All About Japan

อาวุโสโอเค มาเตรียมเข้าสังคมผู้สูงอายุแบบเจแปน

เทคโนโลยี ยา ธุรกิจ รู้ลึกเรื่องญี่ปุ่น ชีวิตในญี่ปุ่น เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น
อาวุโสโอเค มาเตรียมเข้าสังคมผู้สูงอายุแบบเจแปน

วันนี้มาเล่าเรื่องไอเดียธุรกิจสุดเจ๋งของญี่ปุ่น ที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย คนไทยที่กำลังจะเข้าสังคมสูงวัยเหมือนกัน มาดูไว้เป็นแบบอย่าง จะเอาไอเดียไปสร้างธุรกิจดีๆ หรือจะวางแผนตอนเกษียณก็ไม่เลว~

ป้าเมโกะมีโอกาสสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย พักนี้นักเรียนที่มาเรียน (รุ่นๆ 40 ขึ้นไปทั้งนั้น) เริ่มเปรยๆว่าเกี่ยวกับชีวิตหลังเกษียณของตัวเอง บางคนก็วางแผนย้านไปอยู่ต่างจังหวัด บางคนก็อยากไปอยู่ไทยหรือบางคนก็เริ่มมองหาบ้านพักคนชราที่มีบริการดีๆอยู่ เรามาดูกันสิว่า สังคมญี่ปุ่นเขาเริ่มมีธุรกิจใหม่ๆอะไรที่รองรับผู้สูงอายุมากขึ้น

คนแก่ญี่ปุ่นเยอะขนาดไหน?

คนแก่ญี่ปุ่นเยอะขนาดไหน?

หลายคนคงเคยได้ยินติดหู ว่าญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุอันดับต้นๆของโลก แต่ว่าเยอะที่ว่านี่มันเยอะแค่ไหน?

ก่อนอื่นมาดูตัวเลขกันก่อนดีกว่าว่าแท้จริงสถานการณ์ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมันเป็นยังไง

● ที่ญี่ปุ่นจำนวนคนที่อายุมากกว่า 65 ปี มีมากเกือบ 30% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด หรือประมาณ 35.14 ล้านคน (บ้านเรามีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12-13 % ของประชากรเท่านั้น)
● ซึ่งจากในจำนวนนี้มากถึง 18 ล้านคนมีอายุเกิน 75
● สวนทางกับจำนวนคนวัยทำงานและเด็กที่ลดลงทุกปี
● คนญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยยืนถึง 87.14 ปี สำหรับผู้หญิง และ 80.98 ปี สำหรับผู้ชาย (สถิติปี 2017) เรียกได้ว่าคนที่นี่เขาอายุยืนกันจริงๆ

คนเราอยู่บนโลกนี้ได้นานขึ้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่บางอย่างก็มีปัญหาตามมาถ้าหากไม่ได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่ที่ยังมีเรี่ยวแรง เช่นค่าใช้จ่ายที่ตามมาเป็นหางว่าวในวันที่เราเกษียณอายุแล้ว หรือแรงจูงใจในการใช้ชีวิตตอนบั้นปลาย เป็นต้น

แก่ด้วยเหงาด้วย

แก่ด้วยเหงาด้วย

อีกหนึ่งปัญหาของสังคมญี่ปุ่นคือ คนแก่จำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่คนเดียว อาจเพราะไม่แต่งงาน หรือคู่ครองเสียชีวิตไปแล้ว หรือแยกกันอยู่กับลูกหลาน และที่สำคัญส่วนมากสังคมญี่ปุ่น เมื่อลูกๆโตขึ้นก็จะต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีค่านิยมที่ลูกหลานต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ใหญ่วัยชราแบบสังคมเรา ส่วนใหญ่แล้วต่างคนต่างอยู่ รับผิดชอบชีวิตของตัวเองต่อไป

ทางการญี่ปุ่นทำการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ตัวเลขออกมาน่าตกใจไม่เบาเพราะเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทุกปี

● ปี 2010 มีจำนวนผู้สูงอายุใช้ชีวิตคนเดียวประมาณ 4.7 ล้านคน
● แต่ปี 2015 ขึ้นมาถึง 6 ล้านคน และคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
● ในอีกสิบปีข้างหน้า เกือบ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด จะอาศัยอยู่คนเดียว

ที่น่าตกใจคือในนี้เป็นผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงเกินครึ่ง ป้าเห็นแล้วก็เสียว...และรู้สึกว่าสาวไทยอย่างเราก็ต้องหาข้อมูลเตรียมตัวไว้เนิ่นๆ ตอนแก่จะได้ไม่เหงา มีเงินใช้ หาความสุขให้ตัวเองได้ แหะๆ

