปุ่นและอยากให้มีการสืบทอด เพื่อคงอยู่โดยคนรุ่นใหม่สู่รุ่นต่อรุ่น ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนประชากรของที่นี่

การทำโคมไฟไม้ไผ่ (Bamboo Lantern) และเทศกาลท้องถิ่น (Local Festival)

การทำโคมไฟไม้ไผ่ (Bamboo Lantern) และเทศกาลท้องถิ่น (Local Festival)

งานหลักของอาสาสมัครทุกคนในครั้งนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมในการจัดงานเทศกาลประจำปีของหมู่บ้าน เป็นงานประเพณีดั้งเดิมที่สืบต่อกันมานับพันปี มีจุดประสงค์เพื่อบูชาเทพเจ้าและเป็นการสักการะขอพรให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงาม สิ่งที่ต้องทำก็คือ ทำโคมไฟไม้ไผ่ (Bamboo Lantern) เพื่อประดับศาลเจ้าซึ่งเป็นสถานที่จัดงานตอนกลางคืน ส่วนในภาคกลางวันเริ่มตั้งแต่เช้า จะมีการเดินประกอบการแสดงเครื่องดนตรี เรียกว่า คากูชิ (kaguuchi) รูปแบบจะคล้ายๆการเดินพาเหรดโดยมีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ ฉิ่ง กลองเล็ก กลองใหญ่ และขลุ่ย

ในส่วนของการทำโคมไฟไม้ไผ่(Bamboo Lantern) จะมีเจ้าหน้าที่กองช่างจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนการตัดไม้ไผ่ลงมาจากบนเขา ใช้เลื่อยตัดแบ่งเป็นท่อนความยาวตั้งแต่ 0.5-2 เมตร คละกันไป การออกแบบลวดลายพวกเราต้องออกแบบกันเอง ส่วนการฉลุลวดลายบนไม้ไผ่เพื่อให้เกิดความสวยงามเมื่อจุดเทียนตอนกลางคืน จะมีเครื่องมือให้ใช้อย่างครบครัน เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า เครื่องมือแต่ละอย่างบางต้องบกว่าค่อนข้างอันตราย และต้องใช้ความระมัดระวังมาก

มรดกทางวัฒนธรรม อิวามิ-คากุระ (Iwami-Kagura)

มรดกทางวัฒนธรรม อิวามิ-คากุระ (Iwami-Kagura)

นอกจากช่วยจัดงานเทศกาลท้องถิ่นแล้ว พวกเรายังมีโอกาสได้ไปชมการแสดงที่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของท้องถิ่นที่หาชมได้เฉพาะในภูมิภาคชูโกกุ ชื่อว่า อิวามิ คากุระ (Iwami Kagura) สถานที่ชมการแสดงเป็นอาคารชั้นเดียวที่ดูคล้ายคอมมูนิตี้ฮอลล์เล็กๆ เพื่อใช้ฝึกซ้อมและจัดเก็บอุปกรณ์ทุกอย่างเกี่ยวกับคากุระ คณะนักแสดงซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมดมีการมาแนะนำตัว พูดคุยกันเล็กน้อย จากนั้นหัวหน้าคณะฯก็กล่าวถึงความเป็นมาของการแสดง และเรื่องราวที่จะได้ชมในวันนี้

อิวามิ คากุระ จะมีชื่อเรียกย่อยๆลงไปตามรูปแบบการแสดงหลายประเภท และที่กำลังจะได้ดู เรียกว่า จินริน (Jinrin) เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของเทพเจ้ากับปีศาจ คล้ายๆตัวแทนฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม การแสดงเริ่มขึ้นโดยมีการบรรเลงเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือกลองใหญ่ กลองเล็ก ฉิ่ง และขลุ่ย นั่งอยู่ด้านข้างเวที ทุกคนก็ต้องร้องเพลงด้วย ส่วนตรงกลางเวที ก็มีนักแสดง 2 คน ออกมารำประกอบเพลง ตอนแรกยังดูไม่ออกว่าเขาเป็นฝ่ายดีหรือร้าย พอมี นักแสดงอีก 2 คน ในชุดกับหน้ากากปีศาจออกมาสู้ ก็พอเข้าใจเรื่องราวแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นไปด้วย กว่าจะสู้กันจบ แต่ละคนก็ใช้พลังงานไปเยอะเลย การแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาเกือบๆ 1 ชั่วโมง เป็นการแสดงที่น่าทึ่งมาก รู้สึกได้ว่าต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ทุกอย่างดูน่าตื่นเต้น น่าสนใจไปหมด ทั้งส่วนของเครื่องดนตรี การร้อง การร่ายรำ การต่อสู้ นี่เป็นครั้งแรกเลยที่เราได้รู้จักศิลปะการแสดงนี้และได้ชมอย่างใกล้ชิด

