อัพเดท 2023! รวมข้อมูลสายการบินตรงไทย-ญี่ปุ่น
สถานการณ์โควิดผ่อนคลายแล้วประเทศญี่ปุ่นก็เปิดให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวกันได้เหมือนเดิม การท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอย่างมาก แล้วเพื่อนๆ ล่ะเตรียมตัวเที่ยวญี่ปุ่นกันหรือยัง ในการวางแผนเที่ยวก็ต้องมีการเดินทาง ซึ่งตอนนี้สายการบินต่างๆ ที่บินตรงญี่ปุ่นก็เปิดไฟลท์จากกรุงเทพกันเต็มอัตรา เรามาดูกันดีกว่าว่าสายการบินไหนให้บริการบินตรงญี่ปุ่นบ้าง
ประเภทของสายการบิน
ก่อนอื่นมารู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นของสายการบินที่ให้บริการบินตรงไปญี่ปุ่นกันดีกว่า โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบ Full Service กับแบบ Low Cost ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสายการบิน Low Cost ราคาจะถูกกว่าแบบ Full Service และนอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างอื่นๆ อีก ซึ่งครั้งนี้เราได้คัดสรรสายการบินที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมใช้บริการมาฝากกัน
จุดเด่นของสายการบินตรงแบบ Full Service
ให้บริการเต็มรูปแบบ ราคาที่ผู้โดยสารจ่ายไปจะรวมราคาตั๋ว และบริการต่างๆ ไว้หมดแล้ว ทั้งค่าน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง ค่าอาหาร การเลือกที่นั่ง อีกทั้ง บริการความบันเทิงบนเครื่องบินอย่างการดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เล่นเกม สายการบินตรงญี่ปุ่น อาทิ
- สายการบิน Japan Airlines (JAL)
- สายการบิน All Nippon Airways (ANA)
- สายการบิน Thai Airways (การบินไทย)
1. Japan Airlines (JAL)
Japan Airlines เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยประสบภาวะขาดทุนจนล้มละลาย แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง การเดินทางไปกับ Japan Airlines จะได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง พนักงานก็มีความใส่ใจในบริการ ที่นั่งโดยสารก็เป็นที่กล่าวถึงว่ายอดเยี่ยม
จุดเด่นของ Japan Airlines คือ ที่นั่งชั้นประหยัดที่ดีที่สุดในโลก เคยได้รับรางวัลชั้นประหยัดที่ดีที่สุดในโลกจากสกายแทรกซ์ เวิลด์ แอร์ไลน์ อวอร์ด (Skytrax World Airline Awards) ปี 2019 และ 2021 ด้วยพื้นที่วางขาที่กว้างขึ้นกว่าชั้นประหยัดของสายการบินอื่น พื้นระหว่างพนักวางแขนก็มีขนาดกว้าง สามารถนั่งเหยียดตัวได้สบาย มื้ออาหารมีการปรุงอย่างดีจากเชฟชั้นนำ และมีระบบความบันเทิงต่างๆ ให้เพลิดเพลิน
เส้นทางการบินของ Japan Airlines
บินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไปลงสนามบินนาริตะ (Narita International Airport : NRT) สนามบินฮาเนดะ (Haneda Airport : HND) สนามบินชินชิโตเสะ หรือ นิวชิโตเซะ (New Chitose Airport: CTS) สนามบินชูบุเซ็นแทรร์ (Chubu Centrair International Airport หรือ Central Japan International Airport : NGO) สนามบินคันไซ (Kansai International Airport : KIX) สนามบินฟุกุโอกะ (Fukuoka Airport: FUK) สนามบินนะฮะ (Naha Airport: OKA)
ช่วงราคาค่าโดยสาร (ไป-กลับ)
Economy Class ราคาประมาณ 21,XXX – 27,XXX บาท
Business Class ราคาประมาณ 40,XXX บาทขึ้นไป
2. All Nippon Airways (ANA)
สายการบิน All Nippon Airways เป็นสายการบินสัญชาติญี่ปุ่นที่การันตีเรื่องคุณภาพการบริการระดับพรีเมี่ยม เรื่องความปลอดภัยก็มั่นใจได้เพราะมีการตรวจสภาพเครื่องบินอย่างสมํ่าเสมอ ใช้เทคโนโลยีการบินที่ทันสมัยและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ANA ยังขึ้นชื่อเรื่องเที่ยวบินที่ตรงต่อเวลา แทบไม่มีปัญหาเรื่องเที่ยวบินออกช้ากว่ากำหนด
สำหรับจุดเด่นของ All Nippon Airways ก็คือการเป็นหนึ่งในสายการบินระดับ 5 ดาวของโลก (The World's 5-Star Airlines) ที่มีมาตรฐาน ความพร้อม และการให้บริการทุกอย่างอยู่ในระดับสูงสุด ให้การรับรองโดย SKYTRAX ซึ่งเป็นองค์กรจัดอันดับสายการบินระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร
เส้นทางการบินของ All Nippon Airways
บินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไปลงสนามบินนาริตะ (Narita International Airport : NRT) สนามบินฮาเนดะ (Haneda Airport : HND) สนามบินชินชิโตเสะ หรือ นิวชิโตเซะ (New Chitose Airport: CTS) สนามบินชูบุเซ็นแทรร์ (Chubu Centrair International Airport หรือ Central Japan International Airport : NGO) สนามบินคันไซ (Kansai International Airport : KIX) สนามบินฟุกุโอกะ (Fukuoka Airport: FUK) สนามบินนะฮะ (Naha Airport: OKA)
ช่วงราคาค่าโดยสาร (ไป-กลับ)
Economy Class ราคาประมาณ 31,XXX – 42,XXX บาท
Business Class ราคาประมาณ 45,XXX บาทขึ้นไป
3. Thai Airways
สายการบิน Thai Airways หรือการบินไทย ให้บริการด้วยคุณภาพระดับดีเยี่ยม พนักงานใส่ใจให้บริการ ความปลอดภัยก็อยู่ในมาตรฐานระดับสากล อาหารและเครื่องดื่มรสชาติอร่อย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ความบันเทิงมีให้เลือกพร้อมสรรพ ได้รับรางวัลมามากมายแล้ว
อาทิ รางวัลสายการบินยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2019 รางวัลอันดับ 1 สายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ ยอดเยี่ยมของโลก (World's Best Airline Lounge Spa 2019) รางวัลอันดับ 1 สายการบินที่มีพนักงานให้บริการ ยอดเยี่ยมของเอเชีย (Best Airline Staff in Asia 2019) เป็นต้น
จุดเด่นอันเป็นที่พูดถึงของผู้โดยสารที่มาใช้บริการคือ พนักงานที่ให้บริการ ให้การต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ยิ้มแย้มแจ่มใส มีเซอร์วิสไมด์ที่ดี สมกับคำขวัญภาษาไทยของการบินไทยที่บอกว่า รักคุณเท่าฟ้า นอกจากนี้ยังได้นำเอาวัฒนธรรมไทยเรื่องการไหว้มาผสมกับรูปแบบของการบริการ เป็นการต้อนรับผู้โดยสารด้วยการไหว้สวัสดี แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยด้วย
เส้นทางการบินของ Thai Airways
บินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไปลงสนามบินนาริตะ (Narita International Airport : NRT) สนามบินฮาเนดะ (Haneda Airport : HND) สนามบินชินชิโตเสะ หรือ นิวชิโตเซะ (New Chitose Airport: CTS) สนามบินชูบุเซ็นแทรร์ (Chubu Centrair International Airport หรือ Central Japan International Airport : NGO) สนามบินคันไซ (Kansai International Airport : KIX) สนามบินฟุกุโอกะ (Fukuoka Airport: FUK)
ช่วงราคาค่าโดยสาร (ไป-กลับ)
Economy Class ราคาประมาณ 22,XXX – 30,XXX บาท
Business Class ราคาประมาณ 42,XXX บาทขึ้นไป
จุดเด่นของสายการบินตรงแบบ Low Cost
ราคาคิดเฉพาะค่าตั๋วอย่างเดียว ถ้าต้องการใช้บริการอื่นๆ เช่น โหลดกระเป๋า อาหารและเครื่องดื่ม ที่นั่งพิเศษ ผู้โดยสารต้องเสียเงินในการซื้อบริการเพิ่มเติมเอง สายการบินตรงญี่ปุ่น อาทิ
- สายการบิน Thai AirAsia X
- สายการบิน ZIPAIR
- สายการบิน Thai VietJet
1. Thai AirAsia X
สายการบิน Thai AirAsia X เป็นสายการบิน Low Cost ที่ให้บริการการบินระยะไกล ใช้เครื่องบินลำใหญ่ อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Air Asia เปิดเส้นทางบินไปญี่ปุ่น 3 แห่ง ได้แก่ ซัปโปโร (Sapporo) โตเกียว (Tokyo) และโอซาก้า (Osaka) โดยออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะที่สายการบิน AirAsia ซึ่งให้บริการการบินในระยะทางสั้น ไม่เกิน 4 ชั่วโมง บินเส้นทางกรุงเทพ - ฟุกุโอกะ (Fukuoka) โดยออกจากสนามบินดอนเมือง
จุดเด่นของ Thai AirAsia X ก็เป็นเรื่องของการจ่ายน้อยแต่นั่งไปถึงจุดหมายได้สบายไม่แพ้สายการบินชั้นนำ การันตีด้วยรางวัลสายการบิน Low Cost ยอดเยี่ยมจาก Skytrax
เส้นทางการบินของ Thai Airways
บินระหว่างสนามบินดอนเมือง (DMK) ไปลงสนามบินนาริตะ (Narita International Airport : NRT) สนามบินชินชิโตเสะ หรือ นิวชิโตเซะ (New Chitose Airport: CTS) สนามบินคันไซ (Kansai International Airport : KIX)
ช่วงราคาค่าโดยสาร (ไป-กลับ)
Economy Class ราคาประมาณ 15,XXX – 20,XXX บาท
Business Class ราคาประมาณ 22,XXX บาทขึ้นไป
2. ZIPAIR
