การคลอดลูกที่ญี่ปุ่น
บทความนี้คือภาค 2 “การคลอดลูกที่ญี่ปุ่น” เป็นภาคต่อจาก “การตั้งครรภ์ที่ญี่ปุ่น” ค่ะ ใครที่ยังไม่ได้อ่านภาคแรกสามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ
1 วันก่อนผ่าคลอด
บทความนี้จะเล่าถึงเรื่องการผ่าคลอดนะคะ
เมื่อถึงวันและเวลานัดสองสามีภรรยาก็ขับรถไปยังโรงพยาบาลพร้อมเอกสารและสิ่งของที่เตรียมไว้ เมื่อมาถึงทางพยาบาลจะให้ลงทะเบียนและพาไปยังห้องพัก หลังจากนั้นจะพาไปชมรอบ ๆ วอร์ด เช่น ห้องอาบน้ำรวม จุดเติมน้ำร้อนหรือเอาน้ำแข็ง ที่ทิ้งขยะประเภทต่าง ๆ (มีที่ทิ้งแพมเพิสแยก) และจบด้วยการอธิบายตารางกิจกรรมในแต่ละวันตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล
ห้องพักรวม
ปรกติที่ญี่ปุ่นห้องพักผู้ป่วย 1 ห้องจะมีทั้งหมด 4 เตียง และถูกแบ่งกั้นพื้นที่ด้วยผ้าม่านที่เลื่อนเปิดปิดได้ เตียงที่สามารถปรับระดับโดยใช้รีโมท มีปลั๊กไฟให้ใช้ฟรี ทีวีและตู้เย็นเล็ก (ต้องซื้อการ์ดมาเสียบและนับตามเวลาใช้งานจริง)
ในวอร์ดมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพรียบพร้อม อย่างห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ไดร์เป่าผม หม้อต้มน้ำร้อน 24 ชม. น้ำแข็ง อ่างล้างจาน ไมโครเวฟ แต่ทุกอย่างต้องใช้ร่วมกัน หมายถึงในห้องพักจะไม่มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ จะต้องออกมาใช้ด้านนอก ส่วนห้องอาบน้ำจะต้องไปเอาบัตรเวลาที่จะอาบ เมื่อถึงเวลาก็ติดบัตรไว้ที่ประตูและห้ามล็อคประตูเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและไม่สามารถเข้าไปช่วยได้
เตรียมตัวก่อนคลอด
เมื่อจัดของเรียบร้อย ก็รอทานอาหารเย็นที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นก็จะต้องงดน้ำงดอาหารตามเวลาที่แพทย์กำหนด พักผ่อนให้มากเพื่อเตรียมตัวในวันถัดไป
วันผ่าคลอด
ก่อนการผ่าคลอดจะมีการตรวจร่างกาย พยาบาลมาช่วยโกนขนเฉพาะจุด และเปลี่ยนชุดเพื่อเตรียมเข้าห้องผ่าตัด เมื่อถึงเวลา หมอและพยาบาลก็จะพาเราขึ้นเตียงเพื่อไปยังห้องผ่าตัด คุณพ่อหรือญาติจะถูกแยกให้ไปอยู่ในห้องรอ ส่วนว่าที่คุณแม่จะถูกย้ายไปอยู่บนเตียงผ่าตัดพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามร่างกาย ฉีดยาชาที่กระดูกสันหลัง รอจนยาชาออกฤทธิ์ เมื่อพร้อมหมอก็เริ่มทำการผ่าตัด
หลังจากที่คุณหมอสับ ๆ เฉาะ ๆ บิดท้องเราไปมา เบบี๋ก็จะออกมาอุแว้ ๆ พยาบาลจะให้เราได้ดูหน้าค่าตาสักนิด ก่อนนำไปทำความสะอาด เช็คความผิดปรกติต่าง ๆ ของร่างกาย ก่อนนำไปให้พ่อหรือญาติได้ถ่ายรูปไว้แชร์บนโซเชี่ยลมีเดีย และย้ายทารกไปอยู่ที่ห้องดูแลเด็กชั้นเดียวกับห้องพักค่ะ
คุณหมอก็ทำแผลให้เราจนเสร็จเรียบร้อย ย้ายเราไปยังเตียงคนไข้ และเข็นกลับไปยังห้องพักสำหรับฟื้นตัว ซึ่งเป็นห้องเดี่ยวและมีห้องน้ำในตัวเป็นเวลา 2 วัน (พยาบาลจะย้ายของและสัมภาระเรามาไว้ที่ห้องเตรียมไว้ให้เรียบร้อย)
หลังผ่าคลอด
วันที่ผ่าตัดจะไม่ได้ทานอะไรทั้งวันแม้กระทั่งน้ำเปล่า เพราะจะได้รับน้ำและสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือแทน นอนพะงาบ ๆ ไปใจก็อยากกอดลูก แต่ทำไม่ได้เพราะยาชายังไม่หมดฤทธิ์ และวันนี้หมอไม่อนุญาตให้ลุกหรือเคลื่อนไหวเพราะจะทำให้แผลฉีกขาดได้ ส่วนปัสสาวะจะถูกสวนท่อก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด พยาบาลจะเข้ามาถ่ายน้ำไปทิ้งเป็นระยะ ๆ รวมถึงเปลี่ยนถุงน้ำเกลือและเช็คร่างกาย จะมีการติดตั้งที่บีบรัดขาเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นอย่าหวังว่าจะได้พัก หมอและพยาบาลจะประโคมทุกอย่างเข้ามา เช่นสายสะดือ การ์ดรูปภาพลูกพร้อมวันที่และเวลา น้ำหนักแรกคลอด และของที่ระลึกทั้งหลายรวมถึงการขอถ่ายรูปหมอผ่าตัดคู่กับลูกด้วย (อันนี้รีเควสเองเพราะหมอหล่อ)
1 วันหลังคลอด