ชมการแสดงและฝึกตีกลองไทโกะ (Taiko)

ชมการแสดงและฝึกตีกลองไทโกะ (Taiko)

อีกหนึ่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ต่อจากอิวามิ-คากุระ ก็คือการตีกลองไทโกะ (Taiko) ที่ศูนย์วัฒนธรรมประจำท้องถิ่นในเขตโมโตมาชิ (Motomachi) เป็นสถานที่ใหญ่โตโอ่อ่า ทันสมัยมากๆ คือเป็นศูนย์วัฒนธรรมคล้ายๆ สถานที่แสดงละครเวที รัชดาลัยเธียร์เตอร์บ้านเรา แต่บนเวทีของเขาจะมีเครื่องดนตรีคือกลองตั้งแต่ขนาดเล็กสุดไปจนถึงขนาดใหญ่สุดหลายชิ้น วางตั้งอยู่บนนั้น

เริ่มต้นก็แนะนำตัวกันเหมือนทุกครั้ง จากนั้นทางหัวหน้าคณะฯ ก็ให้พวกเราทุกคนขึ้นไปบนเวที ให้อิสระในการเลือกอย่างเต็มที่ ว่าอยากตีกลองไซส์ไหนตามความถนัด โดยให้เลือกจากไม้กลอง พอเริ่มลองตีจริงๆ จังหวะแรก ซ้าย ขวา หนึ่ง สอง ก็เหมือนจะง่าย ตั้งสมาธิดีๆ ก็สามารถจับจังหวะ เรียนรู้ตามได้ แต่หลังๆ ก็เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งที่ต้องหยุดและเริ่มใหม่ แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรมากนัก เพราะเป็นแค่การฝึกเรียนรู้ เรียนและฝึกอยู่เกือบชั่วโมง ถึงได้หยุดพัก เพื่อลงไปนั่งดูโชว์ศิลปะกลองไทโกะจากมืออาชีพของคณะที่มาแสดงให้เราดูแบบชุดเล็กๆ ใช้เครื่องดนตรี 4ชิ้น กับคนแสดง 4 คน เป็นการแสดงที่มีลีลาประกอบอย่างพร้อมเพรียงมากๆ เป็นศิลปะที่น่าประทับใจไม่น้อยไปกว่าอิวามิ-คากุระ

เรียนรู้การทำเส้นโซบะที่ภูเขาซานเบ (Mt.Sanbe)

เรียนรู้การทำเส้นโซบะที่ภูเขาซานเบ (Mt.Sanbe)

ความจริงแล้วแพลนไปภูเขาซานเบซัง (Sanbe san) เป็นแพลนท่องเที่ยววันฟรีเดย์ที่พวกเราโหวตกันว่าจะไปเดินป่าชมธรรมชาติ เพราะที่นั่นมีชื่อเสียงเรื่องเป็นสถานที่พักตากอากาศและตั้งแคมป์ท่ามกลางธรรมชาติของเมืองโอดะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมิซาโตะมากนัก แต่พอถึงวันจริงปรากฏว่าเราเริ่มเดินป่าออกจากจุดแคมป์กราวน์ได้ไม่นานฝนก็ตกลงมา เลยต้องเปลี่ยนแผนด้วยการไปเรียนทำโซบะ ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของภูเขาซานเบแทน

ในอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่เป็นร้านโซบะและร้านขายของที่ระลึกของที่นี่ ด้านในมีผู้คนเยอะมาก ทุกคนคงเข้ามาหลบฝนเหมือนกัน เข้ามารอสักพักกุ๊กที่สอนทำโซบะก็เริ่มสาธิตตั้งแต่ขั้นตอนแรก เริ่มจากใช้ผงแป้งสูตรพิเศษของที่นี่มาผสมน้ำปั้นเป็นก้อน จนถึงตอนแผ่ให้เป็นแผ่นและใช้มีดตัดเป็นเส้น ตอนยืนดูก็เหมือนง่ายๆ ไม่มีอะไร แต่ตอนลงมือทำจริงๆนี่สิ ยากมาก ทั้งตอนปั้นแป้ง บดเป็นแผ่นแล้วก็ตัดให้เป็นเส้นคล้ายก๋วยเตี๋ยว กุ๊กให้พวกเราแบ่งเป็น 2 ทีม แล้วมาลองทำรอบละ 4 คน ใช้เวลาอยู่กับการเรียนทำโซบะตรงนี้ประมาณ 2 ชั่วโมงและโซบะทั้งหมดที่พวกเราทำในวันนี้ กุ๊กก็ให้กลับบ้านไปเลย เท่ากับว่า มื้อเย็นมื้อนี้พวกเราจะมีโซบะเป็นเมนูหลักแน่นอน