สังคมเปลี่ยนแปลงรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

แต่ก่อนบางคนคงเคยได้ยินคำพูดว่า ถ้าอยากจะทำธุรกิจให้รวยให้ขายของเกี่ยวกับเด็ก แต่คงไม่ใช่กับสังคมปัจจุบันแล้ว เพราะอัตราการเกิดก็น้อยลงทุกทีแถมเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี ข้าวของแพง พ่อแม่ต้องยิ่งรัดเข็มขัด ไม่เหมือนยุคเบบี้บูมหรือตอนเศรษฐกิจดีๆแบบสมัยก่อน ดังนั้นธุรกิจสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นต้องหลบให้กับวัย(เหลือ)น้อยก่อนเพราะส่วนแบ่งตลาดก็ใหญ่ขึ้นทุกที

ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเขาก็มีธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจผุดขึ้นมากมายรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ไปดูกันว่าตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีไอเดียธุรกิจอะไรที่น่าสนใจบ้าง ตามไปดูกันเลย~

ลืมบ้านพักคนชราแบบเก่าไปได้เลย

https://www.youtube.com/watch?v=wO_jaAG1kGM

วันก่อนป้าดูรายการทีวี นำเสนอบ้านพักคนชราแบบใหม่ แต่ละบริการบอกเลยว่าไม่แพ้โรงแรม ลบภาพบ้านพักคนชราบรรยากาศเศร้าๆหม่นๆไปได้เลย อย่างเช่นบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจบ้านพักคนชราเป็นหลัก หลายๆที่มีสาขาครอบคลุมเมืองใหญ่ทั่วประเทศญี่ปุ่น บ้านพักก็บรรยากาศดีเหมือนบ้านตากอากาศ พร้อมบริการชั้นเลิศ เรื่องความปลอดภัยก็หายห่วงเพราะมีพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมอีเว้นท์และกิจกรรมสันทนาการ

ส่วนค่าใช้จ่ายก็มีหลายแบบให้เลือกตามไลฟ์สไตล์และงบประมาณ ไม่มีค่าแรกเข้า อยากแพลนของที่แห่งหนึ่งที่หรูหน่อย (แบบห้องเดี่ยว) ก็ประมาณ 2.5 แสนเยนต่อเดือน รวมค่าห้อง ค่าบริการของคนดูแล และค่าอาหาร หรือจะอยู่เป็นห้องสองคนก็จะยิ่งถูกลง ราคา 2.5 แสนเยนนี้ พอๆกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนทั่วไปของคนญี่ปุ่น (ที่ไฮโซหน่อยนะ) ลูกๆคนไหนที่ฐานะดีหน่อยก็ไม่ถึงกับจ่ายไม่ไหว

นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ เช่น ร้านเสริมสวยและออนเซ็นภายใน แม้ว่าจะเดินเหินไม่สะดวกเขาก็มีเครื่องมือรองรับครบครัน อายุมากขึ้นก็ยังสามารถใช้ชีวิตสบายๆตามที่ใจอยากได้ตามปกติ อะไรจะครบครันขนาดนี้~

และเนื่องด้วยมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมากขึ้น บ้านพักคนชราแบบใหม่ที่ทั้งน่าพัก ปลอดภัย ไม่ต้องอยู่บ้านนั่งเหงาคนเดียว จึงได้รับความสนใจมากขึ้นและธุรกิจแบบนี้ก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆในญี่ปุ่น〜

(ป้าเคยพูดเล่นๆกับเพื่อนตอนเด็กๆว่าถ้ายังไม่แต่งงานเราคงไปเช่าบ้านพักคนชราแล้วอยู่ด้วยกัน บ้านพักคนชราอยู่สบายขนาดนี้ดูท่าจะใกล้ความจริงขึ้นทุกที...)

กาน้ำที่มากกว่ากาน้ำ

https://www.youtube.com/watch?v=HxY6Ehmyf6Q

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นอยู่ขึ้นเดียวมากขึ้นทุกปีๆ ลูกหลานที่ต้องมาทำงานในเมืองหรือแยกครอบครัวออกไปก็เป็นห่วงว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีหรือเปล่า แล้วตั้งแต่ป้าอยู่ญี่ปุ่นมาได้ยินข่าวคนแก่เสียชีวิตคนเดียวในห้องพักมากขึ้น ส่วนมากแล้วกว่าคนจะรู้ว่าเสียชีวิตแล้วก็เมื่อเพื่อนบ้านผิดสังเกตุและได้กลิ่นแปลกๆลอยออกมาจากห้อง (น่ากลัว~) ญี่ปุ่นเขาก็เลยปิ๊งไอเดียไอเทมไฮเทคตอบรับสังคมผู้สูงอายุ