สายการบิน ZIPAIR เป็นสายการบิน Low Cost ในเครือเดียวกับสายการบิน Japan Airlines ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมสุดๆ คอนเซ็ปต์การให้บริการคือ ความสมดุลระหว่างการบริการที่ทันสมัยและราคาที่คุ้มค่า ถ้าเราบินกับ ZIPAIR ราคาตั๋วที่จ่ายไปนั้นได้ราคาถูกแบบ Low Cost แต่การบริการดีเลิศเทียบเท่ากับสายการบินชั้นนำ
ZIPAIR มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบภายในและที่นั่งกว้าง เหยียดขาได้จนสุด ถ้าเป็นที่นั่งแบบ Full-Flat สามารถเอนเบาะได้ 180 องศาเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีบริการ Wifi ให้ใช้ฟรีตลอดการเดินทาง สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ผ่าน USB ได้ด้วย
เส้นทางการบินในตอนนี้มีแค่เส้นทางเดียวคือ
จากสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไปลงสนามบินนาริตะ (Narita International Airport : NRT)
ช่วงราคาค่าโดยสาร (ไป-กลับ)
Economy Class ราคาประมาณ 7,500 บาท
Full-Flat seat ราคาประมาณ 19,000 บาท
3. Thai VietJet
สายการบิน Thai VietJet เป็นสายการบิน Low Cost ในเครือเวียดเจ็ทแอร์ (VietJet Air) จากประเทศเวียดนาม (Vietnam) มีเส้นทางที่ทำการบินทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ จากการที่ Thai VietJet ไม่หยุดบินในช่วงโควิด 19 ทำให้กิจการบินขยายตัวมากขึ้น สามารถซื้อเครื่องบินลำใหม่มาเพิ่มในฝูงบิน และขยายเส้นทางการบินไปญี่ปุ่นจากที่มีแค่เส้นทางเดียวคือกรุงเทพ (Bangkok)-ฟุกุโอกะ (Fukuoka) ในปี 2022 ก็เปิดเส้นทางใหม่จากเชียงใหม่ (Chiangmai) ไปโอซาก้า (Osaka) อีกด้วย
จุดเด่นของ Thai VietJet ที่จะมาตีตลาดการบินได้ก็เป็นเรื่องของแพ็คเกจโปรโมชั่นราคาถูก มีการปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลและความเหมาะสมอยู่เรื่อยๆ เป็นที่ดึงดูดใจผู้โดยสาร และถ้าเป็นสมาชิกของสกายฟัน ลอยัลตี้ (SkyFUN Loyalty) ซึ่งเป็นระบบสมาชิกของ Thai VietJet ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์และข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากมาย
เส้นทางการบินในตอนนี้มีทั้งหมดด้วยกัน 2 เส้นทางคือ
จากสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไปลงสนามบินฟุกุโอกะ (Fukuoka Airport: FUK)
จากสนามบินเชียงใหม่ (CNX) ไปลงสนามบินคันไซ (Kansai International Airport : KIX)
ช่วงราคาค่าโดยสาร
สุวรรณภูมิ - ฟุกุโอกะ โปรโมชั่น ราคาประมาณ 4,000 บาท/เที่ยว หรือไป-กลับไม่เกิน 10,000 บาท
เชียงใหม่ - โอซาก้า โปรโมชั่น ราคาประมาณไป-กลับ 12,000 บาท
ช่วงเวลาที่ตั๋วเครื่องบินราคาถูกและแพง
สำหรับเพื่อนๆ ที่มีแพลนจะไปญี่ปุ่น ขอแนะนำว่าควรจองตั๋วเครื่องบินไว้ล่วงหน้าสักประมาณ 6 เดือนไปเลย ถ้ามาจองแบบกระชั้นชิดราคาอาจจะแพงจนเกินงบประมาณและอาจไม่มีที่นั่งด้วย
สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่คนมักไปกันก็คือช่วงชมซากุระในฤดูใบไม้ผลิ (เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน) กับช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นช่วง High Season ราคาตั๋วเครื่องบินจะสูงค่อนข้างมาก
แต่ถ้าอยากได้ราคาตั๋วที่ถูกหน่อยก็รอช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นช่วง Low Season ของญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่มีซากุระหรือใบไม้เปลี่ยนสีให้ได้ชม แต่ช่วงนี้เป็นช่วง Summer Sale ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีงานเทศกาลต่างๆ จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากประหยัดงบ สายช็อป หรืออยากสัมผัสบรรยากาศญี่ปุ่นดั้งเดิม
บทส่งท้าย
เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาเครื่องบินหลายสายการบินพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมากจากช่วงก่อน COVID-19 ดังนั้น ช่วงราคาที่ทางเราระบุไว้เป็นเพียงเรทโดยทั่วไปเท่านั้น ราคาจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นและช่วงฤดูกาลต่างๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามขอให้ได้ราคาที่ถูกใจนะคะ