เรียนรู้การทำโมจิ (Mochi) แบบดั้งเดิม

เรียนรู้การทำโมจิ (Mochi) แบบดั้งเดิม

สถานที่ที่พวกเราไปเรียนทำโมจิเป็นโรงงานเล็กๆ อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักเท่าไหร่นัก คุณลุงเจ้าของโรงงานก็เตรียมต้อนรับไว้อยู่แล้ว และมีคุณยายซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณลุง วัย 92 ปี มาช่วยสอนด้วย ถึงแม้จะอายุมากแต่คุณยายก็ยังดูแข็งแรงอยู่เลย ก่อนจะเริ่มเรียนทุกคนก็ต้องสวมใส่อุปกรณ์ให้เรียบร้อย ก็คือ หมวกคลุมผม ถุงมือ และหน้ากากปิดปาก จากนั้น คุณลุงกับคุณยายก็เริ่มสอนด้วยการทำเป็นตัวอย่างให้ดูก่อน เป็นวิธีดั้งเดิมแบบชาวบ้าน นั่นคือการตำโมจิในครก จะว่าไปครกไม้อันใหญ่กับไม้สำหรับตีโมจิ ก็คล้ายอุปกรณ์ทำขนมโบราณของบ้านเราเหมือนกัน

ขั้นตอนนี้จะมีคนหนึ่งคอยปั้นแป้งข้าวเหนียวในครก และอีกคนหนึ่งคอยใช้ไม้ตีโมจิตีลงไป ซึ่งคุณลุงกับคุณยายก็ดูชำนาญและคล่องแคล่วมากๆ เมื่อสาธิตให้ดูเสร็จแล้ว ก็ถึงคิวของพวกเราต้องลองลงมือทำด้วยตัวเองบ้าง เมื่อตีแป้งจนได้ที่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำแป้งไปปั้นเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ ซึ่งมีลูกน้องของคุณยายอีกคนในโรงงานคอยสอนและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ก็ยังมี การสาธิต เครื่องตีและหยอดโมจิที่เป็นเครื่องจักรให้ดูด้วย ดูแล้วก็รู้สึกว่า ใช้งานง่ายสะดวก ประหยัดเวลากว่าวิธีแบบแมนวลอย่างมาก แต่ที่โรงงานนี้ ก็ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปในแต่ละวัน คงเป็นเพราะคุณยายเองก็ถนัดวิธีดั้งเดิมมากกว่าด้วย พวกเราทุกคนสลับกันเป็นคนตีโมจิ ปั้นแป้ง และปั้นโมจิเป็นก้อนกลมๆ กันเสร็จแล้ว ก็จบภารกิจเรียนทำโมจิวันนี้ แล้วก็ได้โมจิเป็นที่ระลึกกลับมาบ้านด้วย

ร่วมงานเทศกาลท้องถิ่นตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ร่วมงานเทศกาลท้องถิ่นตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

วันนี้พวกเราทุกคนตื่นแต่เช้ากว่าปกติ เพราะมีการนัดรวมตัวเพื่อเริ่มงานเทศกาลตั้งแต่ 7 โมง เช้านี้ไม่มีแดด มีแต่หมอกปกคลุมเต็มไปหมด ที่จุดตั้งขบวน พวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้านและเด็กๆ ก็กำลังเตรียมเครื่องดนตรี อุปกรณ์ต่างๆ แล้วก็ช่วยกันแต่งตัว เด็กๆที่ตีกลองใหญ่ ก็ใส่ชุดยูกาตะลายดอกโบตั๋น เด็กๆที่เล่นเครื่องดนตรีทุกคนจะมีหมวกทำจากกระดาษ คล้ายๆเป็นเครื่องประดับ การเดินไปที่จุดนัดพบ ก่อนขึ้นศาลเจ้าชินโตพวกเราต้องเดินเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยจะมีช่วงพักเมื่อเดินมาได้เกือบๆ ครึ่งทาง ก็ถึงจุดแวะพักจุดแรก