อย่างเช่นอันนี้ กาน้ำ i-PoT จากยี่ห้อ Zojirushi ที่ทำกระติกน้ำนั่นแหละ ที่ไทยก็มีขายเยอะนะ i-PoT มีวิธีการทำงานที่ง่ายมาก แค่สังเกตุพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ (ที่แสนจะผูกพันกับกาน้ำร้อน) ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เพราะคนแก่ญี่ปุ่นเขาก็จะจิบชาตลอด กาน้ำไฮเทคอันนี้ก็จะมีข้อมูลการใช้กาน้ำร้อนของผู้สูงอายุส่งไปยังเมล์ของลูกๆ และยังสามารถดูบันทึกการใช้กาน้ำร้อนอย่างละเอียดยิบได้ที่เว็บไซต์

พอมีข้อมูลจากการใช้กาน้ำ (ซึ่งเป็นของที่ต้องใช้ทุกวัน) ลูกๆก็จะได้สบายใจ ไม่มานั่งกังวลว่าทำไมเงียบหายไป เป็นอะไรหรือเปล่า เพราะถ้าวันไหนไม่มีข้อมูลใช้กาน้ำก็จะรู้ได้ทันทีว่า อาจมีอะไรผิดปกติ บอกเลยว่าสมกับเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ตอบโจทย์สังคมญี่ปุ่นที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตคนเดียวตามลำพังได้ตรงจุดมากๆ

หลานๆตายายคิดถึง... แต่ไม่ค่อยได้คุย ใช้มือถือก็ไม่เป็น จะทำยังไง

เวลาไปเยี่ยมผู้ใหญ่ทีไรคงได้ยินคำพูดที่ว่า "ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย คิดถึง" กันบ่อยๆ ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เวลาแต่งงานแล้วก็มักจะแยกออกไปมีบ้านของตัวเอง หรืออาจจะด้วยภาระหน้าที่การงานทำให้ต้องไปอยู่ต่างเมือง ปู่ย่าตายายก็มักจะตั้งหน้าตั้งตารอเจอหลาน แต่เวลาไม่ค่อยตรงกันสักที แถมยังใช้มือถือไม่ค่อยเป็นอีก (แม้จะเป็นประเทศไฮเทค แต่คุณตาคุณยายที่ยังใช้มือถือแบบฝาพับ โทรเข้าโทรออกได้อย่างเดียว ก็มีอยู่ไม่น้อย)

ญี่ปุ่นเลยปิ๊งไอเดีย "Mago Channel" หรือแปลได้ว่า "ช่องทีวีของหลาน" เอาไว้ให้ปู่ย่าตายายได้ดูรูป ดูวิดีโอ อัพเดทได้ว่าวันนี้หลานๆทำอะไรมา บอกเลยว่าถ้ามีที่ไทยพ่อแม่ป้าเมโกะซื้อแน่ๆ เพราะวันๆนั่งรอดูแต่รูปและวิดีโอเก่าๆของหลาน ครั้นจะโทรไปหาก็กลัวว่าฝ่ายนู้นไม่สะดวกหรือยุ่งอยู่บ้างละ

Mago Channel นี้ เมื่อพ่อแม่ถ่ายรูปลูกปุ๊บก็อัพลงในแอพมือถือ เมื่อรูปหรือวิดีโอใหม่เข้ามาก็จะส่งสัญญาณมาที่กล่องที่ติดตั้งไว้ ตายายก็เปิดดูรูปหลานได้ทางหน้าจอทีวี ที่สำคัญก็คือออกแบบให้ติดตั้งง่ายใช้สะดวก แม้ไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีก็ทำได้

ธุรกิจไอเดียเจ๋งๆแบบนี้ไม่แปลกใจเลยที่ได้รับรางวัล Good Design Award 2016 ไอเดียดีทำเป็นธุรกิจได้จริง ใช้ง่ายและมีประโยชน์จริง ช่วยปู่ย่าตายายได้ใกล้ชิดกับหลานมากขึ้น ไม่เหงาเหมือนแต่ก่อน เข้าใจหัวอกคุณตาคุณยายจริงๆ ยกนิ้วให้เลย

เป็นยังไงกันบ้างคะ〜

สังคมญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน ธุรกิจและสภาพแวดล้อมต่างๆก็ต้องหมุนไปตามสังคมที่เปลี่ยนไป สังคมไทยเองก็ไล่ตามญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย และผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ป้าหวังว่าสักวันจะได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ เจ๋งๆแบบนี้ที่ไทยเหมือนกัน〜

แต่ป้าเมโกะว่าคนเราปัจจุบันนี้ 'แรงกาย' แข็งแรงกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ได้แข็งแรงตามไปด้วยก็คือ "แรงใจ" แม้จะมีธุรกิจใหม่ๆมาอำนวยความสะดวกและมาช่วยคลายเหงาแต่ก็คงไม่เท่ากับการได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้ดูแลเอาใจใส่ซึ่งถือเป็นยาใจขนานดีที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับช่วงชีวิตที่เหลือ ยังไงก็อย่าลืมใส่ใจคนใกล้ตัวกันด้วยนะทุกคน

รัก
ป้าเมโกะ

know-before-you-go