ปราสาททั้ง 3 แบบของญี่ปุ่น
ปราสาทเปรียบได้ดั่งสัญลักษณ์หนึ่งของญี่ปุ่น การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมจึงมักจะไปเที่ยวชมปราสาท ในสมัยก่อนปราสาทถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าผู้ครองนคร จนถึงสมัยเมจิที่มีการยกเลิกระบบศักดินา จึงเป็นการสิ้นสุดการสร้างปราสาทไปด้วย ทราบไหมว่าปราสาทของญี่ปุ่นสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบได้ตามลักษณะของพื้นที่ตั้ง ไปดูกันว่าต่างกันยังไง
1. ปราสาทแบบ Yama-jiro
Yama แปลว่าภูเขา ส่วน jiro มาจากคำว่า shiro ที่แปลว่าปราสาท ฉะนั้น "Yama-jiro" จึงแปลว่าปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่มีภูเขาน้อยใหญ่อยู่มากมายนั้น จึงจัดว่าปราสาทที่อยู่บนเขาเป็นปราสาทที่ปลอดภัยจากการถูกโจมตี เพราะว่าสามารถมองเห็นข้าศึกได้จากที่สูง และสามารถโจมตีข้าศึกจากที่สูงได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการกลิ้งหินลงมา หรือท่อนซุง แค่นี้ก็ปราบข้าศึกได้ง่ายๆ แล้ว ฉะนั้นผู้ปกครองดินแดนต่างๆ จึงนิยมสร้างปราสาทอยู่บนภูเขา ข้อเสียของปราสาทบนภูเขาก็คือ อาจจะยากต่อการอยู่อาศัยไปซักหน่อย
ตัวอย่างปราสาทบนภูเขา Yama-jiro แบบนี้ก็อย่างเช่นปราสาท Takatori ในจังหวัด Nara, ปราสาท Bitchu Matsuyama ในจังหวัด Okayama ปราสาท Iwamura ในจังหวัด Gifu เป็นต้น
2. ปราสาทแบบ Hirayama-jiro
ปราสาทแบบ Hirayama-jiro (บางครั้งก็ถูกเรียกว่า Okajiro) นั้นจะคล้ายๆ กับปราสาทแบบ Yama-jiro แต่จะต่างกันตรง Hirayama-jiro จะจั้งอยู่บนที่ราบบนภูเขา โดยมักจะมีขนาดใหญ่ เพราะต้องสร้างคูล้อมรอบภูเขาทั้งลูกเพื่อกันไม่ให้ข้าศึกบุกเข้ามาได้ง่ายๆ นอกจากนี้ ปราสาทแบบนี้นั้นสามารถอยู่อาศัยได้ง่ายกว่าแบบ Yama-jiro เพราะเดินทางไปมาไม่ยากนัก และยังสามารถสร้างเมืองที่อยู่อาศัยรอบๆ ปราสาทได้ดีกว่า เพราะว่าเป็นพื้นที่ราบ จนภายหลังก็ได้กลายมาเป็นกระแสหลักของการสร้างปราสาทญี่ปุ่นจนมีจำนวนมากมายเต็มไปหมด เช่นปราสาท Aizu Wakamatsu ในจังหวัด Fukushima ปราสาท Kanazawa ในจังหวัด Ishikawa ปราสาท Ueda ในจังหวัด Nagano ปราสาท Hikone จังหวัด Shiga และปราสาท Himeji จังหวัด Hyogo เป็นต้น
3. ปราสาทแบบ Hira-jiro
ปราสาทแบบ Hira-jiro จะเป็นเหมือนปราสาทแบบ Hirayama แต่จะสร้างในพื้นที่ต่ำลงมาอีก โดยไม่มีการสร้างบึงหรือคลองเพื่อเป็นสิ่งกีดขวางการโจมตีของศัตรูเท่าไหร่ แต่จะอาศัยสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติของพื้นที่ราบอย่างพื้นที่ลุ่มต่ำที่เต็มไปด้วยโคลนต่างๆ แทน และการจะเข้าถึงปราสาทได้นั้นมักจะต้องอาศัยการเดินเท้าเข้าไปเพราะว่าเรือเข้าไม่ถึง จึงจัดว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการปกป้องตัวปราสาทได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างปราสาทแบบนี้ก็เช่น ปราสาท Yamagata จังหวัด Yamagata ปราสาท Nijo จังหวัด Kyoto ปราสาท Saga จังหงัด Saga และปราสาท Kagoshima จังหวัด Kagoshima เป็นต้น
- www.jcastle.info (อังกฤษ)