ตรงนี้ก็เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ฮอลล์เล็กๆ แล้วก็มีน้ำกับของว่างแจกให้รับประทาน สักพักก็เดินต่อไปเจนถึงย่านชุมชน หมู่บ้านบ้างแล้ว หัวหน้าทีมก็จะสั่งให้หยุด และให้เด็กๆ ที่ตีกลองใหญ่ โชว์ลีลาตามที่ซ้อมกันมา ให้ชาวบ้านได้ดู พวกเขาก็ดูให้ความสนใจมาก แล้วก็มีการใส่ซองเล็กๆน้อยๆ มาให้ด้วย น่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รู้กันดีอยู่แล้ว หลังจากหยุดเดิน และโชว์ลีลาตีกลองใหญ่ให้กลุ่มชุมชนตรงนี้ดูเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาพักเที่ยงพอดี คราวนี้ได้แวะพักทานมื้อกลางวันกันแบบจริงจัง มีการจัดสำหรับอาหารแบบพร้อมรับประทานไว้ให้แล้ว เป็นถาดแบบกลมๆ และมีอาหารหลากหลายเมนูอยู่ในนั้น อย่างละนิดละหน่อย เช่น ไก่ย่าง สลัดมันฝรั่ง ปลาหมึกทอด แล้วก็มีข้าวปั้นไส้ต่างๆ แยกต่างหาก มีน้ำผลไม้ เบียร์ น้ำอัดลม ขนม

พักกลางวันเสร็จแล้วก็เดินต่อไปจนถึงจุดนัดพบกับขบวนอื่นๆ ที่มาจากคนละด้านของหมู่บ้านอีก 2 ขบวน ทุกคนได้พักดื่มน้ำตรงนี้อยู่เกือบๆครึ่งชั่วโมง จากนั้น ก็เริ่มขั้นตอนถัดไปคือ ให้เด็กที่ตีกลองใหญ่ทุกคนจากทั้งสามหมู่บ้าน มาตั้งแถวร่วมกันแล้วเดินนำขึ้นบันไดไปบนศาลเจ้า ถึงตอนนี้ก็เป็นการประกอบพิธีกรรม โดยมีพวกผู้ใหญ่แต่งตัวเป็นเทพเจ้าประมาณ 5-6 คน เป็นผู้นำขบวน มีการแบกอาคารไม้ที่ดูคล้ายศาลเจ้าจำลอง พร้อมกับตีกลอง ร้องเพลงลงบันไดทางเดิม เพื่อไปทำพิธีอีกจุดหนึ่ง ปิดท้ายด้วยการโชว์ตีกลองไทโกะของเด็กที่ตีกลองใหญ่ อย่างสง่างาม พวกเขาดูพร้อมเพรียง

พิธีสำคัญๆ สิ้นสุดลงตรงนี้ เป็นเวลาเกือบบ่าย 4 โมง แต่งานของเรายังไม่จบเพราะต้องมาช่วยดูแลเรื่องการจุดโคมไฟไม้ไผ่ที่ทำเสร็จและนำมาจัดวางประดับประดาตั้งแต่ทางขึ้นศาลเจ้า บรรยากาศคล้ายๆ งาน Light Up อยู่เหมือนกัน พอใกล้ค่ำก็มีรถฟู้ดทรัคมาขายของ 2 คัน คันหนึ่งขายทาโกะยากิ อีกคันหนึ่งขายอุด้ง ส่วนงานภาคกลางคืนก็เป็นการแสดงอิวามิ-คากุระ จากหลายคณะ หลายเรื่อง พวกเราทุกคนก็อยู่นั่งดูจนเกือบๆ ห้าทุ่ม ฝนก็เทลงมา กลายเป็นว่างานต้องจบลงแค่นี้ทั้งที่ตอนแรกได้ยินว่าคากุระจะแสดงให้ดูแบบโต้รุ่ง

ปิดท้ายความประทับใจด้วยงานแฟร์เวลอาหารนานาชาติ

ปิดท้ายความประทับใจด้วยงานแฟร์เวลอาหารนานาชาติ

วันงานเทศกาลผ่านไปได้ด้วยดี ภารกิจตลอด 14 วัน ของพวกเราก็จบลงแล้ว คืนสุดท้ายมีงานเลี้ยงอำลาในธีมอาหารนานาชาติจากสมาชิกทุกคน เมนูอาหารไทยของเราก็คือผัดพริกเผาไก่ใส่หน่อไม้ ส่วนของเพื่อนๆคนอื่น เท่าที่จำได้ก็มีข้าวปั้นอบชาสูตรนารา พาสต้าและสปาเก็ตตี้ สุกี้ยากี้แบบเกาหลี ช่วงก่อนถึงงานเลี้ยงตอนเย็นก็มีการพูดคุยเพื่อประเมินหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับงานอาสาสมัครครั้งนี้ หลักๆ ก็มีเรื่องความสะดวกสบายของที่พัก เพื่อนร่วมค่าย งานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน ความคิดเห็นต่อชาวบ้าน(Local people) และอื่นๆ ที่อยากเสนอแนะ ซึ่งแต่ละคนก็มีความเห็นแตกต่างกันไป เป็นค่ำคืนส่งท้ายที่สนุกสนาน ประทับใจ และรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลา 14 วันที่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามาก

know-before-you-go