หลังจากนอนเป็นผักอยู่ 1 วันเต็ม หมอก็จะเข้ามาตรวจดูอาการและบอกให้เราพยายามขยับขาเพราะอาจจะเกิดพังผืดที่แผลถ้าไม่มีการขยับร่างกาย และสามารถลุกขึ้นนั่งได้ วันนี้ดื่มน้ำเปล่าได้อย่างเดียว ยังไม่สามารถทานอะไรได้ ส่วนลูกพยาบาลจะเข็นมาให้เชยชมเป็นครั้ง ๆ ไป ส่วนแผลติดกันกระแทกไว้อย่างดี ไม่ต้องทำอะไรกับแผลเลยตั้งแต่หลังคลอดจนหายดี ชอบมาก ณ จุดนี้ (เพราะขี้เกียจมากกก)
2 วันหลังคลอด
วันนี้ดีใจมากเพราะจะเริ่มได้ทานอาหารแล้วเย้! เริ่มจากข้าวเช้าเป็นน้ำต้มข้าว (เอิ่ม...ควรจะดีใจมั้ยเนี่ย?) มื้อเที่ยงก็เป็นข้าวต้มน้ำ (ก็ยังมีแต่ข้าวกับน้ำ) ส่วนมื้อเย็นเป็นข้าวต้มแบบจริง ๆ ซะที (ยังดีมีเศษเนื้อมาให้) และวันนี้ก็อาบน้ำได้แล้วหลังจากหมักหมมมา 3 วัน อาจจะเจ็บแผลแต่ต้องพยายามเดินตามที่หมอสั่ง พยาบาลจะพาไปให้นมลูกที่ห้องรวม เมื่อให้นมลูกเสร็จจะพาลูกเรากลับไปดูแลให้เหมือนเดิม
3 วันหลังคลอด
วันนี้เป็นวันที่พยาบาลคืนลูกให้เรา คือเริ่มให้ดูแลลูกด้วยตนเอง ที่วอร์ดจะมีห้องสำหรับให้นม คุณแม่ทุกคนเวลาให้นมจะต้องมาให้ที่ห้องนี้เพื่อพยาบาลจะช่วยดูตลอด 24 ชั่วโมง จะช่วยเช็คว่าลูกดูดนมถูกวิธีมั้ย? ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ นมแม่ตันหรือไม่มีน้ำนมพยาบาลก็จะคอยช่วยเหลือตลอด ทำให้อุ่นใจมาก แต่พอเอามาอยู่ด้วยก็ร้องแบบนอนสต๊อปจนอยากเอาไปคืนพยาบาลจริง ๆ (^ u ^" )
วันออกจากโรงพยาบาล
คุณแม่ที่ผ่าคลอดจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล 10 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่แข็งแรงพอที่จะดูแลตนเองและลูกน้อยได้ วันที่ออกจากโรงพยาบาลก็มีการตรวจร่างกายครั้งสุดท้าย จัดเก็บข้าวของ รวมถึงการชำระเงินส่วนเกินที่หักจากเงินช่วยเหลือของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแยกเป็น 2 ส่วน คือของแม่และของเด็ก ของเด็กสามารถใช้บัตรสุขภาพหักลดหย่อนได้ แต่ต้องไปแจ้งเกิดและทำบัตรของลูกให้เรียบร้อย ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้โรงพยาบาลจะยืดหยุ่นให้สามารถจ่ายเงินล่าช้าหรือย้อนหลังได้
2 วันหลังจากออกโรงพยาบาล
หมอจะนัดตรวจสุขภาพทารกหลังจากออกจากโรงพยาบาล 2 วัน จะมีการตรวจร่างกายทารก ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และหยอดยา รวมไปถึงการพูดคุยกับหมอเพื่อแนะนำวิธีการเลี้ยงดูทารก เช่นเรื่องของนม การดูแลสภาพร่างกาย และอื่น ๆ
1 เดือนหลังจากคลอด
สุดท้ายนี้ เมื่อทารกครบ 1 เดือนจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพประจำอำเภอ (保健センター) อำนวยความสะดวกตรวจสุขภาพทารกถึงบ้าน พูดคุยกับคุณแม่เพื่อสอบถามสุขภาพกายและใจว่าพร้อมดูแลลูกน้อยหรือไม่ หรือถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้
ความน่ารักเกี่ยวกับประเทศนี้คือ เมื่อเจ้าหน้าที่โทรมานัดแนะเวลาที่จะมาตรวจ ทำให้ทราบว่ามารดา (เดี้ยนเอง) เป็นชาวต่างชาติ ทางเจ้าหน้าที่ถึงกับขออนุญาตนำล่ามคนญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยได้มาด้วย ที่จริงส่วนตัวสามารถสื่อสารกับสามีเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่อยากรบกวนเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าไม่เป็นไร ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะอยากพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นอยู่โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสามี
เมื่อถึงวันนัดก็พบกับเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่มาตรวจพัฒนาการของลูก และล่ามผู้ชายคุณอันโด ผู้ที่เคยสอนภาษาญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีก่อน พร้อมเอกสารเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เขียนด้วยลายมือภาษาไทย พร้อมทั้งให้ชื่อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของผู้หญิงไทยที่อยู่ละแวกใกล้บ้าน ถ้ามีอะไรสงสัยก็ลองติดต่อหรือสอบถามได้ เป็นความประทับใจที่ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานจริง ๆ ค่ะ